ครั้งสุดท้ายที่พกหนังสือนำเที่ยวไปเที่ยวด้วยคือเมื่อไหร่? หรือเคยเดินทางโดยมีหนังสือนำเที่ยวติดตัวไปกันไหม?
หลายคนก็คงขอให้อาจารย์กู(เกิ้ล) บอก ไม่ก็หาข้อมูลผ่านทางแฮชแท็กในไอจีกันสินะครับ ในยุคนี้ที่ข้อมูลการท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงได้ภายในไม่กี่วินาทีด้วยสมาร์ทโฟน คงสงสัยกันว่าจะซื้อหนังสือนำเที่ยวไปทำไมกัน? แต่ถ้าคุณคิดอย่างนั้น ถือว่าพลาดครับ! มีคุณค่ามากมายที่หาได้เฉพาะในหนังสือเป็นเล่มเท่านั้นครับ
ระหว่างที่การเดินทางไปญี่ปุ่นตามปกติกำลังกลับมาทำได้อีกครั้งเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ก็ถึงเวลาลองศึกษาคู่มือการเดินทางแบบมืออาชีพและเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับแนวทางการท่องเที่ยวแบบใหม่ ๆ กันแล้วครับ
สต๊าฟ FJ ได้ลองไปสอบถามผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับรูปแบบการเที่ยวญี่ปุ่นที่แนะนำ!
ถ้าถามคนญี่ปุ่นว่า “ถ้าพูดถึงหนังสือนำเที่ยว นึกถึงอะไร?” คนส่วนใหญ่จะนึกถึงชื่อ “Rurubu” (るるぶ - จัดพิมพ์โดย JTB Publishing Co., Ltd.) เป็นนิตยสารข้อมูลการท่องเที่ยวที่แนะนำ "การชม" "การกิน" และ "การเล่น" ทั่วประเทศญี่ปุ่น และได้รับการรับรองโดย Guinness World Records™ ในปี 2010 ว่าเป็น "ซีรีส์คู่มือนำเที่ยวที่ได้รับการตีพิมพ์มากที่สุดในโลก" และ Rurubu Honolulu '23 ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนสิงหาคม 2022 ที่ผ่านมา ก็กลายเป็นฉบับที่ 6,000 ในซีรีส์ไปแล้วครับ
การมียอดเผยแพร่หนังสือนำเที่ยวจำนวนมากนั้นก็หมายความว่า คงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวที่ไม่เป็นสองรองใครเช่นกันครับ เคล็ดลับการเดินทางที่เสนอโดยมืออาชีพที่ว่านี้มีอะไรบ้าง? ครั้งนี้ผมจะมาแชร์รูปแบบการท่องเที่ยวที่แม้แต่นักอ่าน FUN! JAPAN ที่คิดถึงญี่ปุ่นก็สามารถเลียนแบบได้ง่าย ๆ ครับ
แนวการการท่องเที่ยวที่แนะนำ ①: ทริปแฟนตาซี “ONE PIECE” ที่จะทำให้คุณอยากแล่นเรือในจินตนาการเลย
โตเกียว โอซาก้า ฮอกไกโด... หากคุณกำลังจะไปญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีมานี้ ที่ท่องเที่ยวมาตรฐานและเส้นทางคลาสสิกนั้นก็ไม่เลวทีเดียว แต่ยังไงก็อยากแนะนำให้ค้นพบเสน่ห์ของที่เหล่านี้อีกครั้งจากมุมที่แตกต่างไปดูครับ
