Tohoku หากใครได้ยินชื่อภูมิภาคนี้ของญี่ปุ่น ภาพแรกที่นึกถึงอาจจะเป็นทิวทัศน์ภูเขาใบไม้เปลี่ยนสี สีแดง สีส้ม สีเหลือง แต่พอนึกต่อไปอีกสักนิดก็จะนึกถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิครั้งใหญ่ ที่เกิดความเสียหายมากมายที่เรียกได้ว่าทำให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นที่รู้จักที่สะเทือนใจไปทั่วโลก
เมื่อปี ค.ศ. 2011 ชายฝั่งด้านขวาทางเหนือของประเทศญี่ปุ่น ที่มีชื่อว่า ชายฝั่ง Sanriku-kaigan (三陸海岸) ชายฝั่งทางมหาสุมรแปซิฟิกที่ทอดยาวประมาณ 600 กิโลเมตร ที่ผ่านจังหวัดอาโอโมริ จังหวัดอิวาเตะ และจังหวัดมิยางิ ได้เกิดภัยพิบัติสึนามิครั้งใหญ่ ขนาด 9.0 แมกนิจูด ซึ่งนับได้ว่าเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในห้าแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของโลกเท่าที่มีการบันทึกสมัยใหม่มาตั้งแต่ ค.ศ. 1900
เมืองที่ตั้งริมชายฝั่งซันริคุทั้งหมดได้พังทลายไปกับสึนามิ ไม่เว้นแม้แต่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในจังหวัดฟุคุชิมะ เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตมากมาย ความเสียหายที่แทบประเมินค่าไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องทรัพย์สินหรือสภาพจิตใจของผู้คน จนแทบคิดไม่ออกเลยว่าจะฟื้นฟูสภาพได้อย่างไร
และเมื่อเวลาผ่านมา 10 ปี ก็ชวนให้คิดอยู่ว่า ณ ปัจจุบันนี้ เมืองต่างๆที่เคยพังทลายหายไปได้ฟื้นฟูหรืออย่างไรบ้าง และเหล่าผู้คนที่ยังอยู่มีชีวิตกันอย่างไรบ้าง ผู้คนเหล่านั้นก้าวข้ามผ่านความสูญเสียอย่างไร มีอะไรที่ยังคงอยู่ และมีอะไรใหม่ๆมาแทนที่อดีต
หากพูดถึงการฟื้นฟูเมือง อย่างแรกที่จะถูกฟื้นฟูเพื่อความสะดวกในการดำเนินชีวิตต่างๆคงไม่พ้นการคมนาคม ยิ่งถ้าเป็นประเทศญี่ปุ่นด้วยแล้ว คงไม่พ้นรถไฟที่เป็นหัวใจหลักของการเดินทางในประเทศนี้
รถไฟสาย Sanriku Railway Rias Line: รถไฟที่เป็นความหวังแรกของการฟื้นฟู

เพียงแค่ 5 วันหลังจากภัยพิบัติ รถไฟก็กลับมาเปิดให้บริการในส่วนพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายน้อย เพราะความเป็นอยู่ของผู้คนนั้นสำคัญที่สุด ชีวิตของคนที่ยังอยู่ยังต้องดำเนินต่อ ซึ่งทางรถไฟก็กลับมาเปิดบริการเต็มรูปแบบในส่วนของเส้นทางของรถไฟ Kita-Rias Lines และ Minami-Rias Lines ในปี 2014 และในปี 2019 ทางรถไฟส่วนที่เหลือระหว่างสถานี Miyako Station (宮古駅) ถึงสถานี Kamaishi Station (釜石駅) ก็ได้กลับมาให้บริการอีกครั้ง

ซึ่งการกลับมาเปิดบริการเต็มรูปแบบนี้ ก็ได้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยว ในรูปแบบรถไฟที่ภายในตกแต่งแบบสุดคสาสสิค และรูปแบบรถไฟที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล อย่างในฤดูหนาวก็จะมีขบวนที่มีโต๊ะโคทัตสึให้นั่งอย่างอบอุ่น

