【ของอร่อยในญี่ปุ่น】ตระเวนล่าหาอาหารท้องถิ่นเกรด B: ฉบับ "ไอจิ"

【ของอร่อยในญี่ปุ่น】ตระเวนล่าหาอาหารท้องถิ่นเกรด B: ฉบับ ไอจิ
ได้รับความอนุเคราะห์ภาพจาก: Nagoya Convention & Visitors Bureau

เมื่อพูดถึงจังหวัดไอจิ สิ่งแรกที่คนมักจะนึกถึงกันก็คือ เมืองที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดอย่างนาโกย่า หลังจากนั้นก็ต้องมาถกเถียงกันว่า "นาโกย่าน่าสนใจหรือไม่ในฐานะสถานที่ท่องเที่ยว" ค่ะ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ก็คือ "ของอร่อยไอจิ" ดังนั้นในครั้งนี้ฉันจึงอยากจะแนะนำให้คุณรู้จักกับอาหารรสเลิศของจังหวัดไอจิซึ่งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคชูบุค่ะ

"ของอร่อยเกรด B" คืออะไร?

นอกจากอาหารรสเลิศยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวที่ทุกคนที่มาเยือนต้องไปลองรับประทานกันแล้ว ก็ยังมีของอร่อยในท้องถิ่นที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่แม้จะอยู่ในเขตจังหวัดเดียวกันค่ะ ของอร่อยเกรด B เป็นอาหารท้องถิ่นที่เป็นที่นิยมในหมู่คนท้องถิ่นและปรุงด้วยวัตถุดิบในท้องถิ่นโดยไม่ใช้เทคนิคหรือการตกแต่งที่หรูหราอะไรค่ะ

เคล็ดลับความอร่อย

เคล็ดลับความอร่อย
ได้รับความอนุเคราะห์ภาพจาก: อำเภอโอคาซากิ

แตกต่างจากวัฒนธรรมโชยุของภูมิภาคคันโตและวัฒนธรรมน้ำซุปดาชิของภูมิภาคคันไซ ความลับของความอร่อยของของอร่อยไอจิอยู่ที่ "วัฒนธรรมมิโสะ" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ฮัตโจมิโสะ" รสเข้มข้นซึ่งผ่านการหมักไว้เป็นเวลานาน บ้านเกิดของฮัตโจมิโสะคือ เมืองฮัตโจ (八帖町 / Hatcho-cho) อำเภอโอคาซากิ จังหวัดไอจิ ซึ่งเดิมชื่อก็คือ "หมู่บ้านฮัตโจ" (八丁村 / Hatcho-mura) ต้นกำเนิดของมิโสะในหมู่บ้านฮัตโจสามารถสืบย้อนไปถึงยุคสมัยราชสำนักฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ (南北朝 / Nanbokucho ค.ศ. 1337-1392) นอกจากนี้ ในช่วงสมัยอะซึจิโมโมยามะ (安土桃山 / Azuchi-Momoyama ค.ศ. 1568-1603) ได้มีบันทึกการทำมิโสะอย่างแน่ชัด ในช่วงสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603-1867) โอคาซากิเป็นจุดสำคัญสำหรับการขนส่งทางน้ำและทางบก โดยมีแม่น้ำยาฮางิไหลผ่านในแแนวเหนือ-ใต้ และถนนข้ามจังหวัดโทไคโดวิ่งผ่านตามแนวตะวันออก-ตะวันตก ดังนั้น โอคาซากิจึงมีสภาพเอื้ออำนวยที่ดีที่สุดในการทำมิโสะ อย่างวัตถุดิบที่หาได้ง่าย เช่น ถั่วเหลืองและเกลือ น้ำแร่คุณภาพสูงจากแม่น้ำยาฮางิ และสภาพอากาศที่อบอุ่น การผลิตฮัตโจมิโวะจึงเติบโตอย่างต่อเนื่องในอำเภอโอตาซากิค่ะ

ในทางกลับกัน ฮัตโจมิโสะก็ยังเป็นที่โปรดปรานของโทคุงาวะ อิเอยาสุ ผู้ซึ่งเกิดในโอคาซากิ โทคุงาวะได้รวบอำนาจและสร้างเอโดะ (โตเกียวในปัจจุบัน) ให้เป็นฐานการปกครอง และฮัตโจมิโสะก็แพร่กระจายไปสู่ภูมิภาคคันโตตามแนวเส้นทางโทไคโด และโด่งดังไปทั่วประเทศในที่สุดค่ะ

