ในภาษาญี่ปุ่นมีคำว่า "ฟูบุตสึชิ" (風物詩 / fuubutsushi) อยู่ครับ มีความหมายว่า "สิ่งประจำฤดูกาลหรือบางสิ่งที่ทำให้รู้สึกถึงฤดูกาลนั้น ๆ" ซึ่งก็มีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี และสิ่งของต่าง ๆ ที่มักพบเห็นในญี่ปุ่นในช่วงฤดูกาลนั้น ๆ แน่นอน แม้ว่าจะยังไม่สามารถไปญี่ปุ่นได้ แต่คุณก็สามารถใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อให้เหมือนกับว่ากำลังอยู่ที่ญี่ปุ่นได้ครับ ในคราวนี้เราจะมาแนะนำสิ่งที่คนญี่ปุ่น (หรือแม้แต่คนไทยที่ชอบญี่ปุ่น) มักจะคิดถึงกันเมื่อถามว่า "ถ้าพูดถึงฤดูหนาวแล้วจะนึกถึงอะไร" กันครับ
สิ่งตามธรรมชาติประจำฤดูหนาว
ดอกไม้แห่งฤดูหนาว: ดอกสึบากิ-สะซังกะ ดอกซากุระฤดูหนาว ดอกบ๊วย
แม้ว่าฤดูหนาวจะไม่ค่อยมีใครนึกถึงดอกไม้ แต่จริง ๆ แล้วก็มีดอกไม้มากมายที่บานในช่วงนี้ครับ นอกจากดอกไม้หลัก ๆ อย่างดอกบ๊วยที่เคยแนะนำไปในบทความดอกไม้ประจำฤดูกาลแล้ว ก็ยังมีดอกซุยเซ็น (水仙 / suizen) หรือ Narcissus Tazetta ที่คนมักจะนึกถึงในฤดูหนาวด้วยครับ
ส่วนอีกอย่างที่เกี่ยวข้องแต่ไม่ใช่ดอกไม้ก็คือ ผลนันเตงหรือไม้้ไผ่สวรรค์ (南天 / nanten) สีแดงสด เชื่อว่านำโชคครับ จึงนิยมปลูกประดับบ้าน โดยจะออกผลในช่วงฤดูหนาวพอดี
ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ: ลมเหนือ หิมะ เสาน้ำค้างแข็ง การชมฝนดาวตก การชมทางช้างเผือก
สำหรับลมหนาวที่เข้ามาที่ญี่ปุ่นนั้นจะมาจากทวีปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งนอกจากชื่อทั่วไปว่า ลมเหนือ คิตะคาเสะ (北風 / kita-kaze) และ ยังเรียกว่า อะนาจิ (あなじ / anaji) ด้วย ใบไม้ที่แห้งเหี่ยวที่ถูกลมพัดหอบไปก็เรียกว่า โคการาชิ (木枯らし หรือ 凩 / kogarashi) ครับ แล้วก็ยังมีปรากฏการณ์น้ำค้างแข็งบนพื้นเป็นเสาคล้ายขน เรียกกันว่า ชิโมบาชิระ (霜柱 / shimo-bashira) ครับ
หิมะนั้นคงไม่ต้องพูดถึง แต่หากวันสำคัญไหนมีหิมะตก จะนิยมเติมคำว่า ไวท์ (ホワイト / white) นำหน้า เช่น ไวท์คริสต์มาส ไวท์โอโชกัตสึ (หิมะตกวันปีใหม่) เป็นต้นครับ
เสาน้ำค้างแข็ง หรือน้ำตกแข็ง ที่ญี่ปุ่นเรียกว่า สึราระ (つらら หรือ 氷柱 / tsurara) ครับ มีเทศกาลชมสึราระกันด้วย เช่นที่อำเภอชิจิบุ จังหวัดไซตามะ และที่ทะเลสาปชิคตสึ จังหวัดฮอกไกโดครับ