ในยุคที่การเดินทางไปต่างประเทศแบบสะดวกสบายยังเป็นเรื่องยาก Rurubu ได้เสนอ "ทริปแฟนตาซี" ที่ให้คุณสัมผัสประสบการณ์การเดินทางโดยไม่ต้องออกจากบ้าน อย่างไรก็ตาม แทนที่จะเพียงแค่เปิด GOOGLE STREET VIEW และขยับไอคอนมนุษย์และเดินไปมาเฉย ๆ แนวคิดของการเที่ยวแบบนี้ก็คือการไปผจญภัยไปยังจุดที่ดูเหมือนฉากต่าง ๆ ที่ปรากฏในเนื้อเรื่องในประเทศต่างๆ ทั่วโลกผสมผสานกับมุมมองจากโลกของมังงะครับ
"Rurubu ONE PIECE" ได้รับการตีพิมพ์เพื่อเป็นที่ระลึกถึงการที่มังงะเรื่อง "ONE PIECE" ได้มีจำนวนมากกว่า 1,000 ตอน มังงะเรื่อง "ONE PIECE" จัดจำหน่ายใน 60 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก และเป็นผลงานตัวแทนของประเทศญี่ปุ่นที่มียอดจำหน่ายมากกว่า 500 ล้านเล่มทั่วโลก ผู้อ่านของ FUN! JAPAN คงรู้จักเรื่องนี้กันหลายคนสินะครับ
สำหรับ “Rurubu ONE PIECE” เจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตจะอ่านต้นฉบับซ้ำทุกรายละเอียด รวบรวมข้อมูล เช่น สถานที่ที่ใช้เป็นต้นแบบที่ประกาศอย่างเป็นทางการโดยนักเขียนมังงะและที่เป็นข่าวลือในหมู่แฟน ๆ และลงทุนตามหามุมของภาพถ่ายเพื่อสร้างจุดที่คล้ายกับฉากตามที่ปรากฏภายในเรื่องด้วย หนังสือที่เกิดจากความร่วมมือนี้ได้รับการแนะนำอย่างเป็นทางการโดยสำนักพิมพ์ Shueisha ครับ
หนังสือครอบคลุมสถานที่ท่องเที่ยวที่คล้ายกับฉากในมังงะซึ่งกระจัดกระจายอยู่ใน 30 ประเทศทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อิตาลี อินโดนีเซีย จีน และเม็กซิโก เป็นต้น พร้อมใส่บอลลูนคำพูดของตัวละครที่ปรากฏขึ้นในแต่ละเกาะไว้ใกล้ ๆ กัน ภาพจากฉากต้นฉบับ (เช่น ภาพด้านบนคือเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นสถานที่จำลองที่ระบุโดยศิลปินและนักเขียนมังงะชื่อดัง โอดะ เออิจิโร่) แค่อ่านฏ้รู้สึกเหมือนกำลังเดินทางรอบโลกเลยครับ!
รูปแบบการล่องเรือแฟนตาซีในฐานะสมาชิกของโจรสลัดหมวกฟางซึ่งให้นิยามใหม่ของ "การเดินทาง" ก็เป็นอะไรที่แปลกใหม่เช่นกันครับ
ตัวอย่างเช่น มิโฮะโนะมัตสึบาระในจังหวัดชิซุโอกะ ที่ซึ่งภูเขาไฟฟูจิและต้นสนดูงดงามคู่กัน ก็คล้ายกับหาดคุริงาฮามะตอนที่ลูฟี่เกยตื้นที่วาโนะคุนิเป็นครั้งแรกครับ
หมู่บ้านทรงกัสโชซึคุริของชิราคาว่าโกะ จังหวัดกิฟุ ก็เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้เขียนเคยมาเยี่ยม นอกจากนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในญี่ปุ่นที่คล้ายกับฉากที่ปรากฎในเรื่อง เช่น ปราสาทนาโกย่าในจังหวัดไอจิและวัดคิโยมิสุในเกียวโต ถึงคุณจะเป็นแฟนมังงะที่เคยไปเที่ยวที่เหล่านี้มาแล้ว แต่ถ้าคิดว่าเป็น "สถานที่ศักดิ์สิทธิ์" แล้วลองกลับไปดูใหม่อีกครั้ง ก็อาจจะได้เห็นมุมมองที่ต่างไปเวลาเทียบกับในโลกมังงะครับ!
