ในญี่ปุ่น มีธรรมเนียมการให้เงินแก่ใครซักคนในโอกาสต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน งานศพ และวันขึ้นปีใหม่ ในบทความนี้ เราจะมาแนะนำประเพณีและกฎเกณฑ์ของญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับเงินกันค่ะ ถ้าลองเปรียบเทียบกับของไทยแล้วเจอตรงไหนที่น่าสนใจ คอมเมนท์กันเข้ามาได้นะคะ!
เงินบริจาคทำบุญ ต้อง 5 เยนถึงจะดี!?
ถ้าใครเคยไปศาลเจ้าหรือวัดในญี่ปุ่น ก็คงอาจเคยมีประสบการณ์ในการใส่เงินลงในกล่องไซเซ็นบาโกะ (賽銭箱 / Saisen-bako กล่องทำบุญบริจาคให้วัด-ศาลเจ้า) สินะคะ ว่าแต่ใส่เงินลงกล่องไปเท่าไหร่กันเอ่ย?
แต่เดิมแล้ว ที่ญี่ปุ่นก็ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรเกี่ยวกับจำนวนเงินที่จะบริจาคผ่านทางกล่องนี้ จึงสามารถใส่เงินในจำนวนที่พอใจลงในกล่องทำบุญบริจาคได้ค่ะ แต่คนญี่ปุ่นหลายคนคิดว่าการใส่เหรียญ 5 เยนลงกล่องนั้นจะส่งเสริมให้พบเจอโชคดีกันค่ะ
และเหตุผลนั้นก็เกี่ยวข้องกับการออกเสียงคำว่า "5円" (หรือ 五円 แปลว่า 5 เยน) ค่ะ 5円 นั้นออกเสียงว่า โกะเอ็น (ごえん / go-en) ซึ่งการออกเสียงนี้ยังพ้องกับคำว่า "ご縁" ซึ่งหมายถึงโชคชะตา/พรหมลิขิต/ดวงสมพงษ์/ความสัมพันธ์ที่ดี ด้วยเหตุนี้ หลายคนจึงเชื่อว่า "ถ้าใส่เงิน 5 เยนลงในกล่องทำบุญบริจาค ก็จะมีโชคในเรื่องการพบพานที่ดี" กันค่ะ
และยังมีอีกเหตุผลก็คือ เหรียญ 5 เยนมีรูตรงกลาง ทำให้สามารถมองเห็นทัศนวิสัยเบื้องหน้าผ่านรูได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ มีคนหลายคนคิดว่า "จะมองการณ์ได้ไหล - มีวิสัยทัศน์เห็นอนาคตได้ดี"
ในทางกลับกัน เงิน 10 เยนก็เป็นสิ่งที่หลายคนหลีกเลี่ยงที่จะใส่ลงในกล่องทำบุญบริจาคค่ะ "10" (หรือ 十) นอกจากจะออกเสียงว่า "จู" (juu) แล้ว ยังสามารถออกเสียงว่า "โท" (tou) ได้ด้วย ซึ่งหากออกเสียง 10 เยนว่า "โทเอ็น" (*ปกติจะนิยมออกเสียงว่า "จูเอ็น") จะออกเสียงพ้องกับคำว่าง "遠縁" (แปลว่า ห่างไกลจากความสัมพันธ์ที่ดี ห่างเหิน ดวงไม่สมพงษ์) ดังนั้นหลายคนจึงถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่มงคลค่ะ
อย่างไรก็ตาม อย่างที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ค่ะ จริง ๆ แล้วไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวสำหรับจำนวนเงินที่จะทำบุญ ไม่ว่าจะเป็น 1 เยน 5 เยนหรือจะ 10 เยน จะเหรียญหรือจะธนบัตร ได้หมดค่ะ เอาเป็นว่าใส่จำนวนเงินที่สบายใจลงในกล่องทำบุญบริจาคก็พอค่ะ
เงินรับขวัญปีใหม่ที่มอบให้กับเด็ก ๆ "โอโตชิดามะ"
ในญี่ปุ่นมีธรรมเนียมในการให้เงินกับลูก ๆ หลาน ๆ ในวันปีใหม่กันค่ะ เงินนี้เรียกกันว่า "โอโตชิดามะ" (お年玉 / otoshi-dama) ค่ะ
แถมยังมีซองจดหมายเล็ก ๆ ที่เรียกว่า "โปจิบุคุโระ" (ポチ袋 / pochi-bukuro) สำหรับไว้ใส่เงิน และเป็นเรื่องปกติที่จะใส่เงินลงในซองกันค่ะ
จำนวนเงินในโอโตชิดามะ?
ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวเรื่องจำนวนเงินในโอโตชิดามะค่ะ แต่โดยทั่วไปแล้วจำนวนมักจะเพิ่มขึ้นตามอายุของผู้รับโอโตชิดามะค่ะ
ข้างล่างนี้เป็นผลการสำรวจเกี่ยวกับโอโตชิดามะที่ออกในปี 2020 โดย SBI Sumishin Net Bank จำนวนเงินที่ให้ในฐานะโอโตชิดามะนั้น จากการสำรวจแยกตามชั้นปีและระดับการศึกษาของผู้รับ ช่วงจำนวนเงินสูงสุดเป็นดังนี้ค่ะ
ก่อนเข้าชั้นประถม | ไม่ถึง 1,000 เยน |
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 | 1,001 ถึง 3,000 เยน |
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 | 3,001 ถึง 5,000 เยน |
นักเรียนมัธยมต้น นักเรียนมัธยมปลาย นักศึกษามหาวิทยาลัย | 5,001 ถึง 10,000 เยน |
โอโตชิดามะเวอร์ชั่นฤดูร้อน “โอบงดามะ”
โอโตชิดามะเป็นธรรมเนียมที่หยั่งรากลึกในญี่ปุ่นในฐานะการอวยพรวันปีใหม่ค่ะ ในทางกลับกัน ธรรมเนียมที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงหลังมานี้ก็คือ "โอบงดามะ" (お盆玉 / obon-dama)
"โอบง" เป็นช่วงที่มีการจัดงานเพื่อเป็นเกียรติแก่วิญญาณของบรรพบุรุษ และโดยทั่วไปจะจัดขึ้นเป็นเวลาหลายวันในช่วงวันที่ 15 สิงหาคม คนญี่ปุ่นจำนวนมากขอลาพักร้อนในช่วงนี้เพื่อกลับไปยังบ้านเกิดที่ครอบครัวฝั่งพ่อแม่อาศัยอยู่กัน ผู้ที่มีลูกก็จะกลับบ้านพร้อมลูก จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับพ่อแม่ในบ้านเกิดที่จะได้พบกับหลาน ๆ แล้วให้เงินหลานที่ไม่ได้เห็นหน้ากันมานานค่ะ โดยเรียกว่า "โอบงดามะ" พูดอีกนัยหนึ่งก็คือโอโตชิดามะในฤดูร้อนนั่นเองค่ะ
ว่ากันว่าโอบงดามะมีต้นกำเนิดในพื้นที่ยามากาตะในสมัยเอโดะ (1603-1868) สมัยนั้น ที่ยามากาตะ มีธรรมเนียมที่เจ้านายจะให้เงินค่าขนมแก่คนรับใช้ (奉公人 / houkoujin - ผู้ที่ได้รับการว่าจ้างจากตระกูลซามูไรหรือตระกูลพ่อค้าให้ช่วยงานบ้านและงานการต่าง) ในช่วงฤดูโอบง กล่าวกันว่า เป็นที่มาของลูกโอบง ฉันอยู่นี่
จากผลการสำรวจในปี 2018 โดยบริษัท Sumitomo Mitsui Card Company หนึ่งในสามของเด็กญี่ปุ่นได้รับโอบงดามะaค่ะ นอกจากนี้ จำนวนเงินในโอบงดามะมักจะน้อยกว่าโอโตชิดามะค่ะ
กฎเกณฑ์มากมาย! "โกะชูกิ" ในงานแต่งงาน
ในญี่ปุ่นมีธรรมเนียมที่ผู้เข้าร่วมงานแต่งงานจะต้องใส่ซองให้เงินกับเจ้าสาวและเจ้าบ่าวกันค่ะ เงินนี้จะเรียกว่า "โกะชูกิ" (ご祝儀 / goshugi) และมีกฎเกณฑ์บางประการเกี่ยวกับโกะชูกิด้วย และหากไม่ปฏิบัติตาม เจ้าสาวและเจ้าบ่าวอาจคิดว่าคุณเป็นคนไร้มารยาทเอาได้นะคะ
ต้องใช้ธนบัตรที่ยังไม่ป่านการใช้งานเป็นในโกะชูกิ
ซองสำหรับใส่เงินโกะชูกิเรียกว่า "โกะชูกิบุคุโระ" (ご祝儀袋 / goshugi-bukuro) กล่าวกันว่าเงินที่จะใส่ในโกะชูกิบุคุโระควรเป็นธนบัตรใหม่ (ที่ยังไม่ผ่านการใช้งานตั้งแต่เริ่มปล่อยใช้) ที่ไม่มีรอยยับหรือรอยย่นจึงจะดีค่ะ
มีเหตุผลหลายประการสำหรับการใช้ธนบัตรใหม่ เหตุผลแรกก็คือ ธนบัตรใหม่เหมาะสำหรับงานแต่งงานที่คู่รักกำลังจะเริ่มต้นชีวิตใหม่กันค่ะ
ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ให้ผู้เข้าร่วมงานแสดงความหมายโดยนัยให้แก่เจ้าสาวและเจ้าบ่าวว่าเตรียมตัวที่จะมาเข้าร่วมพิธีแต่งงานเป็นอย่างดี ในการไปรับธนบัตรใหม่ คุณจำเป้นจะต้องไปที่ธนาคารหรือที่ทำการไปรษณีย์เพื่อแลกมาด้วยธนบัตรเก่าในมือ ธนบัตรใหม่ที่ต้องใช้เวลาและความพยายามแบบนี้สื่อเป็นนัยว่า "ตั้งตาอยากมาร่วมงานแต่งงาน และฉันก็เตรียมตัวมาอย่างดี" นั่นเองค่ะ
ตัวเลขหลักแรกต้องเป็นเลขคี่
จำนวนเงินในโกะชูกิ โดยทั่วไปก็อยู่ที่ 30,000 เยนค่ะ สำหรับผู้อาวุโสหรือผู้บังคับบัญชาในที่ทำงานของเจ้าสาวหรือเจ้าบ่าวแล้ว มักจะให้เงินตั้งแต่ 50,000 เยนขึ้นไป และจำนวนเงินต้องนำหน้าด้วยเลขคี่เสมอ เช่น "3" หรือ "5" ค่ะ สว่นสาเหตุ ตามไปอ่านในบทความนี้ได้ค่ะ
ห้ามใช้ธนบัตรใหม่! "โคเด็น" ในงานศพ
เงินที่มอบให้กับเจ้าภาพเมื่อไปงานศพของญาติหรือคนรู้จัก เรียกว่า "โคเด็น" (香典 / kouden) โคเด็นถือว่าเป็นตัวแทนของถวายแด่ผู้เสียชีวิตต่าง ๆ อย่างเช่น ธูป (線香 / senkou) และพวงหรีดสำหรับผู้เสียชีวิตค่ะ
จำนวนเงินในโคเด็นจะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์กับผู้เสียชีวิตค่ะ 100,000 เยนสำหรับกรณีที่ผู้เสียชีวิตเป็นพ่อหรือแม่ 50,000 เยนกรณีที่เป็นพี่น้อง และ 10,000 เยนสำหรับญาติคนอื่น ๆ ในกรณีที่เป็นเพื่อนร่วมงานหรือเพื่อน 5,000 เยนก็ถือเป็นจำนวนปกติค่ะ แต่ขึ้นอยู่กับความลึกซึ้งในแง่ความสัมพันธ์ บางกรณีอาจมอบให้เป็นจำนวนหลายหมื่นเยนเลยค่ะ สำหรับเพื่อนข้างบ้านและเพื่อนในละแวกบ้าน 3,000 หรือ 5,000 เยนก็เป็นจำนวนมี่มอบกันเป็นปกติค่ะ
ห้ามมีเลข 4 หรือ 9
ห้ามมอบจำนวนเงินที่ขึ้นต้นด้วยเลข "4" หรือ "9" เช่น 4,000 เยนหรือ 9,000 เยนค่ะ นั่นก็เป็นเพราะว่า "4" (四) สามารถอ่านได้ว่า "ยอน" หรือ "ชิ" ก็ได้ และ "ชิ" ยังพ้องเสียงกับคำว่า "死" (ความตาย) นอกจากนี้ "9" (九) ที่อ่านว่า "คุ" ได้ ก็ยังพ้องเสียงและสื่อถึงคำว่า "苦" (ความทุกข์) ด้วยนั่นเองค่ะ
ห้ามใช้ธนบัตรใหม่ในโคเด็น
เราได้แนะนำไปแล้วว่ามีกฎเกณฑ์ว่าต้องใช้ธนบัตรใหม่โดยไม่มีรอยพับหรือยับย่นสำหรับเงินใส่ซองงานแต่ง โกะชูกิ แต่การใช้ธนบัตรใหม่เป็นงานใส่ซองงานศพ โคเด็น ถือเป็นเรื่องเสียมารยาทค่ะ อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า การจะได้มาซึ่งธนบัตรใหม่ จำเป็นต้องเตรียมการอย่างดี เช่นการไปธนาคาร ดังนั้นการใช้ธนบัตรใหม่ใส่ซองงานศพก็สื่อเป็นนัยว่า "เดาไว้แล้วว่าคนคนนั้นจะเสียชีวิตและมีการเตรียมตัวไว้พร้อมสำหรับไปร่วมงานศพ" ในกรณีที่คุณมีแต่ธนบัตรใหม่เท่านั้น ก็แนะนำให้จงใจขยำหรือพับให้มีรอยพับรอยย่นค่ะ
เป็นยังไงกันบ้างคะ? หากมีจุดไหนที่เหมือนหรือแตกต่างจากกฎการให้เงินในประเทศไทย บอกให้เราทราบในช่องความคิดเห็นมาได้เลยนะคะ!
บทความที่เกี่ยวข้อง
- 【ธรรมเนียมแปลก ๆ ในญี่ปุ่น】"ชูคัตสึ" หรือการหางานที่นักศึกษามหาวิทยาลัยญี่ปุ่นพยายามกันสุดชีวิต
- 【ธรรมเนียมแปลก ๆ ในญี่ปุ่น】"รันคัตสึ": เหตุผลที่คนญี่ปุ่นจ่ายเงินมากกว่า 50,000 เยนเพื่อซื้อ "รันโดเซรุ" ให้เด็ก
- 【ธรรมเนียมแปลก ๆ ในญี่ปุ่น】"คอนคัตสึ": มุมมองเรื่องความรักและการแต่งงานของคนญี่ปุ่น แตกต่างจากประเทศของคุณมั้ย?
Comments