พื้นเสื่อทาทามิสามารถพบได้ตามวัด บ้านเรือน และร้านอาหารมากมาย เป็นส่วนสำคัญของการออกแบบตกแต่งภายในของญี่ปุ่น กลิ่นเฉพาะตัว พื้นผิวสัมผัสที่ใต้ฝ่าเท้า และรูปลักษณ์ที่น่าพึงพอใจของพื้นเสื่อทาทามิ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลที่เสื่อทาทามิยังคงเป็นสิ่งสำคัญของบ้านแบบญี่ปุ่น
เสื่อทาทามิ คืออะไร?
ทาทามิ (畳) เป็นเสื่อฟางแบบดั้งเดิมที่เคยถูกใช้ปูพื้นในอาคารทุกประเภททั่วประเทศญี่ปุ่น ตัวเสื่อประกอบด้วยสามส่วน คือ แกนกลาง ฟางสานหุ้มแกน และขอบผ้า และแม้ว่าเดิมจะทำด้วยมือ แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่ทำขึ้นโดยใช้เครื่องจักร ตัวเสื่อมีขนาดที่ตายตัว แต่ก็มีหลายรูปแบบ และยังมีการพัฒนาล่าสุดในรูปแบบการออกแบบพิเศษที่ทำให้สามารถปูวางบนพื้นไม้เนื้อแข็งได้โดยตรงสำหรับบ้านสไตล์ตะวันตก
เสื่อทาทามิ ทำขึ้นอย่างไร?
แม้ว่าเสื่อทาทามิสมัยใหม่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะผลิตขึ้นโดยใช้เครื่องจักร แต่ตามเดิมแล้ว เสื่อจะทำโดยช่างฝีมือผู้ชำนาญ ยังมีบริษัทที่ดำเนินกิจการโดยครอบครัวจำนวนมากที่ผลิตเสื่อทาทามิเป็นของตนเอง โดยมีการใช้ทักษะที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ทาทามิ-โอโมเตะ (พื้นผิวด้านนอก) หรือที่เรียกว่าโกสะ ทำด้วยชั้นของฟางนุ่ม ๆ ที่เรียกว่า อิกุสะ (藺草) ซึ่งเป็นพืชคล้ายหญ้าที่ถูกนำมาทำเป็นฟางและสานเข้าด้วยกัน เสื่อแต่ละผืนใช้เส้นฟางอิกุสะประมาณ 4000-6000 เส้น โดยจำนวนที่สูงกว่าหมายถึงเสื่อที่มีอายุการใช้งานยาวนานกว่า ทาทามิ-โดโคะ (แกนใน) เดิมทำด้วยฟางข้าว แต่ในญี่ปุ่นสมัยใหม่มักทำด้วยโพลิสไตรีนหรือเศษไม้ สุดท้าย ทาทามิ-ฟุจิ (ขอบเสื่อ) เป็นขอบผ้าที่เรียกว่า เฮริ ซึ่งใช้ปิดตามด้านยาวของเสื่อเพื่อซ่อนขอบการสานฟาง
ถ้าว่ากันตามอุดมคติ พื้นเสื่อทาทามิจะต้องถูกเปลี่ยนทุก ๆ 3 ปี แม้ว่าในปัจจุบันจะไม่ได้ทำกันบ่อยนักก็ตาม
ประวัติความเป็นมาของพื้นเสื่อทาทามิ
มาจากคำว่า 'tatamu' ซึ่งหมายถึงการพับหรือกอง การใช้เสื่อเหล่านี้แต่แรกนั้นเริ่มขึ้นในสมัยเฮอัน (794 - 1185) เดิมทีเสื่อนี้ถูกใช้สำหรับการนั่งโดยชนชั้นสูงศักดิ์และไม่ได้ปูแบบยึดติดกับพื้น เนื่องจากสถาปัตยกรรมที่พัฒนาขึ้นในสมัยมุโรมาจิ (1336 - 1573) สไตล์โชอินสึคุริจึงใช้เสื่อเหล่านี้ในการปูพื้น ไม่นานหลังจากนั้น ห้องสะชิกิ zashiki (ห้องนั่ง ห้องที่ปูเสื่อทาทามิทั้งหมด ชื่อมาจากเรื่องที่ว่าเดิมทีเสื่อมีไว้ใช้ปูรองนั่งบนพื้น) ก็กลายเป็นเทรนด์ประจำสมัย พร้อมกับขนาดและกฎเกณฑ์ที่มาพร้อมกับการมีตัวตนอยู่ในญี่ปุ่นอย่างถาวรจนถึงปัจจุบัน
เสื่อทาทามิ ใช้ตามที่ไหนในญี่ปุ่น?