แผนที่โลกของเกาะต่าง ๆ ที่ปรากฏใน ONE PIECE "OP Moso Kaizu" (OP妄想海図 - แผนที่ในจินตนาการของ ONE PIECE) ซึ่งสร้างขึ้นโดยพิจารณาจากแผนที่โลกที่ยังสำรวจไม่เสร็จตามในท้องเรื่องโดยอิงจากข้อมูลทุกประเภท เช่นโดย YouTuber ที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการโดยแฟนบุ๊ค ONE PIECE และกองบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ มีแผนที่นี้ไว้ คุณก็สามารถดูที่ตั้งของเกาะต่างๆ ได้ภายในอึดใจเลยครับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่หน้าปกซึ่งดูสะดุดตาเป็นพิเศษก็มีข้อความพร้อมลายเซ็นต์ที่เขียนด้วยลายมือจากตัวอาจารย์โอดะ เออิจิโร นอกจากนี้ยังเผยแพร่การร่วมมือครั้งนี้บน Twitter เพื่อเป็นที่ระลึก และกลายเป็นที่พูดถึงกันมากในหมู่แฟน ๆ ครับ
ฉบับแปลเป็นภาษาอื่นนั้นยังไม่ได้มีการตีพิมพ์ แต่ก็มีภาพประกอบและรูปถ่ายมากมาย ทำให้เป็นหนังสือที่แฟน ๆ สามารถเพลิดเพลินได้เพียงแค่ดูภาพครับ
Rurubu ONE PIECE (るるぶONE PIECE)
- ราคา: 1,100 เยน (รวมภาษีแล้ว)
- จำนวนหน้า: 112
- รายละเอียดสินค้า: Amazon Japan
แนวการการท่องเที่ยวที่แนะนำ ② : "โกะโจอิน" ที่อยากสะสมเหมือนกำลังเติมสมุดภาพโปเกม่อนให้เต็ม
รูปแบบการเที่ยวอย่างที่ 2 ที่ผมอยากจะมาแนะนำคือ "ทัวร์สะสมตราประทับปราสาท" ครับ
อาจมีผู้อ่านจำนวนมากที่รู้จักหรือสะสมโกะชูอินซึ่งใช้เป็นหลักฐานยืนยันการไปเยือนศาลเจ้าและวัดวาอาราม แต่โกะโจอิน (*1) ก็ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในประเทศไทยเท่าไหร่สินะครับ?
ต้นกำเนิดของตราประทับปราสาทโกะโจอินนี้ย้อนไปเมื่อราวปี 1991 ในตอนนั้น ปราสาทมัตสึโมโตะในจังหวัดนากาโน่ได้ออกตราประทับสีแดงที่ระลึกการขึ้นปราการปราสาท นับแต่นั้นมาเวลาก็ได้ล่วงเลยไป 20 กว่าปี ในปัจจุบันนี้ตราประทับปราสาทมีจำหน่ายที่ปราสาทและซากปราสาททั่วประเทศญี่ปุ่น และว่ากันว่ามีการออกตราประทับมากกว่า 1,000 แบบแล้ว มีจำนวนแบบมากกว่าจำนวนประเภทของโปเกมอนในเจเนอเรชั่นล่าสุดเลยนะเนี่ย (*2)...
*1: 御城印 / gojoin - เอกสารรับรองที่ระลึกที่สามารถซื้อหรือรับได้เมื่อเยี่ยมชมปราสาท
*2: นับถึงรุ่นที่ 8 ยังไม่รวม "Pokémon Scarlet & Pokémon Violet" ที่ยังไม่วางจำหน่าย ณ เดือนสิงหาคม 2022
JTB Publishing ซึ่งจับ "กระแสโกะโจอิน" ที่แพร่ไปทั่วญี่ปุ่น ได้ผลิตหนังสือ "Hajimete no Goshuin Meguri" (はじめての御城印めぐり) ขึ้นครับ
ตามชื่อหนังสือครับ (ตวามหมายคือ ครั้งแรกกับการทัวร์สะสมตราประทับปราสาท) หนังสือเล่มนี้มุ่งเป้าไปที่ผู้ที่เพิ่งเริ่มสะสมตราประทับปราสาทเป็นครั้งแรก และไม่เพียงแต่ให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับตัวปราสาทเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตราประทับปราสาทและไฮไลท์ของแต่ละปราสาท เหมือนกับสมุดภาพโปเกมอนที่เต็มไปด้วยรูปถ่ายให้ไปตามล่าครับ
ไม่เพียงการสะสมดีไซน์แบบที่คุณชื่นชอบเท่านั้น แต่ยิ่งถ้าเที่ยวชมปราสาทและสถานที่ท่องเที่ยวโดยรอบด้วยแล้วละก็ ความสนุกก็เพิ่มเป็นสองเท่าตัวเลยครับ ตัวอย่างเช่น สำหรับการเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในนาโกย่านั้น ในตอนเช้า ไปที่ปราสาทนาโกย่าในจังหวัดไอจิ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในสามปราสาทชั้นนำของญี่ปุ่น และหลังจากคว้าตราประทับปราสาทมาสะสมแล้ว ก็ไปรับประทานอาหารกลางวันที่ตรอกคินชาจิโยโกโจ (金シャチ横丁 / Kinshachi Yokocho) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองในอาณัติปราสาทนาโกย่า ในช่วงบ่าย เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะโทคุงาวะและศาลเจ้าโทโยคุนิ (มีโกะชูอินด้วย) ก็เป็นทริปที่สมบูรณ์แบบครับ
เราได้สรุปประวัติและพื้นฐานของโกะโจอินไว้ในบทความนี้ ดังนั้นหากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม แวะไปอ่านกันได้เลยนะครับ
การจะเป็น "Gojoin Master" เริ่มตอนนี้ก็ยังไม่สายเกินไปครับ! อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีหลายแบบที่สามารถซื้อได้เฉพาะในช่วงฤดูกาลตอนที่ไปเยี่ยมชมปราสาทเท่านั้น การเติม "สมุดภาพตราประทับปราสาท" จึงยากกว่าการเติมสมุดภาพ Pokémon ให้เต็มเสียอีก แต่นั่นแหละคือความสนุกที่ล้ำลึกหาที่สุดได้ครับ!
