ในประเทศของคุณ คุณได้พบกับคู่รักหรือคู่สมรสของคุณยังไงคะ?
ในญี่ปุ่น มีวิธีในการพบปะกับคนที่ใช่มากมาย เช่น งานเลี้ยงอาหารค่ำที่ชายหญิงที่กำลังมองหาคู่มารวมตัวกันที่เรียกว่า "โกคอน" อีกทั้งจำนวนผู้ใช้แอปหาคู่นั้นก็เพิ่มขึ้นมากในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีคำภาษาญี่ปุ่นว่า คอนคัตสึ (婚活 / konkatsu) ซึ่งหมายถึง "กิจกรรมเพื่อหาคู่สมรส" หรือ "การหาคู่" นั่นเองค่ะ
ในบทความนี้ ดิฉันจมาะแนะนำเกี่ยวกับคอนคัตสึ หรือการหาคู่ในญี่ปุ่นค่ะ
คอนคัตสึ คือ?
คอนคัตสึ (婚活 / konkatsu) คือ "กิจกรรม" (活動 / katsudo) เพื่อ "การแต่งงาน" (結婚 / kekkon) โดยมากมักหมายถึงกิจกรรมเพื่อ "พบเจอ" กับว่าที่ภรรยาหรือสามีค่ะ
ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง "การคลุมถุงชน" (การแต่งงานกับบุคคลที่พ่อแม่หรือญาติเลือก) เป็นกระแสหลักในญี่ปุ่น ตามรายงานของสถาบันวิจัยประชากรและประกันสังคมแห่งชาติ ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณ 70% ของคู่สามีภรรยาที่แต่งงานแล้วเป็น "การแต่งงานแบบคลุมถุงชน" อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเป็นการแต่งงานด้วยความรักซะเป็นส่วนใหญ่ โดยมีการแต่งงานแบบคลุมถุงชนเพียง 5% (ข้อมูล ณ ปี 2015) เท่านั้น
ในปัจจุบันที่การแต่งงานด้วยความรักได้กลายเป็นกระแสหลัก แม้ว่าจะสามารถเลือกคู่ครองกันได้อย่างอิสระ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่กังวลกันว่า จะได้พบและแต่งงานกับคนรักในอุดมคติได้ยังไง..?
คนญี่ปุ่นที่ยังไม่แต่งงานมักบ่นว่าไม่เคยมีโอกาสพบเจอคนดี ๆ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การใช้ชีวิตตามปกติทั่วไปนั้นจะไม่นำไปสู่การพบเจอกับว่าที่คู่ครองได้ สาเหตุหนึ่งมาจากการพัฒนาอินเทอร์เน็ตทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนน้อยลงกว่าเดิม นอกจากนี้ ในญี่ปุ่น หลายคนแต่งงานในที่ทำงาน (แต่งงานกับคนในที่ทำงานเดียวกัน) แต่ในปัจจุบันการทำงานทางไกลเริ่มแพร่หลาย การหาคู่รักในที่ทำงานจึงเป็นเรื่องยากเข้าไปอีก เป็นผลให้ผู้คนจำนวนมากลงทุนใช้เวลาและเงินเพื่อ "คอนคัตสึ" กันค่ะ
สถานการณ์เรื่องคอนคัตสึหรือการหาคู่ในญี่ปุ่น
คนญี่ปุ่นสมัยใหม่พบคู่รักและคู่สมรสกันยังไง? ดิฉันจะมาแนะนำวิธีการหลัก ๆ ให้ทราบนะคะ
① แอพหาคู่
การใช้แอพหาคู่กำลังเป็นที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ซึ่งญี่ปุ่นเองก็เป็นเช่นกันค่ะ ในญี่ปุ่น มีแอพหาคู่สัญชาติญี่ปุ่น เช่น “Pairs” และ “Omiai” จำนวนชาวญี่ปุ่นที่ใช้แอพหาเพิ่มขึ้นทุกปี และจากการสำรวจโดย Recruit พบว่าประมาณ 11% ของคู่รักที่แต่งงานในปี 2020 พบกันผ่านบริการจัดหาคู่ออนไลน์เช่นแอพหาคู่ค่ะ
