ในบทความนี้เราจะแนะนำอุโบสถคิชิโมจิน พร้อมรูปปั้นอันเป็นที่มาของชื่อและสิ่งอื่น ๆ ที่อยู่ภายในบริเวณวัด
ต้นกำเนิดและประวัติของอุโบสถคิชิโมจิน
ประวัติของอุโบสถคิชิโมจินแห่งโซชิกายะและรูปปั้น
รูปปั้นของคิชิโมจินที่ประดิษฐานอยู่ในวัดโฮเมียวจิ (法明寺 / Homyoji) ถูกขุดพบครั้งแรกที่ย่านเมจิโรได (目白台) เขตบุงเคียว เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1561 และถูกประดิษฐานในวัดโทโยโบะ (東陽坊)
ต่อมาในปี 1578 อุโบสถคิชิโมจินถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ของวัดโฮเมียวจิในหมู่บ้านโซชิกายะ และรูปปั้นดังกล่าวได้ถูกประดิษฐานไว้ที่นั่นนับตั้งแต่นั้นมา
ประวัติความเป็นมาของ คิชิโมจิน
คิชิโมจิน (鬼子母神 แปลตามตัวคือ เทวีมาตุยักขินีอภิบาลบุตร) เป็นเทวีองค์หนึ่งในศาสนาพุทธของญี่ปุ่น รู้จักกันในนาม "Hariti" (हारीती หารีตี) หรือ "Karitei-mo" (訶梨帝母 คาริเตโมะ แม่หารีตี เนื่องจากในสมัยก่อนภาษาญี่ปุ่นไม่มีเสียง ฮ จึงใช้เสียง ค แทน) ในอินเดีย เป็นยักขินี (นางยักษ์) ให้กำเนิดบุตรธิดาหลายตน อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นยักษ์ เธอจึงกินเด็กของคนอื่น ๆ และเป็นที่เกลียดชังและหวาดกลัวของผู้คนมากมาย
เพื่อเป็นการนำทางหารีตีไปสู่หนทางที่ถูกต้อง พระพุทธเจ้าจึงออกอุบาย นำลูกคนเล็กของเธอไปซ่อนไว้ และทำให้เธอได้เข้าใจว่าการที่แม่ต้องเสียลูกไปนั้นเป็นอย่างไร หลังจากนั้น หารีตีได้สาบานตนว่าจะยึดเส้นทางของพระพุทธศาสนา และสาบานว่าจะเป็นเทพเจ้าแห่งการดูแลบุตรและการคลอดบุตรนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ในญี่ปุ่น "คิชิโมจิน" เป็นที่รู้จักกันในฐานะ "อสูร" (鬼 / Oni) หรือยักษ์ (夜叉 / Yasha) แต่ก็ยังเป็นเทพผู้พิทักษ์ของแม่และเด็กไปด้วย
สิ่งน่าสนใจประจำคิชิโมจิน
ตัวอักษรคันจิ "โอนิ" (鬼) ของที่นี่ไม่มี "เขา"
ในชื่อ 鬼子母神 (Kishimojin) ตัวอักษรคันจิ "鬼" (Oni) ในชื่อนั้นจะไม่มี “เขา” (เส้นทะแยงที่อยู่บนสุด)
รูปปั้นไม่ได้ปรากฎกายเป็นร่างยักษ์ แต่เป็นร่างพระโพธิสัตว์
คิชิโมจินภายในวัดจะถูกแสดงภาพออกมาในลักษณะสวมเสื้อคลุมฮาโกโรโมะและถือผลทับทิมนำโชค Kichijoka (吉祥果) และกำลังอุ้มทารกอยู่
ของที่ระลึกและสินค้าพิเศษ
“สุสุกิมิมิสุกุ" (すすきみみずく / Susukimimizuku นกฮูกหญ้าสุสุกิ) มีจุดเริ่มต้นนานมาแล้ว เมื่อมีเด็กสาวยากจนคนหนึ่งทำนกฮูกจากหญ้าสุสุกิเพื่อรักษาอาการป่วยของแม่ ตั้งแต่นั้นมามันก็กลายเป็นของพิเศษในท้องถิ่นและเชื่อว่าจะให้ความคุ้มครองแก่ผู้ศรัทธา
“โอเซ็นดังโงะ" (おせん団子 / Osen Dango) เป็นที่รู้กันว่าให้พรเรื่องมีบุตรง่าย และมักจะรับประทานได้ทุกวันอาทิตย์และวันจัดงานตลาดนัด (8, 18 และ 28 ของทุกเดือน) ที่ "อุโบสถไดโคคุ" (大黒堂 / Daikokudo อุโบสถมหากาฬ)
อุโบสถคิชิโมจินแห่งโซชิกายะ เป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สำคัญ
มีโครงสร้างที่เชื่อมต่อเรือนหลัก เรือนเชื่อมต่อ (相の間 / Ainoma) และเรือนบูชา (拝殿 / Haiden) เข้าด้วยกัน สร้างโดยช่างฝีมือของตระกูลฮิโรชิมะ ถูกกำหนดให้เป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งชาติในปี 2016 นอกจากนี้ก็ยังทรัพย์สินทางวัฒนธรรมและอนุสาวรีย์ทางธรรมชาติ อื่น ๆ ในบริเวณวัดด้วย ได้แก่:
- แนวต้นเซลโคว่าที่ประตูใหญ่ไดมง (ถูกกำหนดโดยกรุงโตเกียว)
- ต้นแปะก๊วยยักษ์แห่งคิชิโมจิน (ถูกกำหนดโดยกรุงโตเกียว)
- แผ่นภาพไม้ San-nin Shizuka Shirabyoshi (三人静白拍子図) และแผ่นภาพไม้ Omori Hikoshichi (大森彦七図) (ถูกกำหนดโดยกรุงโตเกียว)
- พิธีต่าง ๆ ในวัดคิชิโมจินแห่งโซชิกายะ (ถูกกำหนดโดยเขต)
พรอันขึ้นชื่อ
- การไปสักการะ: การดูแลบุตร การคลอดบุตร
- แปะก๊วยแห่งการตั้งครรภ์: การตั้งครรภ์ มีลูกง่าย
- โอเซ็นดังโกะ: ลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง
- ศาลเจ้าอินาริ: ค้าขายรุ่งเรือง
เกี่ยวกับอุโบสถคิชิโมจิน
- ก่อตั้ง: ปี ค.ศ. 1664 (ตัวอุโบสถหลักในปัจจุบัน)
- พระประธาน: รูปปั้นหาริติยักขินี (คิชิโมจิน)
- งานเทศกาล: พิธีใหญ่ (กลางเดือนตุลาคม) ตลาดนัด (วันที่ 8, 18 และ 28 ของทุกเดือน)
ข้อมูลสถานที่แนะนำ
- ชื่อสถานที่: อุโบสถคิชิโมจินแห่งโซชิกายะ วัดโฮเมียวจิ (法明寺 雑司が谷鬼子母神 Homyoji Zoshigaya Kishimojin)
- ที่ตั้ง: 3-15-20 Zōshigaya, Toshima-ku, Tokyo
- การเดินทาง:
- เดิน 15 นาทีจากสถานี JR Ikebukuro ทางออกทิศตะวันออก
- เดิน 15 นาทีจากสถานี JR Mejiro
- เวลาสักการะเยี่ยมชม: 9.00-17.00 น.
Comments