ข้าวเป็นอาหารหลักของชาวเอเชีย เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของทั้งประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคนไทยได้รับกระแสความนิยมวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นเข้ามาอย่างแพร่หลาย ที่รู้จักกันดีก็ได้แก่ในรูปของซูชิ, ข้าวปั้นและข้าวหน้าต่างๆ
และไม่เพียงแต่เป็นที่นิยมของคนไทยเท่านั้น หากเป็นที่นิยมของนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาพำนักอยู่ในประเทศไทยด้วย
ปัจจุบันประเทศไทยสามารถปลูกข้าวญี่ปุ่นได้เองแล้ว จึงลดการนำเข้ามาจากต่างประเทศลง แหล่งปลูกที่สำคัญของไทยอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย, พะเยา, ลำปาง, พิษณุโลก, ชัยนาท, หนองคายและลำพูน โดยทำการเพาะปลูกครั้งแรกในปี ค.ศ. 1964 โดยสถานีทดลองข้าวพาน จังหวัดเชียงราย พบว่าข้าวญี่ปุ่นจะเจริญเติบโตได้ดีภายใต้อุณหภูมิ 18-25 องศาเซลเซียส จึงเหมาะกับพื้นที่บริเวณตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือทั้งตอนบนและตอนล่างของประเทศไทย
จนเมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1995 จึงผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวิจัยและพัฒนากรมวิชาการเกษตร ให้เป็นพันธุ์แนะนำ โดยให้ชื่อว่า “ข้าวญี่ปุ่น ก.วก.1”
ชนิดของข้าวญี่ปุ่น
ข้าวญี่ปุ่นมีหลายสายพันธุ์ แต่ที่นิยมรับประทานกันได้แก่สายพันธ์ดังนี้
1. พันธุ์ Koshihikari เป็นข้าวพันธุ์ที่ได้รับความนิยมที่สุด ดังนั้นจึงมีการเพาะปลูกมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่นโดยคิดเป็น 1 ใน 3 ของการผลิตข้าวทั้งหมด โดยความชุ่มชื้นของข้าวจะมีผลต่อรสชาติของข้าว มีความเหนียวและความนุ่มมากกว่าพันธุ์อื่นๆ มีรสชาติออกหวานและมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ถูกปากชาวญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็นพันธุ์ข้าวที่แข็งแรง มีความทนทานต่อโรค จึงปลูกได้อยู่หลายจังหวัดในประเทศญี่ปุ่น แต่มักนิยมปลูกที่สุดที่เมืองอโอนุมะ จังหวัดนีงาตะ จังหวัดอิบารากิ จังหวัดโทะจิงิ จังหวัดชิบะ และจังหวัดมิยาซากิ
2. พันธุ์ Sasanishiki มีความร่วน หุงเสร็จแล้วกลิ่นหอมและรสชาติไม่จัด จึงรับประทานเข้ากันกับเครื่องเคียงได้เป็นอย่างดี จึงเป็นที่นิยมในร้านซูชิเนื่องจากเมล็ดข้าวมีความเหนียว นุ่ม ปั้นเป็นก้อนได้ดี สมัยก่อนข้าวพันธุ์นี้ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กับข้าวพันธุ์ Koshihikari เป็นพันธุ์ข้าวที่เกิดจากการผสมระหว่างสายพันธุ์ Koshihikari กับ Sasashigure และพบมากที่สุดในจังหวัดมิยางิ
3. พันธุ์ Haenuki พันธุ์ Haenuki มีความแข็งมากกว่าชนิดอื่นข้างต้น ไม่หวานมาก แม้จะทิ้งไว้เย็นก็ยังคงความอร่อยไว้อยู่ บรรดาร้านอาหารกล่องและข้าวปั้นมักจะใช้ข้าวพันธุ์นี้ เพราะเมล็ดแข็ง คงรูปลักษณ์ แม้ถูกทิ้งไว้จนเย็นก็ยังมีรสชาติที่ดีอยู่ มักปลูกที่จังหวัดยามางาตะ
ข้าวพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ข้าวที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ พึ่งจดทะเบียนไปเมื่อปี ค.ศ. 1993 ข้าวพันธุ์นี้เข้ากับอาหารหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น โอริกินิ(ข้าวปั้น) ข้าวหน้าต่างๆ หรือจะกับแกงกะหรี่ก็เข้ากัน ข้าวพันธุ์ Haenuki
