พิธีชงชาอันเลื่องชื่อของญี่ปุ่นนั้นเป็นที่รู้จักกันในญี่ปุ่นในชื่อ ชาโนะยุ (茶の湯 / chanoyu) ซาโด (茶道 / sado) หรือ ชาโด (茶道 / chado) และมีประวัติยาวนานกว่า 1,000 ปี ซึ่งถ้าคุณโชคดีมีโอกาสไปสัมผัสประสบการณ์สักครั้งระหว่างที่อยู่ในญี่ปุ่น ก็ควรรู้ไว้ว่าคุณกำลังได้ไปพบเห็นสิ่งที่ได้ทำให้ผู้เข้าร่วมมีความสุขมานานนับหลายศตวรรษแล้วค่ะ
พิธีชงชาของญี่ปุ่น
ในสมัยก่อน มีเพียงผู้ชายเท่านั้นที่เข้าร่วมในพิธีชงชา แต่ในปัจจุบันทุกคนสามารถเข้าร่วมได้อย่างเสรี และถ้าคุณมีโอกาสได้ไปร่วมชมพิธีด้วยตัวเองแล้วละก็ นี่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรพลาดค่ะ ถึงกระนั้น บางคนก็มีความกังวลใจเกี่ยวกับการเข้าร่วมพิธีชงชา เพราะเป็นที่รู้จักกันว่ามีความเป็นทางการอย่างมากและมีกฏเกณฑ์มากมายค่ะ
พิธีชงชาของญี่ปุ่นคืออะไร? มีวิธีการดำเนินการอย่างไร และต้องทำอะไรจึงจะไปเข้าร่วมได้?
เราจะมาบอกทุกสิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับพิธีชงชาญี่ปุ่นกันค่ะ...
ที่ไหน?
พิธีชงชาญี่ปุ่นมักจะจัดขึ้นในห้องชาพิเศษภายในโรงชาแบบดั้งเดิม คุณสามารถจินตนาการล่วงหน้าได้เลยว่าโรงน้ำชาจะหรูหราและได้รับการออกแบบอย่างสวยงาม และหลายแห่งมีพื้นที่สวนอยู่ติดกันพร้อมดอกไม้และการเรียงหินที่สวยงาม ในช่วงฤดูร้อนที่ญี่ปุ่น พิธีชงชาสามารถทำกลางแจ้งได้โดยจัดในสวน ในทางทฤษฎีสามารถทำพิธีชงชาได้ทุกที่ แต่เกือบทุกแห่งก็จะมีห้องที่มีเสื่อทาทามิปูบนพื้นเพื่อให้ทุกคนสามารถนั่งเพื่อเพลิดเพลินกับประสบการณ์พิธีชงชาได้ค่ะ
ทำไม?
พิธีชงชาของญี่ปุ่นมีวิวัฒนาการมาพร้อมกับกระแสความนิยมของพระพุทธศาสนาสายเซน (ฌาน) และถูกมองว่าเป็นวิธีการผ่อนคลายและการเชื่อมโยงสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ด้วยเหตุนี้ พิธีชงชาหรือที่รู้จักกันในนาม วิถีแห่งชา (คำแปลตามตัวอักษรของ 茶道 / The Way of the Tea) จึงยังคงเป็นการแสวงหาทางจิตวิญญาณอีกด้วยค่ะ หลายคนแสดงพิธีกับแขกผู้เข้าร่วมเสมือนเป็นการฝึกสมาธิ และเป็นวิธีที่จะมาสนุกกับกิจกรรมร่วมกัน เหมือนกลุ่มที่เล่นโยคะร่วมกันหรืออื่น ๆ ค่ะ
อะไร?
มีพิธีชงชาหลายประเภทที่ใช้ชาประเภทต่าง ๆ แต่โดยทั่วไปแล้วสิ่งที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือชาเขียวมัทฉะหรือผงชาเขียวป่นนั่นเองค่ะ
ชาญี่ปุ่น
ชาเขียวมัทฉะเป็นชาชนิดหนึ่งที่ปลูกในที่ร่มซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงยังคงรักษาสีเขียวที่งดงามและโดดเด่นไว้ได้ ชาจะแห้งหลังจากเก็บเกี่ยวและชิ้นส่วนที่แข็งเช่นก้านใบและลายใบจะถูกคัดแยกออกก่อนที่ใบจะถูกนำไปบดเป็นผงละเอียดค่ะ
ถ้วยชา
แขกหลายคนในพิธีชงชาอาจแปลกใจเมื่อรู้ว่า ถ้วยชาเองก็เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการในพิธี และรูปแบบของถ้วยมักจะถูกกำหนดตามช่วงเวลาที่จัดพิธี แทนที่จะเป็นแก้วน้ำหรือแก้วกาแฟ พิธีชงชาใช้ถ้วยที่เรียกว่า ชาวัง (茶碗 / chawan) เพื่อให้แขกที่มาร่วมดื่ม แต่ในช่วงฤดูร้อนคุณคงพอจะเดาได้ว่าจะเสิร์ฟด้วยถ้วยขนาดเล็กที่ก้นตื้นกว่า ซึ่งเหตุผลก็คือถ้วยชาก้นตื้นจะช่วยให้ชาจะเย็นเร็วขึ้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการท่ามกลางอากาศร้อนนั่นเองค่ะ! ส่วนการใช้ถ้วยชาแทนที่จะเป็นแก้วกาแฟหรือแก้วน้ำนั้นก็เพราะว่าเป็นส่วนหนึ่งของพิธีชงชาซึ่งต้องมีการนวดคนผงชา ดังนั้นจึงต้องการพื้นที่กว้างที่ถ้วยชามีค่ะ
