【รวมรวม 47 จังหวัดของญี่ปุ่น: มิเอะ】ที่ตั้งของศาลเจ้าอิเสะจิงกู! จังหวัดที่ยังมีจิตวิญญาณของการต้อนรับผู้มาสักการะเยี่ยมชมศาลเจ้าอิเสะอยู่จนถึงปัจจุบัน

  • 5 กุมภาพันธ์ 2024
  • 25 กันยายน 2023
  • Asami Koga

【รวมรวม 47 จังหวัดของญี่ปุ่น: มิเอะ】ที่ตั้งของศาลเจ้าอิเสะจิงกู! จังหวัดที่ยังมีจิตวิญญาณของการต้อนรับผู้มาสักการะเยี่ยมชมศาลเจ้าอิเสะอยู่จนถึงปัจจุบัน

ญี่ปุ่นมีทั้งหมด 47 จังหวัด

เช่นเดียวกับที่ภูมิทัศน์เมือง กิจกรรม และของอร่อยก็แตกต่างกันไปตามภูมิภาค ลักษณะจำเพาะของคนในท้องถิ่นก็แตกต่างกันไป ในซีรี่ส์นี้ เราจะเจาะลึกถึงสถานการณ์ในท้องถิ่นของแต่ละจังหวัดโดยแนะนำเสน่ห์ของแต่ละจังหวัดและสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาให้ทราบกันค่ะ

ครั้งนี้เราจะโฟกัสไปกันที่จังหวัดมิเอะค่ะ มาเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับมิเอะ ที่ซึ่งเป็นบ้านเกิดของทิวทัศน์ที่น่าตื่นตาตื่นใจของอิเสะชิมะที่ด้านตะวันออกของคาบสมุทรคิอิ และศาลเจ้าใหญ่อิเสะจิงกูกันนะคะ!

ต้นกำเนิดมาจากการเดินทางเพื่อแสดงความขอบคุณ⁉ จังหวัดแห่งขนมโมจิที่ไม่ได้มีแค่อาคาฟุกุ!

©สมาคมการท่องเที่ยวอำเภออิเสะ

ศาลเจ้าอิเสะจิงกูในจังหวัดมิเอะ ที่รู้จักในชื่ออื่น ๆ เช่น "โออิเสะซัง" และ "ไดจิงกูซัง" มีประวัติความเป็นมากว่า 2000 ปีค่ะ

ศาลเจ้านี้บูชามหาเทวีอามาเทราสุโอมิคามิ เทพศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับความเคารพมากที่สุดในบันทึกประวัติศาสตร์ที่มีมายาวนานที่สุดของญี่ปุ่น อันได้จารึกโบราณ "โคะจิกิ" และพงศาวดารญี่ปุ่น "นิฮงโชกิ" ค่ะ ในช่วงสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1600-1868) มีกระแสนิยมของการเดินทางเพื่อมาสักการะกันมากมายหลายครั้ง จนถึงขั้นเกิดคำว่า "ครั้งหนึ่งในชิวิต ต้องไปไหว้อิเสะ" ในหมู่ประชาชนคนทั่วไปเลยค่ะ มีการกล่าวว่าในช่วงสุดยอดของกระแสการเดินทางไปสักการะในปี 1830  "การเดินทางเพื่อแสดงความขอบคุณแห่งปีบุนเซ" มีผู้ที่เดินทางมาที่ศาลเจ้าอิเสะถึงหนึ่งในหกของประชากรทั้งหมดเลยทีเดียวเชียวค่ะ

เมื่อเทียบกับปัจจุบัน ในยุคที่ไม่มีรถไฟหรือรถยนต์ การเดินทางไปยังอิเสะจากที่ต่างๆ ทั่วประเทศนั้นก็เป็นการเดินทางที่ยาวนาน ดังนั้น นักเดินทางที่ไปอิเสะทุกคนจึงต่างชอบที่จะทานโมจิซึ่งเป็นอาหารที่สามารถทานได้ทันทีและทำให้รู้สึกอิ่มท้องในระหว่างการเดินทางกันค่ะ

จากประวัติศาสตร์เช่นนี้ บนถนนเข้าสู่ศาลเจ้า ซันกูไกโด จากคุวานะไปยังอิเสะ จึงมีขนมโมจิเกิดขึ้นมากมาย ถึงขั้นได้รับการขนานนามว่าเป็น "ถนนโมจิ" เลยค่ะ!

