กองบรรณาธิการ FUN! JAPAN เป็นเหมือนสถานฑูตนานาชาติขนาดเล็กครับ
มีทั้งชาวอินโดนีเซีย ไทย ไต้หวัน ฮ่องกง จีน และเวียดนาม ทีมงานระดับนานาชาติที่รวบรวมคนชั้นยอด (ทึกทักเอาเอง) จากเอเชียตะวันออกและเอเชียอาคเนย์ บางคนเป็นผู้ช่ำชองการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นและบางคนเป็นมือใหม่ในเรื่องภาษาญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันครับ
เมื่อพวกเรามาที่ญี่ปุ่นครั้งแรก ทุกคนเคยเผชิญ Culture Shock
จากนี้ไป เรื่องราวตอนที่พวกเราประหลาดใจ ประทับใจ และสงสัยเมื่อมาญี่ปุ่นจะถูกเปิดเผยพร้อมกัน หากคุณมีผู้อ่านจากประเทศเดียวมาอ่าน ก็คงไม่ต้องสงสัยเลยว่าหลายคนจะมีความรู้สึกร่วมด้วยเป็นแน่!
ญี่ปุ่นของจริงที่ต่างจากการมาเที่ยว พลิกภาพความประทับใจ
เที่ยวญี่ปุ่น (นับเวลาเป็นหน่วยวัน) กับ การใช้ชีวิตในญี่ปุ่น (นับเวลาเป็นหน่วยเดือน / ปี) นั้นต่างกันมาก ในอดีต พวกเราหลายคนเคยใช้เวลาส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นในการเดินทางระยะสั้น แต่เมื่อได้ลองมาตั้งถิ่นฐานเข้าจริง ๆ ก็ได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อนกันกันครับ
“ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่น ผมเลยคิดว่าพื้นที่ส่วนใหญ่คงเป็นตัวเมือง แต่ก็ต้องแปลกใจที่มีภูเขาและป่าไม้เยอะมากแถมกว้างใหญ่กว่าที่คิดครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมองจากสายตาผู้ที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่เขตร้อนแล้วละก็ ผมว่าคุณจะประหลาดใจกับความแตกต่างสภาพอากาศและอุณหภูมิระหว่างพื้นที่ต่างญี่ปุ่นเป็นแน่"(ชายชาวอินโดนีเซีย)
“ตั้งแต่มาญี่ปุ่น ฉันรู้สึกประหลาดใจกับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลทั้งสี่ค่ะ ทั้งซากุระ หิมะ มีละอองเกสรดอกไม้ในฤดูใบไม้ผลิและอากาศแล้งในฤดูหนาว ก็แปลกใจในแง่ดีที่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากมายในแง่สภาพอากาศและทั้งสี่ฤดูกาลตามสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ แม้ว่าฉันจะไม่เคยเป็นโรคภูมิแพ้ละอองเกสรดอกไม้สมัยที่อยู่ไต้หวันก็ตาม ฉันก็เริ่มมีอาการภูมิแพ้ละอองเกสรดอกไม้ตั้งแต่ปีที่ 5 นับตั้งแต่มาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นค่ะ" (หญิงชาวไต้หวัน)
“ภาพคนเมามาเมาอยู่กลางถนนนี่ เห็นกี่ทีก็ช็อคค่ะ ไม่รู้ทำไมต้องดื่มเยอะขนาดนั้นกันด้วย…” (หญิงชาวเวียดนาม)
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- โรคที่มักพบได้บ่อยในญี่ปุ่น! ?? “ โรคแพ้ละอองเกสร” คืออะไร?
- ทำไมชาวญี่ปุ่นจะต้อง…เผยเบื้องหลังวัฒนธรรมสวมหน้ากากอนามัยของชาวญี่ปุ่น
อุปนิสัยในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันนั้นมีมากกว่าของวิเศษของโดราเอมอนอีก
โดยปกติแล้ว ประเทศบ้านกำเนิดที่ต่างกันก็ย่อมมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป
ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความประหลาดใจแบบไหนที่รออยู่ในกระเป๋าสี่มิติใบนี้ (ในเมืองต่าง ๆ ของญี่ปุ่น)? จากเรื่องราวที่มีมากเหมือนกับจำนวนของวิเศษ เราได้เลือกหัวข้อที่ทุกคนมักพูดถึงกันหมด ก็คือเรื่องมารยาทการจราจรและเรื่องห้องน้ำครับ
