จังหวัดนีงาตะซึ่งมีผลผลิตข้าวสูงที่สุดในญี่ปุ่น เป็นเมืองที่คุณสามารถพบกับข้าวอร่อย ๆ ได้มากมายอย่างข้าวโคชิฮิคาริอันเลื่องชื่อ จึงไม่แปลกใจเลยที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเยือนนีงาตะไม่เพียงแค่กินข้าวนีงะตะเท่านั้น แต่ยังซื้อข้าว ข้าวเกรียบปากหม้อ หรือสาเกกลับไปเป็นของฝากอีกด้วย ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับพันธุ์ข้าวที่แนะนำของนีงาตะและวิธีการหุงที่ได้รสชาติดี รวมถึงร้านอาหารที่คุณสามารถรับประทานข้าวแสนอร่อยได้ ต้องมีข้าวที่คุณถูกใจสักชนิดแน่นอนค่ะ!
หากพูดถึงนีงาตะ สิ่งแรกที่นึกถึงก็คือข้าว! แต่ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นล่ะ?
จังหวัดนีงาตะมีพื้นที่ปลูกข้าวและปริมาณผลผลิตมากที่สุดในญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม กว่าจะมาถึงขั้นนี้ได้นั้นก็ยากเย็นแสนเข็ญค่ะ ตัวกระตุ้นคือการพัฒนานาข้าวรูปแบบใหม่ในสมัยเอโดะ ในสมัยนั้น ที่ราบของจังหวัดนีงาตะเป็นแอ่งน้ำขังและไม่เหมาะสำหรับปลูกข้าว ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้คนในสมัยนั้นก็ได้ปรับปรุงสภาพแวดล้อมโดยการทำงานชลประทานและถมพื้นที่ชุ่มน้ำในที่ลุ่ม หลังจากต่อสู้กับปัญหาเรื่องน้ำ นีงาตะก็ได้เพาะปลูกข้าวในที่สุดค่ะ
อย่างไรก็ตามรสชาติของข้าวที่ผลิตในนีงาตะในเวลานั้นไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนัก เพื่อแก้ปัญหานี้ ประชาชนพยายามทำข้าวที่ดีที่สุดในญี่ปุ่นโดยมีโคชิฮิการิเป็นไพ่ตาย เนื่องจากความยากในการเพาะปลูก พื้นที่ส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นก็ำากันล้มเลิกการเพาะปลูกข้าวชนิดนี้ แต่นีงาตะก็ยังพยายามต่อไปและได้ประสบความสำเร็จในการเพาะปลูกข้าวพันธุ์นี้ค่ะ
อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับการทำข้าวให้อร่อย นั่นคือ ดินที่อุดมสมบูรณ์ สภาพอากาศที่เหมาะแก่การปลูกข้าว และน้ำสะอาดที่มีสารอาหารมากมาย และเนื่องจากนีงาตะมีสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ภูมิประเทศจึงสามารถผลิตข้าวที่อร่อยได้ค่ะ ทั้งยังมีการตรวจสอบสารกัมมันตภาพรังสีทุกปี เพราะไม่มีการตรวจพบสารกัมมันตภาพรังสี คุณจึงสามารถกินข้าวของนีงะตะได้อย่างสบายใจในเรื่องความปลอดภัยค่ะ
รู้จักพันธุ์ข้าวต่าง ๆ ของนีงาตะ
จังหวัดนีงาตะผลิตข้าว 9 ชนิด แต่แบรนด์หลัก 5 แบรนด์ ได้แก่ โคชิฮิคาริ ชินโนสุเกะที่มีแหล่งกำเนิดในนีงาตะ โคชิอิบูกิ ยูกิงโคไม และฮาซึกิมิโนริ ในที่นี้เราจะมาแนะนำ 3 แบรนด์กันค่ะ
โคชิฮิคาริ
