ในคราวก่อน ๆ ผมเคยได้กล่าวถึงสามวิญญาณสุดเฮี้ยนแห่งญี่ปุ่นไปหนึ่งราย คือ ไทระ โนะ มาซาคาโดะ หรือคันดะเมียวจินกันไปแล้ว พร้อมเกริ่นถึงเทพแห่งการศึกษา เท็นมันเท็นจิน ในครั้งนี้เราจะไปรู้จักกับประวัติของสุกาวาะ โนะ มิจิซาเนะ (菅原道真 / SUGAWARA no Michizane) ก่อนที่จะได้รับการสักการะบูชาในฐานะเทพในภายหลังครับ
มิจิซาเนะ แห่งตระกูลสุกาวาระ: ตระกูลแห่งนักปราชณ์-นักวิชาการ
มิจิซาเนะ แห่งตระกูลสุกาวาระ เกิดในปีค.ศ. 845 ในเชื้อสายนักปราชณ์ สุกาวาระ ซึ่งเป็นตระกูลที่ได้รับตำแหน่งพิเศษว่า อะซอน (朝臣 / Ason) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีมายาวนานก่อนระบบขุนนางในวัง ปู่ของเขา คิโยโทโมะ (清公 / Kiyotomo) เป็นถึงขุนนางชั้นสาม และเป็นถึงเจ้ากองมหาวิทยาลัย (大学の上 / Daigaku no Kami เทียบได้กับกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) พ่อของมิจิซาเนะคือ โคเรโยชิ (是善 / Koreyoshi) บุตรคนที่สี่ของคิโยโทโมะ ก็ได้เป็นถึงขุนนางในชั้นสามในภายหลัง และยังได้เปิดโรงเรียนกวดวิชาในคฤหาสน์ของตนเพื่อให้ผู้ที่ต้องการเตรียมสอบเข้าโรงเรียนหลวง และสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นข้าราชการในวัง โดยคฤหาสน์นั้นตั้งอยู่ที่เมืองคุวาบาระ (桑原町 / Kuwabara-cho) ในเกียวโต ทั้งโคเรโยชิและมิจิซาเนะนั้นชื่นชอบดอกบ๊วยมาก จึงมีต้นบ๊วยอยู่ในสวนด้วย
มิจิซาเนะเป็นบุตรคนที่สาม ของโคเรโยชิ พี่อีกสองคนคือ มิจิโยชิ (道善 / Michiyoshi) และ มิจินาคะ (道仲 / Michinaka) แต่ไม่ปรากฏชื่อเสียงใด ๆ ส่วนตัวมิจิซาเนะนั้น แต่งกลอนยอดเยี่ยมตั้งแต่อายุเพียง 5 ขวบ ได้ผ่านการสอบเข้าโรงเรียนหลวง ซึ่งในสมัยนั้นเรียกกันว่า มหาวิทยาลัย (大学 / Daigaku ไดกาคุ) หลังจบการศึกษาในปีค.ศ. 870 ได้รับใช้ในวังในฐานะนักวิชาการ (ราชบัณฑิต) เริ่มต้นโดยเป็นขุนนางชั้นหกตอนต้น
ก้าวสู่อำนาจ
เมื่อขึ้นเป็นขุนนางชั้นห้า มิจิซาเนะได้ทำงานในกรมยุทธ์เป็นเวลาหนึ่ง ก่อนถูกย้ายไปประจำที่กรมราษฎร์ ด้วยความเชี่ยวชาญในตัวอักษรจีนและความเก่งกาจในทั้งเพลงกลอนและอักษร เขาได้รับงานให้แต่งกลอนจาก ฟูจิวาระ โนะ โมโตสึเนะ (藤原基経 / FUJIWARA no Mototsune) ผู้มีอิทธิพลในตระกูลฟูจิวาระ (ตระกูลที่สืบทอดมาจากเชื้อสายจักรพรรดิสายหนึ่ง) โดยข้ามโคเรโยชิผู้เป็นพ่อไปถึง 3 ครั้ง และได้รับงานเขียนกลอนจากจักรพรรดิ 1 ครั้ง ภายหลังได้เข้าไปทำงานในกรมราชการ จึงได้เข้ามามีส่วนในเรื่องการศึกษาและวิทยาการมากยิ่งขึ้น
