เมื่อพูดถึงมิโตะ จังหวัดอิบารากิแล้วละก็ นอกเหนือจาก "ไคราคุเอ็น" ซึ่งเป็นหนึ่งในสามสวนที่ยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่นแล้ว หลายคนก็อาจจะนึกถึงเรื่องราวของ "มิโตะ โคมง" (水戸黄門 / Mito Komon) กันค่ะ "มิโตะ โคมง" บุคคลซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังในญี่ปุ่น จริง ๆ แล้วก็คือ "โทคุงาวะ มิตสึคุนิ" (徳川光圀 / Tokugawa Mitsukuni) ผู้ครองแคว้นคนที่สองของแคว้นมิโตะในสมัยเอโดะ ชื่อ "มิโตะ โคมง" ได้มาเพราะมิตสึคุนิถูกแต่งตั้งให้เป็น ชูนากอง (中納言 / Chunagon หรือที่มักเรียกกันในชื่อ "มิโตะจิโร่" 黄門侍郎 / Mitojiro) ค่ะ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะเป็นสมาชิกของสามตระกูลใหญ่โทคุงาวะ (徳川御三家 / Tokugawa Gosanke) แต่ปราสาทมิโตะซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของแคว้นมิโตะนั้นค่อนข้างแตกต่างจากอีกสองตระกูลค่ะ ดังนั้นในครั้งนี้ กองบรรณาธิการ FUN! JAPAN จะมาแนะนำปราสาทมิโตะอย่างละเอียดกันค่ะ
"ตระกูลมิโตะโทคุงาวะ" ซึ่งเป็นหนึ่งในสามตระกูลใหญ่โทคุงาวะ
สามตระกูลใหญ่โทคุงาวะ (徳川御三家 / Tokugawa Gosanke) หมายถึงสามตระกูลอันได้แก่ "ตระกูลโอวาริโทคุงาวะ (จังหวัดไอจิ)" "ตระกูลคิชูโทคุงาวะ (จังหวัดวาคายาม่า)" และ "ตระกูลมิโตะโทคุงาวะ" สามตระกูลใหญ่หรือ โกะซังเกะ (御三家 / Gosanke) หมายถึงตระกูลผู้ครองแคว้นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลสำเร็จราชการโดยโชกุนโทคุงาวะ และสามตระกูลแรกที่ถูกกำหนดโดยโทคุงาวะ อิเอยาสุ ก็ได้แก่ ตระกูลโทคุงาวะหลัก ตระกูลโอวาริโทคุงาวะ และตระกูลคิชูโทคุงาวะ นอกจากนี้ โชกุนผู้ที่จะมาสืบทอดตำแหน่งต่อในรัฐบาลสำเร็จราชการโดยโชกุนโทคุงาวะก็จะได้รับการเสนอชื่อจากสามตระกูลนี้เสมอค่ะ
ในเวลานั้นตระกูลมิโตะโทคุงาวะอยู่ต่ำกว่าโอวาริโทคุงาวะและคิชูโทคุงาวะ แต่ในเวลาหลายปี ตระกูลนี้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทั่วไปในเอโดะและมีส่วนร่วมในกิจการทั่วไป จนถูกเรียกขานกันว่า "รองโชกุน" (副将軍 / Fuku Shogun) หลังจากการตายของอิเอยาสุ ตระกูลสายมิโตะก็ได้เข้าร่วมในสามตระกูลใหญ่ค่ะ
ในทางกลับกัน มีข่าวลือว่าโทคุงาวะ อิเอยาสุ ได้สั่งเสียไว้ว่า "อย่าให้ตระกูลมิโตะโทคุงาวะเป็นผู้สืบทอดเด็ดขาด" แต่ก็เป็นข่าวลือที่ไม่มีมูลค่ะ อย่างที่ทราบกัน "โทคุงาวะ โยชิโนบุ" (徳川慶喜 / Tokugawa Yoshinobu) โชกุนคนสุดท้ายของรัฐบาลเอโดะภายใต้การปกครองโดยโชกุน ก็มาจากตระกูลมิโตะโทคุงาวะค่ะ
"ปราสาทมิโตะ" หนึ่งในปราสาทดินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น
เมื่อคุณเยี่ยมชมปราสาทมิโตะ คุณอาจสงสัยว่า "ทั้ง ๆ ที่มันถูกเรียกว่าเป็นหนึ่งในสามตระกูลใหญ่ แต่ทำไมตัวปราสาทถึงไม่โดดเด่นเลย?"
