ฤดูร้อนเป็นช่วงที่ชาวญี่ปุ่นจะทำกิจกรรมต่างๆเพื่อคลายความร้อนกันครับ อย่างการกินอาหารริมแม่น้ำ กินหมี่เย็นที่ไหลตามกระบอกไม้ไผ่ “นากาชิโซเมน” (流しそうめん) แตงโม น้ำแข็งไส หรือแม้แต่ข้าวหน้าปลาไหลที่เชื่อกันว่าจะช่วยป้องกันลมแดดได้ และสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดก็คือ เรื่องเล่าหรือประสบการณ์สยองขวัญชวนหนาวขนลุกท่ามกลางความร้อนในหน้าร้อนนี่เองครับ! เอาล่ะ เรามาสำรวจประเภทของเรื่องราวต่างๆกันในตอนแรกดูดีกว่า!
ประเทศที่มีความเชื่อหลากหลาย
แม้ว่าญี่ปุ่นจะไม่ได้นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นเรื่องเป็นราว ที่นี่ก็ผสมเอาหลายๆอย่าง (ถ้าไม่ใช่ทุกอย่าง) เข้าด้วยกันหมดครับ เกิดมาก็ไปรับพรคุ้มกันที่ศาลเจ้า แต่งงานก็ไปที่โบสถ์คริสต์ ฌาปนกิจก็ใช้พิธีทางพุทธ นี่เป็นแค่ตัวอย่างส่วนหนึ่งของความเชื่อแบบญี่ปุ่นครับ แต่เรื่องโชคลาภก็ยังเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่เชื่อกันถ้วนหน้าครับ
ความเชื่อสายชินโตแต่เดิมนั้นก็ไม่ต่างจากความเชื่อการนับถือผีสางเทวดาและอิทธิพลจากศาสนาฮินดูที่เข้ามาในไทยครับ ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกที่มีวิญญาณสถิตอยู่ แม้แต่ในห้องน้ำ (มีเพลงชื่อ トイレの神様 หรือเทพในห้องน้ำ ความยาว 10 นาที ออกมาเมื่อไม่กี่ปีที่แล้วด้วย) ในบางกรณี วิญญาณบรรพบุรุษหรือองค์จักรพรรดิก็เชื่อกันว่ากลายเป็นเทพด้วยครับ อย่างศาลเจ้าเมจิก็บูชาจักรพรรดิเมจิ ส่วนที่ต่างจากไทยที่เรียกทุกอย่างนอกเหนือจากเทพและเทวดาว่า ผี ญี่ปุ่นมีคำเรียกหลากหลายแบ่งแยกประเภทของสิ่งที่สัมผัสจับต้องไม่ได้กันครับ มาดูกันเลยดีกว่า
1. คามิซามะ (神様 เทพ เทวา เทวดา)
ตำนานและเทพปกรณัมที่เกี่ยวกับต้นกำเนิดและการปกครองของประเทศญี่ปุ่นนั้น นับได้ว่าเป็นเรื่องเล่าอันเก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น และยังเป็นเรื่องที่หายากที่สุดเพราะเกิดขึ้นก่อนการประดิษฐ์ตัวอักษรบันทึกเรื่องราว จึงเล่ากันแบบปากต่อปากจนเนื้อหาผิดเพี้ยนไปบ้าง แม้ว่าเทวีสุริยา อะมาเทราสึ (天照大御神 อะมาเทราสึโอมิกามิ มหาเทวีผู้เบิกฟ้า) จะเป็นที่รู้จักกันมาก (กล่าวกันว่าจักรพรรดิญี่ปุ่นสืบเชื้อสายมาจากองค์อะมาเทราสึ) แต่องค์เทวีสุริยาก็เป็นบุตรีขององค์อิซานากิ (伊弉諾 เทวาผู้อันเชิญ)และองค์อิซานามิ (伊邪那美 เทวีผู้อันเชิญ) ซึ่งทั้งสองก็เป็นเทวา-เทวีรุ่นที่เจ็ดนับจากองค์ฮิโตริกามิ (独神 เทวาผู้สันโดษ เชื่อว่าเป็นเทพองค์แรกที่กำเนิดขึ้นในภพนี้) นอกจากนี้ คู่เทพสายลมและเทพสายฟ้าก็เป็นที่รู้จักกันอย่างมาก สามารถพบเห็นได้ตามภาพวาดประดับต่างๆหรือรูปปั้นเช่นที่คามินาริมง (雷門 ประตูอสุนี) ของวัดเซ็นโซจิที่อะซากุสะครับ
ปัจจุบัน ความเชื่อทางชินโตมีอีกชื่อหนึ่งว่า ยะโอโยโรสึโนะคามิ (八百万の神) หรือแปลตามตัวก็คือ ทวยเทพเทวา 8 ล้านองค์ บ้างก็เป็นที่รู้จักเพราะกรรมดี บ้างก็เพราะกรรมไม่ดี เรื่องเล่าพื้นบ้านบางเรื่องก็เรียกปรากฏการณ์การหายตัวอย่างลึกลับของคนว่า คามิคาคุชิ (神隠し เทวาพาซ่อน) ครับ อย่างเรื่อง Spirited Away ก็ใช้คำนี้ในชื่อภาษาญี่ปุ่น (千と千尋の神隠し)
เรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญ ตอนที่ 7: ตำนานการครองรักขององค์อิซานากิและองค์อิซานามิ
เรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญ ตอนที่ 8: ตำนานการพลัดพรากขององค์อิซานากิและองค์อิซานามิ
2. โยไค(妖怪 ภูติพราย)
ไม่กี่ปีมานี้ โยไคได้รับความสนใจและความรักใคร่เป็นอย่างมากจากอิทธิพลของการ์ตูนอนิเมชั่น “โยไควอทช์” (妖怪ウォッチ) แต่เดิมนั้น เชื่อกันว่าโยไคเป็นตัวตนที่มีพลังความสามารถเหนือความเข้าใจของคนธรรมดา เป็นต้นเหตุของปรากฏการณ์แปลกประหลาดพิสดารที่อธิบายไม่ได้ ความสามารถที่พบโดยมากในเหล่าโยไคก็คือการจำแลงกาย จึงได้ชื่อฉายาใหม่ขึ้นมาว่า โอบาเกะ (お化け สิ่งแปลงกาย) หรือ บาเกะโมโน (化け物 สิ่งจำแลง)
โยไคหรือภูติพรายที่มีจิตใจดีก็ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเทพในบางท้องที่ เช่น กัปปะ (河童 พรายน้ำ) หรือ อินุกามิ (犬神 ภูติสุนัขรูปร่างคล้ายสิงห์) บ้างก็เป็นผู้รับใช้ของเทพ เช่น ไรจู (雷獣 สมิงอสุนี) ส่วนโยไคจิตใจโหดเหี้ยมก็ถูกเรียกขานด้วยชื่อเรียกอื่น เช่น มะโมโน (魔物 อสุรกาย) หรือ เกะโมโน (獣 สัตว์สมิง) บ้างก็ใช้ชีวิตเป็นคนธรรมดาเหมือนผีดิบ เช่น ฮิโตบัน (飛頭蛮 เผ่าหัวลอย)
เรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญ ตอนที่ 9: ครึ่งผีครึ่งคน โรคุโรคุบิ (ろくろ首 ผีคอยาว)
3. ยูเร (幽霊 วิญญาณ)
ปรากฏการณ์ลี้ลับทุกอย่างไม่ได้เกิดจากน้ำมือของภูติพรายหรือทวยเทพเท่านั้น ในบางกรณีก็เกิดจากฝีมือของวิญญาณมนุษย์ครับ เรื่องเล่าสยองขวัญในนิทานพื้นบ้าน ตำนวนร่วมสมัย เรื่องเล่ารอบกองไฟ หรือแม้แต่รูปถ่ายที่ผิดปกติหลายกรณีก็เกิดจากวิญญาณมนุษย์นี้เอง บางกรณีก็เกิดจาก อิคิเรียว (生霊 วิญญาณคนเป็น)
เรื่องเล่าที่เป็นที่รู้จัก
เรื่องสยองชวนขนลุกเสียวสันหลังคลายร้อนในหน้าร้อน
เรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญ ตอนที่ 10: เรื่องเล่าของโอคิคุแห่งคฤหาสน์จาน ซารายาชิกิ ภาคแรก
เรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญ ตอนที่ 11: เรื่องเล่าของโอคิคุแห่งคฤหาสน์จาน ซารายาชิกิ ภาคจบ
รายงาน: เรื่องแปลกในช่วงโอบง
โอบง (お盆) มักใช้เรียกช่วงสิ้นสุด”ช่วงเยี่ยม”ที่วิญญาณจากภพอื่นจะกลับสู่ภพภูมิของตน แต่จริงๆก็ใช้เรียกตัว”ช่วงเยี่ยม” ด้วยครับ โดยช่วงเวลานี้เริ่มต้นจากงานเทศกาลทานาบาตะ (七夕) ซึ่งเป็นช่วงที่เขตกั้นระหว่างภพอ่อนกำลังลง เปิดให้วิญญาณเดินทางข้ามภพได้ครับ (ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดีก็คือ ชายเลี้ยงวัว ฮิโกะโบชิ 彦星 กับสาวทอผ้า โอริฮิเมะ 織姫 ที่ข้ามทางช้างเผือกมาพบกัน)
ลูกไฟวิญญาณ ฮิโตะดามะ (人魂) ก็เป็นที่พบเห็นกันบ่อยในช่วงโอบงนี้ นี่แค่วิญญาณที่ไม่ไปผุดไปเกิดก็มีเรื่องสยองให้เยอะแล้ว ช่วงนี้ยังมีวิญญาณบรรพบุรุษที่กลับมาเยี่ยมลูกหลานเพิ่มเข้ามาอีก ทำเอาเรื่องผีมีอะไรแปลกใหม่มากขึ้นกว่าเดิมเป็นเท่าตัวเลยครับ! ถ้าใครอยากเจอประสบการณ์เสียวสันหลังวาบ มาลองทดสอบความกล้าดูในช่วงโอบงได้เลยครับ!
เรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญ ตอนที่ 2: โอบง ต้นกำเนิด และธรรมเนียมปฏิบัติ
เรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญ ตอนที่ 3: เหตุการณ์ประหลาดในช่วงโอบง
เรื่องเล่าพื้นบ้าน: การแก้แค้นของนางโออิวะ
เฮี้ยนจนต้องทำศาลเพียงตา ศาลเจ้าโออิวะอินาริทามิยะจิงจะ (於岩稲荷田宮神社) เพื่อให้วิญญาณสงบ เรื่องราวของแม่นางโออิวะเป็นเรื่องเศร้าแต่ก็สาสมในคราวเดียวกันเนื่องจากนางกลับมาล้างแค้นสามีเจ้าชู้ที่ฆ่านางทิ้งอย่างโหดเหี้ยมอำมหิต
เรื่องเล่าพื้นบ้าน: การสังหารหมู่ที่ออยรันบุจิ
ร่ำลือกันว่าเป็นจุดที่เฮี้ยนที่สุดในญี่ปุ่น เรื่องราวออยรันบุจิ (花魁淵 หุบเหวโสเภณี) เริ่มขึ้นในสมัยสงครามแว่นแคว้น ยุคเซ็งโกคุ เมื่อตระกูลทาเกดะจ้างเหล่าออยรัน (花魁 โสเภณีญี่ปุ่นที่มีความรู้ความสามารถในการแสดงต่างๆ) 55 นางมาแสดงระบำบนเวทีที่แขวนเหนือน้ำตกสูง แต่ด้วยความกลัวว่าความลับของตระกูลที่มีทองซ่อนเป็นภูเขาจะร่ำไหล จึงสั่งให้ตัดเชือกขึงเวที ปล่อยโสเภณีทั้ง 55 รายลงสู่หุบเหวน้ำลึกข้างล่างระหว่างที่ยังระบำอยู่ นับแต่นั้นมา ไม่มีชายใดสามารถเข้าใกล้ร่องน้ำลึกนี้ได้ ส่วนผู้หญิงที่เข้าไปใกล้ก็มีอาการแปลกๆ เช่นอยู่ๆก็รู้สึกเศร้าโดยไม่มีสาเหตุ บ้างก็ร่ำไห้สะอึกสะอื้น ร้องโหยหวนครวญครางโดยไม่มีเหตุผล
ตำนวนร่วมสมัย: เขตคุ้มกัน ตราพิทักษ์ห้าแฉกในโตเกียว
จากปากคำของผู้ที่ชอบเรื่องแปลก เมืองเอโดะถูกออกแบบโดยมีเขตุคามคุ้มกันเป็นตราห้าแฉกสองชั้น วางสถานที่สำคัญเช่นวัดวาอารามตามจุดสำคัญทั้ง 10 แห่งรอบตัวเมือง แต่ละที่ก็มีความพิเศษ เป็นแหล่งพลังศักดิ์สิทธิ์ พาวเวอร์สป็อตอีกด้วยครับ คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่รู้เรื่องนี้แม้ไม่ได้เรียนในโรงเรียน บ้างก็ว่าที่เกียวโต-โอซาก้าก็มีตราห้าแฉกเหมือนกัน...
ตำนานร่วมสมัย: ผีจริงอยู่ในเหล่าผีปลอม
บ้านผีสิง โอบาเกะยะชิกิ (化け屋敷) บางที่ก็เป็นที่รู้กันว่า นำเอาสถานที่เฮี้ยนๆเช่นโรงพยาบาลร้างหรือโรงแรมร้างมาปรับปรุงตกแต่งใหม่ เพราะการปรับปรุงใหม่และความนิยมของเครื่องเล่นนี้เอง ทำให้บางครั้งคนที่เข้าชมอาจจะไม่สังเกตว่ามีผีจริงอยู่ในหมู่คนที่แต่งตัวเป็นผี อย่างไรก็ดี มีรายงานว่าบางคนก็รู้สึกขนลุก ได้ยินเสียงกระซิบจากที่ที่ไม่มีใคร หรือหนาววูบขึ้นมาในบางจุด ใครมีสัมผัสที่ 6 ลองมาพิสูจน์ดูได้ครับ!
มาขุดค้นกันให้ลึกกว่านี้!
สนใจขึ้นมามั้ยครับ? นี้เป็นเพียงแค่ตอนแรกในเรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญเท่านั้น ตอนหน้า เราจะพาไปรู้ลึกกับแต่ละเรื่องราว ทั้งเก่าและใหม่ ให้รู้ทุกรายละเอียดเลยครับ ใครที่สนใจ ถามหรือแนะนำเรื่องราวที่อยากรู้มาได้ครับ เราจะเข้าไป เจาะ ให้สุดขั้ว แล้วกลับมา ราย งาน ให้ ทราบ ครับ หึ! หึ! หึ! หึ!
Comments