เรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญ ตอนที่ 41: ว่าด้วยเรื่อง "เท็งงุ"

  • 9 เมษายน 2021
  • Mon
  • Mon

เรื่องราวลี้ลับและสยองขวัญ ตอนที่ 41: ว่าด้วยเรื่อง เท็งงุ

เท็งงุ (天狗 / tengu) หรือที่คนญี่ปุ่นออกเสียงว่า เท็นกุ เป็นทั้งภูต (โยไค) หรือเทพในความเชื่อญี่ปุ่น มีรูปร่างเป็นคนที่มีปีก มีจมูกยาวบ้าง มีปากเป็นจะงอยปากนกบ้าง สามารถเหาะเหินดินอากาศได้ มักมีความเกี่ยวข้องกับนก ภูเขา และลมฝนฟ้าพายุ มีความคล้ายคลึงกับครุฑตามความเชื่อของไทยและอินเดีย แต่รู้หรือไม่ว่า คำว่า 天狗 มาจากคำว่า 天 (ten) ที่แปลว่าท้องฟ้าหรือสวรรค์ และ 狗 (ku) ที่แปลว่า สุนัข (พอสนธิคำก็เปลี่ยนเป็น tengu) จึงมีความหมายว่า สุนัขแห่งฟากฟ้า ทั้ง ๆ ที่มีร่างกายคล้ายมนุษย์กึ่งนก

ต้นกำเนิดของคำว่าเท็งงุ

ต้นกำเนิดของคำว่าเท็งงุ

แต่เดิมเป็นคำที่ใช้ในประเทศจีน เอาไว้เรียกดาวตกที่เป็นลางบอกเหตุร้าย คล้าย ๆ กับการเรียกดาวตกว่าผีพุ่งไต้ของไทยนั่นเอง ซึ่งจะเน้นไปที่จำพวกที่ตกแบบมีเสียงและเกิดระเบิดในชั้นบรรยากาศ หรือที่ตกมาถึงพื้นดิน ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับสุนัขที่หนีลงมาจากสวรรค์ จึงถูกเรียกว่า 天狗 (เท็งงุ) และยังใช้ในการแปลพระสูตรในพระพุทธศาสนาแทนคำว่า Ulkā ที่แปลว่าดาวตกด้วย

แถมในช่วงสมัยราชวงศ์หมิง เท็งงุยังถูกเชื่อว่าเป็นตัวการในการทำให้เกิดสุริยุปราคาและจันทรุปราคาด้วย นั่นก็คือ เป็นสุนัขที่กลืนพระอาทิตย์หรือพระจันทร์ ทำให้ที่จีนและญี่ปุ่นเรียกปรากฏการณ์เหล่านี้ว่า 日食 (Nisshoku กลืนสุริยา) และ 月食 (Gesshoku กลืนจันทรา)

ส่วนตัวอักษร 狗 นี้ ยังใช้เพียงไม่กี่คำครับ ทีญี่ปุ่น คำว่าสุนัขจะมีอยู่ 3 ตัวอักษรหลัก ๆ คือ

  • 犬 (เสียงญี่ปุ่นแบบคุนโยมิ inu เสียงจีนแบบองโยมิ ken) สุนัข ใช้เรียกสุนัขทั่วไป และยังเป็นคำสแลงใช้เรียก "สายลับ" ได้ด้วย เช่น หน่วยชินเซ็นกุมิ มักจะถูกเรียกว่า สุนัขรับใช้บาคุฟุ (รัฐบาลสำเร็จราชการโดยโชกุน)
  • 狗 (เสียงญี่ปุ่นแบบคุนโยมิ inu เสียงจีนแบบองโยมิ ku) สุนัข ในเชิงวิทยาศาสตร์ใช้เรียกเฉพาะสุนัขกินเนื้อเป็นหลัก และยังหมายถึงสิ่งต้อยต่ำ หากใช้เรียกสุนัขจะจำกัดเฉพาะสุนัขขนาดเล็กหรือพันธุ์เล็กเท่านั้น
  • 戌 (เสียงญี่ปุ่นแบบคุนโยมิ inu เสียงจีนแบบองโยมิ jutsu) จอ ใช้เฉพาะในสิบสองนักษัตรเท่านั้น

เท็งงุในญี่ปุ่น

เท็งงุในญี่ปุ่น
นักพรตภูเขา (山伏 / yamabushi)

แม้ว่าในสมัยนาระ อิทธิพลจากประเทศจีนจะเข้ามามาก แต่ก็ไม่ปรากฏการเรียกดาวตกว่าเท็งงุแต่อย่างใด ครั้นพอถึงสมัยเฮอัน เท็งงุกลับปรากฏเป็นสิ่งมีชีวิตอย่างอื่นแทนครับ

เชื่อกันว่า เท็งงุที่ปรากฏในปัจจุบันนั้น ได้รับอิทธิพลจากแผนภูมิมันดาลาของอินเดียที่เข้าสู่จีน แล้วถูกถ่ายทอดด้วยพระญี่ปุ่นที่เดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่จีนอย่างเช่นมหาบูรพาจารย์คูไค (空海 / Kuukai) และอิทธิพลจากความเชื่อเรื่องเทพอห่งขุนเขา (山岳信仰 / sangaku shinkou) ที่เริ่มมาจากสมัยนาระที่ปฏิบัติโดย เอ็น โนะ โอสึนุ (役小角 / EN no Otsunu) ผู้ก่อตั้งวิถีแห่งการฝึกตน (修験道 / shugendou) ครับ ในความเชื่อเรื่องเทพแห่งขุนเขา นักพรตภูเขา (山伏 / yamabushi) ที่บำเพ๊ญตบะมาก เมื่อตายจะไปเกิดเป็นเท็งงุ จึงถูกบูชาเป็นเทพ แต่สำหรับชาวบ้านทั่วไป ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในภูเขาก็มักเชื่อกันว่าเป็นฝีมือของเท็งงุ เท็งงุจึงกลายเป็นเทพภูเขาไปครับ