ยังคงเป็นเรื่องปกติที่จะพบพื้นเสื่อทาทามิในพื้นที่ในร่มหลายแห่งในญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงพื้นที่ด้านศาสนาและจิตวิญญาณ เช่น วัดหรือศาลเจ้า ตลอดจนห้องที่ใช้สำหรับพิธีชงชาหรือศิลปะ เช่น อิเคบานะ (การจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น) ในบ้านและอพาร์ตเมนต์ของญี่ปุ่น ปัจจุบันมีห้องพื้นเสื่อทาทามิหนึ่งห้องที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ Washitsu (和室) ซึ่งแปลว่า 'สไตล์ญี่ปุ่น' ห้องนี้มักใช้เพื่อความบันเทิงหรือนอนหลับ และอาจมีโต๊ะหมู่บูชาหรือแท่นบูชาบรรพชนอยู่ด้วย ในบ้านที่มีอายุมากกว่าหรือใหญ่กว่า การมีห้องเสื่อทาทามิหลายห้องเป็นเรื่องปกติ มีระเบียงไม้และโถงทางเดินเชื่อมระหว่างห้อง
ทำไมเสื่อทาทามิถึงยังเป็นที่นิยมในญี่ปุ่น?
นอกจากความเชื่อมโยงกับประเพณีโบราณและความรู้สึกที่ชวนให้คิดถึงภาพในอดีตแล้ว เสื่อทาทามิยังมีประโยชน์มากมาย ซึ่งหมายความว่าเสื่อทาทามิยังคงเป็นตัวเลือกยอดนิยมสำหรับการปูพื้นในญี่ปุ่นอยู่ เนื่องจากผู้คนจำนวนมากยังคงนอนบนฟูกนอนที่ปูบนพื้น เสื่อทาทามิจึงเป็นพื้นกันกระแทก ทำให้สบายกว่าตัวเลือกที่เป็นพื้นไม้เนื้อแข็ง สิ่งนี้ยังเป็นประโยชน์สำหรับครอบครัว เนื่องจากผู้ที่มีลูกเล็กหรือญาติผู้สูงอายุมีโอกาสน้อยกว่าที่จะได้รับบาดเจ็บหากพวกเขาสะดุดและล้มลงบนพื้นทาทามิ
นอกจากนี้ยังเป็นวัสดุที่ระบายอากาศได้ ซึ่งหมายความว่าจะดูดซับความชื้นในฤดูร้อนและทำหน้าที่เป็นเครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศในฤดูหนาวที่แห้งแล้ง ในอดีต เสื่อทาทามิถูกใช้เพื่อตรวจสอบว่าห้องมีการระบายอากาศที่ดีหรือไม่: เชื้อราต่าง ๆ จะปรากฎตัวให้เห็นว่าห้องมีความชื้นมากเกินไปและการระบายอากาศไม่เพียงพอ เชื่อกันว่าเสื่อทาทามิยังช่วยฟอกอากาศ ดูดซับฝุ่น และลดสารระคายเคืองสำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ด้วย
Cho: หน่วยวัดและรูปแบบการวางเสื่อทาทามิ
เวลาบอกขนาดห้องในญี่ปุ่นการบอกโดยใช้จำนวนเสื่อทาทามิยังคงเป็นเรื่องปกติแทนการใช้เป็นตารางฟุตหรือตารางเมตรแบบทั่วไป ซึ่งหมายความว่าเว็บไซต์อสังหาริมทรัพย์หลายแห่งจะอธิบายห้องพักว่าเป็น 6-jo หรือ 8-jo ซึ่งหมายถึงจำนวนเสื่อทาทามิ 6 ผืนหรือ 8 ผืน แม้ว่านี่อาจบอกเป็นนัยว่าเสื่อทาทามิทั้งหมดมีขนาดเท่ากัน แต่จริง ๆ แล้วก็ไม่เชิงในกรณีนี้ ขนาดมาตรฐานที่ใช้ทั่วประเทศญี่ปุ่นมีอยู่ 4 รูปแบบ คือ:
- Edo-ma (176 ซม. x 88 ซม.) เป็นขนาดที่ใช้กันทั่วไปในภูมิภาคคันโตซึ่งรวมถึงโตเกียว สิ่งเหล่านี้บางครั้งเรียกว่า Kanto-ma
- Danchi-ma (170 ซม. x 85 ซม.) ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับที่พักอาศัยเนื่องจากห้องมีขนาดเล็กกว่าปกติ
- Chukyo-ma (182 ซม. x 91 ซม.) มักใช้ในจังหวัดไอจิ ซึ่งรวมถึงนาโกย่า
- Kyo-ma (191 ซม. x 95 ซม.) เป็นขนาดที่ใช้กันมากที่สุดในภูมิภาคคันไซ รวมทั้งเมืองใหญ่ ๆ เช่น โอซาก้าและเกียวโต
ขนาดที่แปรผันนี้อาจดูต่างกันเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อรวมกันในห้องที่มีเสื่อ 6-8 ผืนขึ้นไป อาจหมายถึงความแตกต่างอย่างมากในหน่วยตารางฟุตหรือตารางเมตร ดังนั้นจึงควรค่าแก่การตรวจสอบก่อนตัดสินใจ นอกจากขนาดเหล่านี้แล้ว ก็ยังมีขนาดที่ปรับเปลี่ยนกันจริง เช่น แบบครึ่งแผ่น เรียกว่า han-jo และเสื่อสามในสี่ส่วนที่เรียกว่า daimedatami
