ฉากที่มีตัวละครพูดว่า "ฉันจะทำงานจนถึงเวลารถไฟรอบสุดท้าย และจะทำทุกอย่างเพื่อบริษัทของฉัน!" มักปรากฏให้เห็นบ่อย ๆ ในละครญี่ปุ่น ถ้าไปทำงานในบริษัทญี่ปุ่น จะเจอสภาพแบบนี้จริง ๆ มั้ย? รูปแบบการทำงานที่คุณต้องการคือแบบไหนกัน? มีรูปแบบการจ้างงานและรูปแบบการทำงานอยู่หลากหลายรูปแบบทั่วโลก ซึ่งรวมไปถึงการจ้างงานที่มั่นคงและมีการรับประกัน และรูปแบบการทำงานที่ช่วยให้คุณสามารถจัดการเวลาทำงานของคุณเองได้ตามใจชอบ นอกจากนี้ ในแต่ละประเทศยังมีกฎหมายแรงงานที่แตกต่างกันไป หากคุณต้องการทำงานในต่างประเทศ ก็ควรตรวจสอบรูปแบบการจ้างงานของประเทศเป้าหมายล่วงหน้าเพื่อทำความเข้าใจและป้องกันปัญหาล่วงหน้าค่ะ ในบทความนี้เราจะอธิบายเกี่ยวกับรูปแบบการจ้างงานในญี่ปุ่น คุณอาจจะได้เรียนรู้ถึงความแตกต่างจากประเทศไทยได้ที่นี่ค่ะ
ประวัติความเป็นมาของการจ้างงานในญี่ปุ่น
ในอดีต สังคมญี่ปุ่นเคยมีการจ้างงานแบบตลอดชีวิต และเมื่อคน ๆ หนึ่งกลายเป็นพนักงานประจำ ก็เป็นเรื่องปกติที่จะทำงานกับบริษัทนั้น ๆ ไปตลอดช่วงชีวิตที่เหลือ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจได้ทรุดโทรมตั้งแต่เกิดภาวะฟองสบู่ เพื่อประหยัดต้นทุนแรงงาน บริษัทต่าง ๆ ก็กำลังเพิ่มสัดส่วนของการจ้างงานแบบไม่ประจำโดยมีความเสี่ยงต่ำในการเลิกจ้าง เช่น “พนักงานสัญญาจ้าง” ที่เป็น “การจ้างงานแบบประจำตามระยะเวลาที่กำหนด” ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาสัญญาไว้แน่นอน นอกจากนี้การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการจัดส่งคนงานได้เปิดเสรีภาพทางการทำงานในการส่งมอบโอนพนักงานระหว่างบริษัท และจำนวน "พนักงานชั่วคราวจากบริษัทอื่น" ก็เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันการจ้างงานที่ไม่ใช่ประจำจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรค่ะ
มาทำความรู้จักกับประเภทของการจ้างงานกัน
รูปแบบการจ้างงาน ก็คือประเภทของสัญญาการจ้างงานที่บริษัทและพนักงานตกลงกันนั่นเองค่ะ รูปแบบการจ้างงานทั่วไป ได้แก่ พนักงานประจำ พนักงานสัญญาจ้าง และพนักงานชั่วคราวจากบริษัทอื่น ในนั้นก็ยังมีการแยกหมวดหมู่ย่อยเป็น "การจ้างงานปกติ" และ "การจ้างงานที่ไม่ปกติ" ด้วยค่ะ
พนักงานประจำ
โดยทั่วไป "ลูกจ้างประจำ" จะเรียกว่า "พนักงานประจำ" และไม่มีระยะเวลาที่แน่นอนในสัญญาจ้างงาน และเวลาทำงานตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการจ้างงานจะเป็นแบบเต็มเวลาค่ะ ปกติหมายถึงพนักงานทางบริษัทเป็นผู้จ้างโดยตรง
พนักงานสัญญาจ้าง พนักงานอัตราจ้าง
“พนักงานสัญญาจ้าง / พนักงานอัตราจ้าง” มีระยะเวลาที่แน่นอนในสัญญาจ้างงาน โดยทั่วไปแล้ว ใช้กล่าวถึงพนักงานแบบไม่ใช่พนักงานประจำที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ รูปแบบการทำงานในหลาย ๆ ด้านจะคล้ายกับพนักงานประจำ เช่น ชั่วโมงทำงานแบบเต็มเวลา นอกจากนี้ยังมีอีกหลายกรณีที่พนักงานอัตราจ้างยังใช้อ้างถึงพนักงานที่ได้รับการจ้างใหม่หลังปลดเกษียณไปแล้ว โดยทั่วไปไม่มีโบนัส การจ้างงานก็ไม่แน่นอน ดังนั้นจึงมีข้อเสียต่าง ๆ เช่นความเสี่ยงการเลิกจ้างที่จะเจอได้เป็นประจำ
