เป็นที่ทราบกันดีว่าคนญี่ปุ่นนั้นชอบการแช่น้ำ แต่ในสมัยก่อนที่จะมีอ่างอาบน้ำที่บ้านนั้น คนญี่ปุ่นต้องไปยังโรงอาบน้ำสาธารณะที่เรียกว่าเซ็นโตเพื่อชำระล้างร่างกายกันค่ะ แม้แต่ในปัจจุบันก็ยังมีผู้คนจำนวนมากไปยังโรงอาบน้ำสาธารณะกันทุกวันและเพลิดเพลินกับการแช่น้ำร้อนในอ่างอาบน้ำขนาดใหญ่ คราวนี้เราจะมาแนะนำ "วัฒนธรรมเซ็นโต" ซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่นค่ะ
วัฒนธรรมการอาบน้ำของญี่ปุ่น
ว่ากันว่าวัฒนธรรมการอาบน้ำของญี่ปุ่นเริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 6 ในสมัยอาสุกะ ว่ากันว่าวัดในสมัยนั้นมีโรงอาบน้ำเพื่อให้พระสงฆ์ได้ชำระร่างกาย แล้วภายหลังจึงเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้อาบน้ำกันค่ะ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การอาบน้ำเป็นวัฒนธรรมที่เกิดจากประเพณีทางศาสนานั่นเองค่ะ
หลังจากนั้น "โทจิ" (การแช่น้ำร้อนบำบัด) ก็ปรากฏขึ้น ในช่วงสมัยเอโดะนั้นเชื่อในประสิทธิภาพในการรักษาบำบัดของน้ำพุร้อน และการแช่น้ำพุร้อนบำบัดก็เป็นที่นิยม ชาวนาก็ได้ใช้เวลานานแช่ในบ่อน้ำพุร้อนในเวลาว่างจากการทำงาน นี่ก็เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมการอาบน้ำของญี่ปุ่นด้วย
เซ็นโตคืออะไร
เซ็นโตเป็นโรงอาบน้ำสาธารณะ ที่เรียกกันว่า "เซ็นโต" (銭湯) เพราะว่าต้องจ่ายเงิน (銭 / sen เซ็น หน่วยเงินสมัยก่อน 100 เซ็น = 1 เยน) เพื่ออาบน้ำร้อน (湯 / yu หรือ to) ว่ากันว่าเซ็นโตที่เก่าแก่ที่สุดตั้งอยู่ในเกียวโตและนาราในสมัยเฮอัน แต่เพิ่งมาเริ่มได้รับความนิยมหลังจากที่เข้าสู่สมัยเอโดะเท่านั้นค่ะ
พอเข้าสู่สมัยเอโดะ การอาบน้ำก็กลายเป็นธุรกิจมากกว่าจะเป็นจุดประสงค์ทางศาสนาแบบเดิมค่ะ ในเอโดะมีมีอาคารไม้หลายแห่ง คนทั่วไปจึงไม่สามารถครอบครองอ่างอาบน้ำร้อนในบ้านตัวเองได้เพื่อป้องกันไฟไหม้ อีกทั้งยังไม่มีเงินเก็บเหลือเฟือพอจะซื้ออ่างอาบน้ำในบ้านได้ด้วย ในสมัยนั้นจึงมีเพียงชนชั้นสูงเท่านั้นที่มีอ่างอาบน้ำในบ้านของตนเอง และถัดมาเหล่าพ่อค้าพาณิชย์ก็ค่อย ๆ ติดตั้งอ่างอาบน้ำที่บ้านกันค่ะ
คนธรรมดาจำนวนมากที่ต้องการอาบน้ำก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะไปยังเซ็นโตค่ะ และด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นสถานที่สำหรับให้คนในท้องถิ่นมีปฏิสัมพันธ์กัน แม้แต่ในปัจจุบัน มหานครโตเกียวก็ยังเป็นจังหวัดที่มีเซ็นโตมากที่สุดในญี่ปุ่น และเขตโอตะก็มีห้องอาบน้ำสาธารณะจำนวนมากที่สุดในบรรดา 23 เขตของโตเกียวค่ะ
มีห้องอาบน้ำรวมในเซ็นโตหรือไม่?
