―นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันหนึ่ง ตอนที่กองบรรณาธิการกำลังหาอาหารเย็นกินกัน...
|A: บรรณาธิการหน้าใหม่ของ FUN! JAPAN (อยู่ญี่ปุ่นมา 1 ปี)|B: สต๊าฟ FUN! JAPAN ผู้โชกโชนประสบการณ์|
A: วันนี้อยากโซ้ยเนื้อจังเลยครับ
B: เอ้า ดูนั่นสิ (ชี้ไปที่ป้ายร้านอิซากายะที่อยู่ข้างหน้า) เมนูประจำวันของวันนี้คือเซ็ตเนื้อซากุระแหน่ะ
A: เดี๋ยวนะครับ คนญี่ปุ่นกินดอกซากุระกันเหรอครับ?
แน่นอนว่าไม่ได้กินดอกซากุระกันหรอกครับー
ในโลกของภาษาญี่ปุ่นแสนลึกล้ำนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คำที่เราคุ้นเคยในชีวิตประจำวันจะมีความหมายอื่นที่แตกต่างกันออกไปโดยสิ้นเชิง "ซากุระ" ที่มีชื่อเสียงระดับโลกมักใช้หมายถึง "ดอกไม้" แต่จริง ๆ แล้ว "ซากุระ" สามารถใช้กล่าวถึง "เนื้อ" ได้เช่นกันครับ
เช่นเดียวกับบรรณาธิการหน้าใหม่ A-ซัง หากคุณเป็นมือใหม่ในภาษาญี่ปุ่น คุณอาจเคยเข้าใจผิดกับคำพหุนามที่มีความหมายตั้งแต่สองความหมายขึ้นไป สำหรับ A-ซังที่กำลังเรียนภาษาญี่ปุ่นอย่างตั้งใจ และ สำหรับผู้อ่าน FUN! JAPAN ที่อยากรู้ภาษาญี่ปุ่น วันนี้ เราขอแนะนำภาษาญี่ปุ่นที่มีความหมายที่น่าประหลาดใจกันสักหน่อยครับ
ในยุคที่ห้ามกินเนื้อ ทั้ง "ซากุระ" และ "โมมิจิ" เคยเป็นเนื้อ!?
ทันทีที่บรรณาธิการหน้าใหม่ A-ซังได้กลับมาที่สำนักงานในวันนั้น เขาก็เปิดคอมพิวเตอร์ทันทีและพยายามค้นหาความหมายของ "เนื้อซากุระ" (桜肉 / sakura-niku)
ซากุระ (桜 / さくら / sakura) และใบไม้เปลี่ยนสี (紅葉 / もみじ / momiji) ที่เป็นตัวแทนของฤดูกาลทั้งสี่แห่งญี่ปุ่น เป็นเรื่องปกติที่คำสองคำนี้จะใช้อ้างถึงพืช แต่คงน่าแปลกใจที่มันยังถูกใช้เป็น "อินโกะ" (隠語 / ingo ศัพท์แสง) สำหรับเนื้อสัตว์ด้วยครับ
"อินโกะ" หรือศัพท์แสง เป็นคำหรือวลีที่รู้กันเฉพาะในกลุ่มคนกลุ่มเดียวกันเท่านั้น แม้ว่าจะมีการกินเนื้อสัตว์ในญี่ปุ่นมาเป็นเวลานาน แต่ในปี ค.ศ. 675 ในสมัยอาสุกะ จักรพรรดิเท็นมุได้น้อมรับเอาคำสอนเรื่องการห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิตของพระพุทธศาสนามาใช้ และได้ออก "พระราชโองการงดการรับประทานเนื้อสัตว์" สั่งห้ามกินเนื้อสัตว์จากวัว ม้า สุนัข ลิง และไก่ นับตั้งแต่นั้น การห้ามกินเนื้อสัตว์ยังคงดำเนินต่อไปในสมัยเฮอัน (794-1180) และสมัยคามาคุระ (1180-1336) นอกจากนี้ ในสมัยเอโดะ (1600-1868) ที่เป็นสังคมศักดินา โทคุงาวะ สึนะโยชิ โชกุนคนที่ห้าของรัฐบาลสำเร็จราชการโดยโชกุนแห่งเอโดะ ก็ยังได้ออก "ฎีกาความเมตตาต่อสิ่งมีชีวิต" และห้ามการกินเนื้อสัตว์อีกด้วย วัฒนธรรมการหลีกเลี่ยงการกินเนื้อเป็นอาหารจึงดำเนินต่อไปเป็นระยะเวลายาวนานเลยครับ