ของอร่อยเกรด B ในไอจิ

ในครั้งนี้ฉันจะไม่มาแนะนำอาหารรสเลิศขึ้นชื่ออย่าง "ฮิสึมาบุชิ" หรือบะหมี่รสเผ็ดที่เรียกว่า "ราเม็งไต้หวัน" (คิดค้นโดยชาวไต้หวันที่ดำเนินกิจการร้านอาหารไต้หวันในนาโกย่า) ซึ่งหาทานไม่ได้ที่ไต้หวัน แต่จะขอแนะนำของอร่อยเกรด B เป็นหลักค่ะ โดยอาหารรสเลิศที่อุดมไปด้วยรสอูมามิของมิโสะและเป็นที่ชื่นชอบของคนในท้องถิ่นค่ะ

มิโสะคัตสึ

มิโสะคัตสึ

สัญลักษณ์ของวัฒนธรรมมิโสะในไอจิก็คือ "มิโสะคัตสึ" หมูชุบเกล็ดขนมปังทอดกรอบราดด้วยซอสมิโสะสีน้ำตาลเข้มที่ทำจากฮัตโจมิโสะ ที่ร้านแต่ละแห่งจะมีการเติมน้ำตาลและน้ำซุปดาชิผสมลงในฮัตโจมิโสะ และซอสมิโสะจะถูกเคี่ยวเพื่อสร้างซอสมิโสะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของร้านและสามารถรับประทานได้ที่ร้านนั้น ๆ เท่านั้นค่ะ

นอกจากสีสันที่เข้มข้นแล้ว รสชาติก็เข้มข้นเช่นกันค่ะ เมื่อลองกัดทงคัตสึ รสชาติของถั่วเหลืองที่เป็นเอกลักษณ์และความเปรี้ยวของฮัตโจมิโสะจะถูกดึงออกมาให้เด่นชัดมากยิ่งขึ้น และรสอูมามิที่เข้มข้นจะทำให้คุณตะลึงไปเลย มีหลายทฤษฎีเกี่ยวกับต้นกำเนิดของมิโสะคัตสึ แต่ทั้งหมดล้วนแสดงถึงความอร่อยของฮัตโจมิโสะค่ะ

มิโสะโอเด้ง

มิโสะโอเด้ง

อย่างที่ทราบกันดีว่า "โอเด้ง" เป็นอาหารที่เคี่ยวในน้ำซุปดาชิ และเมื่อจะรับประทาน คุณก็สามารถเลือกวัตถุดิบชิ้นที่คุณชื่นชอบมาวางลงบนจานเล็ก ๆ แล้วรับประทานพร้อมกับน้ำซุปดาชิหรือมัสตาร์ดได้ตามที่ถูกปากค่ะ แต่อย่างไรก็ตาม ที่ไอจิ สิ่งเหล่านี้แทบจะไม่จำเป็นเลย เพราะจะใช้ซอสมิโสะแทนค่ะ วิธีการกินโดยทั่วไปคือการใส่โถมิโซะที่ทำจากฮัตโจมิโสะไว้ตรงกลางหม้อดินเผาที่วางวัตถุดิบของโอเด้งที่เลือกมาไว้ค่ะ

วิธีการปรุงอีกแบบก็คือการใส่วัตถุดิบทำโอเด้งลงในน้ำซุปมิโสะโดยตรงค่ะ

โดเดนิ

โดเดนิ
ได้รับความอนุเคราะห์ภาพจาก: Nagoya Convention & Visitors Bureau

เช่นเดียวกับมิโสะโอเด้ง โดเดนิเป็นอาหารที่เคี่ยวส่วนผสมอย่างช้า ๆ ในซุปมิโสะเข้มข้น ส่วนประกอบหลักคือเครื่องใน แต่เพิ่มบุกคอนยัคคุและไข่ต้มเข้าไปด้วย โดเดนิซึ่งรสอูมามิของมิโสะได้แทรกซึมเข้าไปอยู่ในส่วนผสมอย่างเข้มข้น ก็เป็นอาหารที่ขาดไม่ได้ในอิซากายะในไอจิค่ะ

