ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติของญี่ปุ่นมีชื่อเสียงไปทั่วโลก แต่ของที่ขายในตู้นั้นกลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก แม้ว่าจะมีตัวเลือกที่คุ้นเคยมากมาย แต่ก็มีเครื่องดื่มแบบญี่ปุ่นที่ต้องลองด้วยเช่นกัน ตั้งแต่เครื่องดื่มเกลือแร่ที่มีชื่อไม่ธรรมดาไปจนถึงน้ำอัดลมสีเขียวสดใส ชั้นวางของในร้านสะดวกซื้อก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากมาย
1. Yakult (ヤクルト)
แม้ว่ายาคูลท์จะเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แต่แท้จริงแล้วยาคูลท์เป็นของญี่ปุ่นและอยู่ในใจ (และในตู้เย็น) ของคนญี่ปุ่นมาช้านาน ขายในขวดขนาดเล็ก 65 มล. หรือ 100 มล. เครื่องดื่มนมรสพีชที่มีโปรไบโอติกประกอบด้วยแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส คาเซ ชิโรตะ ซึ่งกล่าวกันว่าช่วยบำรุงลำไส้ เครื่องดื่มนี้คิดค้นขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1930 โดย SHIROTA Minoru และจำหน่ายแบบเดินขายตามบ้านโดยสาวยาคูลท์ในประเทศต่าง ๆ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน รวมถึงในอเมริกาใต้ แน่นอนว่าที่ไทยเองก็เคยมีสาวยาคูลท์เช่นกัน
2. Calpis カルピス
เครื่องดื่มอัดลม คาลพิส เป็นรสชาติที่ไม่ธรรมดาที่หลายคนอาจยังไม่เคยลองก่อนมาญี่ปุ่น รสนมอมเปรี้ยวเล็กน้อยของเครื่องดื่มนี้มักจะถูกนำไปเทียบกับโยเกิร์ต และมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1919 ซึ่งเดิมได้รับความนิยมเนื่องจากเก็บไว้ได้ดีโดยไม่ต้องแช่เย็น ชื่อนี้ถูกมองว่าตลกในภาษาอังกฤษ แต่จริง ๆ แล้วเป็นการรวมกันของ cal จากแคลเซียมและ pis จาก sarpis ซึ่งเป็นคำภาษาสันสกฤตสำหรับเนยใส ในอเมริกาเหนือ เครื่องดื่มถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Calpico เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสน เชื่อกันว่าเครื่องดื่มดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจจาก airag ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์นมจากวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ MISHIMA Kaiun ผู้ก่อตั้ง Calpis ได้ลองชิมขณะเดินทางไปยังภูมิภาคมองโกเลียของจีน แคลพิส ผลิตขึ้นโดยใช้นม ยีสต์ และแบคทีเรียกรดแลคติก และหมักทิ้งไว้ก่อนที่จะเติมน้ำตาลและหลังจากผ่านระยะการหมักอีกครั้งหนึ่ง ก็พร้อมดื่ม
3. Pocari Sweat ( ポカリスエット)