② โกคอน (ปาร์ตี้หาคู่)
ในญี่ปุ่นมีงานสังสรรค์ที่เรียกว่า "โกคอน" (合コン / gokon) ให้หญิงชายได้พบปะกัน งานนี้ชายหญิงที่เพิ่งจะพบกันเป็นครั้งแรกจะไปรวมตัวกันที่ร้านอาหารหรืออิซากายะ ฯลฯ และกระชับมิตรภาพระหว่างดื่มสังสรรค์กันค่ะ
แทนที่จะพบกันแบบตัวต่อตัวแบบนัดบอด สำหรับโกคอนแล้ว เป็นเรื่องปกติที่จะมีผู้ชาย 3-4 คนและผู้หญิง 3-4 คนมารวมตัวพบปะกันค่ะ
ในงานเลี้ยงสังสรรค์ ระหว่างดื่มกิน ก็จะมีการคุยกันเรื่องงาน งานอดิเรก และมุมมองเรื่องความรัก หากมีคนที่รู้สึกสนใจอยากสานสัมพันธุ์ ก็จะมีการขอข้อมูลติดต่อภายในงานไว้แล้วเชิญคนนั้นไปออกเดทหรือทานอาหารเย็นกันในวันหลังค่ะ
คำว่าโกคอนมีต้นกำเนิดในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ตั้งแต่นั้นมาก็ถูกใช้เป็นสถานที่ในการหาคู่รักหรือคู่ชีวิต ส่วนใหญ่ในหมู่คนหนุ่มสาวเช่นนักศึกษามหาวิทยาลัยและคนในวัยยี่สิบ อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ที่เข้าร่วมโกคอนลดลงเนื่องจากการแพร่กระจายของแอพหาคู่และข้อจำกัดในการใช้ร้านอาหารเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ค่ะ
③ ตัวแทนหาคู่สมรส
บริษัทตัวแทนหาคู่สมรสเป็นบริการแบบชำระเงินซึ่งแนะนำบุคคลที่เหมาะสมกับคู่แต่งงาน ค่าแรกเข้านั้นแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบริษัท แต่อาจมีค่าใช้สูงถึงจ่ายประมาณ 300,000 เยนในบริษัทหาคู่ที่มีราคาแพง นอกจากค่าแรกเข้าแล้ว ยังมีค่าสมาชิกรายเดือนหลายหมื่นเยน และบริษัทบางบริษัทจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการสมรสหากคุณแต่งงานกับคนที่บริษัทเป็นผู้แนะนำให้ด้วย
หากคุณเป็นสมาชิกของบริษัทหาคู่และบอกคุณสมบัติของคู่แต่งงานในอุดมคติของคุณ (ภูมิหลังทางการศึกษา รายได้ต่อปี อายุ บุคลิกภาพ ฯลฯ) บริษัทจะแนะนำให้รู้จักกับคนที่ใกล้เคียงกับเงื่อนไขเหล่านั้น หากลองไปทานอาหารหรือดื่มชากับคนทางบริษัทแนะนำจริง ๆ และถ้าถูกใจกันและเข้ากันได้ดี ก็จะเริ่มออกเดทโดยคบหาเพื่อการแต่งงานเป็นที่ตั้ง ถ้าไม่ถูกใจกัน บริษัทจะแนะนำให้รู้จักกับบุคคลอื่นต่อไป