ปราสาทมิโตะเป็นปราสาทฮิรายามะ (平山城 / Hirayama-jo ปราสาทที่สร้างบนพื้นที่ราบ) ที่ตั้งอยู่บนที่ราบสูงระหว่างแม่น้ำนากะและทะเลสาบเซ็นบะ และสร้างขึ้นตั้งแต่ปลายสมัยเฮอัน (794-1184) จนถึงต้นยุคคามาคุระ (1185-1333) มีประวัติยาวนานกว่าปราสาทนาโกย่าของโอวาริโทคุงาวะและปราสาทวาคายามะของคิชูโทคุงาวะ สร้างขึ้นโดย บาบะ สุเกะโมโตะ (馬場資幹 / Baba Sukemoto) ต่อมาได้ถูกปกครองโดยตระกูลซาตาเกะ (佐竹 / Satake) และถูกปิดผนึกโดยโทคุงาวะ โยริฟุสะ (徳川頼房 / Tokugawa Yorifusa) ผู้ครองแคว้นคนแรกของแคว้นมิโตะในสมัยเอโดะและกลายเป็นที่อยู่อาศัยของตระกูลผู้ครองแคว้นมิโตะไปโดยปริยาย
โยริฟุสะผู้รับช่วงต่อการปกครองปราสาทนี้มา ได้ปรับปรุงและขยายซันโนมารุ (三の丸 / Sannomaru วงล้อมกำแพงที่สาม) และโซโตโบริ (外堀 / Sotobori คูรอบนอกปราสาท) สร้างเรือนอยู่อาศัยในนิโนะมารุ (二の丸 / Ninomaru วงล้อมกำแพงที่สอง) และสร้างป้อมธนูที่เรียกว่าซันดันโมโนมิยากุระ (三階物見櫓 / Sandan Monomi-yagura ป้อมสังเกตการณ์สามชั้น) แต่เมื่อเทียบกับปราสาทนาโกย่าและปราสาทวาคายามะซึ่งมีหอปราการปราสาท (天守 / Tenshu) อาจจะดูด้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด เหตุผลก็คือ เนื่องจากปราสาทมิโตะไม่มีกำแพงหินเรียง ปราสาทมิโตะจึงปกป้องปราสาทด้วยสันดินและคูน้ำที่มีตลิ่งดินขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ผู้ครองแคว้นมิโตะยังไปอยู่ที่เอโดะมาเป็นเวลานาน และไม่ค่อยได้กลับมาที่ปราสาทของมิโตะ การตกแต่งภายในของปราสาทจึงค่อนข้างเรียบง่ายค่ะ
ปราสาทมิโตะได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน "100 ปราสาทขึ้นชื่อของญี่ปุ่น" ในปี 2006 ค่ะ ในปัจจุบัน เวลาไปเดินเล่นในอำเภอมิโตะ คุณยังสามารถเห็นสันดินและคูน้ำได้อยู่ แต่อาคารขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ถูกไฟไหม้พังไปในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทางกลับกัน อาคารที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ "ยาคุอิมอน" (薬医門 / Yakui-mon ประตูยาคุอิ) ถูกสร้างขึ้นในการครองปราสาทโดยสมัยตระกูลซาตาเกะ (1590 ถึง 1602) และเป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่กำหนดโดยจังหวัดอิบารากิ ในปีค.ศ. 1981 ได้มีการย้ายและบูรณะใหม่บนที่ตั้งของโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายมิโตะแห่งที่ 1 (県立水戸第一高等学校 / Mito First High School) ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของฮอนมารุ (本丸 / Honmaru วงล้อมกำแพงหลัก) ของปราสาทมิโตะในอดีต หลังจากนั้น หากชมป้อมธนูหัวมุมกำแพงของนิโนมารุ (二の丸角櫓 / Ninomaru Sumi-yagura) และโอเทะมง (大手門 / Otemon ประตูหลัก) ที่ได้รับการฟื้นฟูร่วมกันแล้ว ก็พอจะเห็นเค้าโครงของปราสาทในอดีตได้บ้างค่ะ
ข้อมูลการท่องเที่ยว
- ชื่อสถานที่: ซากปราสาทมิโตะ (水戸城跡 / Mito Castle Ruins สถานที่จัดแสดงนิทรรศการนิโนมารุ)
- ที่ตั้ง: 2-9-22 Sannomaru, Mito-shi, Ibaraki
- การเดินทาง: เดินประมาณ 10 นาทีจากทางออกทิศเหนือของสถานี JR Mito
- เวลาทำการ: 9:00 ถึง 16:00 น.
