ญี่ปุ่นมีทั้งหมด 47 จังหวัด
เช่นเดียวกับที่ภูมิทัศน์เมือง กิจกรรม และของอร่อยก็แตกต่างกันไปตามภูมิภาค ลักษณะจำเพาะของคนในท้องถิ่นก็แตกต่างกันไป ในซีรี่ส์นี้ เราจะเจาะลึกถึงสถานการณ์ในท้องถิ่นของแต่ละจังหวัดโดยแนะนำเสน่ห์ของแต่ละจังหวัดและสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาให้ทราบกันค่ะ
ครั้งนี้ เราจะโฟกัสไปที่จังหวัดคากาว่าซึ่งเป็นพื้นที่ยอดนิยมในภูมิภาคชิโกกุค่ะ คากาว่าเป็นที่รู้จักเพราะมีทิวทัศน์ที่สวยงามของสะพานเซโตะโอฮาชิ และเกาะนาโอชิมะที่มีงานศิลปะนานาชาติเซโตะอุจิ รวมถึงเกาะที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น เกาะโชโดชิมะ มาเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับคากาว่าซึ่งยังเป็นที่นิยมสำหรับอาหารท้องถิ่นของจังหวัดอย่างซานุกิอุด้งกันค่ะ!
ชาวคากาว่าเป็นคนเจ้าเล่ห์!? มาค้นหาลักษณะเฉพาะของชาวจังหวัดซึ่งเกิดจากการที่คากาว่ามีพื้นที่น้อยที่สุดและความหนาแน่นของประชากรมากที่สุดในญี่ปุ่นกัน!
ภาษาถิ่นของจังหวัดคากาว่านั้น เรียกว่าสำเนียงซานุกิค่ะ "ซานุกิ" เป็นชื่อเดิมของคากาว่า และ "ซานุกิ" ในซานุกิอุด้งก็มาจากชื่อดินแดนนี้เช่นกันค่ะ
สำเนียงท้องถิ่นซานุกิมีคำศัพท์และเสียงที่ไม่ซ้ำกับที่อื่นๆ โดยเฉพาะคำว่า "เฮราโคอิ" (へらこい / herakoi) ซึ่งเป็นคำที่ใช้แทนนิสัยชาวจังหวัดคากาว่าค่ะ คำนี้หมายถึง "ฉลาด มีเล่ห์เหลี่ยม มีด้านมืด" ซึ่งอาจจะดูเป็นแง่ลบค่ะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีชาวจังหวัดคากาว่าที่หัวคิดดีมีเหตุมีผลอย่างดีอยู่มากค่ะ
แม้ว่าภาพลักษณ์ของภูมิภาคชิโกกุจะดูอบอุ่นและเป็นมิตรเนื่องจากมีภูมิอากาศที่อบอุ่นที่อยู่ติดทะเลในเซโตะ แต่ทำไมถึงมีคนที่ "เฮราโคอิ" จำนวนมากล่ะ?
มีทฤษฎีหลายอย่าง แต่มีความเชื่อว่าเหตุผลนั้นมาจากการที่คากาว่ามีพื้นที่จังหวัดน้อยที่สุดในญี่ปุ่นและมีประชากรมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ มีคนอาศัยอยู่ในพื้นที่เล็กๆ และความหนาแน่นของประชากรสูง ทำให้จำเป็นต้องร่วมมือกันและมีความชำนาญในการจัดการสิ่งต่างๆในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจทำให้เกิดลักษณะ "ความเจ้าเล่ห์" ขึ้นมาค่ะ นอกจากนี้ ในฤดูร้อนมีน้ำฝนตกน้อยและไม่มีแม่น้ำขนาดใหญ่ ทำให้ชาวคากาว่าต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนน้ำเรื้อรัง จึงต้องทำเรื่องต่างๆ เพื่อความอยู่รอด เช่น การสร้างที่เก็บน้ำ (มีที่เก็บน้ำที่ลงทะเบียนไว้ในจังหวัดมากถึง 14,600 แห่ง!) ซึ่งอาจทำให้ชาวคากาว่ามีการเตรียมความพร้อมอย่างดีค่ะ
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม "ความหัวดี" และ "ความพร้อมตลอดเวลา" นี้สะท้อนถึงสถานการณ์ทางการเงินของผู้อยู่อาศัยอย่างชัดเจน มีคำว่า "ซานุกิโนะคิดาโอเระ" (讃岐の着倒れ / Sanuki no Ki-daore) ซึ่งหมายถึงการโชว์ออฟ แต่ในความเป็นจริง ผู้คนในคากาว่ามีความเชี่ยวชาญเรื่องการออมเงินและมีจำนวนเงินออมที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้ประจำปีของพวกเขา โดยเฉพาะในการจัดอันดับค่าสัดส่วนโดย Engel ประจำปี 2021 โดยจังหวัดคากาว่าอยู่ในอันดับที่ 38 จาก 47 จังหวัด และมีแนวโน้มที่จะประหยัดค่าอาหารมากขึ้นจากเดิมที่เคยอยู่ในอันดับรั้งท้ายค่ะ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชาวคากาว่ามักจะประหยัดค่าอาหาร แต่ก็รักในเรื่องการศึกษาและมักจะใช้เงินในการศึกษาของลูกๆ อย่างมาก จนถึงขั้นที่จังหวัดได้จัดตั้ง "พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการติดเกมและอินเทอร์เน็ต" เนื่องจากอยากให้เด็กๆ เน้นเรื่องการศึกษากันเลยค่ะ
