สวัสดีค่ะ! ดิฉัน ชิมิสุ สต๊าฟชาวญี่ปุ่นใน FUN! JAPAN ค่ะ พอได้ลองทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานจากต่างประเทศที่ FUN! JAPAN ดิฉันก็เพิ่งสังเกตเห็นบางอย่าง นั่นก็คือ…
- ธรรมเนียมที่ดิฉันมองข้ามไปนั้น จริง ๆ แล้วมันมีเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น แถมบางอันก็ยัง "แปลกเล็กน้อย" สำหรับชาวต่างชาติด้วยค่ะ
ดูเหมือนว่า "ชูคัตสึ" (就活 / shukatsu) หรือการหางานที่ดิฉันจะมาแนะนำในครั้งนี้ ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติเฉพาะของญี่ปุ่นด้วยเช่นกันค่ะ ชูคัตสึเป็นคำที่หมายถึง "กิจกรรมสำหรับนักศึกษาในการหางานทำหลังสำเร็จการศึกษา" และนักศึกษาชาวญี่ปุ่นจำนวนมากมองว่า "การหางาน" เป็น "เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในชีวิตในวิทยาลัยสี่ปี" เลยค่ะ
ดังนั้น ในบทความนี้ ดิฉันจะแนะนำสถานการณ์จริงของ "ชูคัตสึ" ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยญี่ปุ่นทุมกันสุดชีวิตค่ะ หลังจากอ่านบทความแล้ว อย่าลืมเขียนความคิดเห็นและความประทับใจในช่องคอมเมนท์กันนะคะ!
พอถึงฤดูใบไม้ผลิ "คนหนุ่มสาวในชุดสูทสีดำ" ก็ปรากฏตัว
ในญี่ปุ่น ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงฤดูร้อนของทุกปี เรามักจะเห็นคนหนุ่มสาวในภาพด้านบนตามบนรถไฟและในย่านธุรกิจกันค่ะ
พวกเขาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่กำลังทำ "ชูคัตสึ" กันค่ะ "ชูคัตสึ" เป็นกิจกรรมที่นักศึกษามหาวิทยาลัยสมัครตามประกาศรับสมัครงานในบริษัทหรือไปสัมภาษณ์งานเพื่อให้มีที่ทำงานรองรับหลังสำเร็จการศึกษาค่ะ (= "就職活動" ชูโชคุคัตสึโด เรียกสั้น ๆ ว่า "就活" ชูคัตสึ)
นักศึกษาที่กำลังหางานหลายคนสวมชุดสูทสีดำที่ไม่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเหมือนภาพด้านบนเมื่อไปสัมภาษณ์งาน ชุดนี้เป็นชุดสำหรับนักศึกษาหางานและเรียกว่า "recruit suit" (สูทสมัครงาน) คนที่ย้อมผมเป็นสีน้ำตาลเป็นประจำก็มักจะย้อมผมเป็นสีดำในช่วง "ชูคัตสึ" นี้ด้วยค่ะ
ทางบริษัทเองก็ไม่ได้ขอให้นักศึกษามาสัมภาษณ์ในลักษณะดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี มีสาเหตุหลายประการที่ทำให้นักศึกษาส่วนใหญ่สวมชุดสูทสมัครงานที่คล้ายคลึงกัน ย้อมผมเป็นสีดำเพื่อหางานกันค่ะ