- วันหยุดประจำ: 29 ธันวาคม - 3 มกราคม
"โคโดคัง" หอเกียรติยศที่รายล้อมไปด้วยต้นบ๊วย
ไม่เพียงแต่ประตูยาคุอิมงเท่านั้น "โคโดดัง" (弘道館 / Kodokan) เองก็เป็นอาคารขนาดเล็กอีกแห่งที่รอดจากไฟสงครามอีกด้วย การก่อสร้าง "โคโดดัง" เสร็จสมบูรณ์ในปี 1841 ในซันโนมารุของปราสาทมิโตะ และอาคารหลักก็ได้เปิดใช้งานในปี 1857 เป็นโรงเรียนประจำแคว้นที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นในขณะนั้น ก่อตั้งโดย "โทคุงาวะ นาริอากิ" (徳川斉昭 / Tokugawa Nariaki) ผู้ครองแคว้นคนที่เก้าของแคว้นมิโตะ ที่มักถูกเรียกว่า "เรทสึโค" แม้ว่าแคว้นมิโตะจะไม่ทุนทรัพย์เหลือเฟือพอจะสร้างได้ในขณะนั้น แต่ก็สร้างโรงเรียนประจำแคว้นขนาดใหญ่ขึ้น จากจุดนี้ก็คงจะเห็นความมุ่งมั่นอันแรงกล้าของนาริอากิในการยกระดับการศึกษาของเหล่านักรบในแคว้นได้สินะคะ
อายุสำหรับเข้าเรียนของโคโดคังคือ 15 ถึง 40 ปี แต่ก็สามารถมาเรียนที่นี่ได้ตลอดชีวิตโดยไม่มีการกังวลเรื่องการสำเร็จการศึกษา โคโดคังซึ่งกลายเป็นสถานที่สำหรับทั้งบุ๋นและบู้ ไม่เพียงสอนด้านวิชาการอย่างปรัชญาขงจื๊อ มารยาท วิทยาศาสตร์ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ และกวีนิพนธ์วากะ (เพลงกลอนญี่ปุ่น) เท่านั้น แต่ยังสอนศิลปะการรบอย่างเคนโด้ ยุทธศาสตร์ การใช้ปืนยาว และการขี่ม้าด้วยค่ะ นอกจากนี้ยังได้เปิดศูนย์การแพทย์เพื่อการศึกษาแพทย์ "โทคุงาวะ โยชิโนบุ" โชกุนคนสุดท้ายของโชกุนเอโดะก็ได้รับการศึกษาอย่างมากมายจากที่นี่เช่นกันค่ะ
อาคารสำนักงานใหญ่ ห้องโถงชิเซ็นโด (至善堂 / Shizendo) และประตูหลักของโคโดคัง ก็ถูกกำหนดให้เป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ และในปี ค.ศ. 2015 ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นมรดกของญี่ปุ่นในฐานะ "กลุ่มมรดกทางการศึกษาของญี่ปุ่นสมัยใหม่ตอนต้น: ต้นกำเนิดของวิชาการและการขัดเกลา" (近世日本の教育遺産群―学ぶ心・礼節の本源 / Educational Heritage from Early-Modern Japan: The Origins of Academics and Decorum)
ไม่เพียงแต่เป็นหอด้านวิชาการเท่านั้น แต่ในฤดูใบไม้ผลิ ช่วงที่ดอกบ๊วยประมาณ 800 ดอกบานสะพรั่งในพื้นที่โคโดคัง ก็เป็นที่รู้จักในฐานะสถานที่ที่มีชื่อเสียงสำหรับการชมดอกบ๊วยจากกลิ่นหอมของดอกบ๊วยที่คลุ้งไปทั่ว
อนึ่ง พื้นที่รอบ ๆ ซากปราสาทมิโตะก็ได้กลายเป็นย่านโรงเรียนไปแล้ว ทั้งโรงเรียนมัธยมปลายมิโตะแห่งที่ 1 ในบริเวณฮอนมารุ โรงเรียนมัธยมปลายมิโตะแห่งที่ 3 ในบริเวณนิโนมารุ และโรงเรียนประถมศึกษาและโรงเรียนอนุบาลที่สังกัดคณะศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอิบารากิ ก็มากระจุกตัวรวมตัวกันอยู่ที่นี่ ถ้าเรทสึโคผู้ที่เปิดโคโดคังได้มาเห็นสภาพในปัจจุบันเข้า ก็คงต้องประทับใจเป็นแน่ค่ะ
ข้อมูลการท่องเที่ยว
- ชื่อสถานที่: โคโดคัง (弘道館 / Kodokan)
- ที่ตั้ง: 1-6-29 Sannomaru, Mito-shi, Ibaraki
- การเดินทาง: เดินประมาณ 8 นาทีจากทางออกทิศเหนือของสถานี JR Mito
- เวลาทำการ:
- 20 กุมภาพันธ์ - 30 กันยายน 9:00-17:00 น.