ในสมัยเอโดะเคยมีเซ็นโตหรือโรงอาบน้ำสาธารณะที่รวมเพศไม่แบ่งชายและหญิง ว่ากันว่ามีเซ็นโตแบบรวมในเกียวโตมากกว่าในเอโดะค่ะ เนื่องจากเซ็นโตบางส่วนได้กลายเป็นแหล่งธุรกิจการค้าประเวณี โชกุนเอะโดะจึงได้สั่งห้ามห้องอาบน้ำรวมไปค่ะ
เซ็นโตกับภูเขาไฟฟูจิ
เมื่อพูดถึงเซ็นโต หลายคนมักจะนึกถึงภาพวาดสีน้ำมันขนาดใหญ่รูปภูเขาไฟฟูจิซึ่งอยู่ในห้องอาบน้ำกันค่ะ แต่จริง ๆ แล้ว ภาพวาดสีน้ำมันของภูเขาไฟฟูจิในเซ็นโตนั้นเริ่มขึ้นในสมัยไทโชโดยโรงอาบน้ำสาธารณะ "คิไคยุ" ในคันดะ โตเกียว และกลายเป็นที่นิยมอย่างมากในภูมิภาคคันโต ส่วนในฝั่งคันไซนั้นจะนิยมการใช้ภาพวาดการเรียงกระเบื้องบุผนังและการตกแต่งกระเบื้องโมเสกมากกว่าค่ะ
ภาพสีน้ำมันรูปภูเขาไฟฟูจิยอดนิยมนั้นก็ได้กลายเป็นธุรกิจที่รุ่งเรืองให้กับเอเจนซี่โฆษณาค่ะ ในสมัยที่อ่างอาบน้ำตามบ้านยังไม่เป็นที่นิยม เซ็นโตก็เป็นสถานที่ที่มีผู้คนมาชุมนุมกัน ดังนั้นนักโฆษณาจึงทำการต่อรองสิทธิ์ในการโฆษณาโดยเสนอว่าจะให้ภาพวาดสีน้ำมันฟรีค่ะ และพื้นที่โฆษณาภายใต้ภาพสีน้ำมันก็กลายเป็นจุดขายไปโดยปริยาย และจิตรกรมืออาชีพสำหรับการวาดภาพสีน้ำมันในเซ็นโตก็ยังได้รับการฝึกอบรมเป็นจำนวนมากค่ะ
ขันเคโรรินและนม
ไม่เพียงแต่วาดภาพวาดสีน้ำมันเท่านั้น ขันในโรงอาบน้ำก็ยังถูกใช้ในการโฆษณาด้วย ขันพลาสติกสีเหลือง "เคโรรินโอเกะ" (ケロリン桶 / Kerorin-oke) ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำเซ็นโตนั้น แท้จริงแล้วผลิตโดยบริษัทเภสัชแห่งหนึ่งในจังหวัดโทยามะ เพื่อโฆษณายาแก้ปวด "เคโรริน" และยังถูกเรียกว่า "ขันถาวร" (永久桶 / eikyu-oke) เนื่องจากมีความแข็งแรงและทนทาน จนกลายเป็นที่นิยมทั่วประเทศค่ะ
อีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่ทำเงินจากการอาบน้ำสาธารณะคือร้านขายนมค่ะ ในสมัยโชวะ นมได้รับความนิยมในฐานะผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่ข้อเสียใหญ่ก็คือไม่สามารถเก็บให้เย็นตามบ้านได้ ดังนั้นอุตสาหกรรมนมจึงเข้าหาเซ็นโตที่มีตู้เย็นซึ่งยังมีจำนวนน้อยในสมัยนั้น เป็นผลให้นมกลายเป็นเครื่องดื่มประจำหลังจากอาบน้ำกันค่ะ
การปรากฎตัวของซุปเปอร์เซ็นโต