- เพื่อให้ผู้คุมสัมภาษณ์รู้สึกถึงความ "จริงจัง" และ "สะอาด"
- เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมากว่า 20 ปี ความคิดว่า การหางาน = ชุดสูทสมัครงานและผมสีดำ จึงกลายเป็นเรื่องธรรมดาไป
- หากคุณแต่งตัวแตกต่างจากคนอื่น ผู้พิจารณาจ้างงานอาจคิดว่าคุณ "ขาดความสามารถในการทำงานเป็นทีม"
น่าแปลกใจในสายตาชาวต่างชาติ!? มารยาทในการหางานของญี่ปุ่น
นอกจากชุดสูทสมัครงานแล้ว "ชูคัตสึ" ก็ยังมีลักษณะเฉพาะอีกหลากหลายค่ะ แต่ก่อนหน้านั้น ดิฉันจะขอแนะนำขั้นตอนการหางานก่อนนะคะ
ในญี่ปุ่นมีระบบพิเศษที่เรียกว่า 新卒一括採用 (shinsotsu ikkatsu saiyou ชินซตสึอิคคัตสึไซโย การเปิดรับสมัครงานเด็กจบใหม่) เป็นระบบที่บริษัทต่าง ๆ จะทำการคัดเลือกทรัพยากรบุคคลสำหรับผู้ที่กำลังวางแผนจะสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยตามเวลาที่กำหนดทุกปี และนักศึกษาจะได้ไปสัมภาษณ์งานระหว่างที่ยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยและรับข้อเสนอรับเข้างานตั้งแต่ตอนที่ยังเรียนอยู่ค่ะ นักศึกษาที่กำลังหางานคือผู้ที่สมัครในการประกาศรับสมัครงานแบบนี้นั่นเองค่ะ
โดยทั่วไปแล้ว "ชูคัตสึ" จะเริ่มอย่างจริงจังในเดือนมีนาคมของนักศึกษาปีสามกันค่ะ นั่นก็เป็นเพราะว่าหลายบริษัทจะเริ่มสรรหาทรัพยากรบุคลากรพร้อมกันทั้งหมดในเดือนมีนาคมยั่ยเองค่ะ การหางานเริ่มต้นในเดือนมีนาคม และหลังจากกระบวนการจ้างงาน เช่น การสัมภาษณ์และการทดสอบความสามารถ นักศึกษาก็จะได้บริษัทที่จะเข้าทำงานในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายนถึงฤดูใบไม้ร่วง จากนั้นก็เรียนจบมหาวิทยาลัยในเดือนมีนาคมของปีถัดไป และเริ่มทำงานที่บริษัทที่ได้งานในเดือนเมษายนกันค่ะ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การหางานเริ่มต้นมากกว่าหนึ่งปีก่อนที่จะเริ่มทำงานจริง ๆ ค่ะ
ความยากลำบากแรกในการหางาน เอกสารการสมัคร (Entry Sheet)
การหางานเริ่มต้นด้วยการส่ง "เอกสารสมัครงาน" (エントリーシート / Entry Sheet) ไปที่บริษัทค่ะ เอกสารสมัครงานเป็นกระดาษสำหรับกรอกข้อมูลโปรไฟล์ส่วนตัว จุดแข็ง ฯลฯ ของคุณ และผู้รับผิดชอบการว่าจ้างของบริษัทจะดูเอกสารสมัครงานนี้และเลือกนักศึกษาที่ต้องการสัมภาษณ์ค่ะ
เนื่องจากว่าไม่มีการรับประกันว่าบริษัทที่อยากเข้าจะจ้างแน่นอน หลายคนจึงส่งเอกสารสมัครงานไปบริษัทหลายสิบแห่ง บางคนยังส่งไปยังบริษัทมากกว่า 100 แห่งเลยก็มีค่ะ
