เมื่อไปเที่ยวญี่ปุ่น คุณอาจจะเคยพบเห็นตุ๊กตาดินเผาทานุกิตั้งอยู่ตามหน้าร้านต่าง ๆ แล้วเคยสงสัยกันไหมว่า "เขาตั้งกันไว้เพื่ออะไร?" กันหรือเปล่าครับ? จริง ๆ แล้ว นี่ก็เป็นหนึ่งในของนำโชคของญี่ปุ่นครับ
ประเทศญี่ปุ่นมีธรรมเนียมเกี่ยวกับ "สิ่งของนำโชค" (縁起が良いもの / Engi no yoi mono) มาแต่ช้านาน และการประดับ "ของนำโชค" (縁起物 / Engimono) ในบ้าน ร้านค้า ไปจนถึงสำนักงาน และการมอบสิ่งเหล่านี้เป็นของขวัญแก่บุคคลอันเป็นที่รักก็ถือเป็นธรรมเนียมปกติกันครับ
"สิ่งของนำโชค" ก็มีทั้งสิ่งที่จับต้องได้อย่างอาหารนำโชค และสิ่งที่จับต้องไม่ได้อย่างธรรมเนียมปฎิบัติ ในครั้งนี้ ผมจะมาแนะนำเกี่ยวกับ "ของตั้งประดับ" (置物 / Okimono) ที่มักพบเห็นได้ตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เวลามาเที่ยวญี่ปุ่นกันโดยละเอียดครับ
"เอ็งกิ" คืออะไร?
คำว่า "เอ็งกิ" (縁起 / Engi) เดิมมาจากคำภาษาบาลีว่า "ปฏิจฺจสมุปฺปาท" (Paṭiccasamuppāda) หรือภาษาสันสกฤตว่า "ปฺรตีตฺยสมุตฺปาท" (pratītya-samutpāda) ซึ่งแปลว่า "สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น" ในภาษาญี่ปุ่นเรียกด้วยอักษรคันจิสี่ตัวว่า “因縁生起” (Innen Shoki / อินเน็นโชกิ) ซึ่งในภายหลังย่อเหลือแค่ “縁起” (เอ็งกิ) ครับ
ในยุคปัจจุบัน คำนี้มักใช้เป็นสำนวนเช่น "縁起が良い" (Engi ga yoi - นำโชคดี เป็นมงคล) และ "縁起が悪い" (Engi ga warui - นำโชคร้าย อัปมงคล) และใช้ในเชิงว่า "มีองค์ประกอบที่ให้ลางสังหรณ์ถึงเหตุการณ์ดี (หรือร้าย)" ครับ
4 ของตั้งประดับมงคล
ในประเทศญี่ปุ่นมีธรรมเนียมการให้ "ของนำโชค" เพื่อเป็นการอวยพรเฉลิมฉลองและอธิษฐานให้สิ่งดี ๆ แก่กัน และมีของขวัญประเภทต่าง ๆ มากมายครับ ในส่วนนี้ ผมจะขอเลือกเอา "ของตั้งประดับ" แบบคลาสสิกที่นิยมให้เป็นของขวัญกันบางส่วนมาแนะนำครับ!
