เรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญ ตอนที่ 17: ความเฮี้ยนของไทระ โนะ มาซาคาโดะ

  • 11 มิถุนายน 2020
  • 25 ตุลาคม 2018
  • Mon
  • Mon

เรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญ ตอนที่ 17: ความเฮี้ยนของไทระ โนะ มาซาคาโดะ

คนญี่ปุ่นเกือบทุกคน โดยเฉพาะในโตเกียว ต่างก็เคยได้ยินเรื่องราวของไทระ โนะ มาซาคาโดะ ต่อให้ไม่เชื่อเรื่องคำสาป ก็ไม่มีใครกล้าไปลบหลู่นอกจากพวกอยากลองของ ในบทความนี้เราจะมาดูตำนานและข่าวลือที่เกี่ยวข้องกับไทระ โนะ มาซาคาโดะผู้นี้กันต่อครับ

ตำนานความเฮี้ยนของไทระ โนะ มาซาคาโดะ: ลำดับเหตุการณ์

สิบปีหลังจากที่ศีรษะถูกฝัง เนินสุสานเริ่มมีแสงประหลาดโผล่ขึ้นบ้าง มีการสั่นไหวอย่างรุนแรงบ้าง ชาวบ้านในละแวกก็เล่าว่ามีซามูไรสภาพโทรมปรากฏตัวในละแวกใกล้เคียงบ่อยๆบ้าง จนเหล่าชาวบ้านเริ่มไปกราบไหว้บูชา ดวงวิญญาณของไทระ โนะ มาซาคาโดะก็ไม่มาปรากฏกายในละแวกอีก

ในช่วงศตวรรษที่ 13 มีวัดของพระพุทธศาสนาลัทธิเท็นไดมาตั้งติดกับศาลเจ้าคันดะเมียวจิน เนื่องจากลัทธิเท็นไดค่อยข้างเคร่งครัดเรื่องการไม่กราบไหว้บูชาสิ่งอื่นนอกเหนือจากพระพุทธเจ้า ดวงวิญญาณของไทระ โนะ มาซาคาโดะจึงอาจเกิดพิโรธขึ้น มีโรคระบาดและภัยพิบัติหลายอย่างในละแวกใกล้เคียงติดต่อกันนานนับหลายปี

จนเมื่อถึงปีค.ศ. 1307 ลัทธิอะมิดะได้เข้ามาที่วัดดังกล่าวแทนและมีการสร้างศาลาสวดมนต์ขึ้นเพื่อถวายแก่ไทระ โนะ มาซาคาโดะ พร้อมยังมีการนำนักบวชไปถวายการบูรณะดูแลศาลเจ้าของมาซาคาโดะ ซึ่งช่วยให้ดวงวิญญาณสงบลงอีกครั้ง ทั้งได้มีการตั้งศิลาหลุมศพขึ้นในปีค.ศ. 1309 จนถึงจุดหนึ่ง ไทระ โนะ มาซาคาโดะ ได้รับการบูชาจากชาวบ้านในละแวกในฐานะเทพประจำศาลเจ้าคันดะเมียวจิน

คฤหาสน์ญี่ปุ่น

ในปีค.ศ. 1616 ศาลเจ้าคันดะเมียวจินถูกย้ายไปตั้ง ณ ที่ใหม่ (ปัจจุบันอยู่ทางย่านโอชาโนะมิสึ) เพื่อสร้างคฤหาสน์รับรองผู้มีอำนาจในรัฐบาลโชกุนในสมัยเอโดะ โดยเนินสุสานและศิลาหลุมศพก็ยังคงสภาพเดิมไม่ถูกรบกวน โดยตั้งอยู่ในสวนของคฤหาสน์แห่งหนึ่งในแถบนั้น

