ขอต้อนรับกลับเข้าสู่เรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญของญี่ปุ่นประจำช่วงดึกครับ เมื่อใกล้เข้าสู่เดือนกรกฎาคม หลายท่านอาจจะได้พบเห็นสถานที่บางแห่งในโตเกียวกำลังเตรียมงานเทศกาลโอบงกันบ้าง สำหรับคราวนี้ เราจะเข้าไปขุดลึกถึงรากของงานโอบง ตั้งแต่ที่มาจนถึงธรรมเนียมปฏิบัติสืบทอดที่เกี่ยวข้องกับงานในปัจจุบันกันครับ
โอบง คืออะไร?
ถ้าว่ากันตามตัวอักษร โอบง(お盆) หรือบง (盆) ก็คือ ภาชนะรูปทรงแบนราบคล้ายถาด กระถางหรือกระจาด อย่างเช่นต้นไม้ที่ปลูกในกระถางทรงเตี้ยก็เรียกว่า บอนไซ (盆栽) ที่ราบที่เป็นแอ่งก็เรียก บอนจิ (盆地) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คำนี้ก็ยังใช้เรียกงานเทศกาลบง งานประเพณีที่ลูกหลานใช้เป็นโอกาสกราบไหว้บูชาบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว แล้วกระจาดมันเกี่ยวกับงานอย่างไร? งานนี้มีที่มาจากไหน? ไปดูกันเลยดีกว่าครับ
ต้นกำเนิด: อุลลัมพนสูตร ว่าด้วยเรื่องการไปโปรดมารดาในภพภูมิเปรต
อุลลัมพนสูตรเป็นคัมภีร์ในพุทธศาสนาทางมหายาน (นิกายโยคาจาร ไม่ทราบผู้แปล) กล่าวถึงบทเสวนาธรรมระหว่างพระโมคคัลลาน์ กับพระโคตมะพุทธเจ้า มีเนื้อหากล่าวถึงวิธีการที่จะช่วยโปรดมารดาของพระโมคคัลลาน์ที่ไปเกิดในภพภูมิเปรตให้พ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าจึงให้พระโมคคัลลาน์จัดเครื่องไทยทานเป็นสังฆทานทวายแด่ภิกษุสงฆ์ทั้งทศทิศในวันเพ็ญเดือนเจ็ด อันเป็นวันมหาปวารณาออกพรรษาตามความเชื่อของทางมหายาน
เข้าสู่ขนบธรรมเนียมจีน
อุลลัมพนสูตร ทางจีนเรียกว่าอวี๋หลานเผินจิง (盂蘭盆經 หรือ 盂兰盆经) ในภาษาจีน ด้วยความที่เดือนเจ็ดมีความเชื่อแต่เดิมก่อนการเข้ามาของศาสนาพุทธอยู่แล้วว่าเป็นเดือนที่ประตูนรกเปิด มีประเพณีวันสารท ทำบุญให้กับผีไม่มีญาติอยู่แล้ว จึงรวมเข้าด้วยกันเป็นงานอุลลัมพน (盂蘭盆節) ทั้งการเซ่นไหว้เจ้าไหว้บรรพบุรุษ และการทิ้งกระจาดเซ่นไหว้วิญญาณเร่ร่อนหรือผีไม่มีญาติ ซึ่งกระจาดมีรูปร่างตามคำว่า “盆” นั่นเอง สำหรับคนไทยหลายคงรู้จักงานนี้กันในชื่อ “วันสารทจีน” ครับ ในส่วนของการเซ่นไหว้ จะเผาของไหว้เพื่อส่งไปให้วิญญาณได้นำไปใช้ครับ
ข้อสังเกต: ทางพุทธศาสนาฝั่งเถรวาทมีเรื่อง “เปตวัตถุ” กล่าวถึงบทสนทนาธรรมคล้ายคลึงกัน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของประเพณีคล้ายคลึงกัน นั่นก็คือ วันสารทไทย ที่มีการทำบุญวันสารทไทยและพิธีการชิงเปรต ทั้งนี้ วันสารทไทยมีขึ้นในวันแรมสิบห้าค่ำเดือนสิบ ตามปฏิทินจันทรคติของไทย งานบุญเดือนสิบจึงมีขึ้นประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม ส่วนงานสารทจีน ยึดตามปฏิทินจันทรคติจีน งานเดือนเจ็ดจึงมีขึ้นประมาณเดือนสิงหาครับ แต่ที่ทั้งสองงานมีไม่ต่างกันก็คือ การที่วิญญาณออกจากอบายภูมิมาโลกมนุษย์ชั่วคราว และการทำบุญให้วิญญาณเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการเซ่นไหว้โดยตรงหรือการทำบุญผ่านพระภิกษุสงฆ์ก็ตาม
เข้าสู่งานบงของญี่ปุ่น
วัฒนธรรมและประเพณีของจีนรวมไปถึงศาสนาพุทธเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นในสมัยนาระ แต่เมื่อถึงสมัยเฮอัน ญี่ปุ่นก็ปิดประเทศและพัฒนาวัฒนธรรมใหม่ของตัวเองให้แตกต่างจากจีน ส่วนงานอุลลัมพนก็มีแต่ไม่เหมือนกันทั้งหมด ชื่องานอ่านตามอักขระจีน 盂蘭盆會 ก็อ่านว่า อุระบงเอะ จนสุดท้ายก็ย่อจนเหลือแค่ โอบง (お盆) และเมื่อปฏิทินสุริยคติเข้ามา ก็ยึดวันตามปฏิทินใหม่เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ โดยยึดตามคัมภีร์ จัดงานเป็นวันที่ 15 เดือนกรกฎาคมบ้าง (บางส่วนในโตเกียว และบางภูมิภาค) หรือคำนึงเรื่องความต่างของปฏิทินจันทรคติจีน จัดให้ช้าไปหนึ่งเดือนเป็นเดือนสิงหาคมบ้าง (ในส่วนอื่นๆของญี่ปุ่น).