©สมาคมการท่องเที่ยวอำเภออิเสะ

นอกจากอาคาฟุกุโมจิ (赤福餅 / Akafuku Mochi) ที่เป็นของฝากหลักจากจังหวัดมิเอะแล้ว คุณยังสามารถเพลิดเพลินกับขนมโมจิอร่อยอื่นๆ อย่าง นิเค็นจายะโมจิ (二軒茶屋餅 / Nikenjaya Mochi) เฮ็นบะโมจิ (へんば餅 / Henba Mochi) ไทโกะชุสเสะโมจิ (太閤出世餅 / Taiko Shusse Mochi) และโอฟุกุโมจิ (御福餅 / Ofuku Mochi) ที่ร้านค้าต่างๆ ได้แม้แต่ในปัจจุบันค่ะ

ภูมิภาคชูบุ? ภูมิภาคโตไค? ภูมิภาคคินกิ? จุดยืนของจังหวัดมิเอะคือการเลือกเอาสิ่งที่ดีที่สุดจากพื้นที่ต่างๆ มาใช้ค่ะ

เกี่ยวกับจังหวัดมิเอะ คำถามที่คนญี่ปุ่นมักจะถามกันคือ "มิเอะอยู่ในภูมิภาคไหนกันแน่?"

นั่นก็เพราะมิเอะติดกับไอจิและกิฟุ ซึ่งถูกจัดเป็นภูมิภาคชูบุหรือโตไค และยังติดกับเกียวโต ชิกะ วาคะยะมะ และนาระ ซึ่งถูกจัดเป็นภูมิภาคคินกิหรือคันไซด้วยเช่นกันนั่นเองค่ะ ตัวอย่างเช่น ในการพยากรณ์อากาศและการแบ่งภูมิภาคโดยสำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น จังหวัดมิเอะถูกจัดเป็นภูมิภาคโตไค นอกจากนี้ โรงเรียนมัธยมปลายในมิเอะยังเข้าร่วมการแข่งขันเบสบอลภูมิภาคโตไคด้วยค่ะ

ในทางกลับกัน ในตำราเรียนที่ใช้ในโรงเรียน จังหวัดมิเอะมักจะถูกจัดเป็นภูมิภาคคินกิในหนังสือเรียนวิชา "สังคมศึกษา" ค่ะ จากคำบอกเล่าของ Teikoku Shoin (帝国書院) สำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียงในการพิมพ์หนังสือเรียนและแผนที่ ได้กล่าวว่า นี่เป็นเพราะการแบ่งภูมิภาค 7 ภูมิภาค* ที่ปรากฏในหนังสือเรียนแห่งชาติที่พิมพ์ในปี 1903 ได้รวมจังหวัดมิเอะไว้ในภูมิภาคคินกิ นอกจากนี้ยังมีความผูกพันกับภูมิภาคคินกิที่ลึกซึ้งในชีวิตจริงและด้านวัฒนธรรม เช่น การใช้ถิ่นภูมิภาคที่รวมอยู่ในภาษาคันไซ ดังนั้น Teikoku Shoin จึงจัดจังหวัดมิเอะให้เป็นหนึ่งในจังหวัดของภูมิภาคคินกิในตำราของสำนักพิมพ์ค่ะ

