วัฒนธรรมแกล (Gal / Gyaru) จากทศวรรษที่ 1990 คืออะไร? มาย้อนรอยวัฒนธรรมญี่ปุ่นอันเป็นเอกลักษณ์ที่สร้างความตื่นเต้นให้กับชิบูย่าและฮาราจูกุ

  • 20 มีนาคม 2024
  • 7 มกราคม 2022
  • Asami Koga
  • Mon

ชิบูย่าและฮาราจูกุในโตเกียวเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมและเทรนด์ของเยาวชนญี่ปุ่น วัฒนธรรมคาวาอิ แฟชั่นมือสอง สไตล์โกธิคและโลลิต้า ฯลฯ เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในชื่อ "Cool Japan" ไล่เรียงไปกับมังงะและเกมค่ะ

เหตุการณ์สำคัญอีกประการหนึ่งเมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์และกระแสของชิบูย่าและฮาราจูกุคือ "กระแสบูมโคะแกล" ค่ะ!

ในบทความนี้ เราจะมาแนะนำเทรนด์สตรีทแฟชั่นของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1990 ที่ไม่เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นิตยสารสำหรับแกล ได้รับการนำกลับมาตีพิมพ์ใหม่ และสินค้าแฟชั่นก็กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ลองอ่านบทความและเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมแฟชั่นอันเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นกันนะคะ♪

แกลคืออะไร? ที่มาของชื่อคือ?

ก่อนอื่นเลย คำว่า "แกล" มีความหมายว่าอย่างไรกันแน่?
โดยทั่วไป คำนี้มาจากคำสแลงภาษาอังกฤษที่แปลว่าเด็กผู้หญิง "gal" และในภาษาญี่ปุ่นมีความหมายกว้างๆ ถึง "หญิงสาวที่พยายามแบ่งปันความรู้สึกของตัวเองให้กับเพื่อนและเพื่อนร่วมงานผ่านการกระทำ เช่น การนำแฟชั่นอินเทรนด์มาใช้'' คำว่า "gal" ต้นฉบับจากภาษาอังกฤษนั้นถูกใช้กันทั่วไปในสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1970 และว่ากันว่ามีต้นกำเนิดในปี 1972 เมื่อผู้ผลิตกางเกงยีนส์ Wrangler เริ่มขายกางเกงยีนส์ผู้หญิงภายใต้ชื่อ "GALS"

ในญี่ปุ่น เมื่อเรานึกถึงแกล เรานึกถึงสาวผิวสีแทนผมสีบลอนด์และไฮไลท์ปอยผม เครื่องแบบนักเรียนที่มีกระโปรงสั้นกว่าปกติและถุงเท้ายาวที่เรียกว่า loose socks ที่ย่นลงไปกองอยู่ติดเท้า อนึ่ง คำว่าแกลจะใช้หมายถึงผู้หญิงค่ะ แต่ผู้ชายที่แต่งสไตล์นี้จะเรียกกันว่า แกลโอะ (ギャル男 / Gyaru-o) ค่ะ

แฟชั่นสาวแกลและของจำเป็น

วัฒนธรรมแกลจากยุคปี 1990 คืออะไร? มาย้อนรอยวัฒนธรรมญี่ปุ่นอันเป็นเอกลักษณ์ที่สร้างความตื่นเต้นให้กับชิบูย่าและฮาราจูกุ

แฟชั่นแกลเริ่มได้รับความนิยมราวปี 1979 และถึงจุดสูงสุดด้วยความเจริญรุ่งเรืองของโคะแกลในช่วงทศวรรษที่ 1990 ค่ะ
ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 นิตยสารสำหรับแกล เช่น "egg" และ "koakuma ageha" ได้ทยอยกันหยุดการตีพิมพ์ไปทีละฉบับ และปิดกิจการไปครั้งหนึ่ง แต่ในปี 2018 นิตยสาร "egg" ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ในรูปแบบเว็บ เวอร์ชันเน้นวัฒนธรรมยุค 90 ด้วยการเปิดตัวภาพยนตร์ใหม่และกระแสแฟชั่นที่ฟื้นตัวก็กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งอย่างช้าๆ ค่ะ
ในส่วนนี้เราจะรวบรวมคอลเลกชั่นแฟชั่นแกลและสิ่งของยอดนิยมของแกลกันค่ะ

