7 เมนูของอร่อยที่ต้องลองที่คุมาโมโตะ! คุมาโมโตะราเมน เมนูเนื้อม้า และอื่นๆ อีกมากมาย!

  • 6 ธันวาคม 2023
  • 8 เมษายน 2019
  • 秋山 香織/Kaori Akiyama
  • Mon

จังหวัดคุมาโมโตะที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตอนกลางของภูมิภาคคิวชูในญี่ปุ่น เต็มไปด้วยสถานที่ที่ต้องแวะไปเยี่ยมชม เช่น ปราสาทคุมาโมโตะ สวนซุยเซนจิที่ขึ้นชื่อในเรื่องสวนญี่ปุ่นที่งดงาม และอาโสะซึ่งมีหนึ่งในปล่องภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก คุมาโมโตะไม่เพียงแต่มีชื่อเสียงในด้านสถานที่ท่องเที่ยวนี้เท่านั้น แต่ยังมีความเป็นเลิศในด้านเมนูของอร่อยอีกด้วย มีอาหารที่ต้องลองหลายอย่าง เช่นคุมาโมโตะราเมนและเมนูเนื้อม้าค่ะ ในบทความนี้ กองบรรณาธิการ FUN! JAPAN จะแนะนำให้คุณรู้จักกับอาหารกูร์เมต์ที่ต้องลองที่คุมาโมโตะค่ะ

คุมาโมโตะราเมน: จุดเด่นคือซุปกระดูกหมูรสละมุนและเส้นหมี่หนาปานกลางที่เคี้ยวหนุบ

ของอร่อยคุมาโมโตะ คุมาโมโตะราเมน

ราเมนท้องถิ่นของคุมาโมโตะมีเอกลักษณ์เฉพาะด้วยซุปกระดูกหมูที่รสอ่อนกว่าราเมนอื่นๆ มีรากฐานมาจากราเมนคุรุเมะในฟุกุโอกะซึ่งว่ากันว่าเป็นต้นกำเนิดของราเมนกระดูกหมู แม้ว่าซุปของราเมนฮากาตะและราเมนคุรุเมะซึ่งเป็นราเมนท้องถิ่นของภูมิภาคคิวชูเช่นกันที่เป็นที่รู้จักกันดีนั้นทำมาจากกระดูกหมูเพียงอย่างเดียว แต่ราเมนคุมาโมโตะกลับเป็นการผสมผสานระหว่างซุปกระดูกหมูกับน้ำต้มไก่และกระโหลกหมู ว่ากันว่าส่งผลให้ได้รสชาติที่นุ่มนวลและไม่มีรสชาติแปลกปลอมใดๆ ต่ะ

ลักษณะเฉพาะของคุมาโมโตะราเมนก็ไม่ใช่แค่ซุปเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่การใช้เส้นบะหมี่ที่มีความหนาปานกลางเคี้ยวเพลิน และการโรยหน้าด้วยกระเทียมทอดจนกรอบเกรียมหน่อยๆ หรือน้ำมันเจียวกระเทียม "มายุ" ด้วยค่ะ นอกจากนี้ การเพิ่มเห็ดหูหนูเป็นท็อปปิ้งสำหรับราเมนก็เป็นลักษณะเฉพาะของคุมาโมโตะราเมนค่ะ

ร้านค้าชื่อดังที่เป็นตัวแทนของคุมาโมโตะราเมนซึ่งได้ขยายสาขาไปยังชินจูกุและชิบูย่าของโตเกียว ได้แก่ "Keika" ('桂花' ตั้งอยู่ที่ 1-20-1, Kabukicho, Shinjuku-ku, Tokyo) และร้านราเม็งที่มีมายาวนาน "Komurasaki" ('こむらさKN' ตั้งอยู่ที่ 1-20-1, Kabukicho, Shinjuku-ku, Tokyo) ซึ่งก่อตั้งในปี 1954 ค่ะ