นักศึกษาให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับรูปถ่ายหน้าตรงที่แนบในเอกสารสมัครงานกันค่ะ และนักศึกษาหลายคนใช้เงินประมาณ 10,000 เยนเพื่อจ้างช่างภาพมืออาชีพให้ถ่ายรูปให้ การแต่งหน้าของนักศึกษาหญิงที่กำลังหางานก็เรียกว่า "就活メイク" (shukatsu make / การแต่งหน้าสำหรับหางาน) การแต่งหน้าสำหรับหางานนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ว่าจ้างรู้สึกว่านักศึกษาคนนั้นดู "ฉลาด" และ "สะอาดสะอ้าน" ค่ะ
เคาะประตู 3 ครั้ง กฎการสัมภาษณ์ที่ละเอียดมากเกินไป
เมื่อเอกสารสมัครงานผ่าน ต่อไปก็เป็นการสัมภาษณ์งานค่ะ ในกรณีของบริษัทใหญ่ นักศึกษาที่สมัครก็มีจำนวนมาก การสัมภาษณ์จึงมีจำนวนมากตามไปด้วย เช่นมีการสัมภาษณ์ครั้งแรก การสัมภาษณ์ครั้งที่สอง การสัมภาษณ์ครั้งที่สาม และการสัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายค่ะ
นอกจากชุดสูทสมัครงานแล้ว ญี่ปุ่นก็ยังมีธรรมเนียมที่น่าประหลาดใจอื่น ๆ ในการสัมภาษณ์อีกด้วย ตัวอย่างเช่น…
- นักศึกษาจะเคาะประตู 3 ครั้งก่อนเข้าห้องสัมภาษณ์ เมื่อผู้คุมสัมภาษณ์ในห้องบอกว่า "เชิญเข้ามาครับ/ค่ะ" แล้วก็ค่อยเปิดประตูและเข้าไปในห้อง
- วางมือบนตักระหว่างการสัมภาษณ์
- หลังสัมภาษณ์โค้งคำนับผู้สัมภาษณ์ที่หน้าประตูและพูดว่า "ขอตัวนะครับ/คะ" ก่อนออกจากห้อง
- หลังการสัมภาษณ์ นักศึกษาบางส่วนส่งอีเมลและจดหมายถึงบริษัทเพื่อขอบคุณสำหรับการสัมภาษณ์งานด้วย
ผู้คุมการสัมภาษณ์ก็ไม่ได้บังคับให้นักศึกษารักษามารยาทเหล่านี้ แต่อย่างไรก็ดี นักศึกษาก็มักจะประพฤติตนอย่างสุภาพที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อให้ผู้สัมภาษณ์ประทับใจค่ะ
นอกจากนี้ ยังมีคำถามประจำที่ผู้สัมภาษณ์มักจะถามนักเรียนระหว่างการสัมภาษณ์ นั่นก็คือ "สิ่งที่คุณทุ่มเทที่สุดในชีวิตวัยเรียนในมหาวิทยาลัยคืออะไร" และเพื่อให้ตอบคำถามนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ นักศึกษาจึงพยายมสุดชีวิตที่จะสร้างอะไรบางอย่างเพื่อทุ่มเทแรงกายแรงใจกันค่ะ เช่น กีฬา งานพิเศษนอกเวลา และการเป็นอาสาสมัคร ตั้งแต่ก่อนกิจกรรมการหางานจะเริ่มต้นขึ้นอีกค่ะ
นอกจากการสัมภาษณ์แล้ว ผลการทดสอบความสามารถยังส่งผลต่อการว่าจ้าง / ไม่จ้างงานอีกด้วย
"อิโนริเมล" ที่ได้รับเมื่อถูกปฏิเสธการจ้างงานคือ?