จากเส้นทางเลียบชายฝั่งแปซิฟิกที่ยาว 163 กิโลเมตร 40 สถานี หากได้ลองนั่งรถไฟล่องไปเรื่อยๆ และมองวิวตามเส้นทางรถไฟ เราก็จะได้เห็นบรรยากาศพื้นที่ที่ได้รับการฟื้นฟูแล้วและพื้นที่ๆยังว่างเปล่า บรรยากาศของสถานีต่างๆ ที่มีจุดเด่นแตกต่างกันไป ให้นักท่องเที่ยวหรือผู้มาเยือนได้แวะชม ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เป็นการช่วยกันฟื้นฟูเมืองจากทั้งรัฐ บริษัทรถไฟ และผู้คนในท้องที่ ที่ค่อยๆช่วยกันตั้งแต่ปีที่เกิดเหตุการณ์จนถึงวันนี้ วันที่สามารถนั่งรถไฟสายซันริคุได้ตั้งแต่สถานีแรกจนถึงสถานีปลายทางอีกครั้ง


แม้จะต้องใช้เวลาฟื้นฟูเมืองตามพื้นที่ต่างๆอีกมาก แต่เพราะมีรถไฟที่นำพาการดำเนินชีวิตให้ได้กลับมาปกติ การที่มีเส้นทางที่ทำให้ทุกคนได้เดินทางไปมาหาสู่กันได้ ก็หมายความว่ามีเส้นทางที่นำความมีชีวิตชีวากลับเข้ามาสู่พื้นที่ ไม่ว่าจะจากคนในพื้นที่เอง หรือแม้แต่ผู้คนจากที่อื่นที่เข้ามาท่องเที่ยว มาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ ซึ่งเป็นพลังใจที่สำคัญอย่างยิ่งในการฟื้นฟูเมือง
หากอยากจะลองนั่งรถไฟสายซันริคุ แล้วอยากจะลองลงแวะชมเมืองที่มีเรื่องราวสักเมืองสองเมือง เราขอแนะนำเมือง Taro เป็นที่แรกให้แวะชม ที่นอกจากเราจะได้มีโอกาสแวะส่งกำลังใจให้กับเมืองนี้แล้ว ตัวเราเองก็อาจจะยังได้พลังใจกลับมาเช่นกัน พลังใจที่จะพยายามทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ชีวิตที่อาจจะเจออุปสรรคใดๆอยู่ ได้ก้าวข้ามผ่านไปได้
Taro : ทาโร่ เมืองเล็กๆ ที่กลายเป็นอนุสรณ์ถึงความเสียหาย เป็นแหล่งเรียนรู้ให้ตระหนักถึงภัยพิบัติ และเปี่ยมไปด้วยกำลังใจในการฟื้นฟู

“ฉันดีใจมากที่สนามเบสบอลใหม่สร้างเสร็จ การได้ยินเสียงเด็กๆหัวเราะ ทำให้ที่นี่มีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง”
ไกด์นำทัวร์ “การเรียนรู้ด้านการป้องกันภัยพิบัติ” ที่กำลังพาเราเยี่ยมชมส่วนต่างๆของเมืองทาโร่กล่าวขึ้น
เมืองทาโร่ เป็นตำบลเล็กๆในเมืองมิยาโกะในจังหวัดอิวาเตะ ที่ถูกสึนามิปี 2011 เข้าทำลายเมืองจนทั้งเมืองหายไป จริงๆแล้วเมืองทาโร่นั้นมีกำแพงป้องกันสึนามิที่เคยปกป้องเมืองจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ชิลี แต่ไม่ใช่กับครั้งนี้
ภาพเมืองที่ว่างเปล่าที่เห็นตรงหน้านั้น ไม่สามารถจินตนาการออกได้เลยว่า 10 ปีที่แล้ว ตรงนี้เคยมีเมืองเล็กๆตั้งอยู่ เคยมีบ้าน มีอาคารต่างๆ มีถนนที่เหมือนกับเมืองอื่นๆ เพราะตอนนี้พื้นที่กว่า 80% ก็ยังเป็นพื้นที่ว่างเปล่า ส่วนที่อยู่อาศัยบนเขตเนินเขา ก็ยังไม่ได้เยอะเท่าใดนัก ดังนั้นกิจกรรมทัวร์ “การเรียนรู้ด้านการป้องกันภัยพิบัติ” นั้น เหมือนเป็นทัวร์ที่มาดูผลแห่งความเสียหาย ถ้าคิดเผินๆก็เหมือนพามาดูอดีต แต่จริงๆแล้วเมืองนี้ได้รับหน้าที่ใหม่ ได้รับหน้าที่ให้เป็นเมืองที่ทุกคนยังสามารถมาดูร่องรอยของความเสียหายได้ หากเป็นปกติ คนในพื้นที่คงไม่อยากเห็นร่องรอยแห่งความเสียหายที่ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์วันนั้น ชวนให้นึกถึงความสูญเสีย บางคนสูญเสียทรัพย์สิน หลายคนสูญเสียครอบครัว แต่พวกเขาก็ยังยืนยันที่จะเก็บร่องรอยความเสียหายบางแห่งไว้ ยังกลับมาที่บ้านเกิด เพื่อจะได้แนะนำและให้เมืองนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่จะป้องกันภัยในอนาคต ดังนั้นหน้าที่ใหม่ที่เมืองนี้ได้รับนั้นต้องใช้พลังใจและความกล้าหาญอย่างมาก

