【ซีรี่ส์ปราสาทขึ้นชื่อ】เกร็ดความรู้เกี่ยวกับปราสาท: หอปราการปราสาทของปราสาทญี่ปุ่นไม่เหมือนกันเหรอ?

  • 26 ตุลาคม 2021
  • Monique Lu

【ซีรี่ส์ปราสาทขึ้นชื่อ】เกร็ดความรู้เกี่ยวกับปราสาท: หอปราการปราสาทของปราสาทญี่ปุ่นไม่เหมือนกันเหรอ?

หอปราการปราสาทเป็นสัญลักษณ์ของปราสาท มองเผิน ๆ แล้ว หอปราการปราสาทอาจจะดูเหมือน ๆ กันหมดเลย แต่จริง ๆ แล้วรูปร่างของหอคอยแตกต่างกันไปตามองค์ประกอบค่ะ ! หอปราการปราสาทของปราสาทญี่ปุ่นถูกแบ่งออกเป็นสี่รูปแบบ ได้แก่ แบบเอกเทศ (独立式 / Dokuritsu-shiki) แบบเชื่อมต่อ (連立式 / Renritsu-shiki) แบบรวมกัน (複合式 / Fukugou-shiki) และแบบเชื่อมติดกัน (連結式 / Renketsu-shiki) หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว จะสามารถบอกได้ว่าหอปราการปราสาทเป็นแบบไหนเวลาไปเที่ยวชมปราสาทค่ะ

แบบเอกเทศ

แบบเอกเทศ

แบบที่เรียบง่ายมากที่สุดคือ "แบบเอกเทศ" ซึ่งเป็นแบบที่ไม่มีอาคารส่วนต่อขยาย มีเพียงแค่หอปราการปราสาทเดี่ยว ๆ เท่านั้นค่ะ สามารถเข้าไปได้โดยตรงจากชั้นใต้ดินหรือชั้นหนึ่งของหอปราการปราสาท แต่หอปราการปราสาทรูปแบบนี้จะถูกบุกรุกได้ง่ายหากถูกศัตรูล้อมวงล้อมกำแพงหลัก ดังนั้นจึงไม่ค่อยถูกนำมาใช้ในยุคของรัฐบาลโอดะ โนบุนากะ และ โทโยโตมิ ฮิเดโยชิค่ะ รูปแบบนี้ถูกนำมาใช้หลังยุคเอโดะซึ่งเป็นช่วงที่สงครามเริ่มลดน้อยลงค่ะ หอปราการปราสาทรูปแบบนี้สามารถดูได้ที่ ปราสาทฮิโรซากิในจังหวัดอาโอโมริ ปราสาทมารุโอกะในจังหวัดฟุกุอิ ปราสาทอุวะจิมะในจังหวัดเอฮิเมะ ปราสาทโอซาก้าในจังหวัดโอซาก้า และปราสาทโคจิในจังหวัดโคจิค่ะ

แบบเชื่อมต่อ

แบบเชื่อมต่อ

แบบเชื่อมต่อ

"แบบเชื่อมต่อ" เป็นรูปแบบที่ซับซ้อนมากที่สุด ซึ่งเชื่อมหอปราการปราสาทหลักและอาคารที่อยู่ติดกัน 2 หลังขึ้นไปเป็นวงแหวนด้วยป้อมธนูค่ะ โดยมีลักษณะเฉพาะคือมีลานกว้างอยู่ด้านใน และเมื่อล่อศัตรูมาที่ลานนี้ ก็จะสามารถระดมยิงจากป้อมธนูได้ค่ะ ตัวอย่างเช่น ปราสาทฮิเมจิในจังหวัดเฮียวโกะ ปราสาทมัตสึยามะในจังหวัดเอฮิเมะ และ ปราสาทวาคายามะจังหวัดวาคายามะค่ะ