※ภายใต้กฎหมายสัญญาจ้างงานฉบับปรับปรุง ได้มีการเพิ่มกฎที่อนุญาตให้พนักงานเปลี่ยนเป็นการจ้างงานแบบถาวรหากตัวพนักงานมีความประสงค์ในกรณีที่สัญญาจ้างงานระยะยาวได้รับการต่ออายุซ้ำหลายครั้งจนมีระยะเวลารวมมากกว่า 5 ปี
พนักงานชั่วคราวจากบริษัทอื่น
“พนักงานชั่วคราวจากบริษัทอื่น” ไม่ได้หมายถึงพนักงานที่ถูกจ้างงานโดยตรงจากบริษัทที่พวกเขาไปทำงาน แต่หมายถึงพนักงานที่ทำสัญญาจ้างงานกับบริษัทต้นสังกัด (บริษัทจัดส่งทรัพยากรบุคคล) และทำงานที่บริษัทที่ถูกส่งตัวไปทำงาน เงินเดือนและสภาพการทำงาน / เนื้องานจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบริษัทต้นสังกัด และแม้ว่าจะถูกจ้างมาเป็นพนักงานชั่วคราวจากบริษัทอื่นเช่นเดียวกัน นั่งโต๊ะทำงานติดกัน ทำงานแบบเดียวกัน แต่เงื่อนไขต่าง ๆ ก็อาจแตกต่างกันไปตามบริษัทต้นสังกัดที่แตกต่างกันค่ะ
มารู้จักกับประเภทของการจ้างงานและเลือกรูปแบบการทำงานที่เหมาะสมกับคุณกัน
หากมองจากสายตาของแรงงานต่างชาติ ญี่ปุ่นก็ถือเป็นประเทศที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงเลยค่ะ ไม่เพียงแค่เรื่องภาษาเท่านั้น วัฒนธรรมเองก็ยังแตกต่างไปมาก ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้ผู้คนสามารถทำงานด้วยความอุ่นใจในญี่ปุ่น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่เพียงแค่ทางฝั่งบริษัทเท่านั้น แต่ตัวพนักงานเองด้วยที่จะต้องทราบถึงลักษณะของการจ้างงานแต่ละประเภท รวมไปถึงข้อดีและข้อเสีย เพื่อให้เนื้อหาการจ้างได้รับการยืนยันและยินยอมโดยทั้งสองฝ่ายอย่างถูกต้องค่ะ ด้วยพื้นฐานเหล่านี้ ลองเลือกรูปแบบการจ้างงานที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณดูนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง
- 【Work & Life in Japan Vol.1】ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในสังคมญี่ปุ่นมีจำนวนเพิ่มขึ้น
- 【Work & Life in Japan Vol.2】หากคุณต้องการอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น! ทำอย่างไรจึงจะอยู่ในญี่ปุ่นได้เป็นเวลานาน
- 【Work & Life in Japan Vol.3】ญี่ปุ่นมีจำนวนชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น กราฟแสดงการเปลี่ยนแปลงของจำนวนคนงานชาวต่างชาติ!
- 【Work & Life in Japan Vol.4】YOU!อะไรที่ทำให้คุณสนใจในญี่ปุ่น
- 【Work & Life in Japan Vol.5】ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับประเภทวีซ่าสำหรับชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศญี่ปุ่น
- 【Work & Life in Japan Vol.6】ฉันเลือกญี่ปุ่นเป็นที่ทำงานแห่งแรกในชีวิต
Comments