ของเล่นที่ทำด้วย "เคน" (けん หรือ 剣 ดาบ) รูปทรงไม้กางเขน และ "ทามะ" (玉 ลูกบอล วัตถุทรงกลม) ที่เจาะรูไว้ "เคนดามะ" ในประเทศญี่ปุ่นมีการแข่งขันอย่างเป็นทางการสำหรับเทคนิคที่ได้รับการสนับสนุนโดย "สมาคมเคนดามะแห่งประเทศญี่ปุ่น" (日本けん玉協会) และกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก เราจะมาแนะนำประวัติ ชื่อของแต่ละส่วน เคล็ดลับที่มือใหม่ควรรู้เป็นครั้งแรก ฯลฯ การเล่นก็ไม่ได้ใช้แค่มือและแขนเท่านั้น ใช้ทั้งหัวเข่าและต้นขารวมถึงนิ้วมือด้วย จึงเป็นการออกกำลังกายแบบเบาๆได้ด้วยนะ!
ประวัติของ "เคนดามะ"
อาจมีหลายคนที่คิดว่า "เคนดามะ" เป็นของเล่นที่ไม่เหมือนใครในญี่ปุ่น แต่ในความเป็นจริงแล้วก็ไม่เชิงค่ะ การละเล่นด้วยการเหวี่ยงลูกบอลที่เชื่อมต่อกันด้วยเส้นด้ายหรือเชือกและรับลูกบอลด้วยแก้วหรือไม้ที่คล้ายกับเคนดามะนั้นก็มีทั่วโลกค่ะ
เรื่องราวเกี่ยวกับที่มาต้นกำเนิดนั้นมีหลายทฤษฏีมาก แต่ในบันทึกที่เก่าแก่ที่สุด มีการกล่าวกันว่าสามารถตามรอยย้อนที่มาได้จากฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 16 ในฝรั่งเศสเรียกว่า "Bilboquet" ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่นิยมอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีช่วงเวลาที่ขุนนางชั้นสูงได้เล่นกันจนชินมือ หลังจากนั้นมันแพร่กระจายไปทั่วโลก ว่ากันว่าแต่ละที่ก็มีการพัฒนาการเล่นนี้แตกต่างกันไปค่ะ
ส่วนการเข้ามาในญี่ปุ่น ทฤษฎีที่ว่าถูกนำเข้ามาในสมัยเอโดะนั้นน่าเชื่อถือที่สุด ส่วนต้นแบบของเคนดามะในลักษณะปัจจุบันนั้นถูกทำขึ้นในสมัยไทโช เนื่องจากมีลักษณะเป็นถ้วยตื้นๆ คล้ายดวงจันทร์เสี้ยวและลูกบอลทรงกลมก็ให้ความหมายคล้ายพระอาทิตย์ จึงถูกเรียกว่า "นิจิเก็ตสึบอล" (日月ボール บอลอาทิตย์จันทร์) เป็นกระแสฮิตครั้งใหญ๋ ในปี 1975 มีการก่อตั้ง "สมาคมเคนดามะแห่งประเทศญี่ปุ่น" ขึ้น มีการพัฒนา "เคนดามะเพื่อการแข่งขัน" พร้อมกำหนดกฎระเบียบที่เป็นทางการ การจัดตั้งระดับความยากและขั้นตอน เทคนิคการเล่นก็พัฒนาซับซ้อนมากยิ่งขึ้นด้วย
ชื่อของส่วนประกอบของเคนดามะ
เคนดามะประกอบด้วยส่วนใหญ่ 5 ส่วน คือ "ทามะ" (玉 ลูกบอล) "เคน" (けん ดาบ - ด้ามจับ) "ซาราโด" (皿胴 แกนถ้วย) "อิโตะ" (糸 ด้าย) และ "บีดส์" (ビーズ ลูกประคำ)
ลูกประคำคือส่วนที่ป้องกันไม่ให้เส้นด้ายคลายเกลียว จะถูกผูกติดกับปลายด้ายและใส่ไว้ในรูของลูกบอล ช่วงให้หลังมานี้มีเคนดามะไฮเทคจำนวนมากอย่างอันที่มีเสียงหรือส่งแสงสว่างเวลาเล่นออกมาวางขายกันด้วยค่ะ
มาลองท้าทายกับเทคนิคการเล่นเคนดามะกัน!