- 1 ตุลาคม - 19 กุมภาพันธ์ 9:00-16:30 น.
- วันหยุดประจำ: 29 ธันวาคม - 3 มกราคม
- ค่าเข้าชม: ผู้ใหญ่ 400 เยน เด็ก 200 เยน เด็ก 70 เยน 200 เยน
ที่นี่ก็แนะนำด้วย: สวนไคราคุเอ็น
นอกจากโรงเรียนในตระกูลแล้ว เรทสึโคยังได้สร้างสวน "ไคราคุเอ็น" (偕楽園 / Kairakuen) ซึ่งเป็นหนึ่งในสามสวนขึ้นชื่อแห่งญี่ปุ่นอีกด้วย นาริอากิที่นึดมั่นในหลักการ "อิจโจอิชชิ" (一張一弛 / Icchou Ishhi) เชื่อว่าการเรียนรู้นั้นมีความสำคัญมาก แต่การพักผ่อนอย่างเหมาะสมก็จำเป็นเช่นกัน "โจ" (張 / Chou) ใน "อิจโจอิชชิ" ก็คือ "โคโดกัน" ซึ่งเป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ ขณะที่ "ชิ" (弛 / Shi) ก็คือไคราคุเอ็นซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนนั่นเองค่ะ
ไคราคุเอ็นซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่และปลูกต้นบ๊วย 3,000 ต้น เป็นหนึ่งในจุดชมดอกบ๊วยชั้นนำของญี่ปุ่น ใน "เทศกาลดอกบ๊วยมิโตะ" (水戸梅まつり / Mito Plum Blossom Festival) ในฤดูใบไม้ผลิ คุณสามารถชมทิวทัศน์ของทะเลสาบเซ็นบะที่รายล้อมไปด้วยดอกบ๊วยในตอนกลางวันและชมดอกไม้ไฟพร้อมกับดอกบ๊วยในตอนกลางคืนได้ รายล้อมด้วยกลิ่นหอมของดอกบ๊วย ให้คุณสัมผัสได้ถึงทุกรสชาติ แถมในปี 2022 ยังมีการให้รูปลักษณ์ใหม่กับสวนไคราคุเอ็นโดยจัดงาน "teamLab: Digitized Kairakuen Garden" ร่วมกับกลุ่มศิลปะ teamLab ด้วยค่ะ
ข้อมูลการท่องเที่ยว
- ชื่อสถานที่: สวนไคราคุเอ็น (偕楽園 / Kairakuen)
- ที่ตั้ง: 1-3-3 Tokiwa-cho, Mito-shi, Ibaraki
- การเดินทาง: นั่งรถประจำทางจากทางออกทิศเหนือของสถานี JR Mito ประมาณ 20 นาที ไปลงที่ป้าย "Kobuntei Omotesando", "Kairakuen East Gate", "Kairakuenmae" หรือ "Senba Lake" และเดินต่ออีกประมาณ 5-10 นาที
- เวลาทำการ:
- กลางเดือนกุมภาพันธ์ - 30 กันยายน 6:00 น. - 19:00 น
- 1 ตุลาคม ถึง กลางเดือนกุมภาพันธ์ 7:00 ถึง 18:00 น.
- ค่าเข้าชม: ผู้ใหญ่ 300 เยน เด็ก 150 เยน
(เข้าชมบางส่วนฟรี ยกเว้นสวนหลัก เปิด 24 ชั่วโมง)
Comments