【รวมรวม 47 จังหวัดของญี่ปุ่น: ชิงะ】ทะเลสาบบิวะและ CLUB HARIE คือความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดชิงะ!

  • 5 กุมภาพันธ์ 2024
  • 3 เมษายน 2023
  • Asami Koga

【รวมรวม 47 จังหวัดของญี่ปุ่น: ชิงะ】ทะเลสาบบิวะและ CLUB HARIE คือความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดชิงะ!
©Biwako Otsu Tourism Association

ญี่ปุ่นมีทั้งหมด 47 จังหวัด

เช่นเดียวกับที่ภูมิทัศน์เมือง กิจกรรม และของอร่อยก็แตกต่างกันไปตามภูมิภาค ลักษณะจำเพาะของคนในท้องถิ่นก็แตกต่างกันไป ในซีรี่ส์นี้ เราจะเจาะลึกถึงสถานการณ์ในท้องถิ่นของแต่ละจังหวัดโดยแนะนำเสน่ห์ของแต่ละจังหวัดและสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาให้ทราบกันค่ะ

ครั้งนี้เราจะโฟกัสไปกันที่จังหวัดชิงะในภูมิภาคคันไซ มาเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับชิงะซึ่งเป็นที่ตั้งของทะเลสาบบิวะซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ปราสาทฮิโกเนะ และวัดเอ็นเรียวคุจิบนภูเขาฮิเอ วัดใหญ่ของนิกายเทนไดกันค่ะ!

ใช้เป็นทั้งเส้นทางขับรถเล่นคลาสสิกและประโยคเด็ด! ทะเลสาบบิวะเป็นที่บ่มเพาะจิตวิญญาณของชาวจังหวัดชิงะ

ทะเลสาบบิวะ จังหวัดชิงะ
©Biwako Otsu Tourism Association

จังหวัดชิงะมีทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ทะเลสาบบิวะ พื้นที่ของทะเลสาบบิวะประมาณ 670 ตร.กม. ความยาวของแนวชายฝั่งทะเลสาบบิวะอยู่ที่ประมาณ 235 กม. ซึ่งความใหญ่ของทะเลสาบแห่งนี้ก็คิดเป็น 1/6 ของพื้นที่จังหวัด! นอกจากขนาดของทะเลสาบแล้ว น้ำในทะเลสาบบิวะยังเป็นทรัพยากรน้ำอันล้ำค่าที่ใช้สำหรับน้ำประปา น้ำอุตสาหกรรม และน้ำเพื่อการเกษตรในภูมิภาคคินกิ รวมถึงจังหวัดชิงะ กรุงเกียวโต กรุงโอซาก้า และจังหวัดเฮียวโกะ โดยไหลผ่านทางแม่น้ำเซตะและแม่น้ำโยโดะด้วยค่ะ

นอกจากจุดที่เป็นตัวแทนของชิงะแล้ว ทะเลสาบบิวะยังมีความสัมพันธ์ที่แยกไม่ออกกับชีวิตของชาวจังหวัดชิงะด้วยค่ะ ต่อไปนี้เราจะแนะนำเรื่องเกี่ยวกับทะเลสาบบิวะของชาวชิงะกันค่ะ!

1. ชาวจังหวัดชิงะเรียกทะเลสาบบิวะว่า "อุมิ"! โปรแกรมสัมผัสทะเลสาบบิวะกับเนื้อโอมิเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย!

ในความเป็นจริง ชาวจังหวัดชิงะหลายคนเรียกทะเลสาบบิวะว่า "อุมิ" (うみ - ปกติแปลว่า 'ทะเล') และในฤดูร้อน พวกเขาใช้คำในการสนทนา อย่างเช่น "ไปอุมิ (ทะเลสาบบิวะ) กันมั้ย?" "จัดไป!" มีเหตุผลหลายประการสำหรับเรื่องนี้ค่ะ แต่หนึ่งในสาเหตุหลักคือทะเลสาบบิวะเคยถูกเรียกว่า "โอมิ" (おうみ) เดิมทีทะเลสาบบิวะได้รับการอธิบายในงานเขียนญี่ปุ่นโบราณว่า "อะฟุมิโนะอุมิ" (淡海乃海 / Afumi no Umi) "อะฮาอุมิ" (淡海 / Ahaumi) และ "ชิกะอะฮาอุมิ" (近淡海 / Chika-ahaumi) การออกเสียง "อะฮาอุมิ" ได้แผลงไปเป็น "อะฟุมิ" และในที่สุดก็ถูกเรียกว่า "โอมิ" ค่ะ อนึ่ง อะฮาอุมิ (淡海) แปลว่าทะเลสาบค่ะ