นอกจากชมรอบๆเมืองแล้ว กิจกรรมทัวร์นี้ยังพาไปโรงแรมทาโร่คังโค (Taro Kanko Hotel) โรงแรมหกชั้นที่ถูกคลื่นสึนามิสูง 17 เมตรท่วมถึงชั้นสี่ และทำลายชั้นหนึ่งและชั้นสองกวาดทุกอย่างไปทั้งหมดยกเว้นโครงสร้างเหล็กของอาคาร

ซึ่งปัจจุบันตัวโรงแรมที่เหลืออยู่ก็ได้รับหน้าที่ใหม่ให้กลายเป็นสถานศึกษาเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความน่ากลัวของสึนามิ ในโปรแกรมทัวร์ เราจะได้ขึ้นไปที่ชั้นห้าเพื่อดูวีดีโอเหตุการณ์ที่ถ่ายจากโรงแรมในวันนั้น พร้อมทั้งมองออกไปชมเมืองที่ว่างเปล่าจากมุมมองเดียวกันกับในวีดีโอ
พอได้ดูและได้ฟังไปเรื่อยๆ ก็พบว่าโปรแกรมทัวร์นี้เหมือนกับไทม์แมชชีนไม่มีผิด ที่พาเราย้อนไปดูอดีต พอดูจบก็พบว่าตัวเราอยู่ในพื้นที่ในปัจจุบัน และพอมองออกไปนอกหน้าต่างก็ได้เห็นอนาคตที่กำลังสร้างขึ้นใหม่

“ถึงต้องสร้างกำแพงที่ใหญ่ขึ้นสูงขึ้นอีก จนมองไม่เห็นทะเลจากเมืองก็ไม่เป็นไร ขอแค่สามารถปกป้องทุกๆคนได้ ช่วยครอบครัวเราได้ ทะเลน่ะเราเดินขึ้นไปชมบนกำแพงก็ได้”
ไกด์นำทัวร์ครั้งนี้ กล่าวขึ้นในตอนท้าย ซึ่งพอได้ยินแบบนั้น ก็รับรู้ได้เลยว่าเป็นคำกล่าวที่รวบรวมทุกความรู้สึก ความเจ็บปวด ความพยายาม กำลังใจ และทั้งความยินดีกับตัวเองที่ยอมรับปัจจุบันและก้าวผ่านอดีตมาได้ กลายเป็นว่าคนที่มาเยือนที่ตั้งใจมาส่งกำลังใจ กลับได้รับพลังใจกลับแทน

จากเมืองทาโร่ ถ้านั่งรถไฟสายซันริคุมาจนถึงสถานี Unosumai อยากให้ได้ลองแวะพักที่เรียวกัง Horaikan Inn ที่ตั้งอยู่ริมชายหาดเรียวกังนี้เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสึนามิ และเป็นอีกที่ที่เจ้าของเรียวกังกับพนักงานทุกๆคนร่วมแรงร่วมใจฟื้นฟูสถานที่ที่เสียหายให้กลับมาสวยงามอีกครั้ง
Houraiku Inn โรงแรมแห่งรอยยิ้มแม้ต้องเผชิญกับภัยพิบัติ

จริงๆแล้วเลียบชายฝั่งซันริคุเป็นพื้นที่ที่เคยเกิดสึนามิหลายครั้ง จึงมีการเรียนรู้และถ่ายทอดวิธีการรับมือสึนามิ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเอาตัวรอด หรือการก่อสร้างอาคารต่างๆ
โรงแรมโฮไรคังก็เป็นหนึ่งในโรงแรมที่เคยได้รับผลกระทบจากสึนามิ และกลายมาเป็นหนึ่งในสถานที่รองรับผู้ประสบภัย ถึงแม้เจ้าของโรงแรมหญิงที่เกือบจะเอาชีวิตไม่รอดจากภัยพิบัติปี 2011 ก็ยังต้อนรับและช่วยเหลือผู้คน พร้อมกับไปบรรยายประสบการณ์ของตนเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวและเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูเมืองต่อไป

