เรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญ ตอนที่ 28: ตำนานแห่งเท็นมังเท็นจิน

  • 24 มิถุนายน 2020
  • 15 พฤษภาคม 2020
  • Mon
  • Mon

เรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญ ตอนที่ 28: ตำนานแห่งเท็นมังเท็นจิน

หลังจากได้รับการยกฐานะหลังความตายให้เป็นเทพ สุกาวาะ โนะ มิจิซาเนะ (菅原道真 / SUGAWARA no Michizane) ก็เป็นที่รู้จักในฐานะ เท็นมันเท็นจิน (天満天神 / Tenman Tenjin แปลคร่าว ๆ ได้ว่า เทพสวรรค์แห่งฟากฟ้า) หรือนิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า เท็นจินซามะ (天神様 / Tenjinsama) เทพแห่งการศึกษา ซึ่งก็มีศาลเจ้ามากมายหลายแห่งที่บูชาเท็นจินซามะครับ ในครั้งนี้เราจะไปรู้จักกับตำนานที่เกี่ยวข้องกับเทพเท็นจินและศาลเจ้าที่บูชาเทพองค์นี้ซึ่งเรียกกันว่า เท็นมังกู (天満宮 / Tenmangu แปลคร่าว ๆ ว่า วังฟากฟ้า)

เทพเท็นจิน ชื่อที่แฝงไว้ซึ่งความน่ายำเกรง

เทพเท็นจิน ชื่อที่แฝงไว้ซึ่งความน่ายำเกรง
ศาลเจ้าเท็นมังกู ที่ดาไซฟุ

นามที่ว่า เท็นมังเท็นจินนั้น ว่ากันว่ามาจากชื่อเต็ม ๆ ว่า “โซระมิตสึไดจิไซเท็นจิน” (天満大自在天神 / Soramitsu Daijizai Tenjin) แปลตามชื่อได้ว่า เทพสวรรค์ผู้สถิตอยู่ ณ โซระมิตสึ ซึ่งโซระมิตสึนี้ สามารถอ่านแบบจีนได้ว่าเท็นมัง ยังมาจากคำที่อ่านแบบเดียวกันแต่เขียนต่างกัน คือคำว่า 虚空見 (Soramitsu) ซึ่งเขียนอยู่ในจดหมายเหตุญี่ปุ่น นิฮ่อนโชกิ (日本書紀 / Nihonshoki) แปลว่าอากาศในภาษาบาลี หรือ อวกาศในภาษาไทยนั้นเอง นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า ชื่อนี้มีที่มาจากการที่ว่า “วิญญาณเฮี้ยนของมิจิซาเนะได้กลายเป็นเทพอสุนี ปกคลุมทั่วแผ่นฟ้า” (天満 / Tenman ยังแปลได้ว่า เต็มฟ้า คับฟ้า ทั่วฟ้า) นั่นเองครับ

นอกจากนี้ยังมีตำนานที่กล่าวกันว่า นามนี้ได้มาจากสวรรค์ด้วยครับ

ตำนานแห่งภูเขาเท็มไป

ตำนานแห่งภูเขาเท็มไป
เมืองดาไซฟุจากยอดเขา

แต่เดิมภูเขานี้ชื่อว่า ภูเขาเท็มปัง (天判山 / Tenpan-zan) อยู่ที่ดินแดนชิคุเซ็น (จังหวัดฟุกุโอกะ) ว่ากันว่า หลังถูกเนรเทศ สุกาวาระ โนะ มิจิซาเนะ ผู้ช่ำชองในอักขระจีน ได้เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตนว่าถูกใส่ร้ายและกลั่นแกล้งจนถูกเนรเทศ จึงทำพิธีพิสูจน์ตนเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมต่อสรวงสวรรค์ โดยการไปสวดภาวนาสักการะที่ภูเขาเท็มปังครั้งหนึ่ง แต่ขากลับได้เจอชายชราคนหนึ่งเอาขวานขัดกับหินอย่างเอาเป็นเอาตาย มิจิซาเนะได้สอบถาม ชายชราได้ตอบว่า เขาจะฝนขวานให้กลายเป็นเข็ม

มิจิซาเนะได้ตระหนักถึงพลังแห่งความเพียรพยายาม จึงตัดสินใจกลับไปที่ภูเขาเท็มปังอีกครั้ง โดยไปชำระกายในน้ำตกชิโต (紫藤の瀧 / Shito no Taki) เป็นเวลานับ 100 วัน แล้วปีนสู่ยอดเขา ยืนสวดภาวนาอยู่บนก้อนหิน ณ ยอดเขาติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน จนในที่สุด ก็มีอักขระจากฟากฟ้าปรากฏเป็นคำว่า “โซระมิตสึไดจิไซเท็นจิน” (天満大自在天神) จึงเชื่อว่าความปรารภนาได้กลายเป็นจริง