หลังเข้าสู่สมัยเมจิ ในปีค.ศ. 1869 รัฐบาลได้สร้างอาคารกระทรวงการคลังขึ้นติดกับบริเวณสุสานของมาซาคาโดะ ย่านโอเทะมาจิ (大手町) กลายเป็นศูนย์กลางย่านธุรกิจของญี่ปุ่น ถัดมาในปีค.ศ. 1874 ทางรัฐบาลเมจิได้ออกประกาศกล่าวประณามไทระ โนะ มาซาคาโดะ ในฐานะ “ศัตรูขององค์จักรพรรดิญี่ปุ่น” พร้อมถอดสถานภาพของไทระ โนะ มาซาคาโดะ ออกจากความเป็นเทพประจำศาลเจ้าคันดะเมียวจิน

เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในแถบคันโต

ในปีค.ศ. 1923 เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในแถบคันโต ซึ่งในย่านโอเทะมาจิก็เกิดเพลิงไหม้ลุกลามที่เผาทุกอย่างพังพินาศ ยกเว้นแต่เนินสุสานและศิลาหลุมศพเท่านั้น ที่น่าแปลกที่สุดก็คือ อาคารกระทรวงการคลังนั้นมอดไหม้วอดวาย ทางรัฐบาลได้ทำการขุดสำรวจบริเวณสุสานเพื่อหากะโหลกศีรษะของมาซาคาโดะ แต่ก็ไม่พบอะไร จึงทำการสร้างอาคารชั่วคราวขึ้นเหนือพื้นที่สุสาน

ถัดมาในปีค.ศ. 1926 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เซจิ ฮายามิ (早速整爾) ได้ล้มป่วยเสียชีวิตอย่างปริศนาในที่ทำงาน และภายในช่วงเวลา 2 ปี ได้มีเจ้าหน้าที่ในอาคารดังกล่าวล้มป่วยหรือเสียชีวิตอย่างปริศนาถึง 13 ราย ทั้งนี้ คนงานที่ทำการก่อสร้างอาคารก็เกิดอาการป่วยอย่างปริศนาหรือประสบอุบัติเหตุจนบาดเจ็บขณะทำงานในบริเวณพื้นที่สุสาน สุดท้ายในปีค.ศ. 1928 ทางกระทรวงได้รื้อถอนอาคารบางส่วนที่สร้างทับพื้นที่สุสานออกและทำพิธีบวงสรวงทุกปี แต่ความตั้งใจในการเข้าร่วมพิธีก็เริ่มถดถอยลงในปีหลังๆ และเมื่อเข้าช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ไม่ได้มีการทำพิธีบวงสรวงอีกเลย

เพลิงไหม้จากฟ้าผ่า

ครั้นเมื่อถึงปีค.ศ. 1940 ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งพันปีหลังการเสียชีวิตของไทระ โนะ มาซาคาโดะ ได้เกิดฟ้าผ่าลงที่อาคารกระทรวงการคลังจนเกิดเพลิงไหม้ลุกลาม ทำให้อาคารกระทรวงการคลังไหม้วอดวายอีกครั้ง และไฟยังลามไปถึงอาคารต่างๆในย่านโอเทะมาจิที่อยู่ติดกับพื้นที่สุสานอีกด้วย กระทรวงการคลังจึงตัดสินใจย้ายไปสร้างที่พื้นที่ใหม่ คือที่ย่านคาสุมิกะเซคิ ส่วนพื้นที่สุสานมาซาคาโดะก็ตกอยู่ในความดูแลของสำนักงานเขตเทศบาลโตเกียว และได้มีการวางแผนจะก่อสร้างสุสานขึ้นใหม่อีกครั้ง

อุบัติเหตุ

ในปีค.ศ. 1945 กองทัพอเมริกาที่เข้ามาปกครองญี่ปุ่นที่พ่ายสงครามได้ถือกรรมสิทธิ์พื้นที่ และวางแผนจะสร้างลานจอดรถบนพื้นที่สุสานมาซาคาโดะ แต่ก็เกิดอุบัติเหตุสุดพิลึกหลายต่อหลายครั้งจนทำให้การก่อสร้างไม่คืบหน้า อย่างเช่นเหตุการณ์รถเครนพลิกคว่ำจนคนขับลงมานอนเสียชีวิตข้างๆสุสาน หลังได้รับคำร้องจากเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น ทางกองทัพอเมริกาก็ได้ยกเลิกแผนการสร้างลานจอดรถไปในที่สุด