ฝนดาวตก หรือ ริวเซกุน (流星群 / ryuuseigun) เป็นปรากฏการณ์เมื่อโลกเคลื่อนเข้าใกล้กลุ่มสะเก็ดดาวลีโอนิดส์ในช่วงเดือนฑฤศจิกายน และเจมินิดส์ในช่วงเดือนธันวาคมครับ แถมในเดือนธันวาคม ยังใกล้วันเหมายัน (冬至 / touji) ที่เวลากลางคืนยาวนานที่สุด จึงสามารถมองเห็นได้ชัดเจนด้วย ในบางพื้นที่ที่ไร้แสงจากเมืองยังสามารถชมทางช้างเผือก กิงกะ (銀河 / ginga) ได้ด้วยครับ
ประเพณีและเทศกาลประจำฤดูหนาว
ชุดประจำฤดูหนาว: กิโมโนเต็มยศ ฟุริโซเดะ เสื้อกันหนาวแบบญี่ปุ่นอย่างฮันเต็น
ชุดแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมในฤดูหนาวก็คงไม่พ้น ชุดกิโมโนปกติครับ ซึ่งต่างจากยุคาตะที่เป็นชุดลำลอง มีความหนา ความยาวมากกว่ายุคาตะ และมีการสวมเสื้อคลุมฮาโอริด้วย สามารถเห็นคนญี่ปุ่นสวมใส่เวลาไปไหว้พระไหว้เจ้ารับปีใหม่ ฮัตสึโมเดะ ได้ครับ สำหรับวันอื่น ๆ ก็อาจจะเห็นคนญี่ปุ่นสวมชุดซามุเอะ (作務衣 / samue) ซึ่งคล้าย ๆ ชุดจิมเบแต่ยาวกว่า หรือฮาโอริแบบหนาที่เรียกว่า ฮันเต็น (半纏 / hanten) ครับ
ส่วนในวันพิธีบรรลุนิติภาวะก็จะเห็นสาว ๆ สวมใส่ชุดกิโมโนแขนเสื้อห้อยยาว ฟุริโซเดะ (振袖 / furisode) กันครับ
วิธีใช้ชีวิตช่วงฤดูหนาว: ออนเซ็น โต๊ะอุ่นขาโคทัตสึ น้ำอุ่นยูซุ การก่อกองไฟ ไปจนถึงกีฬาฤดูหนาว
ถ้าพูดถึงหน้าหนาว การเล่นสกี-สโนว์บอร์ด หรือการก่อกองไฟเผื่อผิงไฟ ก็คงเป็นกิจกรรมที่ประเทศที่มีพื้นที่หนาวนิยมทำกัน แต่สำหรับญี่ปุ่นที่มีน้ำพุร้อนมากมาย การแช่ออนเซ็นก็ยังเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของญี่ปุ่นด้วยครับ
นอกจากนี้ โต๊ะอุ่นขาโคทัตสึ (コタツ / kotatsu) หรือการใส่ส้มยูซุลงในอ่างอาบน้ำ ยุสุยุ (柚子湯 / yuzuyu) หรือ ยุสุบุโร (柚子風呂 / yuzuburo) ก็ยังเป็นเอกลักษณ์ที่มีเฉพาะที่ญี่ปุ่นอีกด้วยครับ ซึ่งอย่างหลังทำขึ้นเพื่อผ่อนคลาย โดยเฉพาะในวันเหมายันครับ
วันหยุดยาวฤดูหนาว: คริสต์มาส ปีใหม่ กิจกรรมก่อนปีใหม่ กิจกรรมข้ามปี ฮัตสึโมเดะ และอื่น ๆ