หลังจากนั้น หินที่ชายชราได้เอาขวานมาขัดก็ถูกเรียกว่า ฮาริสุริอิชิ (針摺石 / Harisuri Ishi หินฝนเข็ม) ภูเขาก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ภูเขาเท็มไป (天拝山 / Tenpai-zan) ซึ่งแปลคร่าว ๆ ได้ว่า ภูเขาสักการะสรวงสวรรค์ ตามที่มิจิซาเนะได้เดินทางไปอ้อนวอนสวรรค์ให้มีตานั่นเอง โดยที่ยอดเขามีหินที่ว่ากันว่ามิจิซาเนะใช้ยืน 7 วัน 7 คืน ชื่อว่า อตสึมะทาจิโนะอิวะ (おつま立ちの岩 / Otsuma Tachi no Iwa) ศาลเจ้าเท็มไป (天拝神社 / Tenpai Jinja) และต้นสนเท็มไปโนะมัตสึ (天拝の松 / Tenpai no Matsu) ส่วนที่ด้านล่างก็มีศาลเจ้าโกะจิซาคุเท็นมังกู (御自作天満宮 / Gojisaku Tenmangu จิซาคุ แปลว่า ทำเอง) ที่ซึ่งมีรูปปั้นศิลาเหมือนตัวจริงที่ตัวมิจิซาเนะสลักขึ้นด้วยตัวเองเป็นวัตถุบูชาหลักประจำศาลเจ้า น้ำตกชิโต และหินแขวนเสื้อคลุม โคโรโมะคาเคะโนะอิชิ (衣掛石 / Koromo-kake no Ishi) ที่ว่ากันว่ามิจิซาเนะได้ถอดเสื้อคลุมโคโรโมะแขวนไว้ก่อนไปชำระล้างร่างกายก่อนไปสวดอ้อนวอนบนเขานั่นเองครับ

ศาลเจ้าโกะจิซาคุเท็นมังกู

ตำนานศิลาปลาดุก

ตำนานศิลาปลาดุก

เมื่อครั้งที่มิจิซาเนะยังมีชีวิตหลังจากถูกเนรเทศ ก็ได้เคยเดินทางไปที่เมืองอะเคโบโนะในอำเภอฟุตสึกะอิจิ ระหว่างที่เดินผ่านจุดจุดหนึ่งได้มีปลาดุกยักษ์โผล่หัวออกมาจากน้ำเป็นประจำราวกับจะขวางทางไม่ให้ข้ามแม่น้ำ จนมิจิซาเนะได้ใช้ดาบทาจิปัดไล่ แต่ก็เกิดเหตุประหลาด ปลาดุกยักษ์ได้ขาดเป็นสามท่อนและกลายเป็นหินไป โดยส่วนลำตัวเป็นหินก้อนใหญ่โผล่ทะลุกำแพงออกมาจากสวนในคฤหาสน์แห่งหนึ่ง ส่วนหางก็อยู่ในสวนเดียวกัน และส่วนหัวอยู่บนเนินชันฝั่งตรงข้ามของถนนครับ เรียกกันว่า ศิลาปลาดุก หรือ นามาสุอิชิ (鯰石 / Namazu Ishi)

จากนั้นก็มีการกล่าวกันว่า ในช่วงที่เกิดความแห้งแล้งในนาเพราะแดดจัดต่อเนื่องหลายวันนั้น เมื่อชาวบ้านนำสุรามาพรมล้างที่ก้อนหิน ฝนก็จะตก ทำให้ผู้คนบูชาเป็นศิลาขอฝน “อะมาโกอิโนะอิชิ” (雨乞いの石 / Ama Goi no Ishi) และกลายเป็นวัตถุสำคัญสำหรับชาวบ้านครับ นอกจากนี้ ที่ชุมชนมุราซากิทางตะวันตกเฉียงใต้ ได้มีการนำชิ้นส่วนของศิลาก้อนใหญ่นี้ไปทำเป็นศิลาบ่อน้ำเพื่อให้มีน้ำอุดมสมบูรณ์ ซึ่งแต่เดิมที่นี่ไม่มีปลาดุกอยู่เลย แต่เมื่อถึงฤดูแล้งปีเมจิที่ 6 ได้มีการนำหินก้อนนี้มาลนไฟเพื่อเป็นการขอฝน หินก้อนนี้ได้แตกออกและปลาดุกก็เริ่มปรากฏในพื้นที่นี้นับแต่นั้นมา