ผมบลอนด์ฟอกขาว การทำสีผม การทำไฮไลท์เป็นปอยผม และการต่อผมก็กำลังได้รับความนิยมเช่นกัน

วัฒนธรรมแกลจากยุคปี 1990 คืออะไร? มาย้อนรอยวัฒนธรรมญี่ปุ่นอันเป็นเอกลักษณ์ที่สร้างความตื่นเต้นให้กับชิบูย่าและฮาราจูกุ
นิตยสาร egg ฉบับฤดูใบไม้ผลิ วางจำหน่ายวันที่ 2 มีนาคม 2020

แกลมีความเป็นเอกลักษณ์ในเรื่องทรงผมไม่แพ้เรื่องแฟชั่นการแต่งตัวเลยค่ะ เช่นมีการฟอกสีผมเพื่อขจัดเม็ดสีและทำให้ผมเป็นสีบลอนด์ หรือแม้แต่การเปลี่นสีผมค่ะ การดัดผมให้หยิกและติดกิ๊บใหญ่หรือต่อผมก็กลายเป็นกระแสแฟชั่นเช่นกันค่ะ
แต่เมื่อกระแสอามุร่า*ได้รับความนิยม ผมยาวตรงก็กลายเป็นเทรนด์แทนค่ะ! การทำผมสีน้ำตาลและให้ผมด้านหน้ายาวเท่ากันโดยแหวกกลางก็กลายเป็นกระแสหลักแทนค่ะ

*(アムラー / Amuraa) ลอกเลียนแบบสไตล์แฟชั่นของนักร้องดัง อามุโระ นามิเอะ

ต้องสั้นไว้ก่อน! ดัดแปลงชุดนักเรียนให้เป็นกระโปรงสั้นยาวไม่ถึงเข่า

พื้นฐานของแฟชั่นแกลคือกระโปรงยาวไม่คลุมเข่าที่สั้นจนแทบจะมองเห็นกางเกงใน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สไตล์โคะแกลที่มักจะสวมกระโปรงจีบสั้นโดยการพับส่วนเอวขึ้นเพื่อทำให้ชุดเครื่องแบบดูเข้าเทรนด์และน่ารักยิ่งขึ้นก็ได้รับความนิยมมากค่ะ เพียงใส่กระโปรงสั้นจับจีบกับคาร์ดิแกนตัวยาวโอเวอร์ไซส์ คุณก็อาจเป็นสาวแกลได้เช่นกันนะคะเนี่ย...

ถุงเท้าหลวม loose socks

ไอเท็มที่ขาดไม่ได้สำหรับแกล ซึ่งกลับมาฮิตอีกครั้งพร้อมกระแสการฟื้นฟูวัฒนธรรมยุคเฮเซที่มาแรงในปี 2021 ความยาวจะยาวกว่าถุงเท้ายาวทั่วไปอย่างมาก ในช่วงทศวรรษที่ 1990 ความยาวถุงเท้าทั่วไปคือ 34 ซม. ส่วน loose socks นั้นมาตรฐานจะอยู่ที่ 75 ซม. การสวมถุงเท้าที่มีเนื้อผ้ายืดหยุ่นแบบนี้ก็เพื่อให้ถุงเท้าย่นลงไปกองที่ข้อเท้านั่นเองค่ะ อนึ่ง คนดังคนหนึ่งที่เป็นนางแบบสายแกลในรายการทีวีตอนนั้นเคยบอกว่าถุงเท้า loose socks ที่เธอใส่ในยุค 90 นั้นยาวกว่า 2 เมตรเลยค่ะ!