หากบริษัทที่อยากทำงานตัดสินใจไม่จ้าง บริษัทจะส่งอีเมลไปให้นักนักศึกษาเพื่อแจ้งให้ทราบว่าจะไม่ได้รับการว่าจ้าง นักศึกษานิยมเรียกอีเมลนี้ว่า "お祈りメール" (o-inori mail อีเมลอวยพร)
เนื่องจากอีเมลที่แจ้งให้ทราบว่าถูกปฏิเสธมักจะเขียนปิดท้ายว่า "ทางเราขอให้คุณโชคดีในการหางานทำอนาคต" นักศึกษาหลายคนเลยพูดว่า "ได้รับอีเมลอวยพร" หรือ "ได้รับการอวยพร" แทนการว่า "ถูกปฏิเสธการจ้างงาน" ตรง ๆ ค่ะ
เหตุผลที่คนญี่ปุ่นทุ่มพลังมหาศาลในการหางาน
การหางานทำหรือชูคัตสึนั้นเป็นอะไรที่เหนื่อยมาก ไหนจะต้องใช้เวลามากมายในการเตรียมตัวสำหรับเอกสารการสมัคร สัมภาษณ์ และทดสอบความสามารถ และพอได้รับการว่าจ้าง บางคนก็ดีใจจนน้ำตาไหล ถ้าไม่ได้รับการว่าจ้าง บางคนก็เศร้าจนร้องไห้เสียใจกันค่ะ
ทำไมคนญี่ปุ่นถึงทุ่มเทพลังงานมากมายกับการหางาน? สถานการณ์ในญี่ปุ่นดังต่อไปนี้ก็มีเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ค่ะ
- ความคิดที่ว่า "ที่ที่จ้างงานต้องหาให้ได้ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย" นั้นฝังรากลึกในสังคม และหลายคนมีความกลัวว่าจะไม่ได้ที่ทำงานก่อนเรียนจบ
- ญี่ปุ่นยังคงมีความคิดเรื่อง "การจ้างงานตลอดชีวิต" (ทำงานต่อไปจนเกษียณในบริษัทเดียว) ที่หยั่งรากลึกในสังคม และเชื่อว่าถ้าพยายมหางานและเข้าไปทำงานในบริษัทขนาดใหญ่หรือบริษัทที่มีชื่อเสียงได้ ก็จะสามารถมีชีวิตที่มั่นคงไปตลอด
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ จำนวนผู้ที่ไม่เชื่อในเรื่องการหางานทำนองนี้ก็เพิ่มมากขึ้น และบางบริษัทอนุญาตให้นักศึกษาสมัครในเวลาที่ตนเองชอบได้แทนที่จะเปิดรับสมัครงานบุคลากรตามช่วงเวลาที่กำหนดเท่านั้น อีกทั้งจำนวนคนหนุ่มสาวที่ต้องการทำงานในบริษัทเดียวตลอดชีวิตก็ลดลงด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ เนื่องจากความตระหนักในการเคารพความหลากหลายทางความคิดที่เพิ่มมากขึ้น นักศึกษาและบริษัทต่าง ๆ ที่ต่อต้านรูปแบบการหางานแบบมาตราฐานที่ต้องชุดสูทสมัครงานและย้อมผมสีดำก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ
บริษัทอันดับ 1 ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นอยากเข้าไปงานทำด้วยคือ?
จากการสำรวจที่จัดทำโดยกาคุโจ (学情 / Gakujo) สื่อที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการหางาน สถานที่หางานที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับนักศึกษาที่จะสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย (รวมถึงบัณฑิตวิทยาลัย) ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2023 อันดับหนึ่งของนักศึกษาชายก็คือบริษัท ITOCHU Corporation ส่วนอันดับหนึ่งสำหรับนักศึกษาหญิงก็คือบริษัท Shueisha ค่ะ
ITOCHU เป็นหนึ่งในบริษัทการค้ารายใหญ่ในญี่ปุ่น และมีชื่อเสียงในด้านรายได้เฉลี่ยต่อปีของพนักงานที่เกิน 10 ล้านเยน ส่วน Shueisha เป็นบริษัทสำนักพิมพ์รายใหญ่ของญี่ปุ่นที่ตีพิมพ์นิตยสารแฟชั่น "non-no" และมังงะอย่างเรื่อง "Kimetsu no Yaiba" (ดาบพิฆาตอสูร) ค่ะ
อ่านแล้วรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับ "การหางาน" ที่แปลกไปเล็กน้อยของญี่ปุ่นกันคะ? ถ้าไม่เป็นการรบกวน เขียนบอกทางเราเกี่ยวกับสถานการณ์การหางานในประเทศมาแชร์กันนะคะ ทางเรายินดีต้อนรับทุกคอมเมนท์ค่ะ!
Comments