ศิลาปลาดุก


ตำนานกบไม่ร้อง

ตำนานกบไม่ร้อง

ตอนที่มิจิซาเนะถูกเนรเทศจากเกียวโตมาอยู่ที่ดาไซฟุนั้น ได้มาอาศัยอยู่อย่างรันทดที่ศาลเอโนกิ (榎社 / Enoki-sha) ในยามเย็นได้พาเด็กสองคนที่ถูกเนรเทศมาจากเกียวโตด้วยกันไปเดินเล่นรอบ ๆ ที่พัก ตอนที่ไปสระเล็ก ๆ ก็ได้พบกบมากมาย มีทั้งเป็นครอบครัว เป็นพี่น้อง ต่างร้องระงมกัน เห็นแล้วมิจิซาเนะก็นึกถึงครอบครัวที่จากมา จึงได้แต่งกลอนขึ้นหนึ่งบทไว้ว่า

折りに逢へば			ปรารถนาคราใดได้พานพบ
これもさすがに			คงประสบดังจิต
うらやまし			คิดอิจฉา
池の蛙の			เหล่ามณฑกที่อาศัยในธารา
夕暮れの声			ต่างร้องร่ายามอาทิตย์อัสดง

ครั้นเมื่อเหล่ากบได้ฟังกลอนบทนี้ ก็เข้าถึงความโศกเศร้าของมิจิซาเนะ นับแต่นั้นมา พวกกบในสระแห่งนี้ก็เลิกส่งเสียงร้องไปสิ้น

ทั้งนี้ เด็กทั้งสองที่ไปด้วยนั้น คนหนึ่งนั้นกล่าวกันว่าเป็นคนเดียวกับในหลักศิลาบทกลอน หออนุสรณ์เบนิฮิเมะ (紅姫の供養塔 / Benihime no Kuyo To) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเคียวมาจิในอำเภอชิคุชิโนะกล่าวถึง มีการสลักอักขระสันสกฤตไว้ แต่ได้เลือนไปตามกาลเวลาจนไม่สามารถอ่านได้ เดินถัดออกไปอีก 4 – 5 นาทีก็จะพบศิลาสุสานคุมามาโระ (隈麿 / Kumamaro) ซึ่งเป็นเด็กอีกคนที่ถูกเนรเทศมาด้วยกันครับ อนึ่ง คุมามาโระ เสียชีวิตในปี 902 มีศาลบูชาอยู่ภายในศาลเอโนกิ ชื่อศาลโจเมียวนิ (浄妙尼社 / Jomyoni-sha ตามชื่อในสมัยที่คอยปรนนิบัติมิจิซาเนะ และเป็นผู้ริเริ่มการใช้โมจิเสียบกิ่งบ๊วยเพื่อส่งให้มิจิซาเนะโดยหลีกเลี่ยงการตรวจตราของผู้คุม จนกลายเป็น อุเมะกาเอะโมจิ (梅ヶ枝餅 / Umegaemochi) ของดังประจำอำเภอดาไซฟุในปัจจุบัน

ตำนานบ๊วยบิน

ตำนานบ๊วยบิน
ดอกบ๊วยประจำศาลเจ้าเท็นมังกู

ก่อนถูกเนรเทศจากเกียวโตไปยังดาไซฟุ มิจิซาเนะได้เขียนกลอนอาลัยอาวรถึงต้นบ๊วยในคฤหาสน์ที่เกียวโตว่าคงไม่มีโอกาสได้เห็นดอกบ๊วยต้นนี้บานอีกแล้ว โดยแต่งกลอนไว้ดังนี้

東風吹かば			เมื่อวายุบูรพาได้พาพัด
にほひをこせよ			จงสะบัดกลิ่นเจ้าให้ปลิวไสว
梅の花				ดอกเหมยเอ๋ย
主なしとて			แม้นายเจ้าอยู่แสนไกล
春を忘るな			ก็อย่าไซร้ลืมฤดูวสันตา

ความรักที่มีต่อต้นบ๊วยนั้นไม่เพียงตัวมิจิซาเนะเท่านั้น ตัวผู้เป็นบิดา สุกาวาระ โนะ โคเรโยชิ เองนั้น ยังได้สั่งเสียไว้ก่อนตายว่าให้จัดพิธีศพในช่วงดอกบ๊วยบาน โดยไม่ต้องกล่าวคำใด ๆ