ไทปิเอ็น: เส้นบะหมี่เพื่อสุขภาพที่มีท็อปปิ้งมากมาย เช่น อาหารทะเลและไข่ดาว

ของอร่อยคุมาโมโตะ Taipi En
©สมาพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดคุมาโมโตะ

อาหารท้องถิ่นของคุมาโมโตะ ซึ่งเป็นการจัดเรียง "ซุปเกี๊ยว" ซึ่งเป็นอาหารท้องถิ่นของเมืองฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน ในแบบของตัวเองโดยใช้วัตถุดิบของญี่ปุ่น มันถูกเรียกว่า "Taipi En" ในญี่ปุ่นเพราะเดิมทีอ่านว่า "Taiping Yan" ในภาษาฝูโจวที่พูดในมณฑลฝูเจี้ยนประเทศจีนค่ะ

เมนูนี้ประกอบด้วยซุปวุ้นเส้นกับอาหารทะเล เช่น กุ้งและปลาหมึก หมู ผักกาดขาว หน่อไม้ เห็ดหูหนู ผักและเห็ดอื่นๆ โรยหน้าด้วยไข่ต้มทอดในตอนท้าย เส้นนี้ใช้วุ้นเส้นที่ดีต่อสุขภาพ และถึงแม้จะเบาท้อง แต่ก็มีรสชาติเข้มข้น และซุปที่มีรสชาติล้ำลึกก็เป็นความลับที่ทำให้เป็นที่นิยมค่ะ เป็นอาหารมาตราฐานที่ถึงขั้นถูกนำไปใช้ในเมนูอาหารกลางวันของโรงเรียนด้วยค่ะ

สถานที่ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ "Kairakuen" ('会楽園' ที่ตั้งอยู่ใน Shinmachi, Chuo-ku, Kumamoto-shi) ซึ่งว่ากันว่าเป็นแหล่งกำเนิดของ Taipi En และ "Koran-tei Shimotori Main Store" ('紅蘭亭 下通本店' ตั้งอยู่ใน Anseicho, Chuo-ku, Kumamoto-shi) ขึ้นชื่อเรื่องซุปดั้งเดิมที่ใช้น้ำต้มไก่และกระดูกหมูค่ะ

อากะกิวด้ง: เนื้อวากิว "อากะ" หั่นหนาบนข้าวสวยร้อนๆ

ของอร่อยคุมาโมโตะ อากะกิวด้ง
©สมาพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดคุมาโมโตะ

"เนื้ออากะ" หรือ "อากะกิว" คือเนื้อวากิวที่เลี้ยงในธรรมชาติอันงดงามของคุมาโมโตะและอาโสะ เป็นที่รู้จักในฐานะแบรนด์เนื้อวัวหายากที่จังหวัดคุมาโมโตะภาคภูมิใจ ลักษณะคือมีเนื้อแดงเยอะและมีไขมันปานกลาง เสน่ห์อยู่ที่รสชาติอูมามิของเนื้อวัวที่ไม่มีกลิ่นเฉพาะตัวแบบเนื้อทั่วไป และยังดีต่อสุขภาพอีกด้วยค่ะ

เนื้ออากะนี้ย่างจนสุกปานกลาง หั่นเป็นชิ้นและวางเป็นวงกลมบนข้าวขาวหุงสุกใหม่ๆ เพื่อทำอากะกิวด้ง (ข้าวหน้าเนื้อ) ขึ้นอยู่กับร้านที่ให้บริการ บางร้านอาจให้ความสำคัญกับซอสที่ใช้คู่กับเนื้อ และบางร้านก็เติมไข่ลวกและมันเทศขูดลงไปด้วยค่ะ