มาเนคิเนโกะ (แมวกวัก): ของนำโชคที่เรียกลูกค้าและโชคลาภทางการเงิน
"มาเนคิเนโกะ" (招き猫 / Manekineko - แมวกวัก) เป็นของนำโชคมาตรฐานสำหรับการขอให้ค้าขาบรุ่งเรือง ปัจจุบันกลายเป็นของฝากยอดนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งก็พากันเรียกว่า “Lucky cat” หรือ “Welcome cat” ครับ
มีหลายทฤษฎีเกี่ยวกับที่มาของของนำโชคชนิดนี้ครับ แต่หนึ่งในทฤษฎีที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือเรื่องเล่าที่สืบทอดกันที่วัดโกโทคุจิ (豪徳寺 / Gotokuji) ในโตเกียว วันหนึ่ง เมื่อ อิอิ นาโอทากะ (井伊直孝 / II Naotaka) ผู้ครองแคว้นฮิโกเนะ ได้เดินผ่านวัดโกโทคุจิระหว่างทางกลับบ้านจากการล่าสัตว์ด้วยเหยี่ยว เขาถูกแมวในวัดกวักมือเรียก จึงตัดสินใจแวะเข้าไปในบริเวณวัด ในขณะที่ใช้เวลาอยู่ที่วัด จู่ ๆ ก็มีพายุฝนฟ้าคะนองตกลงมา แต่เพราะได้แมวตัวนี้เรียกไว้ ทำให้เขาไม่เปียกฝนและยังได้สนทนาธรรมอย่างมีอรรถรสกับพระในวัด ดังนั้นผู้ครองแคว้นท่านนี้จึงดูแลแมวตัวนี้เป็นอย่างดี หลังจากนั้นที่วัดโกโทคุจิ แมวที่กวักเรียกโชคลาภตัวนี้ก็ถูกเรียกว่า "招福猫児" (อ่านว่า มาเนคิเนโกะ) และยังมีสร้างศาลาโชฟุคุเด็นเพื่อบูชาดวงวิญญาณด้วยครับ
รูปร่างของแมวกวักยังมีหลากหลาย และโชคที่นำพาก็แตกต่างกันไปตามลักษณะครับ
- โดยพื้นฐานแล้ว ถ้าแมวยกมือขวาจะกวักเรียกโชคลาภด้านเงินทอง ถ้ายกมือซ้ายจะกวักเรียกผู้คนเช่นลูกค้า
* นอกจากนี้ยังแบบมีที่ยกมือทั้งสองข้าง แต่หมายถึงการ "ยกมือขึ้น" (เช่นยอมแพ้หรือถูกตำรวจสั่ง) และกล่าวกันว่านำโชคร้ายแทน - แมวกวักมักจะมีโคะบัง (小判 / koban เหรียญญี่ปุ่นรูปวงรีใช้ในสมัยก่อน) แต่ก็มีที่ถือสิ่งอื่น ๆ อย่างเช่นปลากระพงแดง ค้อน และคราดเป็นต้น
- ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีแมวกวักที่การนำโชคลาภแบบใหม่ ๆ มากมาย เช่น "ความรัก" "อายุยืนยาว" และ "ถูกลอตเตอรี่รางวัลใหญ่" ซึ่งสะท้อนถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
- แต่ละสีเองก็ดูเหมือนจะมีความหมายและโชคลาภเฉพาะด้วย ตัวอย่างเช่น:
- แมวสีทอง/สีเหลือง : เสริมโชคลาภด้านเงินทอง
- แมวสามสี: เรียกโชคลาภ
- แมวสีดำ : กันสิ่งชั่วร้าย กันเคราะห์ บ้านเรือนปลอดภัย
ทั่วประเทศญี่ปุ่นก็ยังมีจุดขึ้นชื่อที่เกี่ยวข้องกับมาเนคิเนโกะด้วยครับ อย่างวัดโกโทคุจิซึ่งกล่าวกันว่าเป็นสถานที่ที่เกิดเรื่องราวตามทฤษฎีที่มาของแมวกวัก ก็สามารถพบแมวกวักจำนวนมากไม่เพียงเฉพาะแค่ในบริเวณวัดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงตามถนนช้อปปิ้งโดยรอบด้วย ที่จังหวัดไอจิ ในอำเภอโทโคนาเมะก็มี “ถนนโทโคนาเมะมาเนคิเนโกะ” อันเลื่องชื่อ ส่วนในอำเภอเซโตะก็มี “พิพิธภัณฑ์มาเนคิเนโกะ” คุณจึงสามารถสัมผัสกับแมวกวักในรูปแบบต่าง ๆ ได้ครับ