เจ้าของเรียวกัง ได้เปิดวีดีโอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรียวกังในวันนั้นให้ได้ชม ภาพเหตุการณ์ที่คลื่นสึนามิซัดเข้ามาทำลายเรียวกัง ภาพที่เห็นว่าคนที่กำลังบรรยายเรื่องต่างๆให้เราฟังด้วยรอยยิ้มในตอนนี้ ในวีดีโอนั้นกำลังวิ่งหนีเอาชีวิตรอด ต้องสูญเสียอะไรหลายอย่างไป ต้องเริ่มต้นทุกอย่างใหม่จากศูนย์ พอได้เห็นแบบนี้แล้ว ก็อดคิดไม่ได้จริงๆ ว่าตลอดสิบปีที่ผ่านมา พวกเขาต้องใช้พลังกายและพลังใจสูงมากแค่ไหนที่จะฟื้นฟูทุกอย่างให้กลับมาสวยงามเช่นเดิม

ขณะแช่ออนเซนแล้วมองออกไปที่วิวทะเลด้านหน้าของเรียวกังที่มีความอบอุ่นราวกับเหมือนไม่เคยประสบกับภัยพิบัติ ก็พลางคิดถึงคำพูดที่เปี่ยมไปด้วยความขอบคุณจากเจ้าของเรียวกังว่า
“แค่คุณมาเยี่ยมเรา เราก็ดีใจแล้ว ได้รับแรงใจที่จะฟื้นฟูเมืองต่อไปแล้ว ซึ่งการฟื้นฟูก็เป็นสิ่งสำคัญนะ แต่ว่าเราก็ต้องการความฝันด้วยเช่นกัน”
เพียงได้ยินเท่านี้ ก็อยากจะบอกต่อส่งทอดเรื่องราวของที่นี่ และชวนใครต่อใครให้มาพักชมวิวทะเลที่เรียวกังแห่งนี้สักครั้ง

โรงแรม Houraikan Inn
- 0193-28-2526
- พิกัด >> https://goo.gl/maps/8E6krVu5qdYTYigb6
- การเดินทาง >> มีบริการรถรับส่งฟรีจากสถานี Kamaishi และสถานี Unosumai (ต้องจองล่วงหน้า)
- เว็บไซด์ >> https://houraikan.jp
จากเรียวกัง Houraikan Inn หากเดินทางต่อไปยังอ่าวฮิโรตะ เราจะพบกับโรงบ่มสาเกที่มีวิธีการบ่มไม่เหมือนใคร มีการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมการและการท่องเที่ยวหลังจากเหตุการณ์สึนามิ
ที่เมือง Rikuzentakata จังหวัดอิวาเตะ มีอ่าวที่ชื่อว่าฮิโรตะ เป็นที่ตั้งของบริษัทผลิตเหล้าสาเกและไวน์ที่บ่มในทะเล กล่าวกันว่าการบ่มใต้น้ำนั้นเร็วกว่าการบ่มด้วยความร้อนจากโรงกลั่นเหล้าสาเกถึง 10 เท่า และเหล้าที่มีอายุในทะเลมีความเป็นกรดอ่อนลงและมีความกลมกล่อมมากกว่า