นอกจากนี้ ในหน่วยงานภูธรต่างๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มิเอะอยู่ภายใต้เขตอำนาจของสำนักงานตำรวจภูธรภูมิภาคชูบุ และวิธีการจำแนกภูมิภาคของจังหวัดมิเอะก็ยังแตกต่างกันแม้กระทั่งในหน่วยงานบริหารส่วนต่างๆ ค่ะ

ความคิดเห็นเกี่ยวกับภูมิภาคที่จังหวัดมิเอะสังกัดนั้นก็ยังแตกต่างกันอย่างมากในหมู่ประชากรค่ะ ถ้าแฟนบอลเบสบอลมัธยมปลายที่อายุมากหน่อยพูดว่า "มิเอะอยู่ในภูมิภาคโตไค" นักเรียนประถมศึกษาอาจตอบว่า "แต่ผมเรียนในโรงเรียนว่าอยู่ในภูมิภาคคินกินะ มีเขียนไว้ในแผนที่ด้วย" แถมนอกจากนี้ สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในอำเภออิงะและอำเภอนาบาริแล้ว ทั้งสองอำเภอก็อยู่ในระยะทางเดินทางไปทำงานหรือไปเรียนที่โอซาก้าได้สะดวก และเนื่องจากหลายคนสามารถดูรายการทีวีจากคันไซและนาโกย่าได้ จึงมีผู้คนจำนวนมากที่ต้องการจะจำแนกมิเอะให้เป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคคันไซกันค่ะ

อนึ่ง อาจเป็นเพราะการโต้เถียงนี้ยังคงมีอยู่มานานหลายปี ทำให้เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของจังหวัดมิเอะมีหน้าเพจที่ชื่อว่า "จังหวัดมิเอะอยู่ในภูมิภาคชูบุ? หรือภูมิภาคคินกิ?" ซึ่งได้ระบุไว้ชัดเจนที่ต้นหน้าเพจว่า "เราถือว่าจังหวัดมิเอะอยู่ในทั้งภูมิภาคชูบุและคินกิ"

เหตุผลที่ประกาศว่า "อยู่ในทั้งสองภูมิภาค" เพราะมิเอะอยู่ใกล้ทั้งนาโกย่าและโอซาก้า และมีความผูกพันที่ชัดเจนในเรื่องของวิถีชีวิต วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ จากทางกฎหมาย จังหวัดนี้ถูกกำหนดอยู่ใน "ภูมิภาคคินกิ" ตามพระราชบัญญัติการพัฒนาภูมิภาคคินกิ และ "ภูมิภาคชูบุ" ตามพระราชบัญญัติการพัฒนาภูมิภาคชูบุ

สำหรับรัฐบาลที่อย่างเป็นทางการอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของทั้งสองภูมิภาคนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ปกติค่ะ แต่การที่สามารถเลือกเอาส่วนที่ดีที่สุดจากภูมิภาคต่างๆ นั้นก็เป็นเรื่องเฉพาะของจังหวัดมิเอะค่ะ ถ้าคุณมีโอกาสคุยกับคนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดมิเอะ ลองถามดูนะคะว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคไหนกันแน่

※การแบ่งภูมิภาคถูกแบ่งเป็นภูมิภาคฮอกไกโด, โทโฮคุ, คันโต, ชูบุ, คินกิ, ชูโกคุ-ชิโคคุ, และภูมิภาคคิวชู

หนึ่งในสามเมืองพ่อค้าขึ้นชื่อ "พ่อค้าอิเสะ"! ความเป็นมิตรถูกสืบทอดจากบรรพบุรุษ!

