![หมากล้อม หรือ “โก” กีฬาประจำชาติอย่างหนึ่งของญี่ปุ่น](https://content.fun-japan.jp/renewal-prod/cms/articles/content/c37df211dcc250a6df0a9fb346efbf4acf39fc4b.jpg)
หากจะกล่าวถึงหมากกระดาน ที่ต้องใช้สติปัญญาและไหวพริบในการเล่น หลายคนอาจจะนึกถึงหมากรุก แต่ในวันนี้ ขอนำเสนอหมากกระดานชนิดหนึ่งที่หลายคนอาจจะคุ้นหูคุ้นตากันมาบ้าง นั่นคือ “หมากล้อม” นั่นเอง
![](https://content.fun-japan.jp/renewal-prod/cms/articles/content/5c336c6848ae6a5de443590e3c2f010a6a36b10e.jpg)
ประวัติของกีฬาหมากล้อม
หมากล้อมหรือที่เราเรียกติดปากกันว่า “โกะ” หรือ “เหวยฉี” ในภาษาจีน เป็นเกมหมากกระดานชนิดหนึ่ง เป็นเกมกลยุทธ์ซึ่งผู้เล่นสองคนต่างมุ่งหมายล้อมเอาพื้นที่ในกระดานให้ได้มากกว่าคู่แข่ง
เดิมถือกำเนิดขึ้นในประเทศจีน เมื่อประมาณ 3,000-4,000 ปีมาแล้ว เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเก่าแก่และลึกซึ้งของอารยธรรมจีน เหวยฉีเป็นที่นิยมเล่นกันในหมู่ปัญญาชน, ชนชั้นสูงและขุนนางผู้บริหารประเทศ ในสมัยนั้น
เหวยฉี หรือ หมากล้อมเป็นหมากกระดานประจำชาติจีน ถูกจัดเป็น 1 ใน 4 ศิลปะประจำชาติจีน (ได้แก่ หมากล้อม, ดนตรี, กลอน, และภาพวาด) เป็นภูมิปัญญาจีนแท้
![](https://content.fun-japan.jp/renewal-prod/cms/articles/content/b18a14cea140f146fc4771505160840e914dd00e.jpg)
เริ่มเข้ามาในประเทศญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่นรู้จักโกะเมื่อประมาณ 1,500 ปีก่อน จนปัจจุบันพัฒนามาเป็นกีฬาประจำชาติอย่างหนึ่ง โกะเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น
สมัยโชกุนโทะกุงะวะ ได้สนับสนุนให้ทหารเล่นโกะ เปลี่ยนวิธีการรบด้วยกำลังเป็นการรบด้วยปัญญา และยังสนับสนุนให้โกะแพร่หลายมากยิ่งขึ้นอีก โชกุนโทะกุงะวะได้ตั้งสำนักโกะขึ้น 4 สำนัก เพื่อคัดเลือกผู้เป็นยอดฝีมือโกะของประเทศญี่ปุ่น โดยจัดให้สำนักทั้ง 4 คือ ฮงอินโบ, อิโนะอูเอะ, ยาสุอิ และ ฮายาชิ ส่งตัวแทนมาประลองฝีมือเพื่อชิงตำแหน่ง "เมย์จิน" จากการส่งเสริมโกะของประเทศญี่ปุ่น ทำให้อีกประมาณ 100 ปีต่อมา มาตรฐานฝีมือนักเล่นโกะของประเทศญี่ปุ่นก็ก้าวนำประเทศจีน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของโกะรวมทั้งประเทศเกาหลีไปไกลแล้ว
![](https://content.fun-japan.jp/renewal-prod/cms/articles/content/285952a40b8ca1a90b34417f53ad2d1fcbc67e22.jpg)
โดยปัจจุบัน หมากล้อมได้แพร่ขยายไปกว่า 50 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2009 ได้มีการก่อตั้ง “สมาพันธ์หมากล้อมนานาชาติ” ขึ้นโดยเริ่มมีประเทศก่อตั้ง 15 ประเทศ ส่วนประเทศไทยนั้นได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในอีก 4 ปีถัดมา (ปี ค.ศ. 2013)
![](https://content.fun-japan.jp/renewal-prod/cms/articles/content/810fe6385a3cd8dab330e9f4e46e89e54904d1cb.jpg)
รายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับกีฬาโกะ
จุดประสงค์ของโกะ : ใช้หมากของตน ล้อมพื้นที่ว่างบนกระดาน ให้ได้ดินแดนของตนมากกว่าคู่ต่อสู้
กระดานโกะ : มาตรฐานคือขนาด 19x19 จะมีเส้นแนวตั้ง 19 เส้น และแนวนอน 19 เส้น เกิดเป็นจุดตัด 361 จุดบนกระดาน (กระดานขนาด 19x19 หมายถึง มีด้านละ 19 เส้น ไม่ใช่19 ช่อง)
ผู้เล่น : จะแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายขาวและฝ่ายดำ ฝ่ายขาวจะได้เม็ดหมากสีขาว และฝ่ายดำจะได้เม็ดหมากสีดำ
เม็ดหมาก : เม็ดหมากของทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องเดินบนกึ่งกลางจุดตัด ที่เกิดจากเส้นบนกระดานตัดกัน ผู้เล่นทั้ง 2 ฝ่ายสามารถวางหมาก บนจุดตัดใด ๆ ก็ได้บนกระดาน
วิธีเล่น : ใช้หมากของตน ล้อมพื้นที่ว่างให้ได้มากกว่าคู่ต่อสู้
การตัดสินเกม : นับดินแดน ที่แต่ละฝ่ายล้อมได้ ใครได้ดินแดนมากกว่าเป็นผู้ชนะ
![](https://content.fun-japan.jp/renewal-prod/cms/articles/content/ef08ff1681c50d720109296fadfffdf2cb0ca64b.jpg)
ความสำคัญของโกะมิใช่เป็นเพียงศิลปะในการเล่นเกมกีฬาที่สนุก ตื่นเต้น และท้าทายเท่านั้น แนวความคิดและปรัชญาที่เกิดจากทักษะและความชำนาญของผู้เล่น เช่น การวางแผน การบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพและผลตอบแทนสูงสุด การสร้างกลุ่มกำลังบนรากฐานของการให้โอกาสและการแบ่งปัน การสร้างสมดุลของสภาวะหน้าที่ความรับผิดชอบต่างๆ และความคุ้นเคยต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีวันจบสิ้น ประสบการณ์เหล่านี้สามารถ นำมาประยุกต์ใช้กับงานด้านการบริหาร การปกครอง และแม้กระทั่งการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างชาญฉลาด โกะจึงเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับในประเทศที่มีการพัฒนาทาง เศรษฐกิจสูง ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา, เยอรมัน, ฝรั่งเศสหรือในเอเชีย เช่น จีน, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น, เกาหลี เป็นต้น
Comments