หลังจากเหตุการณ์สึนามิภาคอุตสาหกรรมก็เป็นหนึ่งในปัญหาที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนสำหรับทางเมืองเช่นกัน ทางบริษัทพยายามคิดสิ่งที่น่าดึงดูดใจ จึงเกิดไอเดีย “Underwater Aging Experience” เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท้องถิ่นให้มีความน่าสนใจ แถมยังมีคุณภาพดีส่งขายทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวไปในตัว ทางนักท่องเที่ยวสามารถมาทำ workshop บ่มเหล้าสาเกของตัวเองได้ โดยใช้เวลา 7 เดือนในการรอรับ พอได้เห็นไอเดียที่น่าสนใจแบบนี้ ก็ทำให้คิดว่าถึงแม้จะเกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายมากมาย ก็ไม่อาจปิดกั้นไอเดียดีๆที่จะสร้างโอกาสใหม่ๆอีกครั้ง
แล้วจากอ่าวฮิโรตะถ้าเดินทางลงมาเรื่อยๆจนมาถึงจังหวัดมิยากิ เราก็อยากจะให้มีโอกาสแวะเมืองเล็กๆเมืองนึง ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ เป็นอีกเมืองที่หายไปทั้งเมืองเช่นกัน แต่เรื่องราวการฟื้นฟูของเมืองนี้ มีความน่าสนใจในรูปแบบที่แตกต่างจากเมืองอื่น ที่ทำให้คิดว่าต้องแวะมาเยี่ยมเยียนให้ได้สักครั้ง
จะมีสักกี่เมือง ที่คนฟื้นฟูไม่ใช่แค่คนในพื้นที่ แต่กลับมีคนจากเมืองอื่น ย้ายเข้ามาช่วยฟื้นฟูเมือง พร้อมช่วยกันสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ
ONAGAWA : เมืองที่ถูกสร้างใหม่ โดยคนรุ่นใหม่ ที่จะส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่

START! ONAGAWA! ประโยคปลุกใจที่เขียนในธงที่ประดับตามเสาต่างๆ เป็นประโยคสั้นๆแต่เต็มไปด้วยความหมายที่สื่อความตั้งใจของคนที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นความหวัง ความพยายาม การเริ่มต้นใหม่ และการเดินต่อไปข้างหน้า

เมือง Onagawa เป็นเมืองเล็กๆริมอ่าวในจังหวัดมิยางิ ห่างจากเมืองเซนได 70 กิโลเมตร เป็นเมืองปลายทางสุดสายของรถไฟสาย Ishinomaki
Onagawa Station
เรื่องราวของการฟื้นฟูเมืองนี้น่าสนใจมากๆ เพราะเป็นการระดมความคิดจากผู้คนอย่างแท้จริง ที่นำโดยคนรุ่นใหม่ ว่าเขาอยากสร้างเมืองแบบไหน มีผังเมืองอย่างไร อยากให้มีอะไร อะไรที่รักษาไว้ แล้วอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ๆที่อยากนำเข้ามาเพิ่มเติม และไม่ใช่กับแค่คนในพื้นที่ เนื่องจากจำนวนประชากรก็เป็นส่วนสำคัญในการที่จะสร้างเมืองๆนึง ดังนั้นอะไรที่จะดึงดูดคนต่างที่ต่างถิ่นให้ย้ายเข้ามาพื้นที่ๆที่เคยเกิดสึนามิ พวกเขาต่างก็ช่วยกันระดมความคิดจนสำเร็จ แถมยังกลายมาเป็นเมืองท่องเที่ยวเมืองเล็กๆที่มีผู้คนมาเยือนตลอดเวลา


และจากการที่ระดมไอเดียกันเป็นอย่างดี ทำให้สถานที่ต่างๆให้เมืองนี้ ได้รับการออกแบบและวางผังได้อย่างน่าสนใจเช่นกัน
อย่างเช่นสถานีรถไฟ Onagawa อาคารแรกที่ต้อนรับผู้มาเยือน ที่ได้รับการสร้างใหม่เมื่อปี 2015 เป็นอาคารที่มีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์แบบสไตล์อาคารสถาปัตย์กรรม ซึ่งรับการออกแบบจากสถาปนิกระดับโลกคุณ Shigure Ban โดยส่วนของหลังคามีการออกแบบให้เหมือนกับปีกนกที่กำลังโผบิน ที่ให้ความรู้สึกถึงอิสระภาพที่จะทำอะไรใหม่ๆ

พอเดินตรงไปจากสถานีรถไฟ เราก็จะพบกับส่วนหลักของเมือง ที่เป็นจุดท่องเที่ยวหลักที่หลายๆคนอยากมาเยือนกัน ย่านถนนช็อปปิ้ง Seapal-Pier Onagawa ถนนช็อปปิ้งที่หันหน้าออกสู่ทะเล มองเห็นทะเลได้ชัดเจน เหมือนกับว่าไม่ได้กังวลกับสึนามิ พวกเขายังคงตอบรับความสวยงามของธรรมชาติ ในผังเมืองใหม่ที่ออกแบบโดยการยังคำนึงถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติ
ถนนช็อปปิ้งแห่งนี้ เรียกได้ว่าเป็นถนนสายแห่งงานฝีมือ รวบรวมร้านค้า ร้านอาหาร ที่มีเรื่องราวและเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง

ทั้งจากคนในพื้นที่ และคนนอกพื้นที่ที่ย้ายเข้ามา โดยต่างมีคอนเซ็ปร่วมกันคือการใช้ทรัพยากรท่องถิ่นมาผลิต เผื่อส่งเสริมและฟื้นฟูเมืองให้ได้ครบทุกด้านไม่ว่าจะจากทางตรงหรือทางอ้อม
อย่างร้านสบู่ทำมือ KURIYA ก็เป็นร้านที่ผลิตสบู่กลิ่นหอมลวดลายสวยงามที่เหมือนอัญมณีมากกว่าสบู่ และใช้วัตถุดิบหลากหลายของในท้องถิ่นมาทำ เช่น สาหร่าย ไวน์ ผลไม้ในท้องถิ่น ฯลฯ
“ผมอยากทำสินค้าที่เป็นของขวัญได้ ของขวัญที่ทำจากวัสดุท้องถิ่น ที่ส่งต่อความรู้สึกความพยายามของพวกเราที่นี่เป็นให้ของขวัญให้ใครต่อใคร”
三陸石鹸工房KURIYA

หรือจะเป็นร้านงานฝีมือที่นำอะไรใหม่ๆเข้ามาสร้างสีสันให้กับเมืองเพิ่มเติม เช่น กระเบื้องสเปน จากร้าน Minatomachi
“ฉันอยากนำสีสันและความสดใสมาคืนสู่เมืองที่หายไปค่ะ พอได้มีโอกาสไปสเปน ก็ประทับใจในถนนที่ปูด้วยกระเยื้องหลากสี จึงเริ่มศึกษา และนำมาสู่เมืองบ้านเกิดที่ถูกทำลายไป”
ถ้าเราเดินไปตามจุดต่างๆของเมือง ก็มักจะพบกับกระเบื้องสเปนทำมือลายต่างๆที่ประดับตกแต่งเมือง หรือเป็นป้ายตามร้านค้าต่างๆ กลายเป็นกิมมิคน่ารักๆของเมือง แถมยังแอบเป็น Hidden place เล็กๆ ที่ให้เราได้สนุกกับการลองสังเกตุว่า มีกระเบื้องสเปนตกแต่งอยู่ที่ไหนบ้าง ซึ่งทางร้านที่นอกจากจะจำหน่ายผลงานจากทางร้านเองแล้ว ก็ยังมี Workshop ให้เราได้เข้าไปลองทำแผ่นกระเบื้องของเราเองด้วย
みなとまちセラミカ工房
- พิกัด >>https://goo.gl/maps/LUPjN9JsMcACCziV6
- เว็บไซด์ >> https://www.ceramika-onagawa.com
พอได้ลองเดินดูรอบๆเมือง ดูรูปในอดีตและเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ก็พบว่าการร่วมมือร่วมใจของคนที่นี่ช่างน่าทึ่งจริงๆ พวกเขาไม่ยอมแพ้แม้แต่น้อย แถมยังช่วยกันระดมความคิดไอเดียใหม่ๆเพื่อเมืองที่พวกเขาอาศัยอยู่ได้อีก และยังตอบรับความสวยงามของธรรมชาติ ให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวเมืองเล็กๆที่ครบครันทั้ง ทะเล ภูเขา ศิลปะ และอาหาร


“New Tohoku” คำๆนี้ แน่นอนว่าไม่ได้มีเพียงแค่การฟื้นฟูสิ่งเดิมๆอย่างเดียว ยังมีอะไรใหม่เข้ามาอีกเสมอเพื่อเปิดอนาคตเพิ่มเติม จากภัยพิบัติเกษตรกรจำนวนมากที่สูญเสียทุกอย่าง ตัวแทนจากบริษัท GRA ตระหนักถึงปัญหาและความสำคัญ จึงได้ลองสร้างแบรนด์ Miyagi Strawberry ที่ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่การปลูกพืชสวนด้วย ICT เพื่อควบคุมการผลิตสตอเบอร์รี่ ที่ทุกคนสามารถผลิตสตอเบอร์รี่คุณภาพสูงได้ จนเกิดการจ้างงานจำนวนมากในพื้นที่ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ประสบความสำเร็จที่สามารถจะพัฒนาต่อยอดส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ได้ต่อไป
ซึ่งทางผู้บรรยายก็ได้เสริมว่า ทางตัวบริษัทเองก็อยากจะพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมไปเรื่อยๆ เพื่อช่วงส่งเสริมเกษตรกร ในภายภาคหน้าโทโฮคุอาจจะเป็นผู้นำในนวัตกรรมการการเกษตรก็ได้ การเข้าได้ช่วยเหลือพื้นที่และส่งเสริมผู้คนให้ได้มีอนาคตอีกครั้งเป็นเรื่องที่น่ายินดีเสมอ
ICHIGO WORLD イチゴワールド
- 050-3186-4793
- https://goo.gl/maps/pvLEUCWLTQPaeAGq5

