สำหรับผู้ที่เรียนภาษาญี่ปุ่น ก็คงเคยเรียนคำจากต่างประเทศที่เป็นตัวคาตาคานะแปลก ๆ ที่ได้ยินแล้วต้องเกาหัวงงกันบ้างสักสองสามคำนะครับ จริง ๆ แล้วคำที่คนญี่ปุ่นใช้กันบ่อย ๆ แต่ฟังแล้วแปลก ๆ นั้นมีมากมายเลยครับ เราจะมาแนะนำคำที่ว่านี้กันครับ! ครั้งนี้เป็นฉบับบรวมฮิตคำคาตาคานะที่มีความหมายต่างจากคำต้นฉบับกันครับ!
アルバイト (arubaito อารุไบโตะ)
สำหรับคนที่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่นน่าจะเคยผ่านตากันมาทุกคนแล้วนะครับ ส่วนที่มาก็คิดว่าคงเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วนะครับ จริง ๆ แล้วมาจากคำภาษาเยอรมันว่า "arbeit" ครับ แต่คำว่า arbeit นั้นกลับไม่ได้หมายความว่า "งานพาร์ทไทม์" แต่อย่างใด แต่แปลว่า "งาน" ปกติเลยครับ แล้วทำไมความหมายถึงเพี้ยนกลายเป็นงาน "พาร์ทไทม์" ได้ละเนี่ย... อนึ่ง ในปัจจุบัน ที่ญี่ปุ่นจะมีการเรียนพนักงานพิเศษแยกกันครับ คือ "バイト" (ไบโตะ หรือ ไบท์ ย่อมาจาก อารุไบโตะ) จะใช้เรียกเฉพาะนักเรียนนักศึกษาหรือพวกฟรีแลนซ์หรือคนที่มีงานประจำแล้วมาทำครับ ส่วน "パート" (พาโตะ หรือ พาร์ท ย่อมาจาก พาร์ทไทม์) จะใช้เรียกพวกพ่อบ้านแม่บ้านที่ไม่มีงานประจำครับ
マンネリ (manneri มันเนริ)
มีต้นกำเนิดมาจากคำว่า "mannerism" ในภาษาอังกฤษครับ ความหมายก็คือ "กิริยาท่าทางเฉพาะตัว" ซึ่งใช้ตรงกับคำคาตาคานะอื่นคือ "マンネリズム" (mannerizumu) ครับ ส่วนคำว่า "マンネリ" (มันเนริ) ซึ่งเกิดจากต้นกำเนิดเดียวกันนั้น กลับแปลว่า "สภาวะหมดไฟเพราะความซ้ำซากจำเจ" แทนครับ เช่นการใช้วิถีชีวิตเดิม ๆ ทุกวันจนเบื่อ หรือจะใช้ในด้านความสัมพันธ์ของคู่รักก็ยังได้ ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สภาวะหมดไฟก็มีคำว่า "マンネリ化" (มันเนริกะ) ด้วยครับ กลายเป็นคำที่ไม่เกี่ยวกับคำตั้งต้นแรกสุด "manner" (มารยาท) ไปเลยนะครับเนี่ย...
テンション (tenshon เท็นชอน)
มาจากคำว่า "tension" ในภาษาอังกฤษ แต่ทว่า คำต้นฉบับนั้นมีความหมายใกล้เคียดกับ "stress" คือความตึงเครียดหรือแรงเครียด รวมไปถึงความประหม่าครับ ปกติมักจะมีความหมายในเชิงลบ เช่นด้วยกับต้นคำ "tense" ที่แปลว่าเครียดครับ แต่ในภาษาญี่ปุ่น テンション ( เทนชั่น) กลับมีความหมายว่า "ความรู้ตื่นเต้น" เหมือนคำว่า "excitement" แทนครับ ถ้าลองพูดว่า "ハイテンション" (high tension) ใส่คนที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก คงถูกมองว่า อารมณ์ไม่คงที่ใกล้ระเบิดแทนครับ แต่ถ้าคนญี่ปุ่นฟังก็กลับเข้าใจว่า "กำลังสนุกสุดฤทธิ์" เฉยเลย อาจจะเป็นเพราะ "ความประหม่า" ในภาษาญี่ปุ่นนั้นรวมอาการสั่นสู้เข้าไปด้วย เลยไม่ได้มีแต่ความหมายเชิงลบมั้งครับ
サービス (sa-bisu ซาบิสฺ)
ปกติมีความหมายคล้ายคำต้นกำเนิด "service" ครับ แปลว่า "บริการ" แต่บางครั้งก็ใช้ในความหมายที่แปลกออกไป ตัวอย่างเช่น หากไปที่ร้านอาหารแล้วได้ยินว่า "これはサービスです" (kore wa sa-bisu desu นี่เป็นเซอร์วิสครับ) นั่นจะหมายความว่าทางร้านเสิร์ฟให้ฟรีครับ คำว่า "サービス残業" (ซาบิสฺซังเกียว) ก็หมายถึงการทำงานล่วงเวลา (โอที) ที่ไม่ได้ค่าล่วงเวลา (หรือโอฟรีนั่นเองครับ) ถ้าอย่างทางร้านอาหารนี่ยังพอเข้าใจว่าเป็นบริการพิเศษนะครับ แต่พนักงานบริษัทให้บริการฟรีกับบริษัทตัวเองนี่ มันก็ยังไงยังไงอยู่นะครับ...