4. พันธุ์ Akitakomachi มีจุดเด่นเรื่องความหวาน ไม่เหนียวมาก ใกล้เคียงกับข้าวไทย Koshihikari หุงขึ้นหม้อ แม้จะทิ้งไว้จนเย็นความอร่อยก็ยังคงอยู่ จึงเป็นที่นิยมใช้ในร้านอาหารกล่องและข้าวปั้นเหมือนพันธุ์ Haenuki แต่รสชาติและความเหนียวนุ่มไม่ด้อยไปกว่าพันธุ์ Sasanishiki ที่คนญี่ปุ่นนิยมรับประทาน
เพราะมีแหล่งกำเนิดอยู่ที่จังหวัดอากิตะเลยได้ชื่อพันธุ์เหมือนชื่อจังหวัด ข้าวชนิดนี้เหมาะกับอาหารหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะอาหารญี่ปุ่น อาหารฝรั่ง หรือข้าวปั้น ก็เข้ากันอย่างดี มักปลูกที่จังหวัดอากิตะ จังหวัดอิวาเตะ จังหวัดอิบาระงิ จังหวัดชิบะ
5. พันธุ์ Nanatsuboshi เป็นข้าวพันธุ์ท้องถิ่นของจังหวัดฮอกไกโด มีจุดเด่นเรื่องความนุ่ม เหนียว เมล็ดอวบขึ้นเงาและความหอม รสชาติดีจนได้รางวัลข้าวพันธุ์ดีประจำท้องถิ่นเมื่อปี ค.ศ. 2001
เป็นสายพันธุ์ข้าวที่พัฒนาขึ้นมาใหม่จากสายพันธุ์หลักอย่างและเป็นที่นิยมปลูกกันมากในแถบฮอกไกโด สายพันธุ์ข้าว Nanatsuboshi จัดเป็นข้าวที่มีความสำคัญของฮอกไกโดมาก นิยมนำทำอาหารกล่องและซูชิ
วิธีหุงข้าวญี่ปุ่น
หม้อหุงข้าวมีฟังก์ชันมากมายโดยเฉพาะแบรนด์จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสามารถหุงข้าวญี่ปุ่นได้อย่างสะดวกสบายไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องคอยเช็คน้ำ หรือกังวลว่าข้าวจะติดก้นหม้อ เพราะการหุงข้าวญี่ปุ่นต้องการปริมาณน้ำมากกว่าการหุงข้าวไทยเล็กน้อย หลายๆ คนก็ยังประสบปัญหาหุงข้าวแล้วข้าวแข็งหรือแฉะเกินไป
: ‡ : วิธีทำ : ‡ :
- ตักข้าวใส่ถ้วยตวงข้าวก่อนใส่ข้าวเข้าไปในหม้อ
- ใส่น้ำสะอาดลงไป ใช้มือถูข้าวเบาๆ ค่อยๆรินน้ำทิ้ง
- ใช้ฝ่ามือบีบนวดเมล็ดข้าวเพื่อให้เมล็ดข้าวนุ่มเหนียว ใส่น้ำสะอาดลงไปอีกครั้ง จะเห็นได้ว่าสีของน้ำจะขาวขุ่นกว่าครั้งแรก
- ใช้ฝ่ามือบีบนวดเมล็ดข้าวอีก ใส่น้ำสะอาดลงไปอีกครั้ง ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง จะเห็นว่าทุกครั้งน้ำจะใสขึ้น แต่ไม่ควรทำซ้ำเกิน 3 ครั้ง เพราะจะทำให้สูญเสียสารอาหารและความหอมของข้าวไปมากยิ่งขึ้น ข้าวที่หุงเสร็จจะออกมาร่วนกว่าที่ควรและไม่เกาะตัวกัน
- วางข้าวที่ล้างแล้วพักไว้จนข้าวสารเป็นสีขาวขุ่น ประมาณ 10-15 นาที
- เทข้าวลงในกระชอน พักไว้ให้สะเด็ดน้ำ
- นำข้าวมาใส่หม้อหุงข้าว เติมน้ำสะอาดในอัตราข้าว 2 ส่วนต่อน้ำ 3 ส่วน หุงจนข้าวสุกฟูขึ้นมา
- ใช้ทัพพีตักข้าวคดข้าวขึ้นมา ไม่ให้เมล็ดข้าวติดขอบหม้อและเป็นก้อนอยู่ในหม้อ คดไปมาจนไอน้ำระเหยออก เพื่อป้องกันข้าวแฉะ
- เมื่อเมล็ดข้าวขึ้นเงาจึงปิดฝาหม้อ อบไว้ให้ข้าวคงความร้อน ประมาณ 10-15 นาที เพื่อให้ไอน้ำหยดลงไปก้นหม้อ เราจะได้ข้าวที่นุ่ม ฟู เรียงเม็ดสวยขึ้น และที่สำคัญ!!ข้าวจะไม่ติดก้นหม้อเวลานำหม้อไปล้าง
ข้อควรระวัง (σ・Д・)σ
หากเป็นข้าวญี่ปุ่นที่เรียกว่า “Musenmai” ซึ่งเป็นข้าวที่ไม่ต้องซาว ข้าวชนิดนี้ถูกสี กำจัดรำข้าวและขัดเปลือกออกได้สะอาดกว่าข้าวปกติ ไม่จำเป็นต้องนำมาล้าง เพราะจะทำให้ข้าวสูญเสียคุณค่าทางสารอาหารไปโดยไม่จำเป็น
ฝากเคล็ดลับในการหุงข้าวของไทยไว้อีกนิด (✿◕ ‿ ◕)ノ))。₀: *゜
หากต้องการให้ข้าวหอมและนุ่มฟู ให้ใส่น้ำส้มสายชูลงไป 3-4 หยด หรือหากต้องการให้ข้าวนุ่มฟู วาว เรียงเม็ดสวย ให้ใส่เกลือและน้ำมันหมูลงไปในน้ำก่อนนำไปหุง จะทำให้ข้าว นุ่ม ฟู สวยและหอมน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น
Comments