สิ่งที่ควรทำเมื่อเผชิญกับแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น

  • 19 กุมภาพันธ์ 2022
  • Lily Baxter
  • Mon

สิ่งที่ควรทำเมื่อเผชิญกับแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น

แผ่นดินไหวเป็นเรื่องปกติในชีวิตของคนญี่ปุ่น โดยมีการฝึกซ้อมและแอปโทรศัพท์เป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันไปแล้ว แม้ว่าอาจดูไม่ปกติสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศต่าง ๆ ที่ไม่มีแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง แต่ก็ควรเตรียมพร้อมในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ไว้ก่อนค่ะ

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

ตลอดช่วงประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ประเทศนี้เคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในหลายภูมิภาค เนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างแผ่นทวีปและแผ่นมหาสมุทรหลายแผ่น จึงเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกและการระเบิดของภูเขาไฟ แม้ว่าสิ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กและก่อให้เกิดความเสียหายเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย แต่ก็มีหลายครั้งที่ส่งผลกระทบร้ายแรง

เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโต

เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโตยังคงเป็นแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1923 ส่งผลกระทบในภูมิภาคคันโตซึ่งรวมถึงโตเกียวด้วยความรุนแรงระดับ 8.3 Magnitude และคร่าชีวิตผู้คนไปราว 140,000 คน

เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ฮันชิน

เกิดในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 17 มกราคม 1995 เหตุแผ่นดินไหวฮันชินหรือที่รู้จักกันในชื่อ เหตุแผ่นดินไหวอะวาจิ เกิดขึ้นที่เกาะอะวาจิที่อยู่ใกล้กับโกเบ มีความรุนแรง 7.3 Magnitude แม้ว่าการสั่นสะเทือนจะกินเวลาเพียง 20 วินาที แต่ก็มีผู้เสียชีวิตกว่า 6,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้คนในโกเบ

เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ญี่ปุ่นตะวันออก

เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ญี่ปุ่นตะวันออกซึ่งกินเวลานานหกนาทีและแตะระดับ 9-9.1 Magnitude ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011 ทำให้เกิดคลื่นสึนามิที่สร้างความเสียหายร้ายแรง ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกนอกภูมิภาคโทโฮคุ และเป็นการสั่นไหวที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกในญี่ปุ่น มีผู้เสียชีวิตเกือบ 20,000 คน และความเสียหายต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะนำไปสู่การอพยพผู้คนหลายพันคนอย่างถาวร

ระบบวัดระดับความรุนแรงแผ่นดินไหวของญี่ปุ่น

ระบบวัดระดับความรุนแรงแผ่นดินไหวของญี่ปุ่น

มาตรา Shindo (震度) เป็นระบบวัดแผ่นดินไหวซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบทางกายภาพของแผ่นดินไหวที่ใช้เฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น เทียบไม่ได้กับมาตราส่วนการวัดพลังงานที่เกิดจากแผ่นดินไหว เช่น Moment Magnitude (Mw) หรือมาตราริกเตอร์ แต่จะวัดการสั่นของพื้นผิวในพื้นที่ต่าง ๆ แทน มาตราส่วนนั้นเดิมทีมีเพียงสี่ระดับเมื่อเริ่มต้นโดยสำนักงานอุตุนิยมวิทยากลางในปี 1884 ก่อนที่จะเพิ่มเป็นเจ็ดระดับในปี 1898

มาตราชินโดทั้ง 7 ระดับ

ระดับทั้ง 7 นั้นมีการจัดระดับตามผลกระทบต่อผู้คน อาคาร สาธารณูปโภค และอื่น ๆ ระดับพื้นฐาน 7 ระดับคือ 1-7 โดยมีระดับย่อยเพิ่มเติมระหว่างห้าถึงหกด้วย:

  • หนึ่ง: คนส่วนใหญ่ไม่สังเกตเห็นและไม่เห็นการสั่นไหวในอาคารส่วนใหญ่
  • สอง: สังเกตเห็นได้ในอาคารสูงบางแห่ง มีการเคลื่อนไหวบ้าง
  • สาม: คนส่วนใหญ่ในบ้านจะสังเกตเห็น คนที่อยู่ข้างนอกอาจสังเกตเห็นได้ คนจะตื่นขึ้นจากการสั่นไหว อาคารจะมีการสั่นสะเทือน แต่มีความเสียหายเพียงเล็กน้อย
  • สี่: ผู้คนจะเกิดความหวาดกลัว สิ่งของต่าง ๆ จะตกลงหล่น สายไฟจะแกว่ง ไฟฟ้าอาจหยุดชะงัก และอาจเกิดความเสียหายต่ออาคารที่ไม่ทนต่อแผ่นดินไหว
  • ห้า-: ผู้คนส่วนใหญ่จะแสวงหาความปลอดภัยจากการอยู่นอกอาคาร บางคนจะเดินลำบาก เฟอร์นิเจอร์จะเคลื่อนตัวและหน้าต่างอาจแตกได้ โดยจะสร้างความเสียหายให้กับอาคารที่ทนต่อแผ่นดินไหวต่ำ และมีหินถล่มบางส่วน
  • ห้า+: สำหรับคนส่วนใหญ่จะเดินลำบาก เฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่อาจล้มลงและประตูจะเปิดได้ยาก รถยนต์ไม่สามารถขับได้ บ้านที่มีความทนทานต่อแผ่นดินไหวน้อยได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ก๊าซและน้ำอาจได้รับผลกระทบ
  • หก-: คนจะยืนได้ยากและเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ล้มลง เสาไฟฟ้าอาจล้มทำให้เกิดไฟไหม้ได้ บ้านที่มีความทนทานน้อยอาจพังถล่ม บริการต่าง ๆ หยุดชะงักและรอยแตกอาจปรากฏขึ้นที่พื้น
  • หก+: คนจะไม่สามารถยืนได้เลย ต้นไม้อาจล้ม และสะพานหรือถนนได้รับความเสียหาย บ้านจะถล่มหรือเสียหายขึ้นอยู่กับระดับความทนทาน บริการได้รับความเสียหาย และรอยแตกปรากฏขึ้นพร้อมกับดินถล่ม
  • เจ็ด: ผู้คนถูกโยนขึ้นจากพื้นด้วยแรงสั่นและอาคารส่วนใหญ่พังทลายหรือได้รับความเสียหายโดยไม่คำนึงถึงความทนทานที่มี บริการทั้งหมดหยุดชะงักและพื้นดินบิดเบี้ยวด้วยรอยแตกและดินถล่มทั่วทั้งพื้นที่

สถาปัตยกรรมทนแผ่นดินไหวของญี่ปุ่น

สถาปัตยกรรมทนแผ่นดินไหวของญี่ปุ่น

เมื่อพิจารณาจากความถี่ของการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในญี่ปุ่น บ่อยครั้งจึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่ไม่มีความเสียหายต่ออาคารขนาดใหญ่เลย นี่ก็เป็นผลมาจากข้อกำหนดของอาคารที่เข้มงวดและการออกแบบที่ป้องกันแผ่นดินไหวที่ซับซ้อนซึ่งจำเป็นตามข้อกำหนดดังกล่าว แม้ว่าในอาคารแบบดั้งเดิมจะใช้การเชื่อมต่อด้วยไม้เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหว แต่อาคารสมัยใหม่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เข้มงวด สิ่งเหล่านี้ได้รับการปรับปรุงในปี 1971, 1981, 1995, 2000 และ 2009 และขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น ขนาด วัสดุ และฐานราก

มีสองปัจจัยหลักในเทคโนโลยีต้านทานแผ่นดินไหว: การแยกแรงสั่นสะเทือน (防震 / Vibration Isolation) หรือที่เรียกว่าการผ่อนแรง และการแยกแรงสั่นไหว (免震) โดยแบบแรกมุ่งเน้นไปที่การลดการเคลื่อนที่จากแรงแผ่นดินไหวโดยการติดตั้งผนังดูดซับแรงภายในโครงสร้าง ซึ่งอาจลดการเคลื่อนไหวได้ถึง 80% การแยกแรงสั่นไหวอาศัยโครงสร้างดูดซับแรงสั่นสะเทือนภายในฐานรากของอาคาร ซึ่งมักใช้บล็อกยาง สปริง ตลับลูกปืน และอื่น ๆ ร่วมกัน ซึ่งสามารถลดความแรงการสั่นไหวได้ประมาณหนึ่งในสามถึงหนึ่งในห้า

วิธีเตรียมตัวรับมือแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น

วิธีเตรียมตัวรับมือแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น

เนื่องจากแผ่นดินไหวเป็นเหตุการณ์ที่เกิดจนเป็นปกติและอาจมีความรุนแรงมากได้ การเตรียมพร้อมสำหรับแผ่นดินไหวจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากคุณพักในโรงแรม สิ่งสำคัญคือต้องตรวจสอบขั้นตอนปฏิบัตและจุดนัดพบเมื่อมาถึง (ข้อมูลนี้มีให้ในห้อง) และตรวจสอบเส้นทางหลบภัยของคุณ หากคุณพักในที่พักส่วนตัว การค้นหาจุดอพยพที่ใกล้ที่สุดก็มีความสำคัญเช่นกัน

มีแอพที่คุณสามารถดาวน์โหลดพร้อมคำเตือนและการแจ้งเตือน ตลอดจนคำแนะนำเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องทำและที่ที่ควรไป ขอแนะนำให้ใช้แอปออนไลน์เช่น Line ซึ่งพัฒนาขึ้นหลังจากภัยพิบัติในปี 2011 เพื่อให้ติดต่อกันได้ เนื่องจากรูปแบบการติดต่ออาจลดลง แต่แอปเหล่านี้ได้รับการออกแบบให้ใช้งานได้นานที่สุด

กระเป๋าฉุกเฉิน: สิ่งที่ต้องเตรียม

การมีกระเป๋าแผ่นดินไหวมีความสำคัญและมีรายการมากมายให้คุณเลือกว่าจะใส่อะไรไว้บ้าง การใช้กระเป๋าเป้ก็ถือเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากพกพาสะดวกในขณะที่ยังช่วยให้มือคุณว่างพอจะทำอย่างอื่นได้ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญหากคุณต้องเดินทางในภูมิประเทศที่ยากลำบาก ปีนเขา หรือมีเด็กมาด้วย สิ่งที่ควรบรรจุไว้ก็ได้แก่:

  • เสื้อผ้า: เสื้อผ้าสำหรับเปลี่ยนอย่างน้อย 1 ชุด รวมทั้งเสื้อผ้าสวมภายในที่อบอุ่นและผ้ากันน้ำ
  • อาหาร: เลือกอาหารของที่สามารถรับประทานได้ง่ายไม่ต้องมีขั้นตอนมากพร้อมอายุการเก็บรักษาที่ยาวนาน เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป Energy Bar อาหารกระป๋อง อาหารแห้ง หรืออาหารฉุกเฉินพิเศษ
  • น้ำ: ขวดน้ำมีน้ำหนักมากแต่มีความสำคัญและสามารถเติมได้ ขอแนะนำให้คุณเตรียมไว้สักหนึ่งแกลลอนต่อคน
  • อุปกรณ์เทคโนโลยี: ชุดแบตเตอรี่สำรอง เครื่องชาร์จ ถ่านและสายเคเบิลก็มีความสำคัญมาก
  • เครื่องมือ: รายการง่าย ๆ เช่น ที่เปิดกระป๋องและไฟแช็กมีความสำคัญ หรือชุดเครื่องมืออเนกประสงค์ มีดอเนกประสงค์
  • ไฟฉายและนกหวีด: สำคัญสำหรับความปลอดภัยและการแจ้งเผู้คนถึงตำแหน่งที่คุณอยู่
  • ชุดปฐมพยาบาล: ชุดอุปกรณ์ที่มีอุปกรณ์ครบครันอาจมีความสำคัญมากสำหรับการดูแลการบาดเจ็บเมื่อไม่มีความช่วยเหลือทางการแพทย์
  • ชุดสุขอนามัย: สิ่งของต่าง ๆ เช่น กระดาษทิชชู่ ผ้าเช็ดทำความสะอาดต้านเชื้อแบคทีเรีย หน้ากาก เจลทำความสะอาดมือ และห้องน้ำแบบพกพา (มักใช้โดยผู้ตั้งแคมป์) ก็เป็นสิ่งที่ดีเช่นกัน
  • ชุดที่พักพิง: สิ่งเหล่านี้อาจรวมถึงเต๊นท์ฉุกเฉิน กระเป๋าเก็บความร้อน และผ้าห่มฉุกเฉิน หากคุณต้องการที่พักพิง
  • เงินสด: เนื่องจากธนาคารมีแนวโน้มที่จะไม่ให้บริการ การมีเงินสดเพียงพอจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงภาวะฉุกเฉินที่ยาวนาน
  • เอกสารส่วนบุคคล: ตรวจสอบให้แน่ใจว่าสำเนาหรือต้นฉบับของบัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวผู้พำนัก บัตรประกัน วีซ่าและสัญญาเช่าของคุณถูกเก็บสำรองไว้ในกระเป๋า ในกรณีที่คุณไม่สามารถเข้าถึงบ้านหรือที่พักเพื่อไปเอาออกมาได้
  • ของใช้ส่วนตัว: การบรรจุแว่นตาสำรอง ยารักษาโรค และสิ่งของที่มีค่าทางความรู้สึกไว้ในที่เดียวก็เป็นการดี เพื่อให้คุณไม่ต้องกังวลกับการไปเก็บรวบรวมสิ่งของในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน

ทำอย่างไรเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น

ทำอย่างไรเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น

หากคุณอยู่ในญี่ปุ่นเมื่อเกิดแผ่นดินไหว นี่คือข้อปฏิบัตืง่ายๆ บางประการที่ควรทำ โดยขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ที่ไหนและความแรงของแผ่นดินไหว

ระหว่างเกิดแผ่นดินไหว

ข้อปฏิบัติง่าย ๆ อย่างการหมอบ-บัง-ยึด ก็เป็นแนวทางที่ดีในการจดจำว่าต้องทำอะไรระหว่างเกิดแผ่นดินไหว การหมอบลงบนพื้นจะป้องกันการหกล้ม ในขณะที่ใช้แขนหรือกระเป๋าบังหรือปกป้องศีรษะและคอไว้เพื่อป้องกันสิ่งของตกหล่นใส่ หากมีอะไรบางอย่างให้ยึดจับก็ควรจับบางอย่างไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกเหวี่ยงจากการสั่นอย่างรุนแรง แผ่นดินไหวหลายเหตุการณ์ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที แต่แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่คาดการณ์ไว้อาจใช้เวลาหลายนาทีและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หากคุณอยู่ในระบบขนส่งมวลชน ทางที่ดีควรเก็บให้ห่างจากหน้าต่าง เช่นเดียวกับในอาคารทุกหลัง และรอคำแนะนำ ผู้ขับขี่ควรจอดรถให้ห่างจากสายไฟ ต้นไม้ หรือสะพานในทันที หากคุณทิ้งรถไว้ ให้ปลดล็อคด้วยกุญแจเพื่อให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยสามารถเคลื่อนย้ายรถได้

หลังเกิดแผ่นดินไหว

เมื่อแผ่นดินไหวสิ้นสุดลง ก็ยังมีความเสี่ยงมากมายที่ต้องพิจารณา หากคุณอาศัยอยู่ริมทะเล ให้มุ่งหน้าไปยังที่สูงทันทีแทนที่จะรอสัญญาณเตือนภัยสึนามิ ถ้าในอาคาร ให้ออกไปข้างนอกแต่อย่าใช้ลิฟต์ และเตรียมพร้อมสำหรับการเกิดแผ่นดินไหวซ้ำ (อาฟเตอร์ช็อก) ปกติมีสถานที่อพยพในทุกเมือง ซึ่งมักจะตั้งอยู่ในโรงเรียน สวนสาธารณะ หรืออาคารราชการ และมีป้ายบอกทางอย่างดี หากจำเป็น ให้ไปที่สถานที่เหล่านี้หรือไปที่พื้นที่เปิดโล่ง เช่น สวนสาธารณะ นำกระเป๋าฉุกเฉินติดตัวไปด้วยในทุกกรณี

หัวข้อเรื่อง

Survey[แบบสอบถาม] กรุณาบอกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น







Recommend