เราขอแนะนำ "Gotoya" ('ごとう屋' ตั้งอยู่ใน Miyaji, Ichinomiya-cho, Aso-shi) ซึ่งเป็นร้านเฉพาะทางเนื้ออากะซึ่งพิถีพิถันกับมิโสะที่ใช้ และ "Batan Gyutan Shimotori Store" ('馬タン牛タン 下通り店' ตั้งอยู่ใน Shinmachi, Chuo-ku, Kumamoto-shi) ซึ่งไม่เพียงให้บริการเนื้อวัวอากะเท่านั้น แต่ยังให้บริการเปรียบเทียบเนื้อวัวอากะและอาหารท้องถิ่นของคุมาโมโตะอีกด้วยค่ะ นอกจากตามร้านเฉพาะทางเนื้อวัวอากะแล้ว ก็ยังมีให้บริการตามร้านอาหารท้องถิ่นทั่วไปอีกด้วยค่ะ

คาราชิเร็นคอน: เติมมัสตาร์ดลงในรูของรากบัวแล้วนำไปทอด

ของอร่อยคุมาโมโตะ คาราชิเร็นคอน
©สมาพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดคุมาโมโตะ

รากบัวที่มีรูเล็กๆ สอดไส้มิโสะผสมกับมัสตาร์ด (คาราชิ) เคลือบด้วยแป้งสาลีที่ผสมไข่แดง แล้วนำไปทอดจนแป้งกรอบ ในคุมาโมโตะยังนิยมรับประทานเป็นของว่างอีกด้วยค่ะ ต้นกำเนิดของเมนูนี้ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 400 ปีที่แล้วในสมัยเอโดะ โดยถูกนำมามอบให้กับผู้ครองแคว้นคุมาโมโตะคนแรก โฮโซกาวะ ทาดาโตชิ (細川忠利 / HOSOKAWA Tadatoshi) ซึ่งกำลังป่วยหนัก โดยมีข้อความว่า "ดีต่อการฟื้นฟูร่างกายและเสริมความเข้มแข็ง" ค่ะ

เมื่อคุณได้ลิ้มรสเนื้อสัมผัสกรุบกรอบของรากบัวและมิโสะผสมมัสตาร์ดที่รสแรงขึ้นจมูกแล้ว คุณก็จะต้องติดใจอย่างแน่นอนค่ะ เวลาทานให้หั่นเป็นแว่นๆ หนาประมาณ 5-8 มม. แล้วทานทั้งอย่างนั้น หรือถ้าไม่ชอบเผ็ดขึ้นจมูกก็ทานคู่กับมายองเนสก็ได้ค่ะ และถ้าอยากได้รสเครื่องเทศเพิ่มก็อุ่นในไมโครเวฟเพื่อเพิ่มความเผ็ดร้อนค่ะ

ร้านขายที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ร้าน "Fudo Chikuwa Honten" ('不動ちくわ本舗' ตั้งอยู่ใน Jonan-cho, Minami-ku, Kumamoto-shi) ซึ่งจำหน่ายคาราชิเร็นคอนที่มีเอกลักษณ์ เช่น "คาราชิเร็นคอนรสยูสุ" ที่ผสมยูสุลงในแป้งกับมิโสะ และร้าน "Mori Karashi Renkon" ('森からし蓮根' Shinmachi, Chuo-ku, Kumamoto-shi) ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของอาหารจานนี้ที่นำไปมอบให้กับ โฮโซกาวะ ทาดาโตชิ รากบัวใส่มัสตาร์ด 'คาราชิเร็นคอน' นี้ก็ยังมีจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตในจังหวัดด้วยค่ะ

เมนูเนื้อม้า: หลากวิธีรับประทาน ไม่ว่าจะเป็นซาซิมิ ซูชิ ไปจนถึงแฮมเบอร์เกอร์

ของอร่อยคุมาโมโตะ เมนูเนื้อม้า: ซาซิมิ ซูชิ แฮมเบอร์เกอร์
©สมาพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดคุมาโมโตะ

เมื่อพูดถึงอาหารกูร์เมต์สุดพิเศษของคุมาโมโตะ เนื้อม้าก็เป็นที่รู้จักกันดีจนมักเป็นสิ่งแรกที่ผู้คนนึกถึงกันค่ะ ตามการสำรวจของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ว่ากันว่าคุมาโมโตะเป็นผู้ผลิตเนื้อม้าอันดับหนึ่งในญี่ปุ่น เนื้อม้ามีแคลอรี่และไขมันต่ำ แต่มีโปรตีนสูงและอุดมไปด้วยแร่ธาตุ เช่น เหล็ก แคลเซียม และสังกะสีค่ะ