เมื่อเร็ว ๆ นี้ผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ หันมาใช้แอพหาคู่ที่เรียบง่ายและราคาไม่แพง แต่ตัวแทนหาคู่สมรสที่มีที่ปรึกษามืออาชีพช่วยค้นหาคู่แต่งงานส่วนใหญ่จะเป็นที่พึ่งพาของผู้ที่มีแรงจูงใจในการแต่งงานสูง นอกจากนี้ บริษัทตัวแทนหาคู่สมรสบางแห่งกำหนดให้ยื่นหนังสือรับรองความเป็นโสดที่ออกโดยรัฐบาลท้องถิ่นหรือใบรับรองการสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยด้วย ดังนั้นคนที่รู้สึกว่า "ตัวตนของสมาชิกได้รับการยืนยันอย่างดี" นั้น ปลอดภัยมากกว่าบริการแอพหาคู่ก็มีไม่น้อยเลยค่ะ
④ นัมปะ (การจีบสาว)
"นัมปะ" คือการเข้าไปพูดคุยทักทายกับผู้หญิงที่ไม่รู้จักบนถนน ชวนเธอออกไปดื่มชาหรือทานอาหารเย็น หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลติดต่อกัน ในประเทศของคุณอาจมีกิจกรรมที่คล้ายคลึงกันสินะคะ
อย่างไรก็ตาม "ถนนคอร์ริดอร์" (コリドー街 / corridor-gai) ในกินซ่า โตเกียว ซึ่งมีร้านอาหารและบาร์ตั้งเรียงราย ก็ถูกเรียกว่า "แหล่งนัมปะ" เพราะชายหญิงที่ต้องการพบปะคู่รักที่ดีมักจะไปรวมตัวกันที่นั่น
ส่วนการที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายไปพูดคุยกับชายแปลกหน้าจะเรียกว่า "เกียคุนัน" (逆ナン / gyaku-nan คำย่อของ "เกียคุนัมปะ" 逆ナンパ / gyaku-nanpa - การจีบหนุ่ม)
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จำนวนผู้ที่ระแวงการถูกคนแปลกหน้ามารุกเข้าหาก็เพิ่มขึ้น และมีความเสี่ยงที่หากจู่ ๆ มีคนไม่รู้มาทักตามถนน คนที่โดนทักจะคิดว่าคนที่มาทักนั้นน่าสงสัย ดังนั้นถึงแม้เจอคนดี ๆ ขนาดใหนในญี่ปุ่นก็ตาม เราก็ไม่แนะนำให้ไปนัมปะนะคะ!
สถานการณ์เรื่องการออกเดทในญี่ปุ่น: ใครเป็นคนจ่ายค่าเดท?
งั้นขอมาแนะนำกันเล็กน้อยเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นหลังจากที่ได้พบคนรักที่น่ายินดีนะคะ
แง่มุมที่ถกเถียงกันมากที่สุดอย่างหนึ่งในการออกเดทก็คือ "การจ่ายเงินค่าเดท" ค่ะ
ตาม "การสำรวจเกี่ยวกับค่าเดท" ดำเนินการโดยบริษัทที่ชื่อว่า Leading Tech การจ่ายค่าเดทโดยเฉลี่ยคือ 6,805 เยนสำหรับผู้ชายและ 2,612 เยนสำหรับผู้หญิง ผู้ชายมักจะจ่ายมากกว่าในการเดทค่ะ
จากการสำรวจพบว่า ประมาณ 50% ของคนทั่วไปคิดว่าผู้ชายควรจ่ายมากกว่าในการเดท 17.8% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าผู้ชายควรจ่ายเต็มจำนวน และ 30.1% บอกว่าควรแยกบิลกันจ่าย อนึ่ง เมื่อดูการตอบแบบสอบถามแยกตามรุ่น คนรุ่นใหม่มักคิดว่าควรแยกบิลกันจ่ายค่ะ
สถานการณ์การแต่งงานของญี่ปุ่น
หลังจากได้เจอคู่รักและได้แต่งงานกันอย่างมีความสุขแล้ว ก็ยังมีงานสำคัญต่างๆ เช่น พิธีแต่งงานและฮันนีมูน ดิฉันจะขอแนะนำลักษณะของเหตุการณ์เหล่านี้ในญี่ปุ่นกันนะคะ
พิธีแต่งงาน
เช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศค่ะ ชาวญี่ปุ่นถือว่างานแต่งเป็นงานที่สำคัญมาก