หรือแม้กระทั่งอาสาสมัครที่มาช่วยเหลือภูมิภาคโทโฮคุช่วงภัยพิบัติ เขาที่เป็นคนใหม่ที่เข้ามาเยือน ก็ยังตกหลุมรักผู้คน สินค้าและอาหารของจังหวัดฟุคุชิมิ จนลาออกจากบริษัทที่ทำงานมา 30 ปี ย้ายมาอยู่ฟุคุชิมะ แล้วกลายมาเป็นผู้จัดการอาคารตลาดปลาเล็กๆที่มีจุดเด่นที่เป็นร้านอาหารที่ดูหน้าตาธรรมดาในตลาด แต่กลับแฝงจุดเด่นเป็นเมนูที่ไม่สามารถบอกได้ล่วงหน้า ให้ผู้มาเยือนได้ลุ้นกับเมนูพิเศษประจำวันตามปลาที่จับมาได้ในวันนั้น ซึ่งตลาดปลาแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ที่ช่วยส่งเสริมชาวประมงในจังหวัดอีกด้วย

“ผมมาแล้วผมประทับใจที่นี่ ผมอยากช่วย ที่ฟุคุชิมะมีสินค้าดี อาหารทะเลมีคุณภาพ เราอยากพยายามทำให้ที่นี่เป็นที่รู้จัก อยากให้คนที่มาได้ทานอาหารอร่อยๆของที่นี่ตามฤดูกาล มาแล้วเหมือนได้ทานอาหารใหม่ๆไม่ซ้ำเสมอทุกครั้งที่มา หากทุกคนมาแล้วประทับใจ เราก็มีแรงสู้ต่อไป”
ตลาดปลา Hamanoeki Matsukawaura
- 相馬復興市民市場 浜の駅 松川浦
- 0244-32-1585
- https://goo.gl/maps/ekH7JdzdZGBmsewC9

นอกจากนี้ยังมีผู้คนอื่นๆอีกมากมายที่พยายามทำอะไรสักอย่างเพื่อฟื้นฟูบ้านเกิดของพวกเขาไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม เช่น เกสเฮาส์และบาร์คาเฟ่ที่มีคอนเซ็ปให้นักท่องเที่ยวและคนในท่องถิ่นได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ ถนนช็อปปิ้งตามเมืองเล็กๆในเมืองต่างๆ ศูนย์งานฝีมือท้องถิ่นที่เชิญชวนคนต่างถิ่นต่างชาติเข้ามาร่วมทำ workshop หรือแม้กระทั้งงานกิจกรรมต่างๆ เช่นงานวิ่งมาราธอน ก็ล้วนแต่ทำด้วยใจและตามกำลังที่จะสามารถทำได้
จากการเดินทางเยือนหลายๆที่ ได้คุยได้ฟังเรื่องราวจากพวกเขา ทุกคนมีจุดร่วมกันคือเหตุการณ์ภัยพิบัติจากสึนามิ และความหวังที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า แม้วิธีการจะต่างกัน ปัจจัยอะไรหลายๆอย่างแตกต่างกัน แต่แรงใจและความพยายามของพวกเขานั้นเต็มร้อยเหมือนกันไม่มีใครมากกว่าหรือน้อยกว่า ทำให้ไม่แปลกใจเลยที่ 10 ปีผ่านมา พื้นที่ที่ประสบภัย จะสามารถปรับโฉมให้ใหม่ในรูปแบบใดแบบหนึ่งได้อย่างน่าทึ่ง ที่ทำให้รู้สึกถูกเชิญชวน อยากจะไปเยี่ยมเยือนส่งกำลังใจให้กับผลของพยายามที่น่าประทับใจของพวกเขาสักครั้ง
Comments