Pocari Sweat รสเกรปฟรุตอ่อน ๆ เป็นหนึ่งในชื่อแบรนด์ที่ไม่ธรรมดาสำหรับน้ำอัดลมของญี่ปุ่น จริงๆ แล้วเป็นตัวช่วยที่ยอดเยี่ยมในช่วงฤดูร้อน เครื่องดื่มเกลือแร่ถูกสร้างขึ้นโดย Otsuka Pharmaceutical ในปี 1980 เพื่อเป็นเครื่องดื่มทดแทนอิเล็กโทรไลต์เพื่อการทดแทนเกลื่อแร่และการฟื้นฟูสภาพร่างกาย แม้ว่าคำว่า 'โพคาริ' จะไม่มีความหมายใดๆ ก็ตาม แต่คำนี้ได้รับเลือกเพราะให้ความรู้สึกเบา ๆ ขณะที่ 'เหงื่อ' นั้นหมายถึงอิเล็กโทรไลต์และสารอาหารที่สูญเสียไประหว่างการออกกำลังกาย ปัจจุบันเครื่องดื่มดังกล่าวได้รับความนิยมไปทั่วโลก และเชื่อกันว่าชื่อนี้ช่วยให้มีชื่อเสียงโด่งดัง จำหน่ายเป็นซองแบบผง บรรจุขวด และบรรจุกระป๋อง ซึ่งมักขายในตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติทั่วประเทศญี่ปุ่น เครื่องดื่มทดแทนเกลือแร่ยอดนิยมอื่นๆ ได้แก่ Salty Lychee ของ Kirin และ Aquarius
4. Ramune (ラムネ)
เครื่องดื่มคลาสสิกย้อนยุคที่มักพบในเทศกาล ร้านขายขนมและร้านค้าในท้องถิ่นของญี่ปุ่น Ramune เป็นเครื่องดื่มน้ำมะนาวอันแรกที่ถูกนำมาวางจำหน่ายในญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 1884 อเล็กซานเดอร์ คาเมรอน ซิม เภสัชกรชาวสก็อตได้นำเครื่องดื่มที่มีลักษณะคล้ายน้ำมะนาวอัดลมมาสู่เมืองท่าโกเบ เป็นที่รู้จักกันในชื่อ 'มาบุโซดา' ซึ่งเรียกกันตามวิธีการเปิดขวดด้วยการกดลูกแก้ว (Marble) ลงในขวด และเชื่อมโยงกับการป้องกันอหิวาตกโรค ในไม่ช้าก็กลายเป็นที่นิยมทั่วประเทศ ฝาแบบลูกแก้วกดนั้นยังคงใช้กันอยู่ถึงปัจจุบัน และขวดแก้วที่โดดเด่นนี้ก็เป็นที่ชื่นชอบของเด็ก ๆ และครอบครัวตลอดจนผู้ที่ต้องการระลึกถึงความทรงจำวันวานโดยเฉพาะในฤดูร้อน แม้ว่ารสดั้งเดิมจะเป็นรสเลมอนและมะนาว แต่ปัจจุบันมีรสชาติหลากหลาย เช่น เชอร์รี่ ส้มยูซุ เมลอน มัสกัต แชมเปญ และตัวเลือกที่ไม่ธรรมดา เช่น เทอริยากิ และวาซาบิ เป็นต้น
5. เหล้าหวาน Amazake (甘酒)
เครื่องดื่มอุ่น ๆ ที่ไม่ธรรมดา ทำจากข้าวขาว อะมาสาเกะมีรสหวานตามธรรมชาติและดื่มได้ทุกเพศทุกวัย
แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วจะมีแอลกอฮอล์ในระดับต่ำ (ต่ำกว่า 1%) แต่ก็สามารถผลิตแบบไม่มีแอลกอฮอล์เลยได้ด้วย เทคนิคดั้งเดิมใช้ข้าวมอลต์ (ทำให้ไม่มีแอลกอฮอล์) หรือกากจากการหมักทำสาเก (ทำให้มีแอลกอฮอล์เล็กน้อย) สำหรับกระบวนการหมัก ในเครื่องดื่มนี้ประกอบไปด้วยกลูโคส กรดอะมิโน เอ็นไซม์ และวิตามินบี ทำให้มีคุณค่าทางโภชนาการและรสชาติอร่อย มักขายในร้านชาในช่วงฤดูหนาวและในร้านค้าตลอดทั้งปี มีทั้งแบบร้อนและแบบเย็น
6. Melon Soda
แม้ว่า Melon Soda จะไม่ใช่เครื่องดื่มแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม แต่ Melon Soda เป็นเครื่องดื่มสีเขียวสดที่คุ้มค่าที่จะลองในระหว่างการไปเที่ยวญี่ปุ่น รสชาติคล้ายกับครีมโซดาแต่ผสมน้ำเชื่อมเมลอน ถึงรสชาติจะไม่เหมือนเมลอนแต่ก็อร่อยอย่างน่าประหลาดใจ มักพบเห็นได้ที่เครื่องดื่มในร้านอาหารของครอบครัวหรือบาร์คาราโอเกะ นับตั้งแต่นั้นมา รสชาตินี้ก็ได้รับการยอมรับจากแบรนด์ใหญ่ ๆ ในตลาดญี่ปุ่น รวมไปถึงแฟนต้าด้วย หนึ่งในแบรนด์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในญี่ปุ่นคือ Sangaria แต่แบรนด์อย่าง Suntory ก็มีตัวเลือกรสเมลอนด้วยเช่นกัน