ในสมัยเฮเซ วันพระราชสมภพจักรพรรดิญี่ปุ่นของจักรพรรดิเฮเซ (อะคิฮิโตะ) นั้นอยู่ใกล้กับวันคริสต์มาสพอดี บางหน่วยงานหรือโรงเรียนจึงมีวันหยุดยาวตั้งแต่วันพระราชสมภพจักรพรรดิญี่ปุ่นจนเปิดปีใหม่ ทำให้เรียกกันว่า ฟุยุยะสุมิ (冬休み / fuyu-yasumi) หรือวันหยุดยาวฤดูหนาวครับ
วันคริสต์มาส: แม้ว่าที่ญี่ปุ่นจะไม่ได้ฉลองแบบต่างชาติที่รวมตัวกันในครอบครัวเพื่อกินไก่งวงหรือแกะของขวัญ แต่ก็นิยมใชเวลาร่วมกับคนรักกันครับ นอกจากนี้ยังมีตลาดคริสต์มาสตามที่ต่าง ๆ ด้วย ไฟประดับในฤดูหนาวที่นิยมทำขึ้นก็เกิดมาจากวัฒนธรรมคริสต์มาสครับ
ช่วงสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ (年末年始 / nenmatsu-nenshi): กิจกรรมที่นิยมทำช่วงสิ้นปีก็คือการทำความสะอาดครั้งใหญ่ (大掃除 / oosouji) เพื่อให้บ้านสะอาดและไล่สิ่งไม่ดีเพื่อต้อนรับเทพประจำปี นิยมทำก่อนถึงวันสิ้นปี โอมิโซกะ (大晦日 / oomisoka) และประดับบ้านด้วยของตกแต่งปีใหม่ (お正月飾り / oshougatsu-kazari) สิ่งก็มีหลายอย่างครับ นอกจากนี้ยังนิยมส่ง ส.ค.ส. หรือ เน็นกะโจ (年賀状 / nengajou) เพื่ออวยพรปีใหม่กันครับ ในส่วนของการไปสวัสดีก่อนขึ้นปีใหม่ก็ยังมี โอเซโบะ (お歳暮 / oseibo) ซึ่งก็คือของฝากรับปีใหม่ด้วยครับ ในวันสิ้นปีก็จะมีการทำกิจกรรมข้ามปีกัน เช่น กินโซบะข้ามปี โทชิโคชิโซบะ (年越しそば / toshi-koshi soba) การตำโมจิ (餅つき / mochitsuki) ซึ่งมักจะทำในวันที่ 28 หรือ 30 ธันวาคม เพราะเลี่ยงเสียงไม่มงคลอย่างเลข 9 (พ้องกับคำว่า 苦 / ku ที่แปลว่าลำบาก) และ 31 ที่มักจะทำให้โมจิไม่เป้นเนื้อเดียวกัน การตีระฆังตัดกิเลส 108 ครั้ง โจยะโนะคาเนะ (除夜の鐘 / joya no kane) ซึ่งมักมาพร้อมกับการไปที่วัดในเวลาเที่ยงคืนโดยมีการออกร้านงานวัดไปด้วย ไปจนถึงกิจกรรมสำหรับคนที่ชอบอยู่บ้านอย่างการชมประกวดร้องเพลงขาวแดง โคฮาคุ (紅白歌合戦 / kouhaku utagassen)
เมื่อขึ้นปีใหม่ก็มีกิจกรรมอีกมากมาย เช่นการไปไหว้พระไหว้เจ้าครั้งแรกของปี ฮัตสึโมเดะ (初詣 / hatsumoude) การกินอาหารรับปีใหม่ โอเซจิเรียวริ (おせち料理 / osechi ryouri) นอกจากนี้ก็มีกิจกรรมและการละเล่นอีกมากมายอย่าง การเขียนความตั้งใจประจำปี คาคิโซเมะ (書初め / kakizome) การตีลูกขนไก่ ฮาเนะสึกิ (羽根突き / hanetsuki) ไปจนถึงการเล่นหลับตาแปะหน้าโอฟุคุ ฟุคุวาราอิ (福笑い / fuku-warai) ครับ และยังมีการให้เงินปีใหม่ โอโทชิดามะ (お年玉 / otoshi-dama) ซึ่งพ้องเสียงกับจิตวิญญาณแห่งปี (お年魂) กับผู้ที่มีอายุน้อยกว่าด้วยครับ