เมื่อโคเรโยชิผู้เป็นบิดาได้สิ้นชีพไป มิจิซาเนะได้สืบทอดโรงเรียนกวดวิชา และในปี 877 ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ด้านอักษรศาสตร์ในกองมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสูงสุดสำหรับนักประวัติศาสตร์ในสมัยนั้น
ช่วงชีวิตขึ้น ๆ ลง ๆ
ในปี 886 มิจิซาเนะถูกส่งให้ไปเป็นผู้ว่าราชการในดินแดนซานุกิ (讃岐国 / Sanuki no Kuni จังหวัดคากาวะในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นธรรมเนียมในสมัยนั้นที่ผู้ที่ไม่มีอิทธิพลเส้นสายมักจะถูกส่งไปประจำที่ต่างจังหวัดอย่างน้อยหนึ่งสมัย ในช่วงที่ไปประจำที่ซานุกิเป็นเวลา 4 ปีนั้นได้เขียนกลอนส่วนตัวมากขึ้น งานในฐานะผู้ว่าราชการส่วนใหญ่คือการสอดส่องการทำงานของคนของทางการเพื่อส่งให้ทางวังตบรางวัลหรือลงโทษตามสมควร ตลอด 4 ปีไม่ค่อยมีผลงานเด่น ๆ เท่าใดนัก มีเพียงถูกบันทึกไว้ว่าเคยได้ขอให้พระภิกษุในศาสนาพุทธและนักบวชในลัทธิชินโตช่วยกันทำพิธีขอฝนให้ผ่านภัยแล้งไปได้ด้วยดี
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ประจำการอยู่ที่ซานุกินั้น ได้เกิดเหตุอะโค (阿衡事件 / Ako Jiken) ในปี 888 เนื่องจากฐานะในวังของ ฟุจิวาระ โนะ โมโตะสึเนะ ไม่กระจ่างชัดเจนหลังการขึ้นครองราชย์ของจักรพรรดอุดะ (宇多天皇 / Uda Tenno) มิจิซาเนะได้ส่งหนังสือประณามไปยังโมโตะสึเนะ และได้ความดีความชอบในสายตาของจักรพรรดิอุดะ เมื่อครบวาระที่ซานุกิ มิจิซาเนะได้กลับเข้ามาประจำที่วังซึ่งทางจักรพรรดิอุดะได้พยายามรวบรวมอำนาจของตนเพื่อตัดกำลังของตระกูลฟูจิวาระอยู่พอดี ตำแหน่งต่าง ๆ ในวังจึงตกเป็นของตระกูลเชื้อสายจักรพรรดิอีกสายคือ ตระกูลมินาโมโตะ (源) ซึ่งมิจิซาเนะ ผู้ที่ไม่ได้มาจากตระกูลขุนนางชั้นสูง ก็ได้ผลพลอยได้ ถูกแต่งตั้งให้ครองหลายตำแหน่ง เช่น เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำราชวงศ์ถัง กงสุล และอื่น ๆ
แต่ถึงแม้จะได้รับตำแหน่งเอกอัครราชทูตของญี่ปุ่นประจำราชวงศ์ถัง แต่ตัวเขากลับเป็นผู้ออกตัวเรียกร้องให้ยกเลิกการเจริญสัมพันธ์ทางการทูตกับราชวงศ์ถังเสียเองในปี 894 แม้ว่าในเบื้องหน้าจะกล่าวว่าเป็นเพราะราชวงศ์ถังอยู่ในช่วงถดถอย แต่ในอีกแง่ แม้ว่ามิจิซาเนะจะเชี่ยวชาญเรื่องการเขียนอักษรจีน แต่ความสามารถในการพูดนั้นก็หาได้มีไม่ หากถูกขอให้เป็นผู้แปลภาษาในการเจรจาก็อาจเสียหน้าเอาได้นั่นเองครับ
การเนรเทศและตำนานที่เกี่ยวข้องกับความตายของมิจิซาเนะ แห่งตระกูลสุกาวาระ
