ชาเขียวอุจิ (宇治抹茶 / Uji Matcha) แห่งเกียวโตได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งใน "สามยอดชาแห่งญี่ปุ่น" (日本三大茶 / Nihon Daisancha นิฮ่อนซันไดฉะ) ครองตำแหน่งร่วมกับชาของชิสุโอกะและชาของซายามะ อย่างไรก็ดี ชาอุจิก็มีดีจนได้รับความสนใจมากที่สุดในสามยอดชานี้ ปัจจุบันมีชามากมายหลายประเภทหลากชนิดที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตและแปรรูปต่างนับตั้งแต่มีชาอุจิกำเนิดขึ้น หลังจากนั้นมา พิธีชงชา (茶道 / Sado สะโด) ก็เปลี่ยนแปลงพัฒนาขึ้นไปอีกหลายขั้นเลยเชียว
หนึ่งในสามยอดชาแห่งญี่ปุ่น: ชาเขียวอุจิ
ในช่วงราชวงศ์ถังของจีน ญี่ปุ่นได้ส่งอุปทูตไปที่ประเทศจีนเพื่อศึกษาการปกครอง วัฒนธรรม ฯลฯ เป็นประจำ เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมเรื่องชาก็แพร่เข้าสู่ญี่ปุ่นในช่วงดังกล่าว แต่เนื่องจากชาในสมัยนั้นมีค่ามาก จึงมีเฉพาะพวกขุนนางชั้นสูงและพระภิกษุที่ดื่มชาได้ในยุคนั้น
ในศตวรรษที่ 12 นักบวชนามเอไซ (栄西 / Eisai บางครั้งก็อ่านว่า โยไซ Yosai) ได้เดินทางไปยังประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ซ่ง และเกิดประหลาดใจกับชาที่มีดื่มกินกันได้ทั่วไปในหมู่สามัญชน เขาจึงนำเมล็ดชากลับมาและเริ่มศึกษาการปลูกชาทันทีที่กลับถึงญี่ปุ่น ชาอุจิทางตอนใต้ของเกียวโตมีคุณภาพดีเพราะปลูกในสภาพภูมิประเทศและความสูงที่เหมาะสม จนชื่อเสียงร่ำลือของชาอุจิเริ่มแพร่หลายไปทั่วญี่ปุ่น
หลังจากนั้นวัฒนธรรมเรื่องชาก็เกิดโด่งดังแพร่หลายจนถึงขีดสุดในศตวรรษที่ 16 ผ่านทางพระภิกษุที่มีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้านและกิจกรรมของเหล่าซามูไร แม้แต่โอดะ โนบุนากะ (織田信長 / ODA Nobunaga) และโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ (豊臣秀吉 / TOYOTOMI Hideyoshi) บุคคลอันมีชื่อเสียงโด่งดังแห่งยุคเซ็งโกคุ (ยุคสงครามแว่นแคว้น) ต่างก็หลงไหลในเสน่ห์ของวัฒนธรรมเรื่องน้ำชานี้ ตัวฮิเดโยชิเองยังสนใจในชาที่ผลิตจากอุจิเป็นพิเศษ จนว่ากันว่าชาอุจิกลายเป็นชาชั้นนำมาตั้งแต่สมัยนั้นเลยทีเดียว แม้แต่ในปัจจุบัน ชาอุจิก็ยังเป็นหนึ่งในสามยอดชาอันโด่งดัง และเป็นที่รักของคนจากทั่วทุกมุมโลก
ชาอุจิหลากหลายชนิด
ปกติชาจะแบ่งเป็นประเภทหลักๆคือชาเขียว ชาดำ หรือชาอู่หลง ตามการบ่มหรือไม่บ่มใบชม ชาอุจิจัดเป็นชาเขียวประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นชาที่ไม่มีการบ่มใบชาโดยใช้วิธีอบใอน้ำเพื่อหยุดกระบวนการสลายตัวทันทีที่เด็ดจากต้น การหยุดการเน่าสลายตัวโดยธรรมชาตินี้เองที่ทำให้ใบชาคงสีเขียวอันเป็นเอกลักษณ์ของชาเขียว แม้ว่าต้นตำหรับกรรมวิธีนี้จะมาจากจีน แต่ที่จีนกลับค่อย ๆ สูญหายไป แล้วกลับมาแพร่หลายที่ญี่ปุ่นแทน
ด้วยกรรมวิธีการผลิตและแปรรูปหรือรักษาสภาพชาอันหลากหลาย ทั้งรสและกลิ่นของชาที่ได้ก็แตกต่างกันจนมีชาหลายชนิดถือกำเนิดขึ้นอย่าง เกียวคุโระ (玉露) คาบุเซะฉะ (冠茶) เท็นฉะ (甜茶) มัทฉะ (抹茶 ชาป่น บ้างก็เรียกว่ามัตชา) เซ็นฉะ (煎茶) โฮจิฉะ (ほうじ茶) เก็นไมฉะ (玄米茶) ฯลฯ โดยในชาเหล่านี้ เกียวโรคุถือเป็นชาชั้นสูงที่หรูหรามีระดับที่สุด ส่วนชาที่เพาะปลูกในเขตอุจิและผ่านกรรมวิธีในเกียวโตจะเรียกรวม ๆ กันว่า ชาอุจิ
เพราะเหตุใดชาอุจิจึงโด่งดัง?
ในศตวรรษที่ 16 มีการพัฒนาวิธีการเก็บเกี่ยวที่เรียกกันว่า "การเก็บในร่ม" ขึ้นที่อุจิ โดยการเก็บเกี่ยวนี้ใช้อุปกรณ์ปกปิดกันแสงแดดเข้าโดนใบชาเพื่อรักษากลินชาและลดความฝาดขมไปพร้อมกัน ชาเขียวอุจิแบบผงป่น (มัตฉะ) ก็เก็บเกี่ยวด้วยวิธีนี้ หากคุณลองฝึกฝนพิธีชงชา ควรระวังเรื่องการชงชา การดื่มชาและมารยาทอื่น ๆ รวมถึงอุณหภูมิน้ำที่ใช้ ฯลฯ เป็นพิเศษ เพราะพิธีชงชาได้กลายเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของญี่ปุ่นไปแล้ว
ผงชาป่น (มัทฉะ) ไม่ได้เพียงนำไปชงชาเท่านั้น แต่ผงชาป่นของอุจิยังถูกนำไปใช้ทำของหวานรสชาเขียวมากมายอีกด้วย เมื่อขนมและของหวานรสชาเขียวมัตชาอย่างแพนเค้กชาเขียว เค้กชาเขียว ขนมไดฟุกุชาเขียว พาร์เฟ่ท์ชาเขียว ไอศกรีมชาเขียว ช็อคโกแล็ตชาเขียวได้แพร่หลายไปทั่วโลก ชื่อ"อุจิ" เองก็กลายเป็นคำที่มีความหมายว่าชาเขียวมัตฉะไปในตัว
แม้ว่ามัตชาจะมีให้ทานได้ทุกที่ทั่วโลก แต่ก็อยากจะแนะนำให้ลองไปเที่ยวเมืองอุจิที่เกียวโตดูเพื่อชมวัดโบราณที่ได้รับการลงทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก และลองชิมมัตชาต้นตำหรับที่ร้านอายุกว่าร้อยปีนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นมาที่ย่านช้อปปิ้งดู แล้วคุณจะรู้ว่า ชาเขียวจริงๆ มันล้ำลึกกว่าที่คุณรู้มา
Comments