อีกสาเหตุก็คือ “อุมิโนะโกะ” (うみのこ / Uminoko - เด็กแห่งอุมิ) โปรแกรมสัมผัสการค้างแรมที่ทะเลสาบที่ชาวชิงะทุกคนจะได้สัมผัสเมื่อถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 นี่คือประสบการณ์ค้างแรม 1 คืน 2 วันบนเรือเพื่อการศึกษาชื่อ "Uminoko" (うみのこ) ค่ะ

เนื้อโอมิ จังหวัดชิงะ
©Biwako Otsu Tourism Association

โรงเรียนตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไปจะมาเข้าร่วมพร้อมกัน และเด็กนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ เรียนและฝึกฝนร่วมกัน โดยสามารถกินสเต็กเนื้อโอมิและอาหารอื่น ๆ และสนิทกันอย่างเป็นธรรมชาติ บางครั้งนักเรียนจะได้พบปะกับเพื่อนเก่าที่ได้แยกย้ายไปเรียนมัธยมต้นหรือมัธยมปลายคนละที่บนเรืออุมิโนะโกะด้วยค่ะ อนึ่ง ว่ากันว่าบนเรือจะมีการเสิร์ฟสเต็กเนื้อโอมิกันด้วยค่ะ! เนื่องจาก "อุมิโนโกะ" นี้เป็นที่คุ้นเคยสำหรับชาวจังหวัดทุกคน จึงมีการกล่าวกันว่า "การที่ทะเลสาบบิวะถูกเรียกว่า 'อุมิ' ก็คงเป็นเรื่องปกติแหละ” แต่ก็อดคิดไม่ได้นะคะว่าจริง ๆ แล้วควรรู้สึกยังไง

2. ในชิงะ คุณจะเป็นคนเต็มได้ก็ต่อเมื่อสามารถวนรอบทะเลสาบบิวะได้ครบหนึ่งรอบ!?

ทะเลสาบบิวะ จังหวัดชิงะ

ในชิงะ "หนึ่งรอบทะเลสาบบิวะ" เรียกว่า "บิวะอิจิ" (ビワイチ / Biwaichi) บิวะอิจิ (หนึ่งรอบทะเลสาบบิวะ) เคยเป็น "การขับรถรอบทะเลสาบบิวะสำหรับมือใหม่ที่เพิ่งได้ใบขับขี่" แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ จำนวนนักท่องเที่ยวที่ขี่จักรยานเสือหมอบรอบทะเลสาบบิวะก็เพิ่มขึ้น และ "บิวะอิจิ = ปั่นจักรยาน" ก็กลายเป็นกระแสแทนค่ะ! นักปั่นจักรยานหลายร้อยคนขี่เลียบริมทะเลสาบในช่วงวันหยุดและช่วงเทศกาลท่องเที่ยว และสถานีปั่นจักรยาน (Cycle Station) ก็มีเพิ่มมากขึ้นตามที่ต่าง ๆ ค่ะ

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ วันที่ 3 พฤศจิกายนถูกกำหนดให้เป็น "วันบิวะอิจิ" นี่เป็นวันที่จังหวัดชิงะกำหนดขึ้นเพื่อเชื่อมโยงกับ "การปั่นจักรยานที่ดี" เพื่อให้ผู้คนคุ้นเคยกับการปั่นจักรยานรอบทะเลสาบบิวะ นอกจากนี้ แสตมป์แรลลี่และกิจกรรมต่าง ๆ จะจัดขึ้นเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 3 ถึง 9 พฤศจิกายน ด้วยประการนี้ ทะเลสาบบิวะจึงเป็น “สถานที่ที่ควรไปอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต” สำหรับชาวเมืองชิงะค่ะ

3. ประโยคเด็ดของชาวจังหวัดชิงะ "เดี๋ยวหยุดน้ำจากทะเลสาบบิวะเลย!" ไม่สามารถทำได้จริง!?