โอซาระ (大皿 - ถ้วยใหญ๋)
เทคนิคที่ดึงลูกบอลขึ้นแนวตั้งมาวางบนถ้วยใหญ่ ประเด็นสำคัญคือการรักษาจังหวะ "หนึ่ง สอง สาม" ให้คงที่
- ถือเคนดามะโดยการใช้นิ้วโป้งชี้กลางบีบที่ด้ามจับส่วนที่ติดโคนแกนถ้วยฝั่งโคนด้ามจับ ใช้นิ้วนางและนิ้วก้อยประคองที่ปลายถ้วยเล็ก ชี้ปลายแหลมด้ามจับลงข้างล่าง ปล่อยลูกบอลลงในแนวดิ่ง
- เมื่อลูกบอลหยุดแกว่งอย่างสมบูรณ์ ย่อเข่าลงและเหยียดแขนลงเพื่อให้ลูกบอลเคลื่อนที่ลงในแนวดิ่งจนเกือบสัมผัสพื้น (จังหวะหนึ่ง)
- เหยียดตัวขึ้นพร้อมดึงบอลขึ้นในแนวดิ่งตรงๆ (จังหวะสอง)
- ย่อเข่าลงพร้อมกับเหยียดแขนบิดข้อมือและนำด้ามจับไปไว้ใต้ลูกบอลแล้วรับลูกบอลด้วยถ้วยใหญ่ (จังหวะสาม)
โรโซคุ (ろうそく - เทียน)
เทคนิคในการดึงลูกบอลขึ้นวางบนถ้วยกลางโดยจับด้ามจับส่วนที่ติดกับแกนถ้วยฝั่งปลายด้ามจับ มันถูกเรียกว่า "โรโซคุ" หรือ เทียนเพราะดูคล้ายเทียนที่มีเปลวไฟ (ลูกบอลเป็นเปลวไฟ)
- ไม่ใช้ฝ่ามือ จับที่ปลายด้ามจับส่วนที่ติดกับแกนถ้วยโดยใช้ปลายปลายนิ้วบีบ
- เอียงด้ามจับเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ด้ายสัมผัสกับมือ ปล่อยด้ายลงแนวดิ่งตรงๆ ย่อเข่าลงจนลูกบอลเกือบสัมผัสพื้น
- เหยียดตัวขึ้นพร้อมดึงลูกบอลขึ้นในแนวดิ่ง
- เอียงด้ามจับกลับมาให้ถ้วยกลางอยู่ในแนวระนาบ (ปลายด้ามจับชี้ลงแนวดิ่ง) ย่อตัวลงรับลูกบอลโดยใช้ถ้วยกลาง(โคนด้ามจับ)
นิฮอนอิชชู (日本一周 เที่ยวรอบญี่ปุ่น)
เป็นเทคนิคซับซ้อนระดับสูงโดยใช้เทคนิคการเล่นสามอย่าง คือ "ถ้วยใหญ๋ → ถ้วยเล็ก → ปลายด้ามจับ" แบบต่อเนื่อง
- จับที่โคนของด้ามจับโดยให้ปลายด้ามจับชี้ขึ้นและหันถ้วยใหญ่เข้าหาตัวเอง
- ย่อเข่าลง ดึงลูกบอลขึ้นด้วยแรงจากการเหยียดตัวขึ้น ย่อตัวลงรับลูกบอลด้วยถ้วยเล็ก
- เหยียดตัวขึ้นพร้อมโยนลูกบอลขึ้น ย่อตัวลงรับลูกบอลด้วยถ้วยใหญ่
- เหยียดตัวขึ้นพร้อมโยนลูกบอล ย่อตัวลงรับลูกบอลด้วยปลายด้ามจับ
เซไคอิชชู (世界一周 เที่ยวรอบโลก)
เทคนิคการเล่นที่เพิ่มถ้วยกลางเข้าในเทคนิค "เที่ยวรอบญี่ปุ่น"
- ทำเหมือน "เที่ยวรอบญี่ปุ่น" แต่จับด้ามจับโดยชี้ปลายด้ามจับไปทางซ้ายมือ ย่อตัว เหยียดตัวขึ้นพร้อมดึงลูกบอลขึ้น รับด้วยถ้วยเล็ก
- จากถ้วยเล็ก โยนบอลขึ้นเปลี่ยนไปถ้วยใหญ่ จากถ้วยใหญ่ไปถ้วยกลาง (โคนด้ามจับ)
- ย่อตัวลงแล้วเหยียดตัวพร้อมโยนลูกบอลขึ้น รับลูกบอลด้วยปลายด้ามจับ
โทได (灯台 - ประภาคาร)
เทคนิคที่ยากมากที่หลายๆคนตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องชำนาญให้ได้
- มือขวาจับที่ลูกบอล ยืดเส้นด้ายให้ตรงดิ่งโดยให้ด้ามจับอยู่ข้างล่าง
- ใช้มือซ้ายประคองด้ามจับเบาๆ ใช้มือซ้ายหันถ้วยเล็กไปข้างหน้า จากนั้นปล่อยมือซ้ายออกให้ด้ามจับห้อยลง
- ใช้การย่อ-เหยียดตัวดึงด้ามจับขึ้นในแนวดิ่ง
- นำลูกบอลไปไว้ใต้ด้ามจับที่ถูกดึงขึ้น รับด้ามจับโดยให้ถ้วยกลาง (โคนด้ามจับ) ตั้งบนลูกบอลพอดี ทรงตัวด้ามจับบนลูกบอลไว้นิ่งๆประมาณ 3 วินาที
เชื่อว่าคงมีหลายคนที่คิดว่าแค่อ่านก็ยากแล้วกันนะคะ แต่ไม่ลองก็ไม่รู้ค่ะ! หากคุณฝึกฝนและเข้าใจเคล็ดลับ คุณก็ทำได้ค่ะ! เคนดามะมีความน่าสนใจในเรื่องการพัฒนาเพิ่มทักษะเทคนิคการเล่น และ "สมาคมเคนดามะแห่งประเทศญี่ปุ่น" มีการรับรองระดับ (級 คิว) และขั้น (段 ดั้ง) ทักษะความสามารถด้วย หากคุณสนใจเรื่องนี้ด้วยแล้วละก็ ลองไปดูข้อมูลได้ค่ะ!
※เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสมาคมเคนดามะแห่งประเทศญี่ปุ่น (ภาษาอังกฤษ) http://kendama.or.jp/english/
※คลิปวิด๊โอด้วยความอนุเคราะห์จาก: สมาคมเคนดามะแห่งประเทศญี่ปุ่น
Comments