อุปกรณ์
มีเครื่องมือบางชิ้นที่ถือว่าจำเป็นสำหรับพิธีชงชาค่ะ หนึ่งในนั้นก็คือชาชากุ (茶杓 / chashaku) ซึ่งเป็นไม้ตักผงชา และอีกชิ้นก็คือไม้ตีนวดคนผงชาที่มาด้วยกันค่ะ
เครื่องเคียง
แม้ว่าจะเรียกกันว่าพิธีชงชา แต่คุณก็คงพอจะเดาได้ว่าคงจะมีของกินให้บริการประกอบด้วย ซึ่งมักจะมาในรูปของของว่างค่ะ ชาเขียวมัทฉะเป็นที่รู้จักในเรื่องรสขม และด้วยเหตุนี้ จึงมักจะมีการเสิร์ฟวากาชิ (和菓子 / wagashi) ซึ่งเป็นขนมญี่ปุ่นเพื่อให้รสหวานไปชดเชยรสชาติซึ่งกันและกัน มีขนมหลากหลายชนิดที่สามารถนำมาเสิร์ฟในพิธีได้ แต่ส่วนใหญ๋คุณมักจะพบกับขนมจำพวกแป้งปั้นหวานขนาดเล็ก ๆ (干菓子 / Hikashi) ขนมหวานจากถั่วแดง (餡 / An) หรือแพนเค้กญี่ปุ่นค่ะ
วิถีแห่งชา
คำเชิญอย่างเป็นทางการ
เมื่อคุณได้รับเชิญไปเข้าร่วมพิธีชงชาญี่ปุ่น กระบวนการก็มักจะเริ่มต้นด้วยคำเชิญอย่างเป็นทางการจากเจ้าภาพผู้จัดงานล่วงหน้าก่อนวันจริง ก่อนที่คุณจะไปร่วมพิธีเป็นเรื่องปกติที่คุณจะต้องล้างมือเพื่อชำระล้างตัวเองและชำระเอาความคิดด้านลบหรือความคิดที่วุ่นวายออกจากจิตใจของคุณ ความสนใจของคุณควรอยู่ที่ตัวพิธีเท่านั้นค่ะ
ตัวพิธีการ
เจ้าภาพงานพิธีชงชาจะนำเครื่องมือที่จำเป็นออกมาและจะเริ่มทำความสะอาดให้เห็นค่ะ นี่คือการเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของพิธีการ และมีวิธีที่เฉพาะเจาะจงและลำดับที่ชัดเจนในการจัดเตรียมเครื่องมือค่ะ ซึ่งทุกกระบวนการก็ทำอย่างเงียบและสงบเพื่อนำทุกคนมารวมกันและชำระล้างจิตใจของทุกคนให้พร้อมสำหรับการร่วมพิธี
เมื่อทำความสะอาดเครื่องมือเรียบร้อยแล้วชาเขียวมัทฉะจะถูกเตรียม ผงชาจะถูกตักลงในถ้วยชา จากนั้นจะมีการเติมน้ำร้อนลงไป ในที่สุดผงจะถูกนำคนผสมกับน้ำเพื่อนวดให้เป็นก้อนชาจากนั้นจึงเติมน้ำเพิ่มเพื่อให้ได้ชาที่มีลักษณะถูกต้องตามธรรมเนียม
จากนั้นเจ้าภาพจะนำถ้วยชาไปบริการแขกผู้ร่วมงาน และแขกจะตอบรับด้วยการส่งชามของตนต่อ แขกจะจิบชาที่เขาได้รับ (โดยจะไม่จิบชาจากด้านหน้าถ้วยชา) จากนั้นเช็ดขอบถ้วยแล้วส่งชามต่อไปให้แขกคนอื่น โดยจะทำซ้ำจนกว่าแขกทุกคนจะได้จิบชาจากชามนั้น ซึ่งจะถูกส่งกลับไปยังเจ้าภาพเพื่อเป็นการบอกว่า "ขอบคุณ" (ปกติจะกล่าวว่า โอเทะมาเอะโจไดอิตาชิมาสุ お点前頂戴いたします)
จากนั้นเจ้าภาพจะทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ทั้งหมดที่ใช้ในพิธี รวมถึงไม้ตัก ไม้ตีนวดผงชา และถ้วยชา และนี่เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการพิธีอย่างหนึ่ง แม้ว่าจะดูไม่เหมือนก็ตาม เจ้าภาพจะล้างเครื่องมือทั้งหมดที่ใช้และแขกต้องคอยดูอุปกรณ์ทุกชิ้นเพื่อดูว่ากระบวนการนี้ทำออกมาได้ดีเพียงใด
เมื่อขั้นตอนนี้เสร็จสมบูรณ์ พิธีชงชาจะถือว่าเสร็จสมบูรณ์ และแขกสามารถแยกย้ายออกจากงานได้ค่ะ หากจะมีบริการอาหารว่างหรืออาหารด้วยก็มักจะจัดขึ้นขึ้นหลังจากพิธีชงชาสิ้นสุดลงแล้วค่ะ
Comments