มีหลายวิธีในการรับประทาน แต่ที่โด่งดังที่สุดคือ "บาซาชิ" (ซาชิมิเนื้อม้า) โดยรับประทานเนื้อม้าดิบหั่นบางๆ กับหัวหอมหั่นบางๆ ขิงขูด กระเทียม และซีอิ๊วหวาน สำหรับคนจากประเทศหรือพื้นที่ที่ปกติไม่รับประทานเนื้อดิบ เมนูนี้อาจจินตนาการได้ยาก อย่างไรก็ตาม ม้ามีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่าวัวหรือหมู ทำให้แบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษขยายพันธุ์ได้ยาก เนื้อม้ายังได้รับการแล่ภายใต้สภาวะที่ถูกสุขลักษณะ และจะถูกแช่แข็งก่อนจำหน่ายเสมอ นอกจากนี้ "สภาส่งเสริมความปลอดภัยและความมั่นคงบาซาชิจังหวัดคุมาโมโตะ" จะออก "ตราประทับรับรอง" ให้กับบาซาชิซึ่งผ่าน "มาตรฐานที่เข้มงวด" ที่กำหนดโดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ เมื่อซื้อบาซาชิที่ซูเปอร์มาร์เก็ต การเลือกอันที่มีตราประทับรับรองก็เป็นความคิดที่ดีค่ะ

นอกจากบาซาชิแล้ว เนื้อม้ายังใช้ในเมนูอาหารตะวันตก เช่น แฮมเบอร์เกอร์และแกงกะหรี่ ตลอดจนอาหารญี่ปุ่นอย่างหม้อไฟ ซูชิ และอาหารแนวปิ้งย่างด้วยค่ะ แม้ว่าจะเป็นส่วนผสมระดับไฮเอนด์ที่มักรับประทานในโอกาสพิเศษ แต่ก็มีขายในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปและเป็นวัตถุดิบหลักในบางครัวเรือน ร้านขายเนื้อม้าเฉพาะทาง "Suganoya" ('菅乃屋' ตั้งอยู่ใน Kasuga, Nishi-ku, Kumamoto-shi) ซึ่งมี 4 สาขาในจังหวัดคุมาโมโตะก็เป็นร้านที่ขึ้นชื่อค่ะ เมนูเนื้อม้าไม่ได้มีให้บริการเฉพาะที่ร้านเฉพาะทางเนื้อม้าเท่านั้น แต่ยังมีบริการที่ร้านบาร์บีคิวและตามร้านอิซากายะอีกด้วย ขอแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการลองชิมค่ะ

ดาโงะจิรุ: ซุปที่มีคุณค่าทางโภชนาการพร้อมเกี๊ยวที่ทำจากแป้งสาลี

ของอร่อยคุมาโมโตะ ดาโงะจิรุ
ที่มา: เว็บไซต์กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง

นี่คือซุปเกี๊ยวที่ทำโดยการนวดแป้งสาลีกับน้ำ พักไว้จนได้ที่ แล้วฉีกด้วยมือเป็นชิ้นเล็กๆ เติมผักตามฤดูกาล เช่น เผือกและรากหญ้าเจ้าชู้ และปรับรสชาติด้วยมิโสะหรือโชยุ ว่ากันว่าในอดีต ชาวนาที่มีงานยุ่งจนไม่ค่อยมีเวลาเคยทำอาหารชนิดนี้เพราะ "ทำได้เร็วและอิ่มท้อง" และก็มักจะกินมันในช่วงพักจากการทำนาค่ะ "ดาโกะ" เป็นภาษาถิ่นคุมาโมโตะ แปลว่า "ดังโงะ" และเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าดังโงะจิรุ (ซุปดังโงะ)