พิธีกรรมเผาชำระสิ่งของ ดอนโดะยากิ ในวันปีใหม่ย่อย
ดอนโดะยากิ (どんど焼き / dondo-yaki) เป็นพิธีกรรมของทางวัดและศาลเจ้าเพื่อเผาทำลายเครื่องราง (お守り / omamori) และยันต์หรือป้ายบูชา (お札 / ofuda) ต่าง ๆ ที่คนนำมาคืน ไปจนถึงของตกแต่งปีใหม่ที่ถูกนำออกจากบ้านแล้วและทำมาฝากศาลเจ้าหรือวัดจัดการให้นั่นเองครับ นิยมจัดในวันปีใหม่ย่อย โคะโชกัตสึ (小正月 / koshougatsu) วันที่ 15 มกราคมครับ ซึ่งเป็นการเลื่อนวันให้ใกล้เคียงกับวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินโบราณที่ยึดตามจันทรคติของจีนนั่นเอง
วันพิธีบรรลุนิติภาวะ
พิธีที่จัดขึ้นในวันจันทร์ที่สองของเดือนมกราคม ปัจจุบันญี่ปุ่นมีการแก้กฎหมายให้นับบุคคลตั้งแต่อายุ 18 ขึ้นไปเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ก็ยังจำกัดการดื่มเครื่องดื่มมึนเมาเป็น 20 ปีบริบูรณ์อยู่เหมือนเดิมครับ...
วันเปลี่ยนฤดูกาล เซ็ตสึบุน
วันที่เชื่อกันว่าเป็นการเปลี่ยนจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ มีการไล่ยักษ์โอนิ เชิญโชคลาภโอฟุคุ กินซูชิม้วนโดยหันไปทางเทพประจำปี เป็นต้นครับ
เทศกาลฤดูหนาว: เทศกาลเกี่ยวกับหิมะ เทศกาลเกี่ยวกับไฟ การเผาทุ่ง
ในจังหวัดทางตอนเหนืออย่างฮอกไกโดและภูมิภาคโทโฮคุ ไปจนถึงจังหวัดที่มีพื้นที่หนาว ก็จะมีเทศกาลฤดูหนาวของทองที่นั้น ๆ ครับ ที่ดัง ๆ ก็ได้แก่ เทศกาลหิมะแห่งซัปโปโร เทศกาลเสาน้ำแข็งแห่งทะเลสาปชิคตสึ เทศกาลน้ำแข็งแห่งอาซาฮิคาวะ เทศกาลโคมไฟฤดูหนาวแห่งฮิโรซากิ เทศกาลกระท่อมหิมะแห่งโยโกเตะ เทศกาลกระท่อมหิมะยูนิชิคาวะ ไปจนถึงเทศกาลหิมะแห่งมิยามะในเกียวโตครับ
ส่วนบางพื้นที่ก็มีเทศกาลเกี่ยวกับไฟ อย่าง การเผาทุ่งยามายากิที่วากาคุสะ ประเพณีตัน้ำที่วัดโทไดจิ
เทศกาลชมดอกไม้: ดอกบ๊วย ดอกซากุระบานเร็ว
การชมดอกบ๊วยเป็นวัฒนธรรมที่เข้ามาจากจีน แต่ก็ยังไม่หายไปจากญี่ปุ่นเพียงเพราะคนญี่ปุ่นหันไปชมดอกซากุระครับ เพราะดอกบ๊วยยังมีกลิ่นหอมและความคลาสสิคในตัว สถานที่ชมดอกบ๊วยนั้นสามารถอ่านได้จากบทความเรื่องดอกไม้ประจำฤดูหนาวนะครับ
