กลับมากันอีกครั้งกับเรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญครับ วันนี้เราจะมาคุยกันเรื่องโยไคประเภทหนึ่ง โยไค หรือภูติของญี่ปุ่นมักจะมีกายเนื้อ ต่างจากผีแบบยูเรหรือวิญญาณที่ไม่มีร่างกายหรือจับต้องไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดีโยไคมักจะสามารถซ่อนรูปกายจากตาเนื้อหรือจำแลงร่างเพื่อซ่อนตัวตนที่แท้จริงได้ แต่วันนี้เราจะมาดูโยไคที่มีกายเนื้อปกติเป็นมนุษย์ธรรมดา เหมือนกับผีดิบหรือครึ่งผีครึ่งคนครับ!
ผีคอยาว โรคุโรคุบิ (ろくろ首)
ว่ากันว่า โรคุโรคุบิ (ろくろ首) ก็เป็นเหมือนคนธรรมดาในตอนกลางวัน แต่ยามตกกลางคืน หัวจะลอยออกไปข้างนอก โดยมีเส้นอะไรสักอย่างสีขาวเชื่อมกับร่างกายที่นอนอยู่จึงดูเหมือนเป็นคอ เรื่องเล่าเกี่ยวกับโรคุโรคุบิเริ่มต้นในสมัยเอโดะ โดยแต่แรกเล่ากันว่าเส้นขาวๆนั้นเป็นเส้นใยวิญญาณที่เชื่อมระหว่างร่างจริงกับวิญญาณที่หลุดออกไป (โดยปรากฎเป็นศีรษะ) จึงทำให้การตีความในภายหลังกลายเป็นคอที่ยาวไปแทน เพราะฉะนั้นในยุคปัจจุบัน ทางสื่อและนักเล่าเรื่องต่างๆจึงหยิบเอาแบบล่าสุดมาเล่าต่อแทนที่จะนำแบบดั้งเดิมมาขยายกันครับ
ต้นกำเนิดของโรคุโรคุบิ: นุเกะคุบิ (抜け首)
ก่อนโรคุโรคุบิจะเป็นที่รู้จักในยุคเอโดะ ก็มีเรื่องเล่าที่เก่าแก่กว่าเล่าถึง นุเกะคุบิ (ผีหัวหลุด) เรื่องเล่าที่เก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับนุเกะคุบิมีบันทึกเป็นหนังสือไว้ในปี พ.ศ. 2206 (ค.ศ. 1663) เล่าว่านุเกะคุบิเป็นวิญญาณของผู้หญิงคนหนึ่งที่ถอดวิญญาณออกมาเป็นรูปศีรษะมนุษย์และล่องลอยออกไปยามที่เธอหลับอยู่ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องเล่าก็ไม่ได้กล่าวถึงร่างที่ไม่มีศีรษะแต่อย่างใด กล่าวเพียงแค่ว่ามีบุรุษคนหนึ่งไปพบเห็นหัวที่ลอยอยู่ จึงหยิบดาบออกมาไล่ตาม ศีรษะของผู้หญิงคนนั้นก็หนีกลับบ้านแล้วก็ตื่นขึ้นมา บอกว่าฝันร้าย มีผู้ชายถือดาบวิ่งไล่ตาม เพราะฉะนั้น เรื่องจึงจบโดยไม่รู้ว่าร่างของผู้หญิงคนนั้นถอดหัวออกจริงหรือเพียงแค่ถอดวิญญาณเท่านั้น
ในเรื่องเล่าถัดๆมาหลังจากที่โรคุโรคุบิเริ่มเป็นที่รู้จักมากกว่านุเกะคุบิ มีเรื่องหนึ่งเล่าว่ามีคนพบเห็นไอน้ำข้นขุ่นมัวลอยออกจากหน้าอกของสตรีที่เชื่อว่าเป็นโรคุโรคุบิ โดยไอน้ำนั้นบดบังศีรษะจริงของเธอจนดูเหมือนว่างคอนั้นยืดยาวออก
อิทธิพลจากต่างประเทศ
เนื่องจากเรื่องเล่าของนุเกะคุบิเริ่มต้นขึ้นในช่วงที่ญี่ปุ่นเปิดการค้ากับประเทศจีนและประเทศทางเอเชียอาคเนย์ จึงมีหลายคนเชื่อกันว่า เรื่องเล่าของนุเกะคุบิได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องเล่าในต่างประเทศ จนครั้นถึงยุคที่ญี่ปุ่นปิดประเทศในสมัยเอโดะ เรื่องจึงค่อยๆเปลี่ยนเป็นโรคุโรคุบิไปในที่สุด