ทานูกิ: ของมงคลที่มักพบตามทางเข้า
"ตุ๊กตาดินเผาทานูกิ" (狸の置物 / Tanuki no Okimono) มักพบเห็นได้ตามหน้าร้านและทางเข้าต่าง ๆ ในญี่ปุ่น เป็นของนำโชคให้ค้าขายรุ่งเรือง และนิยมให้เป็นของขวัญเวลามีการเปิดร้านใหม่ครับ ชื่อทานูกิ ยังพ้องกับคำว่า 他抜き (tanuki - แซงหน้าคนอื่น) เป็นนัยให้กิจการรุ่งเรืองนำคนอื่นไปครับ
ว่ากันว่าต้นกำเนิดของตุ๊กตาดินเผานี้คือตุ๊กตาดินเผาทานูกิที่ทำโดย ฟูจิวาระ เท็ตสึโซ (藤原銕造 / FUJIWARA Tetsuzo) แห่งร้านเครื่องปั้นดินเผาฮอนเกะทานูกิ (ปัจจุบันร้านมีชื่อว่า "狸庵" ริอัน) นอกจากนี้ ในปี ค.ศ. 1951 จักรพรรดิโชวะได้เสด็จเยือนเมืองชิงารากิและแต่งบทกวี ซึ่งทำให้ทานูกิของที่นี่โด่งดังไปทั่วประเทศครับ
นอกจากนี้ รูปร่างและสิ่งของต่าง ๆ ในตุ๊กตาดินเผาทานูกิชิงารากิยังแสดงถึงความหมายของสิ่งนำโชคทั้งแปดของ "ฮัสโซเอ็งกิ" (八相縁起 / Hassou engi) ด้วยครับ
- หมวก: เตรียมพร้อมสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันและป้องกันตัวเองจากภัยพิบัติที่ไม่คาดคิด
- ตากลมโต: สามารถมองไปรอบ ๆ และคอยสอดส่องระแวดระวังเพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง
- รอยยิ้ม: ธุรกิจจะเจริญรุ่งเรืองได้จากการปฏิบัติดีต่อกัน
- จอกสาเกทคคุริ: พยายามทำตัวให้มีคุณธรรม (徳 / toku แปลว่า บุญ คุณธรรม และถูกใช้ในชื่อจอกสาเก 徳利 / tokkuri)
- ป้ายผ่านทางคาโยอิโจ: ความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน
- พุงใหญ่: สงบและกล้าหาญ
- ถุงเงินคินบุคุโระ: โชคลาภทางการเงิน
- หางอ้วนกลม: มีการจบสิ้นที่มั่นคง (ดีงาม) ในทุกสิ่งทื่ทำ!
ที่ที่สามารถพบตุ๊กตาดินเผาทานูกิได้ก็ ได้แก่ที่เมืองชิงารากิ อำเภอโคงะ จังหวัดชิกะ และสถานี Hozukyo บนสายรถราง Sagano Torokko ในอาราชิยามะ จังหวัดเกียวโต อย่าลืมไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันไว้นะครับ!
ตุ๊กตาล้มลุกดารุมะ: สิ่งนำโชคที่ขับไล่สิ่งชั่วร้ายและป้องกันความเจ็บป่วยและภยันตราย
"ตุ๊กตาล้มลุกดารุมะ" (だるま / Daruma) เป็นที่รู้จักกันว่าเป็นของนำโชคสำหรับให้ค้าขายรุ่งเรืองและเปิดฌชคก้าวหน้าในเรื่องงาน เนื่องจากถูกสร้างให้ลุกขึ้นยืนใหม่ทันทีที่ล้ม ซึ่งก็ตรงกับสำนวนญี่ปุ่นว่า "七転び八起き" (Nana-korobi Ya-oki - ล้มเจ็ดครั้ง ลุกแปดครั้ง)