ในญี่ปุ่น มีสองคำที่เกี่ยวข้องกับพิธีแต่งงาน: “ฮาเดคอน” (派手婚 / hade-kon) และ “จิมิคอน” (地味婚 / jimi-kon) ฮาเดะคอนหรืองานแต่งงานฉูดฉาด ก็คือการจัดพิธีแต่งงานอย่างยิ่งใหญ่อลังการ มีการเช่าร้านอาหาร จองสถานที่จัดงานเลี้ยงที่โรงแรม และเชิญแขกจำนวนมาก เช่น เพื่อนร่วมงาน เพื่อน และญาติมาร่วมงานค่ะ
ในทางกลับกัน จิมิคอนหรือการแต่งงานแบบเรียบง่าย เป็นพิธีแต่งงานที่เรียบง่ายซึ่งเชิญแขกจำนวนเล็กน้อยเช่นเฉพาะสมาชิกในครอบครัวค่ะ
จากการสำรวจของ Recruit (2021) จำนวนผู้เข้าร่วมงานแต่งงานโดยเฉลี่ยคือ 42 คน และค่าจัดงานแต่งงานเฉลี่ยอยู่ที่ 2.92 ล้านเยนค่ะ
แต่คู่บ่าวสาวก็ไม่จำเป็นต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการแต่งงานเกือบ 3 ล้านเยนเองค่ะ ในญี่ปุ่น มีธรรมเนียมที่แขกที่เข้าร่วมพิธีแต่งงานจะมอบซองที่เรียกว่า "โกะชูกิ" (ご祝儀 / Goshugi) ให้เจ้าสาวและเจ้าบ่าว เจ้าสาวและเจ้าบ่าวใช้เงินเหล่านี้ช่วยค่าใช้จ่ายในงานแต่งค่ะ
จำนวนของเงินในซองจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าร่วมพิธีกับบเจ้าสาวหรือเจ้าบ่าว ในกรณีของเพื่อน 30,000 เยนก็ถือเป็นเรื่องปกติ และในกรณีของผู้บังคับบัญชาของเจ้าบ่าวหรือเจ้าสาว ก็นิยมออกเงินตั้งแต่ 50,000 เยนขึ้นไปค่ะ
จำนวนเงินในซองโกะชูกิต้องขึ้นต้นด้วยเลขคี่ เช่น 30,000 เยน หรือ 50,000 เยน เพราะเลขคี่ = หารสองไม่ลงตัว = เจ้าบ่าวและเจ้าสาวแบ่งสมบัติไม่ลงตัว/ไม่แยกทางกัน หากตัวเลขแรกเป็นเลขคู่ (= หารสองลงตัว) เช่น 20,000 เยน หรือ 40,000 เยน ถือว่าเป็นข้อห้ามเพราะถือเป็นนัยว่าเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะแยกจากกันค่ะ
ฮันนีมูน
ฮันนีมูนก็เป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงาน ตั้งแต่มีการระบาดของโตวิด-19 การเดินทางอย่างอิสระจึงเป็นไปไม่ได้ แต่ก่อนเกิดการระบาด ฮาวาย อิตาลี มัลดีฟส์ ฯลฯ ก็เป็นสถานที่ฮันนีมูนยอดนิยมสำหรับคนญี่ปุ่น ส่วนฮอกไกโดและโอกินาว่าเป็นที่นิยมสำหรับการฮันนีมูนภายในประเทศค่ะ
เป็นยังไงกันบ้างค่ะกับสถานการณ์การแต่งงานในญี่ปุ่น? คอมเมนท์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การคอนคัตสึในประเทศของคุณเข้ามากันได้นะคะ!
บทความที่เกี่ยวข้อง:
【ธรรมเนียมแปลก ๆ ในญี่ปุ่น】"รันคัตสึ": เหตุผลที่คนญี่ปุ่นจ่ายเงินมากกว่า 50,000 เยนเพื่อซื้อ "รันโดเซรุ" ให้เด็ก
【ธรรมเนียมแปลก ๆ ในญี่ปุ่น】"ชูคัตสึ" หรือการหางานที่นักศึกษามหาวิทยาลัยญี่ปุ่นพยายามกันสุดชีวิต
Comments