ในประเทศจีนก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับ ฮิโตบัน (飛頭蛮) หรือคนเถื่อนหัวบิน ซึ่งศีรษะจะหลุดออกจากร่างและใช้หูกางเป็นปีกออกบินหาแมลงกิน และก็ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับ ระคุโต (落頭 ผีหัวหล่น) ซึ่งเป็นเพียงศีรษะที่หลุดออกจากร่างลอยไปมา (หูเป็นหูปกติ ไม่ได้กลายเป็นปีก)
ส่วนในประเทศทางเอเชียอาคเนย์ก็มีผีดิบที่คล้ายๆกัน เช่น ปาลาสิก (Palasik) คุยัง (Kuyang) และเลอัค (Leak) ของอินโดนีเซีย ปีนังกะลัน (Penanggalan) ของมาเลเซีย และกระสือของไทย ซึ่งก็ต่างจากระคุโตและนุเกะคุบิ ผีเหล่านี้มีเครื่องในติดกับศีรษะเวลาที่ถอดหัวลอยออกไปด้วย ซึ่งก็เล่ากันว่าจะลอยไปออกหาเด็กแรกเกิดหรือหญิงท้องแก่เพื่อดื่มเลือดของทารก ส่วนของทางไทยเราก็ยังมีกระหัง ซึ่งก็คล้ายๆกับ มานานังกัล (Manananggal) ของฟิลิปปินส์ (แต่ผีมานานังกัลของฟิลิปปินส์เป็นเพศหญิง) ซึ่งจะถอดร่างกายท่อนบนตั้งแต่เอวขึ้นไปออกและมีปีกราวกับค้างคาว ส่วนกระหังในความเชื่อปัจจุบันก็ไม่ได้ถอดตัวเอาไส้มัดกับสากและกระด้งแต่อย่างใด เป็นร่างกายทั้งตัวที่ติดกระด้งกับสากบินเท่านั้น
สาเหตุ: อาการป่วย หรือ กรรม
ในแรกเริ่มเดิมที เรื่องเล่าของนุเกะคุบิก็ไม่ได้ถอดหัวแต่อย่างใด แต่เชื่อว่าเป็นอาการป่วยบางอย่างที่ทำให้วิญญาณหลุดออกจากร่างยามหลับใหล โดยวิญญาณที่หลุดออกไปปรากฏเป็นศีรษะที่หลุดลอยในสายตาของผู้พบเห็น ในเรื่องเล่าส่วนใหญ่ นุเกะคุบิมักกจะเป็นผู้หญิง แต่ก็มีเรื่องหนึ่งในโชไซฮิกกิ (蕉斎筆記) ที่มีนุเกะคุบิเป็นผู้ชาย โดยเจ้าตัวบอกว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นประจำในบ้านเกิดที่จังหวัดชิโมสะ (ปัจจุบันคือจังหวัดชิบะ)
ในเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นภายหลังกล่าวว่า ผู้ที่เป็นนุเกะคุบิหรือโรคุโรคุบิมักจะมีรอยแดงรอบๆคอเป็นเส้นเดียว ทั้งนี้ยังมีการกล่าวถึงหมู่บ้านปลีกวิเวกในภูเขาโยชิโนะยามะที่ชาวบ้านทุกคนสวมผ้าพันคอกันตลอดเวลาทั้งเด็กผู้ใหญ่และคนชรา
พอถึงยุดเอโดะก็มีเรื่องหนึ่งเล่าว่า โรคุโรคุบิจริงๆเป็นเพียงอาการผิดปกติที่ส่งผลต่อร่างกาย โดยยกตัวอย่างโสเภณีนางหนึ่งแห่งโยชิวาระที่เวลานอนคอจะยืดออก (แต่ก็ไม่ได้ยาวผิดปกติเกินมนุษย์) โดยในเรื่องกล่าวว่า “หัวใจของนางนั้นหลวมและเลื่อนออก”