ถุงช้อปปิ้งแบรนด์ยอดนิยม

สำหรับเด็กผู้หญิงมัธยมปลายในสมัยนั้น การมีถุงช้อปปิ้ง*1ของแบรนด์ยอดนิยมสำหรับแกลนั้นก็ถือเป็นหน้าตาทางสังคมอย่างหนึ่งเลยค่ะ
ดังนั้นสาวๆ ในช่วงทศวรรษที่ 1990 จึงใช้ถุงช้อปปิ้งจากแบรนด์อย่าง me Jane, LOVE BOAT, CECIL McBEE และ ALBA ROSA ไปจนกว่าถุงกระดาษจะหมดสภาพเกินใช้งานเลยค่ะ
นอกจากนี้ ในยุคนั้น แบรนด์สำหรับสาว ๆ เช่น Moussy, SLY และ ANAP ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก ที่ชิบูย่า 109 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามแดนศักดิ์สิทธิ์สำหรับสาวแกล ก็มีพนักงานประจำร้านที่มีเสน่ห์จำนวนหนึ่งปรากฏตัวขึ้นและไปปรากฏอยู่ตามนิตยสารและสื่อต่างๆ นอกจากถุงช้อปปิ้งของแบรนด์และพนักงานขายที่มีเสน่ห์แล้ว ผลิตภัณฑ์แต่งหน้า เช่น ร้านฮิซาลอน*2 คอนแทคเลนส์แบบสี และขนตาปลอม ก็เคยได้รับความนิยมเช่นกันค่ะ

*1 ถุงกระดาษที่แต่ละแบรนด์มอบให้ผู้ซื้อผลิตภัณฑ์
*2 ตัวย่อของร้านทำผิวสีแทน (日焼けサロン / Hiyake Salon)

วิธีสร้างลุคแบบแกล - แกล (Gal / Gyaru) : ทำความรู้จักกับวัฒนธรรม 'Gal' ของญี่ปุ่น

แกลมีหลายประเภทจริงหรือ?

แม้จะเรียกรวมๆ กันว่าแกลคำเดียว แต่จริงๆ แล้วแกลนั้นก็มีหลายประเภทค่ะ ในที่นี่เราจะแนะนำศัพท์ที่ขึ้นชื่อและสไตล์ที่ไม่ธรรมดากันค่ะ

  • โคะแกล (コギャル / Kogyaru): ตัวย่อของแกลมัธยมปลาย (高校生のギャル / Kokosei no Gyaru) รูปแบบพื้นฐานคือการดัดแปลงชุดนักเรียน จนถึงช่วงทศวรรษ 1980 นั้น นักศึกษาหญิงเคยถูกเรียกว่าแกลมาก่อน แต่ด้วยการมาถึงของกระแสโคะแกลที่บูมในช่วงทศวรรษ 1990 คำนี้จึงกลายเป็นศูนย์กลางของแฟชั่นไปแทนค่ะ
  • LA แกล (LAギャル / LA Gyaru): ตามชื่อเลยค่ะ เป็นสไตล์แฟชั่นป๊อปที่คำนึงถึงแฟชั่นในแอลเอ การประสานกันอย่างมีสีสันโดยใช้ผิวสีแทนแบบข้าวสาลีและสีหลักนั้นก็เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวค่ะ
  • แกลโอะ (ギャル男 / Gyaru-o): ผู้ชายที่แต่งตัวสายแกล มีความพิถีพิถันเรื่องทรงผม ผิวสีแทน และมีสไตล์แฟชั่นเฉพาะตัวค่ะ
  • กังกุโระ (ガングロ / Ganguro): สไตล์ที่ผิวสีแทนเข้มที่ไปทำมาจากร้านฮิซาลอนหรืออื่นๆ พร้อมใบหน้าดูเข้มขึ้นด้วยการแรเงาหรืออายแชโดว์สีน้ำตาล บางครั้งก็เรียกว่าคุโรแกล (黒ギャル / Kurogyaru)
  • ยามัมบะ (ヤマンバ / Yamanba): วิวัฒนาการแยกมาจากกังกุโระ สไตล์นี้ทำให้ผิวสีเข้มของเธอดูโดดเด่นยิ่งขึ้นโดยการเปลี่ยนผมเป็นสีเงินและใช้สีขาวในการแต่งตาและลิปสติก อนึ่ง ยามัมบะเป็นชื่อโยไคตามภูเขาที่มักปรากฏตัวเป็นยายแก่
  • ฮิเมะแกล (姫ギャル / Himegyaru): แกลที่ชอบผิวขาวและการแต่งตัวสไตล์เหมือนเจ้าหญิง เช่น ผ้าจีบ ผ้าลูกไม้ และผมดัดฟูที่ดูมีวอลุมค่ะ
  • ชิโรแกล (白ギャル / Shirogyaru): แกลประเภทหนึ่งที่ไม่ทำผิวให้เป็นสีแทน ตรงข้ามกันกับคุโรแกล
  • อามุร่า (アムラー / Amuraa): แกลที่เลียนแบบแฟชั่นและการแต่งหน้าของนักร้องชื่อดังอย่าง อามุโระ นามิเอะ ในราวปี 1995 รองเท้าบูทยาวและผมยาวตรงก็เคยกลายเป็นกระแสนิยมค่ะ

