นอกจากญี่ปุ่นจะอุดมไปด้วยธรรมชาติที่กว้างใหญ่แล้ว ยังมีวัฒนธรรม ภาษาท้องถิ่น และอาหารที่หลากหลายในแต่ละพื้นที่อีกด้วย โดยเฉพาะคันโตและคันไซมักจะถูกนำมาเปรียบเทียบกันค่ะ ในครั้งนี้เราจะขอแนะนำความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมอาหารของคันไซและคันโตกันนะคะ
ภูมิภาคคันโตและภูมิภาคคันไซคืออะไร?
โดยทั่วไปแล้วเมื่อพูดถึงภูมิภาคคันโตก็จะหมายถึงกรุงโตเกียว, จังหวัดคานากาวะ, จังหวัดชิบะ, จังหวัดไซตามะ, จังหวัดอิบารากิ, จังหวัดโทจิงิ, จังหวัดกุนมะ และในบางครั้งก็จะรวมถึงจังหวัดนากาโนะและจังหวัดยามานาชิอีกด้วยค่ะ สำหรับภูมิภาคคันไซนั้นก็จะหมายถึงจังหวัดโอซาก้า, จังหวัดเกียวโต, จังหวัดเฮียวโกะ, จังหวัดชิงะ, จังหวัดนารา, จังหวัดวาคายามะ, จังหวัดมิเอะ และในบางครั้งก็รวมถึงภูมิภาคชิโกะคุอีกด้วยค่ะ
คนคันโตชอบโซบะ และคนคันไซชอบอุด้งหรอ?
โซบะและอุด้งเป็นเมนูที่สามารถพบได้ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศญี่ปุ่น ทำให้สามารถเรียกว่าเป็นโซลฟู้ดก็ได้ค่ะ
อย่างไรก็ตาม มีคำกล่าวในวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นที่ว่า "โซบะของตะวันออก อุด้งของตะวันตก" (มีร้านโซบะในตะวันออกเยอะ และมีร้านอุด้งในตะวันตกเยอะ) และนอกจากนี้คันไซและคันโตยังมีวิธีการทำน้ำซุปดาชิที่แตกต่างกันอีกด้วยค่ะ ในภูมิภาคคันโตมักใช้ปลาคัตสึโอะแห้งและซอสโชยุแบบเข้มข้นในการปรุงรส ทำให้น้ำซุปดาชิมีสีเข้มและมีรสชาติที่เข้มข้นค่ะ ในทางกลับกันภูมิภาคคันไซมักนำสาหร่ายคอมบุมาใช้ในการทำน้ำซุปดาชิ ทำให้มีลักษณะเด่นคือสีน้ำซุปที่ใสกว่าเมื่อนำมาเปรียบเที่ยบกันค่ะ
วิธีการแล่ปลาไหลในคันโตและคันไซต่างกันด้วยหรอ ? !
เมนูปลาไหลมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมาตั้งแต่ในสมัยเอโดะโดยถูกพัฒนามาจากอาหารพื้นบ้าน และยังสามารถเห็นลักษณะนิสัยและความแตกต่างในวัฒนธรรมของคันโตและคันไซได้จากวิธีการปรุงปลาไหลอีกด้วยค่ะ
เนื่องจาก "เอโดะ" (โตเกียว) ซึ่งอยู่ในภูมิภาคคันโตนั้นเป็นเมืองแห่งซามุไร และในบางครั้งการแล่ปลาไหลทำให้นึกถึง "การคว้านท้อง (เซ็ปปุกุ)" ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อห้ามของซามุไร ทำให้ในภูมิภาคคันโตจะแล่ปลาไหลจากด้านหลังค่ะ
ในทางกลับกัน เนื่องจากโอซาก้าซึ่งเป็นจังหวัดในภูมิภาคคันไซมีความเจริญรุ่งเริงในด้านการค้ามาตั้งแต่สมัยก่อน จึงทำให้พ่อค้าชาวโอซาก้าจำเป็นต้องมีความซื่อสัตย์และความน่าเชื่อถือ โดยหนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดคือการพูดคุยแบบ "เปิดอกเปิดใจ" ค่ะ ดังนั้นปลาไหลที่โอซาก้าจะถูกแล่จากด้านท้องค่ะ (มีหลายทฤษฎี)
นอกจากนี้ ยังมีความแตกต่างในวิธีการปรุงอาหารอีกด้วย ที่คันโตจะนำปลาไหลไปนึ่งก่อนแล้วจึงนำมาย่างทำให้มีเนื้อนุ่ม และยังนิยมนำซอสรสชาติเข้มข้นมาใช้ในการปรุงรสอีกด้วยค่ะ ในทางกลับกันที่คันไซจะนิยมปลาไหลที่มีเนื้อแน่น โดยจะนำปลาไหลสดๆ ไปย่างโดยที่ยังไม่ปรุงรส และซอสก็จะไม่มีรสชาติเข้มข้นเท่าของคันโตค่ะ
รูปร่างของ "อินาริซูชิ (เต้าหู้ห่อข้าว)" แตกต่างกัน: ทรงกระบอกของคันโต vs ทรงสามเหลี่ยมของคันไซ
"อินาริซูชิ" ซึ่งนำข้าวซูชิมาห่อด้วยอาบุระอาเกะ (เต้าหู้ทอด) รสชาติหวานนั้นได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง โดยอินาริซูชิในคันโตส่วนใหญ่นั้นจะเป็นทรงกระบอก และในคันไซส่วนใหญ่จะเป็นทรงสามเหลี่ยมค่ะ อินาริซูชิที่คุณเคยรับประทานเป็นรูปทรงแบบไหนคะ?
มีทฤษฎีต่างๆ ว่าทำไมอินาริซูชิของคันไซถึงเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีที่ว่าถูกนำมาจากรูปทรงของภูเขาอินาริซึ่งเป็นที่ตั้งของ "ศาลเจ้าฟุชิมิอินาริไทฉะ" ศาลเจ้าหลักของศาลเจ้าอินาริ หรือทฤษฎีที่ว่านำมาจากรูปทรงหูของจิ้งจอกค่ะ ถึงแม้ว่าจะยังไม่ทราบเหตุผลที่ชัดเจนก็ตาม แต่ก็สามารถกล่าวได้ว่าทั้งสองทฤษฎีช่วยเพิ่มเรื่องราวและความมีเสน่ห์ให้กับอินาริซูชิค่ะ
จำนวนดังโงะของมิทาราชิดังโงะ: คันโต 4 ลูก vs คันไซ 5 ลูก
อยากให้ผู้อ่านที่ชื่นชอบรับประทานดังโงะของญี่ปุ่นลองนึกดูว่ามีดังโงะเสียบไม้อยู่กี่ลูกนะคะ ดังโงะเสียบไม้ส่วนใหญ่ในภูมิภาคคันโตจะใช้ดังโงะ 4 ลูกใน 1 ไม้ ทำให้แต่ละลูกมีขนาดพอดีสำหรับหนึ่งคำค่ะ ในทางกลับกัน ที่คันไซจะใช้ดังโงะ 5 ลูกใน 1 ไม้ ทำให้ดังโงะมีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อยค่ะ