หลายเรื่องก็เล่ากันว่าคนบางคนก็กลายเป็นนุเกะคุบิหรือโรคุโรคุบิเพราะผลกรรม ในประเทศทางเอเชียอาคเนย์ เชื่อกันว่าผีที่มีแต่หัวกับไส้มีต้นกำเนิดมาจากผู้ที่เล่นอาคมมนต์ดำแต่เกิดพลาดโดนของเข้าตัว สาปให้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่กระหายเลือดเนื้อมนุษย์ที่มีร่างกายวิปริตผิดธรรมชาติ เรื่องเล่าในภายหลังก็เล่ากันว่าเกิดจากการใช้ของเหลวที่ต้องอาคม อย่างน้ำมันปลุกเสกที่ทาคอแล้วจะถอดหัวได้บ้าง ดื่มน้ำลายของผีเหล่านั้นบ้าง
ในยุคเอโดะ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่เปิดโรงเตี้ยมโดยการสังหายผู้หญิงรายหนึ่งเพื่อขโมยเงินมาใช้เป็นทุน แต่พอลูกสาวเกิดออกมาก็กลายเป็นโรคุโรคุบิ แต่อย่างไรก็ดี ลูกสาวก็เติบโตจนได้แต่งงานกับพระญี่ปุ่นที่หนีวัดมาและหนีตามกันไป แต่ก็กลับล้มป่วย พอไม่มีเงินจะดูแลต่อได้ พระหนีวัดจึงเลือกจะสังหารนางทิ้งเสีย เมื่อพระรูปนั้นไปพักที่โรงเตี้ยมแห่งหนึ่งและนอนกับสตรีที่พบ คอของผู้หญิงคนนั้นก็กลับยืดยาวออกและใบหน้าก็กลับกลายเป็นของภรรยาที่เขาฆ่าทิ้งไป เธอเล่าเรื่องราวอันคับคาใจให้เขาฟังจนเขารู้สึกผิด จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดไปบอกพ่อของเธอ ซึ่งทางฝ่ายพ่อก็ได้เปิดเผยเรื่องราวของตนเช่นกัน พระรูปนั้นจึงกลับไปถือศีลบำเพ็ญตนอีกครั้งและสร้างหลุมศพในกับภรรยาเพื่อเล่าเรื่องสืบทอดต่อไป
ประเด็นน่าสนใจ
จุดหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ สิ่งมีชีวิตหรือผีดิบเช่นนี้หาพบได้เฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น โดยมีเรื่องเล่าที่คล้ายกันของทางอเมริกาใต้อยู่เพียงเรื่องเดียวก็คือ ชอนชอน (Chonchon) และที่สำคัญ ในทุกเรื่อง ผีที่ปรากฏนั้นก็เป็นคนธรรมดาในเวลากลางวัน ส่วนทางฝั่งตะวันตกกลับจะเรื่องผีหัวขาด (ไร้ศีรษะ) ออกอาละวาดแทนผีที่มีแต่หัวลอยได้ และมักเป็นผู้ที่ตายไปแล้ว ไม่ได้ปรากฏเป็นคนธรรมดาในยามกลางวัน
ซึ่งถ้าเทียบแล้ว ผีทางฝั่งตะวันตกที่ใกล้เคียงที่สุดก็คงเป็นแวมไพร์ ผีดิบดูดเลือด ซึ่งสามารถจะปรากฏตัวเป็นคนธรรมดาได้แต่ก็กลัวแสงอาทิตย์ (ทั้งนี้อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่า เพื่อไม่ให้ถูกพบว่าเป็นผีมากกว่าจะแพ้แสงแดด คล้ายๆกับการสวมผ้าพันคอปกปิดรอยบนคอของโรคุโรคุบิ) แต่ก็ไม่แน่นะครับ เรื่องทุกเรื่องอาจจะมีต้นกำเนิดจากสิ่งเดียวกันก็เป็นได้ แต่ด้วยการเล่าปากต่อปาก อิทธิพลความเชื่อ การเปลี่ยนแปลงเนื้อหา ทำให้เรื่องที่พบในปัจจุบันแตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง...
Comments