เนินสุสานมาซาคาโดะ

ในปีค.ศ. 1961 กรรมสิทธิ์เหนือที่ดินบริเวณสุสานได้กลับมาเป็นของสำนักงานเขตเทศบาลโตเกียว ลานจอดรถที่สร้างไม่เสร็จถูกรื้อถอนออก และพิธีบวงสรวงได้กลับมาถือปฏิบัติกันอีกครั้ง แผนการบูรณะสุสานได้กลับมาดำเนินการต่อ อาคารใกล้เคียงก็เริ่มกลับมาก่อสร้างอีกครั้ง แต่หลายต่อหลายครั้งคนงานที่ก่อสร้างอาคารใกล้เคียงหลายรายมักจะล้มป่วย มีการพบเงาแปลกๆรูปร่างคล้ายคนผมรุงรังในภาพถ่ายที่ถ่ายในพื้นที่สุสาน กลุ่มธุรกิจหลายรายในพื้นที่ได้ลงขันกันจัดพิธีกราบไหว้บูชาที่พื้นที่สุสานในวันที่ 1 และ 15 ของทุกเดือน จนสุสานได้รับการบูรณะคืนสภาพเสร็จสมบูรณ์ในปีค.ศ. 1971

ถัดมาในปีค.ศ. 1984 จากกระแสความนิยมของละครโทรทัศน์เรื่อง คาเสะโตะคุโมะโตะนิจิโตะ (風と雲と虹と กับลมกับเมฆกับรุ้ง) ซึ่งมีเนื้อเรื่องจากชีวิตของไทระ โนะ มาซาคาโดะ ออกอากาศทางช่อง NHK และการเรียกร้องของสาธารณชน ทางรัฐบาลได้คืนสถานะความเป็นเทพประจำศาลเจ้าคันดะเมียวจินให้แก่ไทระ โนะ มาซาคาโดะ

ในปีค.ศ. 1987 ระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง เทโตะ โมโนกาตาริ (帝都物語 / Teito Monogatari ชื่อภาษาอังกฤษ Tokyo: The Last Megalopolis) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้ศาสตร์องเมียวกลับมาดังอีกครั้ง ได้เจออุบัติเหตุแปลกๆนับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งเชื่อกันว่ามีผลมาจากเนื้อเรื้องของภาพยนตร์ที่ตัวร้ายต้องการจะปลุกดวงวิญญาณของไทระ โนะ มาซาคาโดะ ให้ออกอาละวาดทำลายเมืองโตเกียว นับตั้งแต่นั้นมา เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุระหว่างการถ่ายทำ ที่ญี่ปุ่นจึงเริ่มมีธรรมเนียมการทำพิธีบวงสรวงที่เนินสุสานมาซาคาโดะก่อนจะนำไทระ โนะ มาซาคาโดะมาออกอากาศผ่านทางภาพยนตร์ ละคร หรือรายการโทรทัศน์ต่างๆ

แม้ในปัจจุบัน จากปากทำของผู้ที่เคยทำงานออฟฟิศในละแวกใกล้เคียงกับสุสาน ก็มีการเลี่ยงนั่งทำงานริมหน้าต่างฝั่งที่หันหน้าเข้าเนินสุสาน เพราะมีหลายคนเกิดอาการป่วยเวลานั่งริมหน้าต่างฝั่งสุสาน และละแวกนั้นยังนิยมทำงานโดยหันหน้าไปทางสุสานเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่มาซาคาโดะ (เชื่อว่าการหันหลังให้ถือเป็นการลบหลู่) ส่วนบทความนี้เหรอครับ ไม่ต้องห่วง ตัวผมได้เดินทางไปที่เนินสุสานเพื่อสักการะและขอขมาไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะงั้นวางใจได้ครับ อ่านได้ไม่ต้องกลัวคำสาปครับ หึหึหึ

บทความก่อนๆ

หัวข้อเรื่อง

Survey[แบบสอบถาม] กรุณาบอกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น







Recommend