โคชิฮิคาริ (コシヒカリ / Koshihikari) ได้รับการผสมข้ามพันธุ์ครั้งแรกในนีงาตะ และถูกเพาะปลูกเลี้ยงดูในฟุกุอิ หลังจากนั้น แม้ว่าจะมีการทดลองที่สถานีทดลองทางการเกษตรทั่วประเทศญี่ปุ่น แต่การปลูกก็ถูกเลื่อนออกไปแบบไม่มีกำหนดในพื้นที่ส่วนใหญ่เพราะต้นข้าวอ่อนแอต่อโรค ต้นสูงเกินไปและล้มง่าย อย่างไรก็ตาม ในนีงาตะ จุดอ่อนนี้ถูกแก้ไขด้วยเทคนิคการเพาะปลูก เป็นผลให้กลายเป็นแบรนด์ชั้นนำของนีงาตะไปในท่สุดค่ะ
ความน่าดึงดูดใจของข้าวโคชิฮิคาริคือความเหนียวและความนุ่มในระดับปานกลาง รวมถึงรสชาติที่แน่น กลิ่นหอมและความหวานกระจายอยู่ในปาก เข้ากันได้ดีกับอาหารญี่ปุ่นโดยเฉพาะอาหารจำพวกปลาและซาซิมิค่ะ
โคชิอิบูกิ
โคชิอิบูกิ (こしいぶき / Koshiibuki) ได้รับการพัฒนาในนีงาตะเป็นพันธุ์ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนหน้าโคชิฮิคาริ เป็นแบรนด์ที่นุ่มและเหนียวปานกลางและยังอร่อยแม้ข้าวจะเย็นแล้วก็ตาม โดยสืบทอดลักษณะเฉพาะของข้าวโคชิฮิคาริ ในทางกลับกัน ข้าวชนิดนี้มีรสชาติเบา ๆ ที่ดึงความอร่อยของอาหารทุกชนิดได้ แนะนำโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการปรุงอาหารที่บ้านค่ะ
ชินโนสุเกะ
ชินโนสุเกะ (新之助 / Shinnosuke) แบรนด์ข้าวที่เป็นคู่แข่งกับโคชิฮิคาริ ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะโลกร้อน และเพื่อให้สามารถผลิตข้าวคุณภาพสูงและอร่อยได้แม้อุณหภูมิจะสูงขึ้น เป็นสายพันธุ์ที่แสวงหารสชาติที่แตกต่างในขณะที่สืบทอดยีนของโคชิฮิคาริค่ะ
ข้าวมีเนื้อสัมผัสที่หยุ่น ๆ ยิ่งเคี้ยวก็ยิ่งหวาน และถึงแม้ข้าวจะเย็นแล้วก็ไม่แข็งกระด้างและยังคงความอร่อยอยู่ ข้าวนี้แนะนำสำหรับข้าวปั้นและข้าวกล่องเบนโตะค่ะ
วิธีหุงข้าวนีงาตะให้อร่อย
ไหน ๆ ก็อุตส่าห์ใช้ข้าวของนีงาตะทั้งที เป็นใครก็คงอยากหุงข้าวที่อร่อยสินะคะ ในส่วนนี้เราจะแนะนำวิธีการหุงให้อร่อยด้วยการแต่งเติมเล็กน้อยค่ะ
หลังจากซาวข้าวแล้ว ให้ซาวข้าวเร็ว ๆ เป็นจังหวะ ขั้นแรกให้ซาวด้วยน้ำปริมาณมากและค่อย ๆ คนหลายๆ ครั้ง จากนั้นให้ทิ้งน้ำทันทีแล้วเติมน้ำใหม่เพิ่มเพื่อซาวอย่างเบา ๆ ล้างเสร็จแล้วเปลี่ยนน้ำ 2-3 ครั้ง จากนั้นก็ให้สะเด็ดน้ำ
ส่วนสำคัญต่อมาคือปริมาณน้ำในการแช่ข้าวซึ่งมีผลต่อรสชาติของข้าว ปริมาณมาตรฐานคือ 1.2 เท่าของข้าว แต่แนะนำให้ใช้ 1.1 เท่า เพราะข้าวใหม่จะหุงได้นิ่มกว่า จากนั้นแช่ข้าวเป็นเวลา 30 นาทีในฤดูร้อน 1 ชั่วโมงในฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง หรือ 2 ชั่วโมงในฤดูหนาว เพื่อให้ข้าวสามารถดูดซับน้ำได้ดีที่สุดค่ะ