<ฉบับมารยาทการจราจร>
“ในไต้หวัน ประตูแท็กซี่ไม่ได้เปิดปิดเองอัตโนมัติ ก็เลยต้องคอยปิดเองตลอดค่ะ ในทางกลับกัน ทีแรกฉันก็ไม่รู้ว่าที่ญี่ปุ่นประตูจะเปิดปิดอัตโนมัติ และมารู้เอาทีหลังว่าคนขับจะโกรธถ้าเราไปปิดประตูเองโดยไม่ได้รับอนุญาตค่ะ” (หญิงชาวไต้หวัน)
"ในไต้หวัน โดยพื้นฐานแล้วรถมักจะมีความสำคัญเหนือคนเดินถนน แต่ตอนที่ฉันมาญี่ปุ่นครั้งแรก ฉันก็ยังไม่ชินกับเรื่องที่ว่ารถจะให้ทางกับคนเดินถนน ฉันเลยหยุดรอหลายครั้งและให้รถไปก่อนบ่อย ๆ ค่ะ" (หญิงชาวไต้หวัน)
“ในฮ่องกง หลัก ๆ แล้ว รถยนต์ก็มาก่อนคนเดินเช่นกันค่ะ แต่พอสัญญาณไฟจราจรคนข้ามถนนเป็นสีเขียว รถจะไม่วิ่งตรงฝ่าไฟแดงมาแน่ค่ะ ดังนั้นตอนที่มาญี่ปุ่นใหม่ ๆ ก็เลยมีประสบการตกใจมากที่เห็นรถเลี้ยวซ้ายเข้ามาถึงแม้ว่าสัญญาณไฟจราจรให้คนข้ามถนนจะเขียวอยู่ก็ตาม" (หญิงชาวฮ่องกง)
"ในญี่ปุ่นมีคนหลายคนที่ไม่ยอมสละที่นั่งให้ผู้สูงอายุและสตรีมีครรภ์บนรถบัส (เมินเอย แกล้งหลับเอย และเอาแต่ไถสมาร์ทโฟนเอย) ในเวียดนามจะมีพนักงาน (กระเป๋ารถเมล์) และถ้ามีผู้สูงอายุขึ้นรถเมล์มา พนักงานก็จะบอกคนหนุ่มสาวให้ "ลุกขึ้น!" เลยรู้สึกว่าคนเวียดนามทุกคนเลยติดนิสัยที่จะยืนขึ้นยกที่นั่งให้จนเป็นธรรมดาไปค่ะ" (หญิงชาวเวียดนาม)
<ฉบับสภาพห้องน้ำ>
"ฉันไม่เคยเห็น Washlet (ชักโครกอัจฉริยะ) มาก่อนเลยจนกระทั่งมาญี่ปุ่น ห้องน้ำชักโครกแบบตะวันตกเป็นเรื่องปกติในประเทศไทย และเวลาจะล้างก็ใช้ที่ฉีดน้ำล้างเอาค่ะ" (หญิงชาวไทย)
“ฉันแปลกใจที่สามารถทิ้งกระดาษชำระลงในชักโครกแล้วกดชักโครกได้เลย ที่ไทยนี่ห้ามทิ้งในชักโครกค่ะ ตอนที่มาญี่ปุ่นครั้งแรกเลยไม่รู้ว่าจะทิ้งกระดาษชำระที่ใช้แล้วที่ไหนเพราะไม่มีถังขยะให้" (หญิงชาวไทย)
บทความที่เกี่ยวข้อง:
คนญี่ปุ่นทำงานหนักเกินไปหรือเปล่า?
สิ่งที่มักถูกพูดถึงโดยประเทศอื่น ๆ นอกจากญี่ปุ่น (ทั้งในแง่ดีและไม่ดี) ก็คงไม่พ้น เรื่องวัฒนธรรมในที่ทำงานครับ
"ในญี่ปุ่น ฉันดีใจที่บริษัทจ่ายค่าเดินทางจากบ้านไปที่ทำงานให้" แม้ว่าจะมีวัฒนธรรมการจ่ายค่าเดินทางที่เป็นมิตรกับกระเป๋าเงินของพนักงาน แต่ญี่ปุ่นก็มีภาพลักษณ์ย่อยว่ามีชั่วโมงทำงานที่นานมากจนมีคำว่า "คะโรชิ" (過労死 / karoshi) หรือ "การเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไป" (แต่ไม่ต้องห่วง FUN! JAPAN เป็นบริษัทสีขาวครับ!) มาเปรียบเทียบวัฒนธรรมการทำงานของแต่ละประเทศกันดีกว่าครับ
“ญี่ปุ่นมีวันหยุดนักขัตฤกษ์และวันหยุดของบริษัทเป็นจำนวนมากจนน่าประหลาดใจเมื่อเทียบกับไต้หวัน ขนาดไม่รวมวันหยุดสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ โอบง วันหยุดฤดูร้อน ฯลฯ ก็ยังมีวันหยุดนักขัตฤกษ์ถึง 16 วันต่อปี ในทางตรงกันข้าม วันหยุดของไต้หวันมีเพียง 8 วัน ปี (ไม่รวมวันหยุดตรุษจีนและวันหยุดที่รัฐบาลกำหนด) บางบริษัทยังให้หยุดในช่วงเทศกาลโอบงและวันหยุดฤดูร้อนได้ด้วย และจำนวนวันหยุดที่ได้เงินเดือนนั้นเยอะกว่าที่ไต้หวันมากค่ะ"(หญิงชาวไต้หวัน)