ในช่วงสมัยเอโดะ เมื่อการน้อมนำแนวคิดตามพระพุทธศาสนาถูกนำมาบังคับใช้อย่างมาก ร้านขายเนื้อจึงเริ่มดึงดูดลูกค้าโดยใช้ชื่อดอกไม้และพืชพรรณแทนเพื่อเป็นมาตรการต่อกรกับการห้ามกินเนื้อสัตว์และแอบขายเนื้อสัตว์กันโดยไม่เปิดเผย ว่ากันว่าคนทั่วไปซื้อโดยอ้างชื่อว่าเป็นต้นไม้เพื่อไม่ให้ถูกลงโทษนั่นเองครับ มีหลายทฤษฎีเกี่ยวกับที่มาของศัพท์แสงเกี่ยวกับเนื้อสัตว์ แต่มีรากศัพท์ทั่วไปดังนี้ครับ
* เวลาใช้เป็นศัพท์แสง โดยทั่วไปจะแสดงเป็นอักษรฮิรางานะและอักษรคาตาคานะแทนอักษรคันจิครับ
【เนื้อม้า】<さくら / Sa-ku-ra>
- เนื่องจากเวลาที่เนื้อม้าถูกหั่น ส่วนที่ไม่ติดมันจะเป็น "สีแดงชาด / สีซากุระ" ที่สดใส
- เนื่องจากม้ากินหญ้าและธัญพืชเป็นจำนวนมากในฤดูหนาว และเนื้อม้าในช่วงฤดูซากุระบานจะมีไขมันเยอะและลายเนื้อสวยงาม
- เนื่องจากฟาร์มปศุสัตว์ภายใต้การควบคุมโดยตรงของรัฐบาลโชกุนนั้นตั้งอยู่รอบ ๆ พื้นที่ซากุระ (佐倉 / Sakura ปัจจุบันอยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดชิบะ) และมีคำกล่าว "ถ้าพูดถึงม้า ต้องที่ซากุระ"
【เนื้อกวาง】<もみじ / Mo-mi-ji>
- เนื่องจากใบไม้เปลี่ยนสีและกวางถูกวาดเข้าด้วยกันในลายไพ่ Hanafuda (ไพ่คารุตะของญี่ปุ่นชนิดหนึ่ง) ในลวดลายชื่อว่า "鹿に紅葉" (กวางกับใบไม้เปลี่ยนสี) ในเดือนตุลาคม
【เนื้อเป็ด】<いちょう / I-cho-u>
- เนื่องจากใบแปะก๊วยคล้ายตีนเป็ด
หากคุณเห็น "ซากุระ" (さくら) หรือ "โมมิจิ" (もみじ) ในอิซากายะแบบนี้ อย่าเผลอตกใจนึกไปว่ากินดอกไม้และใบไม้กันเหรอนะครับ (หุหุ)
นอกจากนี้ยังมีเนื้อสัตว์อื่น ๆ อีกมากมายที่รู้จักกันในชื่อพืชแบบเดียวกับ "ซากุระ = เนื้อม้า" และ "โมมิจิ = เนื้อกวาง" ด้วยครับ
【เนื้อหมูป่า】<ボタン / Bo-tan>
- เนื่องจากเวลาที่หั่นเนื้อหมูป่าแล้วจัดใส่จานก็นิยมประดับประดาให้เหมือนกลีบดอกโบตั๋น
อนึ่ง ในช่วงครึ่งหลังของสมัยเอโดะ ชื่อสามัญของเนื้อสัตว์ป่า (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเนื้อหมูป่า) ก็ถูกเรียกว่า "山鯨" (kujira แปลว่า วาฬ) ด้วย เนื่องจากวาฬนั้นในสมัยนั้นถือเป็นปลา เนื้อวาฬจึงถือว่ารับประทานได้โดยไม่โดนอาญาใด ๆ ครับ
【เนื้อไก่】<かしわ / Ka-shi-wa>
- เนื่องจากสีของเนื้อไก่คล้ายกับของใบคาชิวะ (ใบโอ๊ค) เวลาที่กลายเป็นสีน้ำตาล
- เนื่องจากการกระพือปีกของไก่คล้ายกับลักษณะของการทำ "คาชิวะเตะ" (かしわ手 / kashiwate) ซึ่งก็คือการปรบมือส่งเสียงดังเพื่อแสดงความเคารพที่ศาลเจ้า
เกร็ดความรู้ที่ควรจำ①: ศัพท์แสงของเนื้อวัวและหมูคือ?