ソールフード (so-ru fu-do โซรุฟูโดะ)
จริง ๆ คำนี้เป็นคำที่คิดขึ้นมาในภาษาญี่ปุ่น แต่บังเอิญไปตรงกับคำในภาษาอังกฤษที่มีอยู่แล้วครับ เลยใช้กันคนละความหมาย ในภาษาอังกฤษ soul food (อาหารโซล) จะหมายถึงอาหารพื้นเมืองของชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน เนื่องจากคำว่า soul ถูกนำมาโยงเข้ากับประวัติศาสตร์ของชาวแอฟริกันอเมริกันมาตั้งแต่ยุคเพลง soul music แล้วครับ แต่ในญี่ปุ่นที่ใช้คำว่า soul ตามความหมายดั้งเดิม คือ จิตวิญญาณ คำว่า "ソールフード" (โซรุฟูโดะ โซลฟู้ด) ก็หมายถึงอาหารที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในท้องที่นั้น ๆ แทนครับ
コスパ (kosupa คอสปา)
มาจากคำตั้งต้นว่า "cost performance" ซึ่งหมายถึงการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายกับประสิทธิภาพที่ได้ อย่างในก็ตาม ในภาษาอังกฤษนั้นจะสงวนคำนี้ไว้ใช้ในเชิงปฏิบัติการหรือฝ่ายพัฒนาและนวัตกรรม เช่นเกี่ยวกับรถยนต์ คอมพิวเตอร์ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และเภสัชกรรม แต่ในญี่ปุ่นนั้น คำว่า "コスパ" (คอสปา) กลับใช้ได้ในทุกกรณีโดยเฉพาะในการโปรโมทสินค้าลดแลกแจกแถมครับ ไม่รู้เหมือนกันนะครับว่าเพราะอะไร...
タレント (tarento ทาเรนโตะ)
มาจาคำกภาษาอังกฤษว่า "talent" ที่แปลว่า "พรสวรรค์" แต่ในภาษาญี่ปุ่นก็มีคำว่า "才能" (ไซโน) ที่มีความหมายเหมือนกันอยู่แล้ว คำว่า "タレント" (ทาเรนโตะ ทาเลนท์) จึงถูกใช้ในความหมายอื่นแทนครับ นั่นก็คือ ใช้เรียก "ดารา-คนดัง คนในวงการบันเทิง" ที่ปรากฎในทีวีบ่อย ๆ ครับ จริง ๆ คนเหล่านี้ก็มีพรสวรรค์แหละครับ แต่ทำไมคำนี้ถึงถูกเอามาใช้เฉพาะในโลกมายานี่ก็แปลกดีนะครับ อาจจะเป็นเพราะรายการทีวีจำพวก "show your talent" (แสดงความสามารถพิเศษ) มักจะเป็นการแสดงด้านดนตรี ร้องเพลง เต้น อะไรทำนองนี้แหละมั้งครับ
カンニング (kanningu คันนิงกฺ)
มาจากคำตั้งต้นว่า "cunning" ซึ่งแปลว่า "ขี้โกง" หรือ "เจ้าเล่ห์" แต่ในภาษาญี่ปุ่น "カンニング" แปลว่าการ "โกง" เลยครับ ก็จริงอยู่ว่าคนที่จะโกงได้ต้องเป็นคนเจ้าเล่ห์ แต่ทำไมถึงเอาคำนี้มาใช้ในความหมายแบบนี้เลยก็ไม่รู้นะครับ
クレーム (kure-mu คุเรมฺ)
คำว่า "claim" ในภาษาอังกฤษมีความหมายว่า "การเรียกร้อง" ซึ่งสิทธิ์หรือความเป็นเจ้าของอันชอบธรรม เช่นในภาษาไทยเองก็ใช้คำว่า การเคลมประกัน เป็นต้นครับ แต่ในภาษาญี่ปุ่น คำว่า "クレーム" (คุเรมุ เคลม) กลับหมายถึงการร้องเรียนหรือการพูดตำหนิติเตียนครับ อาจจะมองได้ว่าเป็นการเรียกร้องสิทธิ์ในบริการหลังการขาย แต่จริง ๆ ก็ควรใช้คำว่า "complaint" แทนมากกว่าครับ
コンセント (konsento คอนเซ็นโตะ)
ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง "เต้าเสียบจ่ายไฟ" ครับ คำต้นกำเนิดนั้นก็ยังไม่แน่นอน แต่ถ้าเอาเสียงใกล้เคียงกัน คำว่า "consent" ในภาษาอังกฤษหมายถึง "ตกลง-ยินยอม" หรือ "สมยอม" ซึ่งก็ไม่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าแต่อย่างใดครับ มีบางทฤษฎีบอกว่า อาจจะมาจากการที่เป็นจุดรวมตัวจ่ายไฟฟ้า เลยอาจย่อมาจาก "concentration" ที่แปลว่าการรวมกัน ความเข้มข้น หรือสมาธิครับ อย่างไรก็ดี ถ้าคนญี่ปุ่นไปต่างประเทศแล้วถามว่า "コンセントはどこ?" (konsento wa doko? ปลั๊กไฟอยู่ไหน) อาจจะได้ consent อย่างอื่นมาแทนก็ได้นะครับ...
ในครั้งนี้เราได้แนะนำเฉพาะคำคาตาคานะที่มีความหมายต่างจากคำต้นฉบับเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วยังมีคำอังกฤษแบบญี่ปุ่น คำภาษาต่างประเทศที่แปลกไปจากเดิม และอื่น ๆ อีกมากมายครับ ถ้าใครไปเจอคำไหนน่าสนใจมาก็เอามาแชร์กันได้นะครับ ป้ายที่แปลภาษาญี่ปุ่นเป็นอังกฤษแปลก ๆ ก็ฮาไม่น้อยเลยครับ!
Comments