ไม่ได้มีแค่สำเนียงคันไซเท่านั้น! เปิดโลกภาษาถิ่นที่นักท่องเที่ยวที่ไปญี่ปุ่นยังไม่รู้จัก + 6 วลีที่นำไปใช้ได้

  • 31 กรกฎาคม 2024
  • 26 ตุลาคม 2022
  • Jacky Wong
  • Mon

ญี่ปุ่นมี 47 จังหวัด และแต่ละภูมิภาคก็มีภูมิอากาศและวัฒนธรรมของตนเอง แน่นอนว่าเมื่อต่างพื้นที่ ก็ย่อมมีสภาพอากาศ ขนบธรรมเนียม และภาษาที่แตกต่างกันไปครับ

นอกจากสำเนียงคันไซ (関西弁 / Kansai-ben) ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในภูมิภาคคินกิอย่างโอซาก้าและเกียวโตแล้ว ที่ผ่านมา ทางเราก็เคยได้แนะนำว่าชาวจังหวัดคานากาว่านิยมเติมคำว่า "จ่าน" และ "ดาเบะ" ต่อท้ายประโยค และชาวอิชิกาวะที่เรียกเห็ดว่าโคเกะ (こけ / koke) ซึ่งแปลว่ามอสในภาษากลาง ในบทความนี้ เราจะอธิบายว่า "ภาษาถิ่นของญี่ปุ่น" คืออะไร และแนะนำวลีทักทายที่มีประโยชน์สำหรับการไปเที่ยว เช่นคำว่า "อรุณสวัสดิ์" "ขอโทษ" และ "ขอบคุณ" เป็นต้นครับ

ญี่ปุ่นมี "ภาษาถิ่น..." กี่ภาษา?

ญี่ปุ่นมี ภาษาถิ่น... กี่ภาษา?

คำและสำเนียงที่แตกต่างกันไปตามภูมิภาคในญี่ปุ่นซึ่งต่างจาก "ภาษามาตรฐาน" (標準語 / hyoujungo) ที่ใช้ในทุกจังหวัดของญี่ปุ่น จะเรียกว่า "ภาษาถิ่น" (方言 / hougen)

มีการศึกษาวิจัยภาษาญี่ปุ่นหลายแนวทาง แต่ในโลกของการวิจัยภาษาถิ่น โทโจ มิซาโอะ (東条操 / TOJO Misao) นักภาษาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นแห่งสมัยเมจิ ได้เคยตีพิมพ์ "ทฤษฎีการแบ่งภาษาถิ่นตามภูมิภาค" ในปี 1953 โดยแบ่งตามหลักไวยากรณ์และคำศัพท์ ก็กลายเป็นงานวิจัยที่ถูกอ้างอิงกันมากที่สุดในปัจจุบันครับ ตามงานวิจัยของ โทโจ มิซาโอะ ภาษาถิ่นของญี่ปุ่นนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ภาษาถิ่นแผ่นดินใหญ่ (本土方言 / hondo hougen) และภาษาถิ่นริวกิว (琉球方言 / ryukyu hougen - ภาษาที่ใช้ในพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรริวกิว เช่น หมู่เกาะโอกินาว่า ไปจนถึงหมู่เกาะซากิชิมะ และหมู่เกาะอะมามิในจังหวัดคาโกชิมะ)

ในบรรดาภาษาถิ่นใหญ่ 2 ประเภทนี้ "ภาษาถิ่นแผ่นดินใหญ่" สามารถแบ่งคร่าว ๆ ได้อีกเป็น 3 ประเภท: "ภาษาถิ่นตะวันออก" "ภาษาถิ่นตะวันตก" และ ``ภาษาถิ่นคิวชู'' ภาษาเหล่านี้สามารถจำแนกแยกย่อยได้อีกเป็น 16 ประเภทย่อย อย่างเช่น "ภาษาถิ่นฮอกไกโด" "ภาษาถิ่นโทโฮคุ" "ภาษาคันโต" "ภาษาถิ่นโทไค/ฮิงาชิยามะ" "ภาษาถิ่นคินกิ" และ "ภาษาถิ่นชิโกกุ" เป็นต้น

ญี่ปุ่นมี ภาษาถิ่น... กี่ภาษา?