ปัจจัยทั่วไปคือ เสื่อทาทามิด้านกว้างยาวครึ่งหนึ่งของด้านยาว ทำให้สามารถสร้างรูปแบบเลย์เอาต์การปูพื้นบางรูปแบบได้โดยไม่คำนึงถึงขนาดของเสื่อ ตัวเสื่อมีหน่วยวัดเป็น ken ซึ่งเป็นหน่วยวัดแบบดั้งเดิมซึ่งมีค่าความยาวเกือบ ๆ 2 เมตรและเทียบเท่ากับ 6 shaku (หน่วยโบราณ ใกล้เคียงกับฟุต) ซึ่งหมายความว่าเสื่อขนาดทั่วไปคือ 1-ken คูณ 0.5-ken หรือ 6-shaku คูณ 3-shaku โดยมีความแตกต่างแล้วแต่ภูมิภาคตามที่อธิบายไว้ข้างต้น
รูปแบบเลย์เอาต์เสื่อทาทามิ
การปูเสื่อทาทามิเป็นศิลปะที่เคร่งครัด ด้วยขนาดของเสื่อที่ตายตัว ซึ่งก็หมายถึงรูปแบบบางอย่างสามารถถกนำมาใช้เพื่อสร้างความสวยงามที่น่าพึงพอใจ
ดีไซน์: Shukugijiki และ Fushukugijiki
ในห้องแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมที่เรียกว่า สะชิกิ มีรูปแบบในการปูเสื่อทาทามิอยู่ 2 แบบ แบบ 祝儀敷き (Shukugijiki ชุคุกิจิกิ การปูแบบงานมงคล) มีไว้สำหรับการจัดเตรียมที่เป็นมงคลและเกี่ยวข้องกับวิธีการวางแบบหมุนวน โดยขอบที่สั้นกว่าจะถูกจับคู่กับขอบที่ยาวกว่า มักใช้เสื่อทาทามิ 2 ผืนอยู่ตรงกลางในแนวตั้ง สไตล์การออกแบบจะวางเสื่อแนวนอนด้านบนและด้านล่าง โดยมีเสื่อแนวตั้ง 2 ผืนที่เส้นขอบแต่ละด้าน ในทางตรงกันข้าม แบบ 不祝儀敷 (Fushukugijiki ฟุชุคุกิจิกิ การปูแบบงานอวมงคล) จะวางเสื่อในรูปแบบตารางปกติ โดยที่เสื่อทั้งหมดจะจัดวางในแนวนอนหรือแนวตั้งทั้งหมด สไตล์นี้ใช้สำหรับงานอวมงคลอย่างเช่นงานศพ เพราะว่ากันว่าจะนำโชคร้ายมาให้
มารยาทเกี่ยวกับเสื่อทาทามิ
มารยาทบนเสื่อทาทามิเป็นการผสมผสานระหว่างการปฏิบัติเพื่อปกป้องพื้นและสิ่งทำกันเนื่องจากความเชื่อเรื่องโชคลาง
การปฏิบัติเพื่อเป็นการดูแลเสื่อทาทามิ
เมื่อพูดถึงการดูแลเสื่อทาทามิ เป็นที่ทราบกันดีว่าไม่ควรสวมรองเท้าสำหรับเดินนอกบ้านเมื่อเดินบนเสื่อ นอกจากจะทำให้ตัวฟางสานเสียหายแล้ว การนำสิ่งสกปรกและความชื้นขึ้นมาบนตัวเสื่อยังทำให้ตัวเสื่อเสียหายอย่างไม่สามารถแก้ไขได้ นี่ยังอาจรวมไปถึงรองเท้าแตะในร่มซึ่งอาจทำให้ส่วนบนของฟางสานเสียหายได้เนื่องจากรองเท้าที่ว่ามักจะมีพื้นรองเท้ากันลื่นพลาสติก จำเป็นต้องสวมถุงเท้าเวลาเข้าห้องเสื่อทาทามิ และการเดินเท้าเปล่าเข้าไปในห้องทาทามิที่ดูเป็นทางการนั้นยังถือว่าไม่สุภาพและไม่ถูกสุขลักษณะด้วย
ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเสื่อทาทามิคือการดูแลให้ห้องมีอากาศถ่ายเทสะดวก โดยเฉพาะห้องที่ใช้สำหรับนอนหลับ สามารถยกเสื่อและนำเสื่อไปตากอากาศได้ ซึ่งควรทำปีละสองครั้งในฤดูที่อากาศแห้ง
มารยาทและความเชื่อเรือ่งโชคลาง
เช่นเดียวกับตามอาคารของวัดและศาลเจ้า การเหยียบธรณีประตูห้องเสื่อทาทามิถือเป็นเรื่องที่เสียมารยาทในญี่ปุ่น แม้จะไม่ทราบแน่ชัดว่าเหตุใดจึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นมงคล แต่เชื่อกันว่าเกี่ยวข้องกับการรับรู้ถึงการข้ามไปสู่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากห้องเสื่อทาทามิมักจะมีแท่นบูชาบรรพชนหรือใช้สำหรับโอกาสพิเศษ จึงมีความสำคัญมากกว่าห้องอื่นๆ
Comments