ครั้นเมื่อจักรพรรดิอุดะมอบอำนาจให้พระราชกุมาร จักรพรรดิไดโกะ (醍醐天皇 / Emperor Daigo) ในปี 901 มิจิซาเนะก็ถูกเล่นงานทางการเมืองโดยฝ่ายตรงข้าม ฟูจิวาระ โนะ โทคิฮิระ (藤原時平 / FUJIWARA no Tokihira) ซึ่งคอยแนะนำจักรพรรดิไดโกะต่าง ๆ นา ๆ มิจิซาเนะจึงถูกลดยศตำแหน่งให้เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ธรรมดาและส่งไปประจำที่ดาไซฟุ (太宰府 / Dazaifu) ในดินแดนชิคุเซ็น (筑前国 / Chikuzen no Kuni จังหวัดฟุกุโอกะในปัจจุบัน)
ตำนานความเฮี้ยนของสุกาวาระ โนะ มิจิซาเนะ
หลังมิจิซาเนะอยู่ที่ดาไซฟุได้ราว ๆ 2 ปี ก็ได้ตรอมใจจนสิ้นชีพไป หลังจากนั้น ได้เกิดเหตุการณ์แปลกประหลาดมากมายในเกียวโตจนผู้คนเชื่อว่าเป็นแรงพยาบาทอาฆาตของมิจิซาเนะ เริ่มต้นจาก:
- โรคร้ายแพร่ระบาดในเกียวโต
- ภัยแล้ง
- ฟูจิวาระ โนะ โทคิฮิระ ผู้ที่แนะนำให้จักรพรรดิไดโกะเนรเทศเขา เสียชีวิตในวัย 39
- พระกุมารของจักรพรรดิไดโกะ ล้มป่วยและเสียชีวิตต่อเนื่องกันหลายต่อหลายราย
- เกิดเหตุฟ้าผ่าที่วังเซเรียวเด็น (清涼殿 / Seiryoden) จนเกิดเพลิงไหม้ ทำให้ขุนนางหลายคนโดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนร่วมในการเนรเทศมิจิซาเนะ ได้เสียชีวิตกันมากมาย
- ถัดมาไม่กี่เดือน จักรพรรดิไดโกะได้ล้มป่วยและสิ้นพระชนม์
ว่ากันว่า เหตุการณ์เหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไปในสมัยถัดมา มีฟ้าผ่าแทบทุกพื้นที่ในเกียวโต ยกเว้นที่เมืองคุวาบาระ ซึ่งเป็นที่ตั้งของคฤหาสน์ตระกูลสุกาวาระนั่นเอง จนเกิดคำว่า “คุวาบาระ คุวาบาระ” (桑原桑原 / Kuwabara Kuwabara) ในหมู่ชาวบ้านเพื่อใช้ป้องกันสิ่งที่ไม่ชอบอย่างเช่นฟ้าผ่าครับ เพราะเชื่อกันว่า เหตุฟ้าผ้าทั่วท้องที่นั้นมาจากแรงอาฆาตของมิจิซาเนะ แต่มิจิซาเนะก็ยังห่วงคฤหาสน์ที่เคยอาศัย จึงเว้นพื้นที่นี้ไปไม่ให้เกิดไฟไหม้ลามมาถึงครับ
เพื่อให้เหตุการณ์สงบ จักรพรรดิองค์ต่อ ๆ มาได้สร้างศาลเจ้าขึ้นเพื่อบูชามิจิซาเนะ คืนยศถาบรรดาศักดิ์ให้หลังความตาย พร้อมถอดถอนบันทึกที่เกี่ยวข้องกับการเนรเทศมิจิซาเนะครับ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เหตุการณ์สงบลงแต่อย่างใด จนในปี 987 หรือ 84 ปีหลังจากที่มิจิซาเนะได้ตายไปแล้ว จักรพรรดิอิจิโจ (一条天皇 / Emperor Ichijo) ได้มีการยกฐานะของมิจิซาเนะให้เป็นเทพประจำรัฐ เทพเท็นมังเท็นจิน (天満天神 / Tenman Tenjin เทพสวรรค์ผู้สถิต ณ ฟากฟ้า) เทพแห่งการศึกษา พร้อมสร้างศาลเจ้าขนาดใหญ่ขึ้นในทางเหนือของนครเกียวโต ศาลเจ้าคิตะโนะเท็นมังกู (北野天満宮 / Kitano Tenmangu) ทุกอย่างจึงเริ่มกลับสู่ปกติสุข