"สำเนียง○○" (○○弁 / ○○-ben) เป็นคำที่ใช้สำหรับภาษาเฉพาะในแต่ละภูมิภาคและจังหวัด ซึ่งมีการแยกรายละเอียดมากกว่าคำว่า "ภาษาถิ่น" (方言 / hougen) นี้ครับ

ตัวอย่างเช่น สำเนียงฮอกไกโด (ฮอกไกโด) และสำเนียงสึการุ (จังหวัดอาโอโมริ) ทางตอนเหนือ และสำเนียงคาโกชิมะ (จังหวัดคาโกชิมะ) ทางตอนใต้ เป็นต้นครับ ว่ากันว่ามีประมาณ 140 สำเนียงทั่วประเทศญี่ปุ่น ยิ่งกว่านั้น แม้ว่าจะเป็น "สำเนียงฮอกไกโด" เหมือนกัน แต่ไวยากรณ์และสำนวนก็แตกต่างกันไปตามพื้นที่ไม่ติดทะเล (ซัปโปโร อาซาฮิกาวะ โอบิฮิโร ฯลฯ) และพื้นที่ชายฝั่ง (ฮาโกดาเตะ มุโระรัน คุชิโระ ฯลฯ) อีกด้วย

ในบรรดาสำเนียงต่าง ๆ นี้ "สำเนียงสึการุ" ของจังหวัดอาโอโมริก็ถูกกล่าวขานว่าเป็น "สำเนียงที่ฟังยากที่สุดในญี่ปุ่น" ซึ่งแม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็แทบจะไม่เข้าใจมันเลย ยกเว้นเฉพาะคนในท้องถิ่นเท่านั้นครับ (เนื่องจากการออกเสียงคล้ายกับภาษาฝรั่งเศส ถึงขั้นเคยมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ทำโฆษณาที่ดูเหมือนคนในโฆษณากำลังพูดภาษาฝรั่งเศสกันอย่างอย่างคล่องแคล่วบนรถ แต่จริง ๆ แล้วกำลังสนทนาในสำเนียงสึการุกันเลยครับ) ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้คนจากจังหวัดอื่นจะไม่เข้าใจภาษาถิ่น แม้ว่าจะเป็น "ภาษาญี่ปุ่น" เหมือนกันก็ตามครับ

ญี่ปุ่นมี ภาษาถิ่น... กี่ภาษา?

จากนี้ไปจะขออนุญาตสอนเรื่องคำทักทายในภาษาถิ่น (เวอร์ชันภาษาถิ่น) นะครับ ผมได้รวบรวมคำที่ใช้ตามปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมของผู้อ่าน FUN! JAPAN: โอกินาว่า ฟุกุโอกะ ไอจิ อาโอโมริ และฮอกไกโดมาให้ครับ ถ้าใช้จนคล่อง เวลาเจอคนมนท้องที่ อาจจะโดนชมว่า "ภาษาญี่ปุ่นเประเประเลยนะ" ก็ได้นะครับเนี่ย?

* หยิบยกมาแค่วลีบางส่วนเท่านั้น

(อรุณสวัสดิ์) ภาษาถิ่นของคำภาษาญี่ปุ่นว่า "おはよう (ございます) / O-ha-yo-u (Go-za-i-ma-su)" คือ?