โอกุระโทสต์

โอกุระโทสต์

นอกจากมิโสะแล้ว วัฒนธรรมอาหารอีกอย่างในจังหวัดไอจิก็คืออาหารเช้า หากคุณสั่งกาแฟ จะมาพร้อมกับขนมปังปิ้งซึ่งเป็น "บริการตอนเช้า" มาตรฐานตามร้านกาแฟและคาเฟ่ในจังหวัดค่ะ แน่นอนว่าขนมปังที่ทางร้านเสิร์ฟก็คือขนมปังปิ้งโอกุระค่ะ

โอกุระโทสต์ เป็นขนมปังปิ้งสดใหม่ราดด้วยเนยและถั่วแดงกวนอังโกะ โอกุระโทสต์เกิดขึ้นในปี 1921 เมื่อเจ้าของร้านกาแฟ “Matsuba” ได้ยินมาว่านักเรียนชอบกินซุปถั่วแดงเซ็นไซโดยการเอาขนมปังปิ้งมาจิ้มค่ะ

กุ้งชุบแป้งทอด

กุ้งชุบแป้งทอด

ชาวไอจิชื่นชอบกุ้งกันมาก และอ่าวมิคาวะซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดไอจิก็เป็นหนึ่งในแหล่งผลิตกุ้งรายใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ดังนั้นอาหารกุ้งจึงเป็นสิ่งจำเป็นในงานเฉลิมฉลองทุกกรณีค่ะ ในบรรดาเมนูกุ้งหลากหลายชนิด กุ้งชุบแป้งทอดเป็นเครื่องเคียงที่คนท้องถิ่นคุ้นเคยมากที่สุด ไม่ได้มีแค่ตามคาเฟ่ ร้านอาหารตะวันตก และร้านอิซากายะเท่านั้น แต่ยังมีร้านอาหารเฉพาะทางที่บริการกุ้งชุบแป้งทอดแบบทานได้ไม่อั้นอีกด้วย

ชื่อเสียงของกุ้งชุบแป้งทอดได้พุ่งสูงขึ้นเพราะนักแสดงตลก "ทาโมริ" ล้อเลียนการออกเสียง "เอบิฟราย" ในสำเนียงนาโกย่าออกในรายการทีวี ที่จริงแล้วชื่อเรียกในนาโกย่านั้นก็เกือบจะเหมือนกับชื่อเรียกในจังหวัดอื่น ๆ ค่ะ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยโอกาสนี้ ภาพลักษณ์ที่ว่ากุ้งชุบแป้งทอดนั้นก็คืออาหารขึ้นชื่อของนาโกย่าหรือไอจิก็ได้แพร่หลายไปทั่วญี่ปุ่นค่ะ

ทามะเซ็น

ทามะเซ็น

เพียงวางไข่ดาวหรือไข่ขยี้ลงบนข้าวเกรียบกุ้งแล้วพับครึ่ง ก็จะได้ทามะเซ็นค่ะ ขนมนี้มักพบเห็นได้ตามซุ้มร้านในงานเทศกาลและร้านขนมในจังหวัดไอจิ ในบางครั้งยังมีรุ่นพิเศษที่มียากิโซบะหรือทาโกะยากิใส่อยู่ข้างในอีกด้วยค่ะ

"ทามะเซ็น" นั้นต่างจาก "ทามาโกะเซ็มเบ้" ของทางคันไซซึ่งใช้ไข่ลวกและเซมเบ้ปกติ "ทามะเซ็น" ของไอจิเป็นเซมเบ้ข้าวเกรียบกุ้งที่มีไข่ดาวสุกพอประมาณอยู่ตรงกลางค่ะ

นอกจากนี้จุดกำเนิดของทามาโกะเซ็มเบ้ในคันไซก็ทำขึ้นเพื่อลดปริมาณของภาชนะพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ แต่ทามะเซ็นของจังหวัดไอจินั้นเป็นของว่างเกิดจากความต้องการของเด็กที่ "จะกินข้าวเกรียบเซ็มเบ้" กับความคิดที่ว่า "ไข่ดาวเข้ากันได้ดีอย่างน่าประหลาดใจ" ค่ะ

หัวข้อเรื่อง

Survey[แบบสอบถาม] กรุณาบอกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น







Recommend