เซ็นโตนั้นเป็นสถานบริการเฉพาะทางเพื่อชำระร่างกาย จึงมีบริการน้ำร้อนและอ่างอาบน้ำร้อนมาตั้งแต่สมัยโบราณ และบางแห่งก็ยังมีบริการแบบง่าย ๆ เช่นการเข้าห้องซาวน่าด้วย โดยมีค่าบริการครั้งละ 480 เยน (เป็นค่าบริการในโตเกียว ค่าบริการนั้นจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับจังหวัด และห้องซาวน่าอาจคิดค่าบริการแยก) อย่างไรก็ตามเมื่อไม่นานมานี้ จำนวนสถานอำนวยความสะดวกที่มีความบันเทิงรวมอยู่ซึ่งเรียกกันว่า "ซุปเปอร์เซ็นโต" (スーパー銭湯 / super sento) ก็เพิ่มชมากขึ้นเช่นกัน
ซุปเปอร์เซ็นโตนั้นกว้างขวาง นอกจากการอาบน้ำแช่น้ำร้อนแล้ว ก็ยังมีร้านอาหาร บริการนวด พื้นที่เล่นเกม และห้องพักผ่อนเป็นต้น คุณจึงสามารถเพลิดเพลินได้แทบจะตลอดทั้งวันค่ะ สถานอำนวยความสะดวกเหล่านี้หลายแห่งมีน้ำพุร้อนในตัว เช่น "Oedo Onsen Monogatari" ค่าบริการเริ่มต้นที่ 1,500 เยน โดยยังไม่รวมอาหารและบริการนวดค่ะ
ด้วยการปรากฎตัวของซุปเปอร์เซ็นโต การแข่งขันของโรงอาบน้ำสาธารณะได้ทวีความรุนแรงขึ้น และจำนวนลูกค้าก็เริมลดลงเนื่องจากการแพร่กระจายของอ่างอาบน้ำในครัวเรือน ส่งผลให้เซ็นโตที่มีมาแต่โบราณต้องเปลี่ยนวิธีทำธุรกิจค่ะ เซ็นโตหลายแห่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยการปรับปรุงอาคารและการใช้แนวคิดใหม่ของผู้สืบทอดกิจการ มีข้อดีจากทั้งความเก่าและความใหม่ในตัวเอง ลูกค้าประจำเองก็มีความสุข และจำนวนลูกค้าใหม่ก็เพิ่มขึ้นด้วยค่ะ
มารยาทในเซ็นโต
เนื่องจากเซ็นโตเป็นห้องอาบน้ำสาธารณะ จึงมีมารยาทบางประการที่ควรรักษาค่ะ
- อย่าลืมชำระล้างร่างกายก่อนลงแช่ในอ่าง
- ห้ามนำผ้าขนหนูลงไปสัมผัสหรือจุ่มลงในอ่างอาบน้ำ
- ห้ามวิ่งบนพื้นที่ลื่น
- ห้ามซักผ้าและย้อมผมในโรงอาบน้ำ
- เมื่อใช้งานเสร็จแล้ว ให้นำขันและเก้าอี้กลับเข้าที่เดิม
- เช็ดตัวให้แห้งก่อนเข้าห้องแต่งตัว
คนที่มีรอยสักสามารถเข้าเซ็นโตได้หรือไม่?
คำตอบคือได้ แต่ไม่ใช่ทุกเซ็นโตนะคะ
คนที่มีรอยสักหลายคนคงติดภาพว่าไม่สามารถเข้าออนเซ็นกันได้ แต่จริง ๆ แล้วในญี่ปุ่นไม่มีกฎหมายห้ามผู้มีรอยสักเข้านะคะ แต่อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ที่ว่าคนที่มีรอยสักมักมีความเกี่ยวข้องกับพวกอันธพาลก็ยังคงเหลืออยู่ในสายตาคนญี่ปุ่นค่ะ
เซ็นโตมักจะอนุณาตผู้มีรอยสักมากกว่าเมื่อเทียบกับออนเซ็นเรียวกัง แต่ก็ยังมีบางแห่งที่ห้ามผู้มีรอยสักเข้าค่ะ ส่วนซุปเปอร์เซ็นโตนั้นก็ห้ามอย่างเด็ดขาด แต่บางแห่งก็มีสติกเกอร์สีผิวขนาดเล็กที่สามารถปิดซ่อนรอยสักได้ สามารถค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องบนอินเทอร์เน็ตได้ค่ะ ดังนั้นจึงแนะนำให้ตรวจสอบก่อนที่จะเดินทางไปยังเซ็นโตค่ะ
Comments