* "おはようございます / O-ha-yo-u Go-za-i-ma-su" เป็นวลีที่สุภาพกว่า "おはよう / O-ha-yo-u"

  • ฮอกไกโด:
    おはようございました / O-ha-yo-u Go-za-i-ma-shi-ta

ในบางพื้นที่ของฮอกไกโด การใช้รูปอดีต "~でした / ~de-shi-ta" ถือว่าสุภาพกว่า และกล่าวกันว่าเป็นการแสดงความเคารพต่อผู้ที่มีตำแหน่งหรืออาวุโสสูงกว่าด้วยครับ

  • อาโอโมริ:
    おはよごす / O-ha-yo-go-su
  • ไอจิ:
    はやいなも / Ha-ya-i-na-mo
  • โอกินาว่า:
    うきみそーちー / U-ki-mi-so-chi

คำนี้เป็นภาษาถิ่นที่ใช้กันเป็นหลักในเกาะหลัก (本島 / hontou) ของโอกินาว่า ซึ่งคำแปลโดยตรงก็แปลว่า "ตื่นแล้วเหรอ?" ดังนั้นควรใช้ทักทายเฉพาะตอนที่ตื่นใหม่ ๆ ส่วนเวลาออกไปเจอใครเป็นครั้งแรกนอกบ้านก็ควรใช้คำว่า "はいさい / Ha-i-sa-i" (สำหรับผู้ชาย) หรือ "はいたい / Ha-i-ta-i" (สำหรับผู้หญิง) แทนครับ

(ทิวาสวัสดิ์ / สวัสดี) ภาษาถิ่นของคำภาษาญี่ปุ่นว่า "こんにちは / Ko-n-ni-chi-wa" คืออะไร?

  • อาโอโมริ:
    こんにずは / Ko-ni-zu-wa
  • โอกินาว่า:
    ちゅーうがまびら / Chu-u-ga-ma-bi-ra
    หรือ はいさい / Ha-i-sa-i (สำหรับผู้ชาย)・はいたい / Ha-i-ta-i (สำหรับผู้หญิง)

"はいさい / Ha-i-sa-i" และ "はいたい / Ha-i-ta-i" เป็นคำทักทายครอบจักรวาลซึ่งสามารถใช้ได้ทุกช่วงเวลาของวัน ไม่ว่าจะเช้า เที่ยง หรือแม้แต่กลางคืน เวลาไปเที่ยวโอกินาว่า จำแค่คำนี้คำเดียวก็เหลือเฟือครับ!

(สายัณห์สวัสดิ์) ภาษาถิ่นของคำภาษาญี่ปุ่นว่า "こんばんは / Ko-n-ba-n-wa" คือ?

  • ฮอกไกโดและอาโอโมริ:
    おばんです / O-ba-n-de-su
    หรือ おばんでした / O-ba-n-de-shi-ta

"ばん / ba-n" ตรงกับตัวคันจิ "晩" ที่แปลว่าตอนเย็น/ค่ำนั่นเอง มักใช้โดยคนในวัย 40 และ 50 และบางครั้งก็ใช้เป็นคำทักทายในโอกาสที่เป็นทางการหรือในที่สาธารณะด้วยครับ

  • ไอจิ:
    おしまいやす / O-shi-ma-i-ya-su

(ขอบคุณ) ภาษาถิ่นของคำภาษาญี่ปุ่นว่า "ありがとう (ございます) / A-ri-ga-to-u (Go-za-i-ma-su)" คือ?

* "ありがとうございます / A-ri-ga-to-u Go-za-i-ma-su" เป็นวลีที่สุภาพกว่า "ありがとう / A-ri-ga-to-u"

  • อาโอโมริ:
    ありがどーごし / A-ri-ga-do-go-shi
    หรือ ありがどごす / A-ri-ga-do-go-su

นอกจากนี้ยังมีวิธีพูดว่า "めやぐだ / Me-ya-gu-da" เพื่อแสดงความขอบคุณเวลาที่ไปรบกวนเวลาของคนอื่นหรือรบกวนให้ช่วยเหลือ แต่ว่าการออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า "迷惑だ / Me-i-wa-ku-da" (รบกวน น่ารำคาญ) ในภาษากลางมาก ผู้คนจากจังหวัดอื่นหลายคนจึงมักจะเข้าใจผิดกันครับ

  • โอกินาว่า:
    にふぇーでーびる / Ni-fe-de-bi-ru

แม้ว่าจะเป็นคำภาษาถิ่นที่ใช้กันทั่วไปบนเกาะหลักของโอกินาว่า แต่ก็มีวิธีพูดที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเกาะนั้น ๆ เช่น たんでぃがーたんでぃ / Ta-n-di-ga-ta-n-di" บนเกาะมิยาโกะและ "みーふぁいゆー / Mi-fa-i-yu" บนเกาะอิชิงากิเป็นต้นครับ

(อร่อย) ภาษาถิ่นของคำภาษาญี่ปุ่นว่า "おいしい / O-i-shi-i" คือ?