“ในเวียดนามหลังรับประทานอาหารกลางวัน ทุกคนก็งีบหลับจนถึงเวลาทำงานตอนบ่าย หลายคนฟุบนอนที่โต๊ะทำงาน และถ้าอยู่ใกล้บ้าน บางคนก็กลับงีบที่บ้านแล้วกลับมาที่สำนักงานตอนบ่าย แต่ที่ญี่ปุ่นนั่น ก็มีบางคนที่นอนกลางวัน แต่ส่วนใหญ่ออกไปกินข้าวกลางวันและกลับมาถึงก็เริ่มทำงานทันที ถือว่าทุ่มเทให้กับงานมากค่ะ” (หญิงชาวเวียดนาม)
"แม้ว่าพายุไต้ฝุ่นจะเข้ามาตรง ๆ บริษัทก็จะไม่ประกาศหยุดค่ะ ในไต้หวัน เวลามีพายุไต้ฝุ่นเข้ามา หากแรงลมและปริมาณน้ำฝนถึงมาตรฐานที่กำหนด รัฐบาลท้องถิ่นจะประกาศ "วันหยุดพายุไต้ฝุ่น "และโรงเรียนก็จะปิดค่ะ ในญี่ปุ่น การตัดสินใจประกาศหยุดมักถูกปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตัวสำนักงานเทศบาล ตัวบริษัท หรือตัวโรงเรียนเอง ไม่ได้ถูกประกาศโดยรัฐบาลท้องถิ่นค่ะ” (ชายชาวไต้หวัน)
“สถานการณ์วันหยุดข้ามปีในญี่ปุ่นตรงข้ามกับไต้หวันอย่างสิ้นเชิงค่ะ ในไต้หวันมีคนจำนวนมากที่หยุดงานกันช่วงสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ ดังนั้นร้านค้าและสถานที่ท่องเที่ยวจึงเปิดแทบไม่มีวันหยุดเพื่อรองรับลูกค้า แต่ในญี่ปุ่นมีร้านค้าและสถานที่ท่องเที่ยวมากมายที่ปิดให้บริการค่ะ" (หญิงชาวไต้หวัน)
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- ปีใหม่นี้ไม่มีกร่อย รวบรวมสถานที่ที่เปิดให้บริการในช่วงหยุดปีใหม่
- ถ้าเจอไต้ฝุ่นระหว่างที่อยู่ที่ญี่ปุ่น ควรจะทำอย่างไร? แนะนำช่วงเวลา ภัยพิบัติรอง และประเภทของคำเตือนอย่างละเอียด
อยู่ในญี่ปุ่นนานเกินไป จนเจอ Reverse Culture Shock
อาจเป็นเพราะพวกเราคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นกันมากเกินไป บางครั้งเลยเจอกับ "Reverse Culture Shock (* 1)" เเวลาที่กลับไปประเทศบ้านเกิดครับ ถ้าตั้งใจนับกันจริงจังอาจจะหาที่สิ้นสุดไม่ได้เลย...
* 1: อาการที่พบเมื่ออาศัยอยู่ในต่างประเทศนาน ๆ และกลับสู่สภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย แล้วรู้สึกไม่สบายใจหรือตกใจกับวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมในบ้านเกิด
"ทีแรกฉันก็รู้สึกแปลกกับนิสัยคนญี่ปุ่นที่กินเกี๊ยวกับข้าว แต่ตอนนี้ตรงกันข้ามค่ะ เวลาฉันกินเกี๊ยว ฉันก็อยากกินข้าวไปด้วยค่ะ (หัวเราะ)" (หญิงชาวฮ่องกง)
"ที่ญี่ปุ่น ผมดื่มน้ำประปาตรงจากก๊อกครับ พอกลับมาไต้หวันก็เกือบดื่มน้ำประปา (คุณภาพน้ำไม่ใช่ระดับที่ดื่มโดยตรงได้)" (ชายชาวไต้หวัน)
"ในไทยจะมีค่าบริการเวลาเข้าห้องน้ำตามห้างสรรพสินค้าและชายหาดค่ะ แถมบางที่ยังไม่มีกระดาษชำระให้ด้วย" (หญิงชาวไทย)
“ผมเจอ Reverse Culture Shock ตรงที่รถไฟและรถเมล์ไทยมาไม่ตรงเวลาครับ ตอนนัดเที่ยวกับเพื่อนก่อนหน้านี้ บางคนมาช้าเกินกว่า 30 นาทีเลยครับ” (ชายชาวไทย)
"ฉันกังวลเสมอว่าจะจัดการกับกระดาษชำระยังไงดี มักจะต้องคิดเสมอว่าควรทิ้งมันลงในชักโครกหรือทิ้งลงในถังขยะดี?" (หญิงชาวไต้หวัน)
"เพราะคนญี่ปุ่นชอบถนอมน้ำใจบ่อย ๆ จึงพูดว่า" ขอโทษ" ทันทีไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กแค่ไหน เวลาไปต่างประเทศ ฉันเคยทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดไปด้วยเพราะเผลอพูดว่า "ขอโทษ" ไปโดยไม่ได้ตั้งใจหลายครั้งเลยค่ะ... ” (หญิงชาวอินโดนีเซีย)
ถ้าคุณมีความรู้สึกร่วมแม้แต่เรื่องเดียวก็ตาม บอกให้เราทราบในช่องคอมเมนท์ทางด้านขวานะครับ!
Comments