ต้นกำเนิดของคุชิดังโงะ (ดังโงะเสียบไม้) นั้นมาจาก "ร้านน้ำชาคาโมะ มิทาราชิ" ที่ศาลเจ้าชิโมะกาโมะ เกียวโต โดยดังโงะที่มี 5 ลูกใน 1 ไม้นั้นแสดงถึงศีรษะและแขนขาทั้ง 4 ของคนค่ะ ในสมัยก่อนถูกใช้เป็นของบูชาเทพเจ้าเพื่อขอให้คุ้มครองจากภัยพิบัติค่ะ หลังจากนั้น ดังโงะก็แพร่หลายไปยังเอโดะ และได้รับความชื่นชอบจนกลายเป็นขนมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดค่ะ
ถึงแม้ว่าในช่วงต้นของสมัยเอโดะจะนิยมดังโงะที่มี 5 ลูกใน 1 ไม้ที่ขายในราคา 5 เซ็นก็ตาม แต่หลังจากได้มีการนำ "เหรียญ 4 มง" มาใช้ พ่อค้าแม่ค้าก็ได้เปลี่ยนจำนวนดังโงะใน 1 ไม้ให้เป็น 4 ลูกและคิดราคา 4 มงเพื่อให้สามารถคิดเงินได้ง่ายขึ้นค่ะ ดังโงะแบบนี้ได้รับความนิยมและถูกสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันค่ะ
อย่างไรก็ตาม คุณสามารถเห็นดังโงะเสียบไม้ที่ใช้ดังโงะเพียงแค่ 3 ลูกได้ในพื้นที่อื่นๆ อีกด้วย โดยตัวแทนของดังโงะแบบนี้คือ "ดังโงะสามสี" ซึ่งขาดไม่ได้เมื่อไปชมดอกซากุระค่ะ สีขาว สีชมพู และสีเขียวของดังโงะแต่ละลูกนั้นแสดงถึงฤดูหนาว ฤดูใบไม้ผลิ และฤดูร้อน โดยกล่าวว่ามีที่มาจากหิมะสีขาว ดอกซากุระ และใบไม้เขียวขจีค่ะ
เครื่องปรุงรสของโอยาโกะด้ง (ข้าวหน้าไก่กับไข่) : ชิจิมิของคันโต vs ซันโชของคันไซ
เมื่อไปรับประทานโอยาโกะด้งที่ร้านอาหาร เคยสังเกตความลับของเครื่องปรุงรสที่วางไว้อยู่บนโต๊ะไหมคะ?
โดยปกติหลังจากลิ้มรสชาติโอยาโกะด้งโดยไม่ปรุงอะไรแล้ว จะใส่เครื่องปรุงและผักดองลงไปเพื่อเปลี่ยนรสชาติค่ะ เครื่องปรุงที่ใช้โดยทั่วไปจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ "ชิจิมิ (พริกเจ็ดรส)" และ "ซันโช (พริกไทยญี่ปุ่น)" ค่ะ เนื่องจากเกียวโตขึ้นชื่อเรื่อง "ซันโช" ทำให้มีการนำไปใช้ปรุงรสอาหารเกียวโตต่างๆ นอกจากโอยาโกะด้งอีกด้วยค่ะ ในทางกลับกันที่คันโตจะใช้พริกชิจิมิเป็นหลักค่ะ
นอกจากนี้ คันโตและคันไซยังใช้วัตถุดิบในการทำโอยาโกะด้งที่ไม่เหมือนกันอีกด้วยค่ะ โอยาโกะด้งแบบคันโตนั้นจะใส่หอมใหญ่ เนื้อไก่ ไข่เป็นหลัก และใช้ซอสโชยุเป็นหลักในการปรุงรส แต่โอยาโกะด้งแบบคันไซนั้นจะใส่ต้นหอม เนื้อไก่ ไข่เป็นหลัก และปรุงรสด้วยซุปดาชิค่ะ
หลังจากอ่านบทความนี้แล้วคุณรู้สึกอยากรับประทานอาหารญี่ปุ่นขึ้นมาเลยใช่ไหมคะ? อย่าลืมเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างอาหารแบบคันโตและแบบคันไซในครั้งต่อไปที่ไปรับประทานอาหารญี่ปุ่นด้วยนะคะ!
*เนื่องจากมีทฤษฎีต่างๆ ข้อมูลที่นำเสนอในบทความนี้จึงใช้สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น
Comments