  • ฮอกไกโด:
    ไม่มีคำเฉพาะถิ่น

การเติมคำว่า "なまら / Na-ma-ra" ไว้ก่อนหน้าคำว่า "おいしい / O-i-shi-i" หรือ "うまい / U-ma-i" ซึ่งแปลว่า "อร่อย" จะได้ความหมายว่า "อร่อยมาก" ครับ ลองเอาใช้หลังจากกินข้าวหน้าทะเลไคเซ็นด้งดูนะครับ!

  • อาโอโมริ:
    んめぇ / N-mee
  • ไอจิ:
    うみゃあ / U-mya-a

นอกจากนี้ยังมีรูปแบบย่อยต่าง ๆ เช่น "うめゃぁがやぁ / U-mya-ga-ya" และ "うみぁーっ / U-mi-a" เป็นต้นด้วยครับ

  • ฟุกุโอกะ:
    うまかー / U-ma-ka

อนึ่ง ในญี่ปุ่นมีบะหมี่สำเร็จรูปในกล่องพร้อมบริโภครสทงคตสึที่เรียกว่า "อุมากัจจัง" (うまかっちゃん / Umakacchan) ซึ่งวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วญี่ปุ่นครับ ชื่อผลิตภัณฑ์ก็มาจากสำเนียงฮากาตะซึ่งแปลว่า "อร่อย" นั่นเองครับ

  • โอกินาว่า:
    まーさん / Ma-sa-n

เมื่อต้องการจะเน้นว่า "อร่อยมาก" ให้เติม "いっぺー / I-ppe" ซึ่งแปลว่า "มาก" ไว้ข้างหน้า กลายเป็นคำว่า "いっぺーまーさん / I-ppe-ma-san" ครับ

(เจอกัน / ลาก่อน) ภาษาถิ่นของคำภาษาญี่ปุ่นว่า "また / Ma-ta" และ "さようなら / Sa-yo-u-na-ra" คือ?

  • ฮอกไกโด:
    したっけ / Shi-ta-kke

หนึ่งในคำภาษาถิ่นที่เป็นตัวแทนของฮอกไกโด นอกเหนือจากความหมายว่า "แล้วเจอกันใหม่" ที่ใช้กล่าวเวลาแยกย้ายหรือร่ำลา ยังใช้เป็นคำสันธานที่มีความหมายเชิง "そうしたら / So-u-shi-ta-ra" (งั้น ถ้างั้น) ด้วยครับ

  • อาโอโมริ:
    へば / He-ba

คำในสำเนียงอาคิตะ สำเนียงสึการุ และสำเนียงชิโมคิตะ ซึ่งมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในภูมิภาคโทโฮคุ (ส่วนใหญ่ในอาโอโมริและอาคิตะ)

  • ไอจิ:
    ほんなら / Ho-n-na-ra

คำภาษาถิ่นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในภูมิภาคคันไซและชูบุเป็นหลัก นอกจากนี้ยังใช้ในคาโกชิมะอีกด้วย

  • โอกินาว่า:
    ぐぶりーさびら / Gu-bu-ri-sa-bi-ra

นอกจากความหมายในเชิง "ลาก่อน" และ "แล้วเจอกันใหม่" แล้ว ยังใช้เป็นคำว่า "失礼します / shi-tsu-re-i shi-ma-su" ซึ่งเทียบเท่ากับคำว่า "ขอตัวก่อน" ได้ด้วยครับ

หัวข้อเรื่อง

Survey[แบบสอบถาม] กรุณาบอกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น







Recommend