แบบรวมกัน

แบบรวมกัน

"แบบรวมกัน" เป็นแบบที่มีป้อมธนูและหอปราการปราสาทย่อยซึ่งเป็นอาคารส่วนต่อขยายเชื่อมต่อโดยตรงกับหอปราการปราสาทหลักค่ะ ต้องผ่านอาคารส่วนต่อขยายถึงจะสามารถเข้าไปในหอปราการปราสาทได้ ดังนั้น ถึงแม้จะถูกบุกรุกเข้ามาได้ถึงอาคารส่วนต่อขยาย ก็จะยังสามารถโจมตีศัตรูได้จากภายในหอปราการปราสาทค่ะ หอปราการปราสาทรูปแบบนี้สามารถดูได้ที่ ปราสาทมัตสึเอะในจังหวัดชิมาเนะ ปราสาทฮิโกเนะในจังหวัดชิกะ ปราสาทอินุยามะในจังหวัดไอจิ และปราสาทบิตจูมัตสึยามะในจังหวัดโอคายามะค่ะ

แบบเชื่อมติดกัน

แบบเชื่อมติดกัน

"แบบเชื่อมติดกัน" เป็นรูปแบบที่มีหอปราการปราสาทหลักและอาคารส่วนต่อขยาย หรือหอปราการปราสาทย่อยเชื่อมติดกันด้วยป้อมธนูหรือหลักค้ำค่ะ จะต้องผ่านอาคารส่วนต่อขยายก่อนจึงจะสามารถเข้าไปในหอปราการปราสาทได้เหมือนกับแบบรวมกันค่ะ หอปราการปราสาทย่อยและหอปราการปราสาทหลักถูกล้อมรอบด้วยกำแพงดินเหนียวเหมือนอย่างปราสาทนาโกย่าในจังหวัดไอจินั้น ก็จะถูกเรียกว่า “แบบเชื่อมติดกัน” เช่นกันค่ะ ปราสาทที่เป็นรูปแบบนี้ ได้แก่ ปราสาทไอสุวากามัตสึในจังหวัดจังหวัดฟุกุชิมะ และปราสาทคุมาโมโตะในจังหวัดคุมาโมโตะ นอกจากนี้ จะถือว่าเป็น “แบบเชื่อมติดกัน” ด้วย หากมีป้อมธนูหรือหอปราการปราสาทย่อยเชื่อมกับตัวปราสาททั้งด้านซ้ายและขวาอย่างละ 1 อัน เช่นประสาทโอสุในจังหวัดเอฮิเมะค่ะ

เกร็ดความรู้: การรวมตัวกันของแบบเชื่อมติดกันและแบบรวมกัน "แบบเชื่อมติดรวมกัน"

เกร็ดความรู้: การรวมตัวกันของแบบเชื่อมติดกันและแบบรวมกัน

ปราสาทมัตสึโมโตะในจังหวัดนากาโนะมีลักษณะเด่นคือ "กลุ่มหอปราการปราสาท" ค่ะ ซึ่งแต่เดิมมีโครงสร้างที่เชื่อมต่อกันระหว่างหอปราการปราสาทหลักและหอปราการปราสาทย่อยด้วยป้อมธนู แต่เมื่อป้อมธนูทัตสึมิและป้อมธนูสึกิมิได้ถูกเชื่อมต่อกันในสมัยเอโดะ จึงกลายเป็นแบบรวมกัน ทำให้โครงสร้างซับซ้อนที่รวมแบบเชื่อมติดกันและแบบรวมกันเข้าด้วยกันเช่นนี้ เรียกว่า "แบบเชื่อมติดรวมกัน" (連結複合式 / Renketsu-Fukugou-shiki) ค่ะ

หอปราการปราสาทซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อแสดงอำนาจของเจ้าของปราสาทนั้นถูกแบ่งออกได้เป็นสี่ประเภทค่ะ แต่ก็มีการนำแต่ละรูปแบบมาผสมผสานกันด้วยวิธีต่าง ๆ ให้มีรูปร่างที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิมค่ะ เมื่อเข้าใจความแตกต่างของหอปราการปราสาทแต่ละแบบแล้ว ลองเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างของปราสาทที่เคยได้ไปเยี่ยมชมมาดูนะคะ!

หัวข้อเรื่อง

Survey[แบบสอบถาม] กรุณาบอกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น







Recommend