บางตำนานกล่าวว่า เมื่อมิจิซาเนะถูกเนรเทศ ต้นซากุระในสวนก็เหี่ยวเฉาราวตรอมใจตาย แต่ต้นบ๊วยและต้นสนในสวนนั้นกลับมีใจปรารถนาแรงกล้าที่จะได้อยู่ใกล้ชิดผู้เป็นนายอีกครั้ง จึงบินข้ามฟ้าไปยังดาไซฟุ แต่ต้นสนนั้นหมดแรงระหว่างทาง จึงตกลงบนเนินแห่งหนึ่งที่ดินแดนเซ็ตสึ (摂津国 / Settsu no Kuni จังหวัดเฮียวโกะในปัจจุบัน) กลายเป็นเนินต้นสนบิน (飛松岡 / Tobimatsuoka) ส่วนต้นบ๊วยนั้นบินตลอดคืนไปจนถึงที่แห่งหนึ่งในดินแดนดาไซฟุในที่สุด กลายเป็นตำนานบ๊วยบิน (飛梅 / Tobiume) ไปในที่สุด อาจกล่าวได้ว่า ลมตะวันออกตามในกลอนของมิจิซาเนะเป็นผู้นำพาให้ต้นบ๊วยได้เดินทางมาถึงดาไซฟุก็เป็นได้ เพราะในกลอนใช้คำว่า นิโฮฮิ (にほひ / Nihohi) ซึ่งสามารถแปลได้ว่า สีสัน แทนคำว่า นิโออิ (におい / Nioi) ที่แปลว่ากลิ่นครับ

ตำนานบ๊วยบิน

นี่จึงเป็นสาเหตุที่ศาลเจ้าเท็นมังกูทั่วประเทศมักจะมีต้นบ๊วย หนึ่งคือเพื่อบูชามิจิซาเนะเพราะท่านชื่นชอบดอกบ๊วยอย่างยิ่ง ว่ากันว่า ดอกบ๊วยศาลเจ้าเท็นมังกูจะบานเร็วกว่าที่อื่น ๆ ทุก ๆ ปี ตรงกับช่วงที่มิจิซาเนะสิ้นชีพ และมีเทศกาลดอกบ๊วยด้วยครับ

ตำนานโคแสนรู้

ตำนานโคแสนรู้
รูปปั้นโคแสนรู้ประจำศาลเจ้าเท็นมังกู

แม้หลังถูกส่งไปที่ดาไซฟุ มิจิซาเนะก็ยังทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจและซื่อตรงต่อจักรพรรดิ แต่ก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือการตอบแทนแต่อย่างใด เมื่ออยู่ได้เพียง 2 ปี มิจิซาเนะก็ได้สิ้นใจในช่วงดอกบ๊วยบานของปี 903 ศิษย์ของเขา อุมาซากะ โนะ ยาสุยุกิ (味酒安行 / UMASAKE no Yasuyuki) ได้นำร่างของเขาขึ้นเกวียนเทียมโคตัวหนึ่งเพื่อเดินทางไปที่วัดเพื่อทำพิธีศพอย่างเป็นทางการ แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง วัวกลับไม่ยอมเดินไปต่อไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ตาม สุดท้ายยาสุยุกิก็คิดว่านี่เป็นอาจเป็นประสงค์ของมิจิซาเนะ และทำการฝังศพของเขา ณ จุดนั้น ซึ่งไม่รู้ว่าบังเอิญหรือจงใจ จุดนั้นเป็นจุดที่ต้นบ๊วยบินได้มาตกและขึ้นอยู่พอดี ในเวลาถัดมา ที่นี่ก็ได้กลายเป็นศาลเจ้าดาไซฟุเท็นมังกู (太宰府天満宮 / Dazaifu Tenmangu) มีร่างของมิจิซาเนะเป็นวัตถุบูชาหลัก มีต้นบ๊วยในตำนานในบริเวณศาลเจ้าด้วยครับ

ด้วยเหตุนี้ ศาลเจ้าเท็นมังกูทั่วญี่ปุ่นจึงมักจะมีรูปปั้นโค โดยมีตนหนึ่งไว้ให้คนไปลูบที่ศีรษะโคโดยเฉพาะเพื่อเป็นสิริมงคล กล่าวกันว่าจะช่วยให้หัวดีมีปัญญาครับ

ศาลเจ้าดาไซฟุเท็นมังกู

เป็นไงบ้างครับ ตำนานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทพเท็นจินหรือสุกาวาระ โนะ มิจิซาเนะ แม้ว่าความเฮี้ยนจะเกิดขึ้นแค่ช่วง 100 ปีแรกหลังสิ้นใจ แต่ก็มีตำนานมากมายหลงเหลือให้ตามค้นหากันถึงปัจจุบันครับ ส่วนวิญญาณอีกรายในสามวิญญาณเฮี้ยนซึ่งก็ว่ากันว่าคำสาปของวิญญาณตนสุดท้ายนั้นก็เป็นต้นเหตุของการเสื่อมอำนาจของราชสำนักจนแม่ทัพหรือโชกุนได้สำเร็จราชการแทนในสมัยคามาคุระนั้น เดี๋ยวผมจะเอามาเล่าให้ฟังในคราวอื่นครับ

อ่านบทความอื่นได้ที่นี่>>>เรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญ

หัวข้อเรื่อง

Survey[แบบสอบถาม] กรุณาบอกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น







Recommend