ฮอกไกโดจรดโอกินาว่า เรียวยาวในแนวตั้ง นั่นแหล่ะ ประเทศญี่ปุ่น พอต่างสภาพภูมิประเทศ ลักษณะนิสัยและค่านิยมของคนก็ต่างกันไปอีก ยิ่งลองนับเทียบเคียงดู ไม่ว่าจะประเพณีพื้นบ้านหรืออาหารท้องถิ่น แค่เปลี่ยนสถานที่ ของซื้อของขายก็เปลี่ยน นี่แหล่ะความเป็นชาวจังหวัดนั้นอันแสนเป็นเอกลักษณ์ เรื่องทั่วไปของคนจังหวัดนั้นที่รู้ไว้แล้วไปเที่ยวได้ราบรื่นขึ้น นี่ไม่ใช่บทความนำเที่ยวทั่ว ๆ ไป แต่เป็นรายการบทความที่จะพาไปเจาะลึกให้รู้จักท้องถิ่นนั่น ๆ อย่างแท้จริง สำหรับตอนที่ 14 ในรายการนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับจังหวัดนางาซากิกัน
เป็นคนที่มองโลกในแง่ดีมากที่สุดในญี่ปุ่น
ในช่วงที่ญี่ปุ่นปิดประเทศเมื่อสมัยเอโดะ มีเพียงนางาซากิเท่านั้นที่เปิดประตูรับต่างชาติเข้ามา ซึ่งก็ว่ากันว่า นั่นน่ะทำให้บุคลิกเปิดใจที่หาที่ไหนไม่ได้ในญี่ปุ่นถือกำเนิดขึ้น และยิ่งได้สัมผัสกับอาหารและวัฒนธรรมจากต่างแดน ชาวนางาซากิก็ยิ่งมีความอยากรู้อยากเห็นมากกว่าคนที่อื่นในญี่ปุ่น แถมเงินที่ได้จากการค้าขายกับต่างแดนก็ถูกกระจายสู่ครัวเรือนต่าง ๆ ในจังหวัด ทำให้ชาวเมืองมองโลกในแง่ดีและใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายมากกว่าจังหวัดอื่น
ใช้เวลาช่วงโอบงด้วยการเล่นดอกไม้ไฟที่สุสาน
โอบงคือเทศกาลที่ผู้คนไปรวมตัวกันกับญาติ ๆ เพื่อเล่นสนุกและไปไหว้บรรพบุรุษกัน ดอกไม้ไฟจะถูกนำมาจุดที่หน้าป้ายศพ ทำให้สุสานดูมีบรรยากาศที่อบอุ่นในช่วงเวลานี้ ซึ่งธรรมเนียมเช่นนี้ก็เกิดจากความคิดที่ว่าไม่อยากให้บรรพบุรุษต้องเหงา เลยพากันทำที่หลับไหลของพวกท่านให้สนุกรื่นเริง นี่คือวิธีคิดแบบชาวนางาซากิค่ะ
ผู้ล่วงลับไปแล้วจะถูกทำพิธีร่ำลาอย่างสง่าผ่าเผย
"พิธีแห่เรือส่งวิญญาณ" เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกปีในวันที่ 15 สิงหาคม เป็นประเพณีที่ให้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษที่กลับมาเยือนโลกในช่วงโอบงได้นั่งบนเรือและถูกนำไปส่งยังแดนสุขาวดีตะวันตก วิญญาณผู้ที่ล่วงลับไปแล้วจะถูกนำขึ้นเรือ เมื่อมีการผลักเรือจะมีการลั่นกระดิ่ง และมีการใช้ประทัดดอกไม้ไฟเป็นจำนวนมากร่วมด้วย ภายในคืนนี้คืนเดียวจะมีการจุดดอกไม้ไฟในนางาซากิเกินกว่าครึ่งของจำนวนทั้งหมดที่ถูกจุดในช่วงตลอดหนึ่งปีเลยเชียว มีบางคนลงทุนซื้อดอกไม้ไฟเป็นมูลค่ากว่า 500,000 เยนเลยด้วย ทางห้างร้านโฮมเซนเตอร์และซุปเปอร์มาร์เก็ตก็จะเตรียมของในสต๊อกกันไว้อย่างมากในช่วงนี้ ทั้งเมืองจะเต็มไปด้วยดินระเบิดในช่วงการจัดกิจกรรม ดังนั้นผ้าเช็ดหน้าและที่อุดหูจึงเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงนี้
หากมีแขกมาเยือน ราดหน้าหมี่กรอบ "ซาราอุด้ง" ก็มักจะถูกนำมาเสิร์ฟเป็นประจำ
หากมีแขกมาเยือนถึงบ้าน ในทุกครั้งก็จะมีการนำราดหน้าหมี่กรอบ "ซาราอุด้ง" จานใหญ่มาต้อนรับแขกกัน นี่คือการต้อนรับแขกในแบบฉบับของชาวจังหวัดนางาซากิ
แทบไม่มีใครขี่จักรยาน
เมืองนางาซากิมีทางลาดชันเยอะมาก นั่นก็หมายความว่า แทบจะไม่มีใครปั่นจักรยานกันที่นี่เลย แถมยังบอกกันด้วยว่ามีคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ปั่นจักรยานเป็น
ส่วนคนขับรถบัสก็มีฝีมือระดับเทพ
ด้วยความที่นางาซากิมีเนินและทางลาดชันเยอะ ที่นี่จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "เมืองแห่งทางลาดชัน" แต่ในเมืองก็มีรถบัสที่ขับผ่านหัวมุมแคบ ๆ และเนินชัน ๆ ได้ ในวงการอุตสาหกรรมคนขับรถสาธารณะก็กล่าวกันว่า คนที่ขับรถในนางาซากิได้ก็มี "ทักษะการขับรถเยี่ยมที่สุดในญี่ปุ่น" กันเลยทีเดียวเชียว
อาหารท้องถิ่นคือ ข้าวตุรกี (โทรุโกะไรซ์)
"โทรุโกะไรซ์" เป็นอาหารจานเดียวที่เป็นที่รักของคนในท้องถิ่น ประกอบไปด้วยนโปลิตันพาสต้า หมูชุดเกร็ดขนมปังทอดทงคัตสึ และข้าวคลุกผงแกงกะหรี่พิลาฟ ต้นกำเนิดของอาหารจานนี้ก็ยังคงเป็นปริศนา คำว่า "โทรุโกะ" ในภาษาญี่ปุ่นนั้นก็หมายถึง ตุรกี แต่อาหารในจานแต่ละอย่างก็ไม่มีที่ไหนมีที่มาจากตุรกีเลย
เป็นอย่างไรบ้างคะ ทั่วญี่ปุ่นยังมี ”ความเป็นชาวจังหวัด” ที่ไม่น่าเชื่อหรือไม่มีที่อื่นอีกมาก เนื่องจากเป็นรายการบทความ อย่าลืมติดตามชมตอนต่อไปกันนะคะ! ส่งความเห็นมาทางช่องคอมเมนต์ทางขวาได้เลยค่ะ เราเปิดรับความเห็นค่ะ อยากรู้ความเป็นชาวจังหวัดของที่ไหนแนะนำเข้ามาได้เลยค่ะ
Comments