ธรรมเนียมปฏิบัติในช่วงโอบงของคนญี่ปุ่น
งานบงเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 1 ของเดือนบง (กรกฎาหรือสิงหา แล้วแต่ท้องที่) นั่นก็คือ วิญญาณจะเริ่มเข้ามาเยือนโลกมนุษย์ตั้งแต่ต้นเดือนเลย สำหรับวันแรกนั้น เรียกกันว่า คามาบูตะ สึอิตาจิ (釜蓋朔日 วันแรกที่เปิดฝาหม้อนรก) เนื่องจากวิญญาณจะเดินทางผ่านพื้นที่ต่างๆ เช่นทะเล ภูเขา แม่น้ำ ฯลฯ จึงมีคำกล่าวกันว่า ช่วงเดือนบง อย่าไปใกล้น้ำ...
เทศกาลทานาบาตะ ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของงานบง
งานบงกลายเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อชินโตและสังคมญี่ปุ่น จนมีธรรมเนียมปฏิบัติด้านชินโตให้เห็นเลยทีเดียว นั่นก็คือ การทอผ้าศักดิ์สิทธิ์สำหรับใช้ในงานบงโดยเหล่ามิโกะประจำศาลเจ้า โดยเริ่มทอผ้ากันประมาณวันที่ 7 กรกฎาคม ส่วนเครื่องทอผ้านั้น เรียกกันว่า ทานาบาตะ (棚機)
ครั้นเมื่อตำนานคิคโคเด็น (乞巧奠 ตำนานชายเลี้ยงวัวและหญิงทอผ้าของจีน รับเข้ามาเป็นธรรมเนียมวังหลวงในสมัยนาระ) ได้เผยแพร่เข้าสู่สามัญชนในสมัยเอโดะ มีผู้สังเกตุความบังเอิญที่มิโกะจะทอผ้าศักดิ์สิทธิ์ในวันเดียวกับวันที่เจ้าหญิงทอผ้า โอริฮิเมะ (織姫 บ้างก็เรียกว่า ทานาบาตะสึเมะ 棚機津女) ได้พบเจอชายเลี้ยงวัว ฮิโกะโบชิ (彦星) ดังนั้น งานเทศกาลทานาบาตะจึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยเขียนว่า 七夕 (ซึ่งจริงๆต้องอ่านว่า ชิจิเซคิ) ตามต้นตำหรับจีน (เทศกาลชีซี 七夕节 หรือ ชีเฉี่ยว 乞巧奠) แต่อ่านว่า “ทานาบาตะ” ตามชื่อเรียกเครื่องทอผ้า 棚機
จนเมื่อปฏิทินสุริยคติเข้ามาญี่ปุ่นและหลายท้องที่ย้ายวันจัดงานไปเดือนสิงหาคมให้ใกล้เคียงกับที่จีน งานทั้งสองจึงแยกออกจากกันเป็นเอกเทศ แต่ชื่องานก็ยังคงไว้เช่นที่เคยใช้กันมาว่า “ทานาบาตะ” ครับ
ไฟรับวิญญาณ ไฟส่งวิญญาณ และของเซ่นไหว้บูชา
ในคืนวันที่ 13 ของเดือนบง คนญี่ปุ่นจะจุดไฟรับวิญญาณ มุคาเอะบิ (迎え火) และจัดของเซ่นไหว้บูชา โซนาเอะโมโน (供え物) ให้ดวงวิญญาณได้ดื่มกิน ของเซ่นไหว้ส่วนใหญ่นั้นจะเป็นมะเขือม่วง แตงกวา และข้าว คลุกกันวางบนถาดหรือกระจาดไม้ตั้งไว้ หน้าหิ้งบูชาบ้าง หน้าสุสานบ้าง ในสวนบ้าง แล้วแต่ธรรมเนียมประจำตระกูลหรือท้องที่ ในบางภูมิภาค