สิ่งของประจำฤดูใบไม้ร่วง
ของประดับตกแต่งฤดูหนาว: ไฟประดับฤดูหนาว ของตกแต่งปีใหม่ การห้อยเชือกป้องกันต้นไม้จากหิมะ ตุ๊กตาหิมะ
ช่วงสิ้นปีโดยเฉพาะในเดือนธันวาคมจะพบไฟประดับ Illumination ได้มากมายหลายที่ครับ ซึ่งการชมไฟประดับก็กลายเป็นกิจกรรมน่าทำในฤดูหนาวไปแล้วด้วยครับ แต่บางที่ก็จัดถึงแค่สิ้นปีเพื่อรับช่วงคริสต์มาส ส่วนบางที่ก็ขยายยาวไปจนถึงสิ้นเดือนมกราคมเพื่อส่งต่อไปยังงานเทศกาลฤดูหนาวต่าง ๆ แทนครับ
ของตกแต่งปีใหม่ (お正月飾り / oshougatsu-kazari) ที่เห็นได้บ่อยก็ได้แก่ โมจิสามชั้นพร้อมส้มมิคัง คากามิโมจิ (鏡餅 / kagami-mochi) ภายในบ้าน ชิเมะคาซาริ (しめ飾り / shimekazari) บนบานประตูบ้าน และคาโดะมัตสึ (門松 / kado-matsu) ที่ทางเข้าบ้านครับ
ยูกิสึริ (雪吊り / yuki-tsuri) เป็นการห้อยเชือกรอบต้นไม้เพื่อป้องกันไม่ให้กิ่งของต้นไม้ในสวนหักลงจากน้ำหนักของหิมะและน้ำค้างแข็งครับ โดยการให้หิมะหรือน้ำค้างเกาะที่เชือกที่ห้อยไว้รอบ ๆ ต้นไม้แทน สามารถพบเห็นได้ที่สวนเค็นโรคุเอ็น จวนเจ้าเมืองทาคายาม่า และสวนอนุสรณ์ฟูจิตะครับ
ส่วนเวลาที่หิมะตก ก็จะพบคนออกมาเล่นสนุกกับปรากฏการณ์เหล่านี้ด้วยการปั้นตุ๊กตาหิมะครับ ช่วงหลัง ๆ มีคามคิดสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น อาจได้เห็นตุ๊กตาแปลก ๆ กันบ้างนะครับ
อุปกรณ์ประจำฤดูหนาว: ถุงเพิ่มความอบอุ่น รองเท้าลุยหิมะ
ถุงเพิ่มความอบอุ่น ไคโระ (懐炉 / kairo) เป็นของที่มักจะพบเห็นวางขายได้บ่อยที่สุดในช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะเมื่ออุปกรณ์กันหยาวยังไม่เพียงพอครับ ส่วนรองเท้าลุยหิมะนั้ก็นจะพบได้ในพื้นที่ที่มีหิมะหนา ซึ่งสำหรับรถราก็ยังมีโซ่เสริมล้อรถเพื่อกันลื่นไหลบนถนนที่มีหิมะอีกด้วย
อาหารประจำฤดูหนาว
อาหารฤดูหนาวยอดนิยม: เนื้อย่าง หม้อไฟ อาหารรับปีใหม่โอเซจิ ซุปใส่โมจิโอโซนิ โมจิย่าง ซูชิม้วนทิศนำโชค และอื่น ๆ
อาหารยอดนิยมในฤดูหนาว ก็มักจะเป็นอาหารที่ได้นั่งหน้าเตาร้อน ๆ ไปพลาง เช่นเนื้อย่างยากินิคุ หม้อไฟนาเบะ ไปจนถึงหน้ากระทะร้อนแบบเทปังยากิอย่างโอโคโนมิยากิและมอนจายากิครับ ถ้าเป็นที่ฮอกไกโดก็อาจกินเจงกิสข่านกันกลางแจ้งเลยด้วย