จังหวัดคากาว่ามักถูกเรียกว่า "ญี่ปุ่นขนาดย่อม" เนื่องจากมีพื้นที่น้อยและมีความหนาแน่นของประชากรสูงค่ะ การทราบลักษณะของชาวคากาว่าก็อาจทำให้คุณเข้าใจคนญี่ปุ่นได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นนะคะ
※ "พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการติดเกมและอินเทอร์เน็ต จังหวัดคากาว่า" เป็นกฎระเบียบระดับจังหวัดที่กำหนดว่าเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีควรจำกัดการใช้เกมคอมพิวเตอร์ไม่เกิน 60 นาทีต่อวัน (90 นาทีในวันหยุด)
โซบะและโซเม็งก็เยี่ยมไม่แพ้กัน!? เรื่องเกี่ยวกับเส้นหมี่ในคากาว่าที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก
จังหวัดคากาว่ามีชื่อเสียงว่าเป็น "จังหวัดอุด้ง" ค่ะ ทั่วทั้งจังหวัดมีร้านอาหารแบบ "self-udon" ที่คุณสามารถต้มและทำอุด้งของคุณเอง แม้กระทั่งในโรงอาหารของโรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัยก็มีพื้นที่ที่นักเรียนสามารถต้มอุด้งของตัวเอง นี่ก็แสดงให้เห็นว่าอุด้งซานุกิได้กลายเป็นอาหารหลักสำหรับชาวจังหวัดค่ะ อย่างไรก็ตาม นอกจากอุด้งแล้ว โซบะและโซเม็งเองก็เป็นอาหารพื้นเมืองที่เด่นเช่นกัน แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางค่ะ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โซบะ มีชื่อเสียงในนาม "ซานุกิโซบะ" และปริมาณการบริโภคของชาวจังหวัดก็เทียบเท่ากับอุด้งเลยค่ะ ตามผลการสำรวจครัวเรือน (สำนักสถิติ กระทรวงภายในและการสื่อสาร) ที่ดำเนินการในปี 2022 เมื่อดูจำนวนเงินที่ใช้จ่ายต่อปี (การซื้อ) ของ "อุด้ง/โซบะสด" ต่อครัวเรือน (ครัวเรือนที่มีสองคนขึ้นไป) ซึ่งอำเภอทาคามัตสึได้อันดับหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นด้วยจำนวนเงิน 5,764 เยน อำเภอทาคามัตสึยังสร้างสถิติสูงถึง 2.4 เท่าของค่าเฉลี่ยของประเทศ (5,911 เยน) ด้วยจำนวนเงินที่ใช้จ่ายต่อปี 13,963 เยนต่อครัวเรือนสำหรับ "โซบะ/อุด้งญี่ปุ่น" (การทานที่ร้านนอกบ้าน) ค่ะ
ลักษณะเฉพาะของซานุกิโซบะคือมีเนื้อแน่น คล้ายกับซานุกิอุด้ง และมักจะเสิร์ฟในรูปแบบ "คาเคะโซบะ" พร้อมซุปร้อนๆ ค่ะ คุณอาจจะนึกถึง "โซบะญี่ปุ่น" ที่มีเส้นบางๆ ที่มีเนื้อนุ่ม แต่ในคากาว่า ร้านอุด้งจำนวนมากยังเสิร์ฟโซบะด้วย ชาวคากาว่าทำโซบะในลักษณะเดียวกับการทำอุด้ง ดังนั้นสัดส่วนของแป้งข้าวสาลีจึงสูงกว่าปกติ และโซบะที่เส้นหนาเนื้อแน่นก็เป็นกระแสหลักของจังหวัดค่ะ
นอกจากนี้ ในฤดูหนาวที่คากาว่า ก็เป็นเรื่องปกติที่จะรับประทาน "ชิปโปคุอุด้ง" ซึ่งเต็มไปด้วยผัก เต้าหู้ทอด และส่วนผสมอื่นๆ และราดด้วยซุปอุ่นๆ ค่ะ แต่โซบะเองก็มักจะรับประทานในสไตล์คาเคโซบะ อย่างเช่นชิปโปคุโซบะค่ะ
โชโดชิมะเป็นที่รู้จักในการทำเส้นโซเม็งที่ถูกยืดด้วยมือ และโชโดชิมะโซเม็งก็คงตำแหน่งเป็นหนึ่งในสามพื้นที่ผลิตโซเม็งที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นค่ะ
ถ้าคุณเคยทานอุด้วในคากาว่ามาก่อน ลองไปเยี่ยมชมคากาว่าเพื่อรับประทานโซบะหรือโซเม็งดูบ้างก็ดีนะคะ
โมโมทาโร่, อุราชิม่าทาโร่, และแม้กระทั่งเจ้าหญิงคากุยะ? จังหวัดคากาว่าเป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับนิทานมากมาย
จริงๆ แล้วคากาว่าเป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับนิทานมากมายค่ะ ในส่วนนี้ เราจะแนะนำนิทานที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดคากาว่า และสถานที่ที่เกี่ยวข้องค่ะ
เกาะโอนิงาชิมะและศาลเจ้าโมโมทาโร่! คากาว่าคือบ้านเกิดของตำนานโมโมทาโร่จริงหรือ!?