ในหลายพื้นที่ มีการใช้มันเทศในดังโงะ และมีหลายวิธีในการทำขึ้นอยู่กับภูมิภาค เช่น "อิคินาริดาโงะจิรุ" (อำเภอคุมาโมโตะ) กับดังโงะห่อด้วยมันเทศดิบ "โอฮิเมะซังดังโกะจิรุ" (พื้นที่คาโมโตะคิคุจิ) ทำโดยการนวดมันเทศเพื่อดึงความหวานออกมา และ "อันโมจิดาโกะจิรุ" (อำเภอโคชิ) ที่ห่อถั่วบดผสมกับมันเทศและน้ำตาลทรายแดงด้วยแป้งกับมันเทศค่ะ

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 57 เรียงรายไปด้วยร้านค้ามากมายที่เสิร์ฟ "ดาโกะจิรุ" จนเรียกกันว่า "ทางหลวงดาโกะจิรุ" เราขอแนะนำร้านอย่าง "Aso Niwa Yamami Chaya" ('阿蘇庭 山見茶屋' ตั้งอยู่ใน Ninomaru, Chuo-ku, Kumamoto-shi) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ปราสาทคุมาโมโตะและแวะเยี่ยมชมได้ง่าย นอกจากดาโงะจิรุแล้ว หลายร้านยังมีชุดอาหารดาโงะจิรุพร้อมข้าวและผักดองด้วยค่ะ

อิคินาริดังโงะ: แป้งเนื้อเหนียวหนุบสอดไส้มันเทศฟูนุ่มและถั่วแดงบด

ขนมหวานท้องถิ่นแบบดั้งเดิมที่ทำขึ้นตามบ้านในคุมาโมโตะมาเป็นเวลานาน ทำโดยการห่อมันเทศหั่นเป็นชิ้นหนาประมาณ 1 ซม. และถั่วแดงบดในแป้งที่ทำจากแป้งสาลีนวดแล้วนึ่ง เนื้อสัมผัสที่เหนียวหนุบของแป้งชั้นนอกกับมันเทศนุ่มๆ และถั่วแดงบดก็เข้ากันได้อย่างลงตัวค่ะ

ในภาษาถิ่นคุมาโมโตะ "อิคินาริ" หมายถึง "เรียบง่าย สบายๆ" และมีทฤษฎีต่างๆ มากมายเกี่ยวกับที่มาของชื่อ เช่น "ถึงแม้ลูกค้าจะมาแบบกะทันหันไม่ทันตั้งตัว แต่ก็สามารถเสิร์ฟให้ทานได้ทันที (= ทำง่าย)" "มัน สามารถทำ 'ด่วน' ได้ในระยะเวลาอันสั้น" ไปจนถึงมาจากความหมายว่า "ดังโงะทำง่าย" มีหลากหลายรูปแบบ เช่น แบบที่มีน้ำตาลทรายแดงหรือโกฐจุฬาลัมพาผสมในแป้ง และแบบที่ใช้มันเทศสีม่วงค่ะ

แม้ว่าจะอร่อยที่สุดเมื่อรับประทานแบบนึ่งใหม่ๆ แต่ก็สามารถรับประทานได้ด้วยการอุ่นในไมโครเวฟหรือนึ่งเมื่อเย็น หรืออบในเตาอบ ทำให้เหมาะเป็นของฝาก เราแนะนำร้านค้าเฉพาะทางสำหรับอิคินาริดังโงะและมันเทศ เช่น "Imoya Chobei" ('芋屋長兵衛' ตั้งอยู่ใน Mashiki-machi, Kamimashiki-gun) และ "Hanamaru-do" ('華まる堂' ตั้งอยู่ใน Kokufu, Chuo-ku, Kumamoto-shi) ซึ่งพิถีพืถันเกี่ยวกับพื้นที่การผลิตมันเทศและถั่วบดค่ะ และก็เช่นเดียวกับคาราชิเร็นคอน อิคินาริดังโงะก็มีขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตและที่อื่นๆ ค่ะ

หัวข้อเรื่อง

Survey[แบบสอบถาม] กรุณาบอกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น







Recommend