Hajimete no Goshuin Meguri (はじめての御城印めぐり)
- ราคา: 1,430 เยน (รวมภาษีแล้ว)
- จำนวนหน้า: 128
- รายละเอียดสินค้า: Amazon Japan
ว่าแต่ หนังสือนำเที่ยวยังมีคุณค่าอยู่เหรอ?
ในยุคนี้ที่บล็อกส่วนตัว Instagram และสื่อบนเว็บเต็มไปด้วยข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้ฟรี มีเหตุผลอะไรที่จะต้องจ่ายเพื่อซื้อหนังสือที่ยังเป็นกระดาษอยู่?
คำตอบก็คือ มีการรับประกันข้อมูลที่ถูกต้องนั่นเองครับ
อย่างแรก นักเขียนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จะลงสถานที่จริงไปเก็บข้อมูล ถ่ายรูป และยืนยันสถานการณ์ปัจจุบันของสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่ง (โดยเฉพาะในเมืองอย่างโตเกียวและโอซากะที่มีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงของร้านค้ารวดเร็ว จึงสำคัญมาก) ชื่อ ที่อยู่ เวลาทำการ... การพิมพ์ผิดและข้อผิดพลาดในข้อมูลที่เผยแพร่เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับสำนักพิมพ์ จึงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบก่อนเผยแพร่ ในส่วนของ “Rurubu” ซึ่งมีการแก้ไขทุกปี ว่ากันว่าทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างน้อย 1 ครั้งสำหรับแต่ละสถานที่ที่ลงในเนื้อหา และ 2 ครั้งหากต้องมีการยืนยันหมายเลขโทรศัพท์ด้วย สมมติว่ามีสถานที่ 1,000 แห่งที่ถูกลงไว้ในหนังสือ "Rurubu Tokyo" x ติดต่อ 2 ครั้งสำหรับแต่ละสถานที่ = มีการติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลมากกว่า 2,000 ครั้งในหนังสือเล่มเดียว แค่คิดถึงงานที่ต้องทำก็แทบจะเป็นลมเลยสินะครับ แต่ก็เป็นความทุ่มเทที่ให้สัญญาว่าข้อมูลจะถูกต้องเสมอนั่นเองครับ
แผนที่ที่หน้ากลางกินพื้นที่สองหน้าก็ยังเป็นความทุ่มเทอีกอย่างที่พบได้เฉพาะในหนังสืออีกด้วยครับ เมื่อถือไว้ในมือ คุณก็จะรู้สึกเหมือนกำลังออกเดินทางอยู่เลยเชียว!
ครั้งนี้ เราได้แนะนำหนังสือในซีรีส์ "Rurubu Information Edition [ในประเทศ]" (るるぶ情報版[国内]) ซึ่งมีหนังสือ "Rurubu Tokyo 23" (るるぶ東京23), "Rurubu Hokkaido 23" (るるぶ北海道23) และ "Rurubu Kyushu 23" (るるぶ九州23) อยู่ด้วย สนใจลองคว้าหนังสือนำเที่ยวที่ดัดแปลงมาจากมุมมองของคนญี่ปุ่นมาลองใช้ดูกันสักหน่อยไหมครับ?
Comments