วิวัฒนาการของเท็งงุ

วิวัฒนาการของเท็งงุ

อย่างไรก็ตาม ในสมัยนั้น รูปพรรณสัณฐานของเท็งงุก็ไม่ได้ถูกกำหนดตายตัว บางครั้งก็เป็นพระ บางครั้งก็เป็นเด็ก บางครั้งก็เป็นยักษ์โอนิ แต่เนื่องจากสามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ จึงถูกนำไปผสมกับเหยี่ยวโทบิ (鳶 / tobi) เป็นส่วนมาก และนิยมสวมใส่เสื้อผ้าเช่นเดียวกับนักพรตภูเขา สมัยนั้นยังมีการเรียกแม่ชีที่เชื่อกันว่าเป็นแม่ชีผู้มีตบะสูงกลับชาติมาเกิดว่า อะมาเท็งงุ (尼天狗 / ama-tengu เท็งงุแม่ชี) ด้วย

เท็งงุที่คุรามะแห่งเกียวโต

จนกระทั่งในช่วงสิ้นสมัยเฮอัน ได้มีหนังสือรวบรวมเรื่องราวต่าง ๆ ที่ชื่อว่า คอนจาคุโมโนกาตาริชู (今昔物語集 / Konjaku Monogatari-shuu รวมเรื่องเล่าเก่าแก่ถึงปัจจุบัน) ได้เขียนเรื่องของเท็งงุไว้หลายอย่าง เช่น อสูรกายที่บินบนฟ้าในร่าง "นก" ที่ชอบทำให้คนหวาดกลัว อสูรกายที่มีหน้าเป็นเท็งงุ มีร่างเป็นคน มีปีก 1 คู่ จนถูกนำมาวาดเป็นภาพในปี 1296 โดยพระในวัดทั่วญี่ปุ่น 7 แห่ง จนกลายเป็นภาพลักษณ์ของเท็งงุที่ติดตาของผู้คนจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงยุคกลาง เท็งงุที่จมูกยาวได้ถือกำเนิดขึ้นจากความเชื่อที่ว่า เป็นนักพรตที่อวดอ้างว่าจะได้เป็นเท็งงุจนเหลิง (คนญี่ปุ่นจะเรียกคนที่ชอบอวดตัวเองว่าจมูกยาว) คนเหล่านี้ศึกษาธรรมจึงไม่ต้องตกนรก แต่ก็เดินทางผิดจึงไม่ได้ไปสวรรค์ กลายเป็นต้องชดใช้กรรมในภพภูมิเท็งงุแทน ซึ่งภพภูมินี้อยู่นอกเหนือภพภูมิทั้งหกอีกที (น่าจะจัดเป็นภพอสูรหรือเดรัจฉานกึ่งเทพ)

ประเภทของเท็งงุ

หากแบ่งกันตามรูปลักษณ์ที่ปรากฏทั่วไปในปัจจุบัน จะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

鼻高天狗 (hanataka-tengu)

เท็งงุจมูกยาว

ฮานะทากะเท็งงุ เท็งงุจมูกยาว มักจะมีหน้าแดง จมูกยาว

烏天狗 (karasu-tengu)

เท็งงุนก

คาราสุเท็งงุ เท็งงุนก มีจมูกโค้งลง ลักษณะเหมือนจะงอยปากนก

นอกจากนี้ถ้าแบ่งตามขนาดก็จะมีเพิ่มขึ้นมาอีกประเภท คือ

  • 木の葉天狗 (konoha-tengu) โคโนฮะเท็งงุ เท็งงุใบไม้ มีขนาดเล็กเท่าใบไม้

และถ้าแบ่งตามพลังอำนาจด้วย ก็จะมี

  • 大天狗 (ootengu) โอเท็งงุ พญาเท็งงุ มักจะมีพลังเช่นเดียวกับเทพ เช่นมีพัดใบไม้ที่ก่อให้เกิดลมพายุได้ เป็นต้น
  • 子天狗 (kotengu) โคะเท็งงุ เท็งงุทั่วไปที่ไม่ได้มีพลังมากมาย อาจจะเพราะอำนาจยังไม่แก่กล้า ไม่สามารถทำให้เกิดลมฝนได้ แต่อาจจะสื่อสารกับนกได้

เรื่องราวเกี่ยวกับเท็งงุ

เรื่องราวเกี่ยวกับเท็งงุ

ตำนานที่เกี่ยวข้องกับเท็งงุนั้นก็มีมากมาย ทั้งสมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน มีทั้งที่เป็นเทพแห่งภูเขาที่หากไม่หลบหลู่ก็จะค้มครองอย่างดีบ้าง มีทั้งที่ลักพาตัวคนหายไปในภูเขาบ้าง จึงถูกยกให้เป็นเทพในบางที่ และเป็นโยไคที่อันตรายในบางแห่ง แต่ก็แล้วก็คนจะมองครับ อย่างแม้แต่ที่ไทย เจ้าที่ต่าง ๆ ก็มีทั้งด้านดีและไม่ดี แล้วแต่ใครจะศรัทธาใครจะลบหลู่นั่นเองครับ...

หัวข้อเรื่อง

Survey[แบบสอบถาม] กรุณาบอกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น







Recommend