จากโคะแกล สาววัยใส สู่อาเกะโจ สาววัยทอง

ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 เมื่อกระแสอามุร่าได้รับความนิยม นิตยสารสำหรับแกล เช่น "egg" ได้จุดประกายความเจริญ และโคะแกล เหล่าเด็กผู้หญิงในโรงเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายที่อายุน้อยกว่าแกลทั่วไปก็กลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมค่ะ

นอกจากนี้ นิตยสารสำหรับแกลก็ทยอยกันออกวางจำหน่ายไล่ตามกันมาอีกด้วยค่ะ ในช่วงทศวรรษ 2000 นางแบบนิตยสารได้รับความนิยมอย่างมาก และการเป็นนางแบบพิเศษสำหรับนิตยสารสำหรับแกลอย่าง "Popteen", "Ranzuki" และ "BLENDA" ก็ได้รับความนิยมมากค่ะ ส่งให้เสื้อผ้าและเครื่องประดับที่นางแบบใช้สวมใส่ตอนปรากฏในบนนิตยสาร และผลิตภัณฑ์ที่ทางนิตยสารผลิตขึ้นก็มียอดขายเพิ่มมากขึ้น มีผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมากถึงขนาดเรียกกันว่าเป็น "การขายเอบิ" (จากนางแบบ เอบิฮาระ ยูริ) เอย "การขายสึบาสะ" (จากนางแบบ มาสุวากะ สึบาสะ) เอยเลยค่ะ นอกจากนี้ สาวๆ ที่ถูกเรียกว่า "อาเกะโจ" (アゲ嬢 / Age-jo คุณหนูอาเกะ) นั้นก็เกิดจากนิตยสาร "小悪魔ageha" (Koakuma ageha) ที่ตั้งกลุ่มเป้าหมายไปที่ "อาเนแกล" (姉ギャル / Ane-gyaru) และ "ฮิเมะแกล" ตามย่านราตรีค่ะ

วัฒนธรรมแกลในปัจจุบัน

แกลในปัจจุบัน - แกล (Gal / Gyaru) : ทำความรู้จักกับวัฒนธรรม 'Gal' ของญี่ปุ่น

นับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2000 วัฒนธรรมแกลได้เสื่อมถอยลงเนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น การประกาศจบการศึกษาของนางแบบยอดนิยม อัตราการเกิดที่ลดลง การเลิกผลิตนิตยสาร และการเพิ่มขึ้นของโซเชียลมีเดียค่ะ
อย่างไรก็ตาม ในปี 2018 นิตยสาร "egg" ได้รับการฟื้นคืนชีพในรูปแบบเว็บ รองเท้าส้นตึกได้รับการฟื้นคืนชีพที่ SHIBUYA109 และถุงเท้าหลวม loose sock ก็ได้รับความนิยมอีกครั้งในปี 2021 และวัฒนธรรมแกลก็กลับมาเป็นที่สนใจกันอีกครั้งค่ะ
ว่ากันว่าเทรนด์แฟชั่นเกิดขึ้นซ้ำทุกๆ 25 ถึง 32 ปี อีกไม่นานเราคงอาจจะได้เห็นกระแสแฟชั่นญี่ปุ่นที่มีเอกลักษณ์และน่าสนใจเหมือนที่กระแสโคะแกลเคยสร้างไว้กันก็เป็นได้นะคะ

หัวข้อเรื่อง

Survey[แบบสอบถาม] กรุณาบอกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น







Recommend