ของบูชาจะเป็นมะเขือม่วงหรือแตงกวาทั้งลูก ใช้ไม้เสียบลูกชิ้นเสียบเป็นขา ตั้งเป็นรูปร่างคล้ายวัวหรือม้าเพื่อใช้รับหรือส่งวิญญาณ บางพื้นที่สานกระจาดเป็นรูปเรือจัดของเซ่นไหว้บรรจุจนพูน วางทิ้งไว้ริมน้ำ แต่ที่ญี่ปุ่นไม่มีธรรมเนียมเผาเครื่องเซ่นไหว้ครับ และไม่มีเงินกระดาษ มีเพียงของกิน โดยจะวางทิ้งไว้เช่นนั้นครับ
ในวันก่อนวันจุดไฟส่งวิญญาณ ถือเป็นวันกลาง หรือ ชูนิจิ (中日 หากปีไหนวันบงสุดท้ายเป็นวันที่ 15 วันกลางก็คือวันที่ 14 ถ้าปีไหนวันบงสุดท้ายเป็นวันที่ 16 วันกลางก็คือวันที่ 15) ในวันนี้ ชาวญี่ปุ่นจะเดินทางไปกราบไหว้สุสานบรรพบุรุษกันครับ และในวันถัดมา ถือเป็นวันสุดท้ายของงานบง เป็นวันที่วิญญาณจะกลับสู่ภพภูมิที่ตนควรกลับไปอยู่ จะมีการจุดไฟส่งวิญญาณ โอคุริบิ (送り火) และมีการระบำงานบง หรือ บงโอโดริ (盆踊り) ซึ่งจะเต้นรำกันตั้งแต่ค่ำยันรุ่งสาง เพื่อเป็นการส่งวิญญาณอย่างรื่นเริง แต่เดิมจะเลือกจัดให้ตรงกับคืนเดือนเพ็ญ ปัจจุบันเลือกจัดในวันที่ 15 หรือ 16 แล้วแต่ท้องที่ ส่วนที่เกียวโตก็มีไฟส่งวิญญาณบนภูเขาทั้งห้า โกะซันโอคุริบิ (五山送り火) ที่ยิ่งใหญ่จนมีผู้คนหลั่งไหลไปชมกันอย่างล้นหลามครับ
บงแรก
นอกจากนี้ยังมีธรรมเนียมพิเศษสำหรับดวงวิญญาณที่เพิ่งมีงานบงเป็นครั้งแรก สำหรับผู้ที่เสียชีวิตเกิน 49 วันไปแล้ว งานบงแรกของบุคคลผู้นั้นจะเรียกกันว่า 初盆 (ฮัทสึบง หรือ อุยบง) หรือ 新盆 (ชินบง นีบง หรือ อะราบง) โดยจะมีการเตรียมโคมไฟกระดาษสีขาวประดับที่สวน ที่หิ้งบูชา หรือที่สุสาน เป็นการต้อนรับการมาเยือนโลกมนุษย์เป็นครั้งแรกหลังจากที่สิ้นชีพไปแล้วครับ
อะไรนะครับ อยากอ่านอะไรสยองๆ?
แน่นอนว่า บทความในชุดเรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญ จะไม่มีเรื่องสยองขวัญเลยก็กระไรอยู่ มีแน่นอนครับ แต่ก็ต้องมีเรื่องลี้ลับสลับกันไปบ้าง เรามีเรื่องราวรอให้นำมาเล่ากันได้ทุกสัปดาห์ แต่ถ้ามีเรื่องอะไรที่คุณสนใจอยากให้นำมาแปลมาเล่าสู่กันฟัง ขอเข้ามาได้เลยครับ เราจะไปขุดค้น แล้วนำกลับมาเล่าให้ละเอียดยิบเลยครับ วันนี้เรานำเรื่องลี้ลับมาฝากกันพอหอมปากหอมคอ คราวหน้า เรามาต่อกันกับเรื่องแปลกประหลาดพิสดารที่คนญี่ปุ่นเจอในช่วงโอบงกันครับ หึ หึ หึ
Comments