7. Dekavita C
อวดว่ามีสรรพคุณจะเพิ่มวิตามิน Dekavita C เป็นเครื่องดื่มสำหรับผู้ที่รู้สึกไม่สบายเล็กน้อยเวลาอากาศเปลี่ยน ขวดที่จำได้ทันทีเป็นสินค้าหลักบนชั้นวางสินค้าและยังถือเป็นตัวช่วยแก้อาการเมาค้างที่มีประสิทธิภาพ ชื่อ Dekavita C เป็นการผสมผสานระหว่าง 'Deka' ที่มีความหมายว่า 'ใหญ่', 'vit' จากวิตามินและ C จากวิตามินซี ประกอบด้วยวิตามิน 8 ชนิด ได้แก่ วิตามิน B1, B2, B6, B12, C และ P และสารสกัดจากนมผึ้ง รวมทั้งไนอาซินและกรดแพนโทธีนิก เนื่องจากเป็นน้ำอัดลม รสน้ำผึ้งอ่อน ๆ จึงค่อนข้างให้ความสดชื่น แม้ว่าจะไม่ได้รสเปรี้ยวอย่างที่คุณคาดไว้ก็ตาม
8. Mitsuya Cider
ไซเดอร์แบบญี่ปุ่นมักก่อให้เกิดความสับสนแก่ผู้มาเยือนจากทางตะวันตก อันที่จริงแล้ว ไซเดอร์ของญี่ปุ่นเป็นเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ซึ่งใกล้เคียงกับจินเจอร์เอลและน้ำมะนาว แม้ว่ารสชาติจะไม่เข้มข้น แต่ก็เป็นเครื่องดื่มตัวเลือกแรก ๆ ที่สดชื่นและเป็นที่นิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการผสมกับแอลกอฮอล์ แบรนด์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ Mitsuya ซึ่งวางจำหน่ายตั้งแต่ปี 1884 เป็นเจ้าของโดย Asahi แบรนด์นี้ยังผลิตขนม Mitsuya Cider ที่เป็นที่นิยมซึ่งมีการอัดลมด้วย เช่นเดียวกับ Boss Coffee การนำงผู้มีชื่อเสียงมาช่วยโปรโมทได้ช่วยขับเคลื่อนแบรนด์ในสื่อตะวันตกด้วย เนื่องจากได้ Rick Astley ป๊อปสตาร์เป็นพรีเซ็นเตอร์ของแบรนด์ในยุค 80 และ 90
9. ชาข้าวบาร์เลย์ Barley Tea (麦茶; むぎちゃ)
ชาข้าวบาร์เลย์ที่ชื่นชอบในฤดูร้อนทำโดยใช้ข้าวบาร์เลย์คั่วและเรียกว่ามุกิฉะในภาษาญี่ปุ่น แม้ว่าชาเขียวจะได้รับความนิยมโดยรวมมากกว่า แต่ชาข้าวบาร์เลย์ก็ยังได้รับความนิยมเนื่องจากเชื่อกันว่าเป็นแหล่งการทดแทนการสูญเสียน้ำที่ดีในสภาพอากาศร้อน ถึงแม้ว่าจะมีให้บริการตลอดทั้งปีก็ตาม พอฤดูร้อนมาถึง ร้านอาหารจะให้นำออกมาบริการแก่ลูกค้า ร้านสะดวกซื้อจะนำมาวางเรียงรายอยู่บนชั้นวาง และเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติจะเต็มสต็อก มีรสชาติอ่อน ๆ อาจเป็นรสชาติที่ไม่เคยชิน แต่ในไม่ช้าจะกลายเป็นเครื่องดื่มที่ดื่มกันเป็นประจำเลยเชียว
10. Boss Coffee
ตอนนี้แบรนด์ Boss Coffee ของ Suntory มีความหมายเทียบเท่ากับคำว่ากาแฟกระป๋องในญี่ปุ่น ซึ่งพบได้ในตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ เริ่มดำเนินการในปี 1992 ปัจจุบันมีมากกว่า 40 แบบให้เลือก รวมถึง Boss Bosspresso, Boss Cafe au Lait และ Boss Black เครื่องดื่มมีจำหน่ายทั้งแบบร้อนและแบบเย็น ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติในญี่ปุ่นที่เปลี่ยนการขายขึ้นอยู่กับฤดูกาล เหตุผลหนึ่งที่ทำให้แบรนด์โด่งดังอย่างรวดเร็วคือการโปรโมทโดยกคนดังในฮอลลีวูด เช่น ทอมมี่ ลี โจนส์
Comments