การกินอาหารบางชนิดในวันบางวัน: ญี่ปุ่นเคยมีคำพูดว่า "ถ้ากินฟักทองในวันเหมายัน (冬至 / Winter Solstice) จะไม่เป็นหวัด" จึงมีธรรมเนียมการกินฟักทองในวันดังกล่าวกันครับ แต่ก็คล้าย ๆ ปลาไหลในฤดูร้อน เป็นเพียงการกินของที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวก่อนเข้าฤดูหนาวเท่านั้นครับ ปัจจุบันก็ไม่ค่อยมีใครรู้จักครับ วันสิ้นปีก็กินโซบะข้ามปี ขึ้นปีใหม่ก็โอเซจิ ซึ่งก็อาจจะมีโอโซนิ (お雑煮 / ozouni) ที่ใส่โมจิในซุปด้วย ในวันที่ 7 มกราคมซึ่งเป็นวันจินจิตสึโนะเซคคุ (人日の節句 / jinjitsu no sekku) ยังนิยมกินข้าวต้มพืชพรรณ 7 ชนิด นานาคุสะกายุ (七草粥 / nanakusa-gayu) ด้วย พอถึงวันที่ 11 มกราคมก็ยังมีการนำโมจิที่ประดับมากินกัน เรียกว่า คากามิบิราคิ (鏡開き / kagami-biraki) หรือแปลว่าการเปิดกระจก เพราะโมจิตกแต่งปีใหม่นั้นเรียกว่า คากามิโมจิ หรือ โมจิกระจกเงา นั้นเองครับ โดยนิยมปิ้งหรือย่างกิน สามารถใส่โชยุ ผงถั่วเหลืองคั่วคินาโกะ สาหร่ายโนริ และอื่น ๆ เพื่อปรุงรสได้ตามใจชอบครับ ถัดมาก็วันเซ็ตสึบุน นิยมกินซูชิม้วนทิศนำโชค เอะโฮมากิ (恵方巻 / ehou-maki) โดยหันหน้าไปทางทิศนำโชคของปีนั้น ๆ รวมถึงอาจมีการกินถั่วคั่วที่ใช้โปรยไล่โอนิด้วยครับ แน่นอนว่าพอถึงวันวาเลนไทน์ก็ช็อคโกแลตครับ
นอกจากนี้ ไข่ที่ออกมาจากแม่ไก่ในวันไดคัง (大寒 / daikan) ก็จะถือว่าเป็นไข่นำโชคด้วย เชื่อว่าถ้าได้กินจะมีโชคลาภด้านการเงินครับ
ของหวานญี่ปุ่นแห่งฤดูหนาว: โอชิรุโกะ เซ็นไซ อะมาสาเก
ของหวานอุ่น ๆ ที่คล้ายกัน โอชิรุโกะ (お汁粉 / oshiruko) และเซ็นไซ (ぜんざい / zenzai) เป็นของหวานที่ทำจากถั่วแดงต้มทั้งคู่ แต่ต่างกันตรงที่ความเละของเมล็ดถั่วแดงนั่นเอง
ส่วนเหล้าหวาน อะมาสาเก (甘酒 / amazake) จริง ๆ แล้วไม่ใช่เหล้า แต่เป็นข้าวที่หมักจนกลายเป็นน้ำตาลก่อนจะกลายเป็นเหล้าอีกที จึงมีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำมาก ซึ่งเกิดมาจากการหมักเกือบเป็นเหล้าไปบางส่วนนั่นเองครับ นิยมดื่มกันในช่วงปีใหม่ แต่ในงานเทศกาลหรือตามซุ้มร้านงานวัดในช่วงฤดูหนาวก็พบได้เช่นกันครับ
Comments