©สมาคมการท่องเที่ยวอำเภออิเสะ

อิเสะในจังหวัดมิเอะ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในฐานะเมืองแห่งพ่อค้าตั้งแต่ยุคโบราณด้วยนักท่องเที่ยวที่มาที่ศาลเจ้าอิเสะค่ะ ควบตำแหน่งร่วมกับพ่อค้าแห่งโอซาก้าและพ่อค้าแห่งโอมิ, มันถูกนับว่าเป็นหนึ่งในสามเมืองแห่งพ่อค้าขึ้นชื่อที่รู้จักกันในนามว่า "เมืองแห่งพ่อค้าอิเสะ" ค่ะ

พ่อค้าอิเสะ หมายถึงพ่อค้าที่มาจากดินแดนอิเสะที่มีร้านค้าในเอโดะและเกียวโตในสมัยเอโดะ (1600-1868) ในเวลานั้น ในเมืองเอโดะมีร้านค้าของพ่อค้าอิเสะมากมาย เช่นร้าน "Iseya" (伊勢屋), "Echigoya" (越後屋), "Tambaya" (丹波屋) ฯลฯ ทักษะทางธุรกิจของพ่อค้าอิเสะเป็นที่อิจฉาโดยชาวเมืองโอโดะอย่างมากจนถึงขั้นมีการเรียกพวกเขาด้วยคำเหยียดว่า "ขอทานอิเสะ" เลยค่ะ

ในหมู่พ่อค้าอิเสะกันเองนั้น พ่อค้าจากมัตสึซากะที่ตอนนี้มีชื่อเสียงเพราะเนื้อวัวมัตสึซากะก็มีอิทธิพลมากเป็นพิเศษค่ะ พวกเขามีสินค้าเฉพาะเช่น ฝ้ายมัตสึซากะและชา และเพราะพ่อค้าเหล่านี้สามารถรับข้อมูลล่าสุดได้ง่ายจากผู้ที่มาเยี่ยมชมศาลเจ้าอิเสะจิงกู พ่อค้าจากมัตสึซากะจึงเปิดร้านค้าในเอโดะไล่เรียงกันเป็นดอกเห็ดค่ะ ในช่วงตอนกลางของสมัยเอโดะ มีข้อมูลว่าเคยมีร้านพ่อค้ามัตสึซากะถึง 50 ร้านที่ตั้งร้านค้าในเอโดะค่ะ

ด้วยลักษณะของพื้นที่ที่คนจากทั่วประเทศหลังไหลกันมาสักการะศาลเจ้าอิเสะจิงกู และบุคลิกแบบพ่อค้าจากอิเสะ คนในจังหวัดมิเอะโดยทั่วไปจึงมักให้ความสำคัญกับการผูกมิตรและจิตไมตรีค่ะ การเป็นคนที่ร่าเริงและเป็นมิตรทำให้ง่ายต่อการทำธุรกิจได้ดี และเมื่อลองคิดถึงอีกปัจจัยที่ว่าชาวมิเอะเติบโตขึ้นท่ามกลางทะเลที่สวยงามของอิเสะชิมะแล้ว ก็จะเข้าใจได้ว่าชาวมิเอะเลยพัฒนาบุคลิกที่อ่อนโยนและใจกว้างดั่งท้องทะเลได้ค่ะ นอกจากนี้ยังเนื่องจากบ้านเกิดของชาวมิเอะคือบ้านของเทพเจ้า ชาวมิเอะเชื่อว่าถ้าพวกเขาพูดปดหรือทำบาป พวกเขาจะถูกลงโทษ ดังนั้นโดยพื้นฐานแล้ว ชาวมิเอะจึง "เกลียดการโกหก" ดังนั้นเมื่อสื่อสารกับคนจากจังหวัดมิเอะ ระวังอย่าพูดโกหกที่พลาดง่ายๆ อย่างการพูดเล่นหรือการยกยอเกินจริงนะคะ!

※ คำเรียกทั่วไปสำหรับพ่อค้าที่ตั้งร้านในดินแดนโอมิ (ปัจจุบันคือจังหวัดชิกะ) และเดินทางไปดินแดนอื่นเพื่อการค้า

หัวข้อเรื่อง

Survey[แบบสอบถาม] กรุณาบอกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น







Recommend