และในที่สุดก็ถึงเวลาหุงข้าว เมื่อข้าวสุกแล้ว ให้ปล่อยทิ้งไว้ในหม้อปิดฝาต่อประมาณ 10 ถึง 15 นาที จากนั้นรีบคนข้าวในหม้อทันทีเพื่อให้ข้าวฟูขึ้น เป็นอันเสร็จพร้อมรับประทานค่ะ
ร้านอาหารท้องถิ่น 2 แห่งที่สามารถรับประทานข้าวนีงาตะได้
อาหารคือความสุขที่แท้จริงของการเดินทาง เราได้เลือกร้านอาหาร 2 แห่งที่คุณสามารถเพลิดเพลินกับข้าวของนีงาตะได้อย่างเต็มที่มาให้ไปลองกันค่ะ
竈 kamado
“竈 kamado” เป็นร้านอาหารที่คุณสามารถรับประทานข้าวที่หุงด้วยคามาโดะ (เตาหุงต้มแบบดั้งเดิม) ข้าวเป็นข้าวโคชิฮิคาริที่ปลูกเป็นพิเศษซึ่งผลิตในอิวามูโระ จังหวัดนีงาตะ น้ำที่ใช้หุงข้าวคือน้ำโยชิชิมิสึ น้ำที่มีชื่อเสียงจากอำเภอโกเซ็น ข้าวเป็นดาวเด่นของร้านนี้ อาหารที่ย่างด้วยเตาถ่าน เช่น "ไก่พื้นเมืองย่างเตาถ่าน" และ "แฮมเบอร์เกอร์นวดมือย่างเตาถ่าน" ก็ดึงความอร่อยของข้าวออกมาได้เช่นกันค่ะ
Onigiri Senka Nukumoriya (おにぎり専家 ぬくもり屋)
Onigiri Senka Nukumoriya เป็นร้านเฉพาะทางเรื่องข้าวปั้นโอนิกิริ ตั้งอยู่ห่างจากทางออก Bandai ของสถานี JR Niigata โดยใช้เวลาเดินเพียง 3 นาที ซึ่งให้บริการข้าวปั้นและสาเกท้องถิ่นของนีงาตะค่ะ สำหรับข้าว ทางร้านใช้ "Ueno-sanchi no Yasashii Okome" ของแบรนด์โคชิฮิคาริซึ่งใช้สารเคมีทางการเกษตรน้อยกว่า เราขอแนะนำ “โอนิกิริพีระมิด” ซึ่งดูดีบนสื่อโซเชียลมีเดียอย่างมาก เป็นเมนูข้าวปั้นขนาดพอดีคำจำนวน 21 ชิ้น โดยแต่ละชิ้นมีส่วนผสมหรือไส้ในที่แตกต่างกันไปค่ะ
อย่าพลาดของว่างที่ทำจากข้าว เช่น ข้าวเกรียบเซมเบ้และสาเก!
ในนีงาตะ การผลิตและการขายขนมที่ทำจากข้าวและสาเกญี่ปุ่นซึ่งส่วนใหญ่ทำจากข้าวก็เจริญรุ่งเรืองเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งขนมที่ทำจากข้าวมีปริมาณการขนส่งสูงสุดในญี่ปุ่น ความน่าสนใจของขนมทำจากข้าวในนีงาตะคือมีความนุ่มและกรอบ ซึ่งแตกต่างจากข้าวเกรียบเซมเบ้ที่ค่อนข้างแข็งของจังหวัดอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีธีมปาร์คเซมเบ้ของนีงาตะ "Niigata Senbei Kingdom" (新潟せんべい王国 / Niigata Senbei Oukoku) ซึ่งคุณสามารถสัมผัสประสบการณ์การช้อปปิ้งและทำเซมเบ้ของตัวเองได้ค่ะ
นีงาตะยังเป็นที่รู้จักในด้านการปลูกข้าวสำหรับทำสาเกที่เจริญรุ่งเรือง และเป็นที่ตั้งของโรงผลิตสาเกประมาณ 90 แห่งภายในจังหวัด มีการจัดส่งสาเกญี่ปุ่นที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ในญี่ปุ่น สาเกของนีงาตะมีลักษณะพิเศษคือ "light dry" ที่สดชื่นและขมฝาด ทำจากน้ำอ่อนและค่อย ๆ หมักท่ามกลางความหนาวเย็นที่รุนแรง ทำให้ได้รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ค่ะ
Comments