ทางส่งน้ำ ทะเลสาบบิวะ
©Biwako Otsu Tourism Association

อย่างที่บอกไปข้างต้นค่ะ น้ำในทะเลสาบบิวะไม่ได้ใช้เฉพาะในชิงะเท่านั้น แต่ยังใช้ในเกียวโต โอซาก้า เฮียวโงะ ฯลฯ ดังนั้นเมื่อทะเลาะกับชาวเกียวโตซึ่งอยู่ปลายน้ำของทะเลสาบบิวะ ชาวชิงะจึงมักจะพูดว่า "เดี๋ยวก็หยุดน้ำจากทะเลสาบบิวะซะเลยนี่!" (琵琶湖の水を止めるぞ! / Biwako no mizu wo tomeruzo!) เป็นการปล่อยหมัดเด็ดโต้กลับค่ะ

อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้ว สำนักการประปาและการระบายน้ำทิ้งของนครเกียวโตเป็นผู้บริหารจัดการคลองส่งน้ำทะเลสาบบิวะ และเมื่อ 120 ปีก่อน นครเกียวโตเคยได้หยุดสูบน้ำจากทะเลสาบบิวะจริง ๆ ด้วยค่ะ จากข้อเท็จจริงนี้ ดูเหมือนว่าชาวจังหวัดชิงะจะสูญเสียจุดยืนที่จะพูดประโยคดังกล่าวซะแล้วค่ะ... แต่ก็น่าสนใจนะคะว่าชาวจังหวัดชิงะจะตอบโต้อย่างไรต่อชาวกรุงเกียวโตที่ตอบโต้ประโยคเด็ดดังกล่าวด้วยการเถียงกลับว่า "แต่สิทธิ์การหยุดน้ำนั้นเป็นของเรานะ!"

บามคูเฮนของ CLUB HARIE เป็นของฝากมาตรฐานของจังหวัดชิงะ

บามคูเฮน
ภาพใช้เพื่อประกอบเท่านั้น ไม่ใช่ภาพจริง

บามคูเฮนของ CLUB HARIE ซึ่งเป็นที่นิยมเพราะเนื้อสัมผัสที่นุ่มและฟูที่ชุ่มชื้นและอ่อนโยนเมื่อคุณนำเข้าปาก ปัจจุบันนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ "บามคูเฮนที่สร้างคิวยาวเหยียด" และมีสาขาในสนามบินและชั้นใต้ดินของห้างสรรพสินค้าทั่วญี่ปุ่น แต่จริง ๆ แล้วมีต้นกำเนิดมาจากร้านขนมสไตล์ตะวันตกที่มีมาอย่างยาวนานในจังหวัดชิงะค่ะ

ร้านขนมญี่ปุ่น "ทาเนะยะ" (たねや / Taneya) ก่อตั้งมายาวนานในสมัยเมจิ เริ่มผลิตขนมตะวันตกในปี 1951 และเริ่มผลิตบามคูเฮนในปี 1973 บามคูเฮนอบโดยช่างฝีมือได้รับความนิยมและกลายเป็นแบรนด์ตัวแทนของบามคูเฮนในญี่ปุ่น ดังนั้นสำหรับชาวจังหวัดชิงะ บามคูเฮนของ CLUB HARIE จึงเป็นความภาคภูมิใจของชิงะควบคู่กับกับทะเลสาบบิวะ ว่ากันว่าบามคูเฮนยังเป็นของฝากมาตรฐานของชิงะอีกด้วยค่ะ

อย่างไรก็ตาม ที่ CLUB HARIE Yokaichi no Mori (CLUB HARIE 八日市の杜) คุณสามารถชิมบามคูเฮนช็อกโกแลตที่มีขายเฉพาะที่ร้านนี้เท่านั้นได้ ตัวร้านรายล้อมไปด้วยต้นไม้ มีบรรยากาศที่เงียบสงบ แถมบามคูเฮนรุ่นลิมิเต็ดเอดิชั่นก็เป็นที่นิยมอย่างมาก ทำให้ที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีผู้คนเข้าแถวต่อคิวกันยาวตั้งแต่ก่อนที่ร้านจะเปิดอีกค่ะ

บทความอื่น ๆ ในซีรี่ส์นี้:

หัวข้อเรื่อง

Survey[แบบสอบถาม] กรุณาบอกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น







Recommend