กล่าวกันว่า ตุ๊กตาดารุมะนี้มีต้นแบบมาจากพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาชื่อดังจากอินเดีย "ดารุมะไดชิ" (達磨大師 / Daruma Daishi) พระครูดารุมะไดชิประสูติที่เมืองกาญจีปุรัม ประเทศอินเดียตอนใต้ เมื่อประมาณ 1,600 ปีที่แล้ว หลังออกผนวชได้นามฉายาทางพุทธว่า "พระโพธิธรรม" (菩提達磨 / Bodai Daruma) กล่าวกันว่าภายหลังได้เดินทางไปประเทศจีนและได้วางรากฐานของพุทธศาสนานิกายเซน คนไทยที่เป็นคอหนังจีนอาจจะรู้จักในนาม "ปรมาจารย์ตั๊กม้อ" แห่งวัดเส้าหลินครับ
บ้านเกิดของ "ตุ๊กตาดารุมะ" คือ "วัดดารุมะจิ สำนักโชรินซาน" (少林山達磨寺 / Shorinzan Darumaji) ในอำเภอทาคาซากิ จังหวัดกุนมะ ว่ากันว่ามีต้นกำเนิดมาจากการที่พระโทกาคุ (東嶽 / Tougaku) แห่งวัดดารุมะจิได้สอน ยามากาตะ โทโมโกโร่ (山縣友五郎 / YAMAGATA Tomogorou) ชาวนาที่ทนทุกข์ทรมานจากความอดอยากถึงวิธีการทำตุ๊กตาดารุมะนั่นเองครับ
จุดเด่นของตุ๊กตาดารุมะของทาคาซากิก็คือที่ใบหน้ามีสัตว์มงคล 2 ชนิด "คิ้วเป็นนกกระเรียน จมูกและหนวดเป็นเต่า" ซึ่งต่างก็เป็นสัญลักษณ์ของความมงคลและอายุยืน มีหลายทฤษฎีที่อธิบายว่าทำไมดารุมะถึงต้องทาสีแดง เช่น เพราะพระโพธิธรรมที่เป็นต้นแบบของดารุมะและพระเกจิต่าง ๆ มักสวมจีวรสีแดง และเพราะสีแดงมีไว้เพื่อปัดเป่าวิญญาณชั่วร้ายครับ นอกจากนี้ ยังกล่าวกันด้วยว่าการวาดดวงตาของดารุมะด้วยตัวเองนั้นเป็น "การแสดงการเปิดตาของจิตใจ"
หากคุณต้องการซื้อตุ๊กตาดารุมะญี่ปุ่นเป็นของที่ระลึก ลองแวะร้านขายของที่ระลึกรอบ ๆ วัดดารุมะจิ สำนักคาตาโอคาซาน ในจังหวัดนาระ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นบ้านเกิดของความเชื่อสายพระโพธิธรรม (ดารุมะ) และในอำเภอทากาซากิ จังหวัดกุนมะ! นอกจากนี้ ยังมีร้านอื่น ๆ ที่ขายตุ๊กตาดารุมะโดยเฉพาะ เช่น ตามถนนนากามิเสะในวัดคาวาซากิไดชิ ซึ่งเข้าถึงได้ง่ายจากโตเกียวครับ มีโอกาสก็ลองไปดูกันนะครับ!
ตุ๊กตาโคเคชิ: สิ่งมงคลสำหรับโชคเรื่องขอให้มีลูกและเพื่อเฉลิมฉลองสุขภาพและการเจริญเติบโตของลูกหลาน
"โคเคชิ" (こけし / Kokeshi) เป็นตุ๊กตาไม้งานหัตถกรรมแบบดั้งเดิมที่ใช้เป็นของนำโชคในเรื่องการขอมีลูกและการเจริญเติบโตของเด็กครับ ว่ากันว่ามีต้นกำเนิดในช่วงปลายยุคเอโดะ เกิดขึ้นจากการทำงานหัตถกรรมไม้เพื่อเป็นของที่ระลึกสำหรับผู้มาเยือนบ่อน้ำพุร้อนในภูมิภาคโทโฮคุ ที่มาของชื่อตุ๊กตาโคเคชิกล่าวกันว่า เดิมทีแต่ละพื้นที่ก็มีชื่อเรียกต่างกันไป แต่ตอนที่งาน "Tokyo Kokeshi Association Naruko Tournament" จัดขึ้นในปี 1940 ที่นารุโกะออนเซ็นซึ่งช่างฝีมือโคเคชิและผู้ที่เกี่ยวข้องได้มารวมตัวกัน ก็มีการใช้ชื่อให้ตรงกันเป็นตัวอักษรฮิระงะนะสามตัวว่า "こけし" (โคเคชิ) ครับ
ภูมิภาคทั้ง 3 อันได้แก่ โทกัตตะ นารุโกะ และ สึจิยุออนเซ็น ก็เป็นที่รู้จักกันในนาม "สามแหล่งกำเนิดตุ๊กตาโคเคชิชั้นนำ" โดยรูปร่าง รูปแบบ และภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ครับ
Comments