เริ่มแรก มีนิทานญี่ปุ่นชั้นนำที่ชื่อว่า "โมโมทาโร่" ที่ปราบปีศาจด้วยตัวเขาเองกับสัตว์รับใช้อีกสามตัว มีสถานที่ที่เกี่ยวข้องที่กระจายอยู่ทั่วจังหวัด และเกาะเมงิจิมะที่มี "ถ้ำใหญ่โอนิงาชิมะ" ที่สร้างขึ้นประมาณ 100 ปีก่อนคริสต์ศักราช ยังเป็นที่รู้จักในฐานะเกาะโอนิงาชิมะที่ปรากฏในนิทานด้วยค่ะ ในเมืองคามิโนะมาจิ อำเภอทาคามัตสึ ก็ยังมีศาลเจ้าคุมาโนะก็องเก็นโมโมทาโร่ที่มีการบูชาโมโมทาโร่และสัตว์รับใช้ด้วยค่ะ มีหลายภูมิภาคทั่วประเทศที่อ้างว่ามีความเกี่ยวข้องกับโมโมทาโร่ แต่ศาลเจ้านี้เป็นศาลเจ้าเดียวที่มีหลุมฝังศพของสัตว์รับใช้ของโมโมทาโร่ค่ะ
นอกจากนี้ยังมีข้อเท็จจริงที่ว่าชื่อสถานที่นั้นตรงกับในนิทาน เช่น "ชิบายามะ" ที่ชายชราผู้เป็นพ่อบุญธรรมของโมโมทาโร่ได้เคยตัดหญ้า "คิจิกายะ" ที่เป็นที่อยู่ของนกยูงที่เป็นสัตว์รับใช้ของโมโมทาโร่ และ "คัตสึกายามะ" ที่มีการโห่ร้องฉลองชัยเกิดขึ้นหลังจากปราบปีศาจเสร็จสิ้น จึงอาจกล่าวได้ว่าคากาว่าคือบ้านเกิดของตำนานโมโมทาโร่ค่ะ
คาโมโนโคชิในคาบสมุทรโชไน ที่อุราชิม่าทาโร่เคยช่วยเต่า และมารุยามะจิมะ สถานที่ชมพระอาทิตย์ตกดิน
ในคาบสมุทรโชไนซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอมิโทโยะ จังหวัดคากาว่า มีชื่อสถานที่และสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับนิทาน "อุราชิม่าทาโร่" ซึ่งมีธีมเกี่ยวกับทะเลค่ะ ในเบื้องต้นคำทั่วไปสำหรับคาบสมุทรโชไน เกาะอะวาชิมะ และเกาะชิชิจิมะ เคยถูกเรียกว่า "อุราชิมะ" (เกาะด้านหลัง) ค่ะ นอกจากนี้ยังมีชายหาดที่เชื่อว่าอุราชิม่าทาโร่ได้ช่วยเต่าที่ถูกเด็กๆ แกล้ง ซึ่งก็คือคาโมโนโคชิในเมืองทาคุมะ อำเภอมิโทโยะค่ะ
นอกจากนี้ ห่างจากชายฝั่งของคาโมโนโคชิออกไปก็ยังมีเกาะมารุยามะซึ่งคุณสามารถเดินไปได้ในช่วงน้ำลงค่ะ แม้ในปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นเกาะที่มีชื่อเสียงเนื่องจากมีทิวทัศน์ที่สวยงามในช่วงค่ำคืน มักถูกเรียกว่า "Angel Road" จึงไม่ยากที่จะจินตนาการว่าในอดีตมันคงเป็นเหมือน "ปราสาทริวกู" สำหรับคนทั่วไปในสมัยนั้นค่ะ
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีทฤษฎีที่ว่าชายชราใน "ตำนานคนตัดไผ่" ที่เจ้าหญิงคากุยะเป็นตัวเอกนั้น จริงๆ แล้วมาจากซานุกิกันค่ะ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากชื่อของชายชราก็คือ "ซานุกิ โนะ มิยัตสึโกะ" (讃岐造) ด้วยเหตุนี้ "Kaguya-Hime Carnival Nagao" จึงถูกจัดขึ้นในเขตนางาโอะของอำเภอซานุกิจนถึงปี 2018 ค่ะ ลองมาสัมผัสนิทานญี่ปุ่นที่แสนลึกลับกันในคากาว่าดูก็น่าสนใจนะคะ
Comments