และยังว่ากันอีกด้วยว่า พื้นที่เมืองคุวาบาระนั้น หากใครไปอยู่อาศัยก็จะเจอเหตุการณ์แปลก ๆ จนอยู่อาศัยกันไม่ได้ แต่ทุกครั้งที่มีการลบชื่อนี้ออกจากนครเกียวโต ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อหรือแบ่งที่ดินให้พื้นที่อื่นจนหมด จะเกิดอาเพศแปลก ๆ ครับ จนทำให้แม้ในปัจจุบัน เมืองคุวาบาระยังคงเหลืออยู่ในนครเกียวโต แต่ถูกลดขนาดเหลือแค่เพียงประมาณ 10 ตารางเมตร ซึ่งเป็นถนน ไม่มีตัวอาคาร ไม่มีคนอยู่อาศัย มีแต่ป้ายรถประจำทางเท่านั้น เพื่อนำพื้นที่ไปใช้สอยและป้องกันเหตุประหลาด แต่ก็ไม่สามารถลบออกจากสารระบบได้ครับ กลายเป็นพื้นที่ปริศนาที่มีตำนานมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ เมืองคุวาบาระยังมีรหัสไปรษณีย์เฉพาะตัวด้วย คือ 604-0976 ครับ
เรื่องเล่าหลังความตายของสุกาวาระ โนะ มิจิซาเนะ
นับแต่นั้นมา สุกาวาระ โนะ มิจิซาเนะ ก็เป็นที่รู้จักในนาม เท็นจินซามะ (天神様 / Tenjin-sama) เทพแห่งการศึกษา มีศาลเจ้าที่บูชาเป็นเทพหลักประจำศาลมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศาลเจ้าพิเศษที่ไม่ได้ลงท้ายด้วยคำว่า จิงจะ (神社 / Jinja ศาลเจ้า) ไทฉะ (大社 / Taisha ศาลเจ้าใหญ่) หรือจิงกู (神宮 / Jingu วังเทวาลัย) แต่เป็นคำว่า เท็นมังกู (天満宮 / Tenmangu วังฟากฟ้า)
แต่ก็มีศาลเจ้าอื่น ๆ อย่างเช่น ศาลเจ้ามิโยชิโนะ (三芳野神社 / Miyoshino Jinja) ซึ่งบูชาเป็นเทพรอง แต่เนื่องจากเรือนของเทพเท็นจินนั้นตั้งอยู่ในเขตปราสาทคาวาโกเอะ (川越城 / Kawagoe-jo) จึงนิยมเรียกกันว่า ท่านเท็นจินในปราสาท (お城の天神さま / Oshiro no Tenjin-sama) ครับ
ถ้าใครยังจำเรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญตอนที่ 21 ได้ แม้จะเฉลยไปแล้วว่าทำไมต้องเป็นเทพเท็นจิน (เพราะเป็นเทพแห่งการศึกษา) แต่ก็คงยังสงสัยว่าทำไมในเนื้อเพลงถึงบอกว่า ไปง่าย กลับยาก ซึ่งนั่นก็เพราะศาลเจ้ามิโยชิโนะแห่งนี้อยู่ในเขตปราสาทหรือวังนั่นเอง การตรวจตราป้องกันสายลับแอบลอบเข้าปราสาทนั้นก็เข้มงวดมาก ๆ นั่นเองครับ
ในครั้งหน้าเราจะไปดูเรื่องราวตำนานพร้อมสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับสุกาวาระ โนะ มิจิซาเนะ ผู้ถูกยกฐานะให้เป็นเทพ เท็นมันเท็นจิน กันต่อครับ
อ่านบทความอื่นได้ที่นี่>>>เรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญ
Comments