"ศัพท์แสง" ซึ่งรู้กันเฉพาะในกลุ่มผู้ที่เข้าใจเท่านั้นแบบนี้ ก็ยังมีการใช้กันอยู่แม้สิ้นสมัยเอโดะ และยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันครับ
…อ้าว? มีศัพท์แสงสำหรับเนื้อม้า เนื้อกวาง และไก่ แต่ไม่มีศัพท์แสงสำหรับเนื้อวัวหรือเนื้อหมูเหรอ?
ถ้าคุณคิดแบบนั้น ยินดีด้วยครับ!
ในความเป็นจริง ในสมัยเอโดะยังไม่นิยมกินเนื้อวัวและเนื้อหมูกันครับ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องตั้งชื่อเฉพาะ ประเพณีการกินเนื้อวัวและเนื้อหมูเริ่มแพร่หลายหลังจากยุคเมจิ (ค.ศ. 1868-1912) แถมตอนนี้ก็สามารถกินเนื้อสัตว์ได้อย่างเปิดเผยแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะใช้ศัพท์แสงเรียกเนื้อเหล่านี้อย่างลับ ๆ กันครับ
เกร็ดความรู้ที่ควรจำ①: เนื้อเป็น "ยา" งั้นเหรอ!?
จากผลกระทบของ "ฎีกาความเมตตาต่อสิ่งมีชีวิต" ก็บังคับให้ร้านเนื้อต้องเปลี่ยนไป เจ้าของร้านก็ได้ไอเดียอย่างหนึ่งขึ้นมา นั่นก็คือร้านขายยาครับ
ร้านขายยาในสมัยนั้นขายเนื้อเพราะมีฤทธิ์เป็นยาบำรุงกำลัง ว่ากันว่าโชกุนยอมยอมให้ขายเนื้อที่ร้านขายยา เพราะการห้ามขายเนื้อในร้านขายยาจะส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนนั่นเองครับ
หนทางสู่การพัฒนาระดับภาษาญี่ปุ่นยังคงดำเนินต่อไป...
นอกจากศัพท์แสงที่แนะนำข้างต้นแล้ว เนื้อสัตว์ยังเป็นที่รู้จักกันในชื่ออื่นอีกมาก เช่น ปลาปักเป้านั้นถูกเรียกว่า "เทปโป" (テッポウ / teppou ปืนคาบชุด) เพราะถ้าโดนพิษเข้าก็ตายได้ และกระต่ายก็มีชื่อว่า "เกทสึโยะ" (月夜 / getsuyo คืนพระจันทร์) เพราะ "อาศัยอยู่บนดวงจันทร์" เป็นต้นครับ
หากคุณได้อ่านบทความนี้แล้ว คุณเองก็ได้พัฒนาภาษาญี่ปุ่นของคุณเหมือนกับบรรณาธิการหน้าใหม่ A-ซังแล้วมั้งครับเนี่ย
Comments