คุณก็สามารถเป็นกูรูเรื่องญี่ปุ่นได้! ยูกาตะ vs. กิโมโน: เปรียบเทียบคุณสมบัติและความแตกต่างจาก 4 แง่

  • 7 มีนาคม 2023
  • 6 กุมภาพันธ์ 2021
  • Cody Ng
  • Mon

คุณก็สามารถเป็นกูรูเรื่องญี่ปุ่นได้! ยูกาตะ vs. ชุดกิโมโน: เปรียบเทียบคุณสมบัติและความแตกต่างจาก 4 แง่

กิโมโนนั้นได้เป็นที่รู้จักกันว่าเป็นหนึ่งในชุดประจำชาติของญี่ปุ่น แต่อะไรคือจุดแตกต่างระหว่างกิโมโนกับยูกาตะ? หรือว่าจริง ๆ แล้วมันคือสิ่งเดียวกัน? ในบทความนี้ เราจะเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างชุดยูกาตะกับชุดกิโมโนจาก 4 แง่มุม โดยมีแผนภูมิเปรียบเทียบที่คุณสามารถดูได้อย่างรวดเร็วในตอนท้าย อย่าลืมไปลองดูความแตกต่างระหว่างกิโมโนและยูกาตะเวลาไปเที่ยวญี่ปุ่นนะคะ!

ชุดยูกาตะและชุดกิโมโนของญี่ปุ่นคืออะไร? มาเทียบตั้งแต่ประวัติความเป็นมากันเลย!

ก่อนอื่นเรามาไขประวัติของชุดยูกาตะและชุดกิโมโนกันก่อนดีกว่าค่ะ มีความแตกต่างระหว่างทั้งสองในแง่ของประวัติและที่มามากน้อยแค่ไหนกันเอ่ย?

ยูกาตะคืออะไร?

ชุดยูกาตะและชุดกิโมโนของญี่ปุ่นคืออะไร? มาเทียบตั้งแต่ประวัติความเป็นมากันเลย!

ยูกาตะแต่เดิมเรียกว่า "ยุคาตาบิระ" (湯帷子) และสวมใส่โดยชนชั้นสูงในสมัยเฮอัน (794 - 1185) เพื่อการอาบน้ำ สมัยนั้นไม่มีธรรมเนียมการเปลือยกายอาบน้ำเหมือนในสมัยปัจจุบัน ว่ากันว่าชุดยุคาตาบิระในสมัยนั้นทำหน้าที่เป็นเสื้อผ้าที่ช่วยซับเหงื่อและป้องกันการลวกโดยทำให้แน่ใจว่าผิวหนังไม่ได้สัมผัสไอน้ำร้อนโดยตรงในห้องอบไอน้ำ รวมถึงปกปิดความเปลือยเปล่าด้วย ในสมัยนั้นผ้าฝ้ายถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่จะทำชุดยุคาตาบิระจากผ้าป่านค่ะ

ตั้งแต่สมัยเอโดะตอนกลาง (ค.ศ. 1603 – 1868) ชาวญี่ปุ่นเริ่มหันมาเปลือยกายเวลาอาบน้ำ และคนทั่วไปก็เข้าถึงผ้าฝ้ายได้มากขึ้น ประกอบกับการที่โรงอาบน้ำสาธารณะเป็นที่แพร่หลายและผ้าฝ้ายสามารถดูดซับเหงื่อและระบายอากาศได้ดีกว่า ยุคาตาบิระจึงถูกนำมาใช้เพื่อซับเหงื่อหลังอาบน้ำ (ชุดคลุมอาบน้ำ) หรือใช้เป็นชุดนอนค่ะ

หลังจากนั้นชุดยุคาตาบิระก็ถูกนำมาใช้เป็นโฮมงงิ (訪問着 / houmongi - ชุดเยือน) ที่สามารถใส่ออกไปข้างนอกได้ ในขณะเดียวกัน ชื่อ 'ยุคาตาบิระ' ก็ถูกย่อเป็น 'ยุคาตะ' (คนไทยออกเสียงว่ายูกาตะ) ว่ากันว่าชุดยูกาตะเริ่มได้รับความนิยมในฐานะชุดฤดูร้อนสมัยใหม่ในช่วงสมัยเมจิ (ค.ศ. 1868 - 1912) ค่ะ 

กิโมโนคืออะไร?

ชุดยูกาตะและชุดกิโมโนของญี่ปุ่นคืออะไร? มาเทียบตั้งแต่ประวัติความเป็นมากันเลย!

“กิโมโน” (着物 / kimono) เดิมหมายถึง “เครื่องสวมใส่” ในภาษาญี่ปุ่น แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กิโมโนหมายถึง "เสื้อผ้าแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น" ประเภทหนึ่งโดยเฉพาะ ต้นแบบของกิโมโนในปัจจุบันคือ โคะโซเดะ (小袖 / kosode) ซึ่งเป็นชุดด้านในของชุดจูนิฮิโตะเอะ (十二単 / Junihitoe - เสื้อผ้าสิบสองชั้น) ที่ขุนนางระดับสูงสวมใส่ในสมัยเฮอัน (974 – 1185) เมื่อเวลาผ่านไป โคะโซเดะก็กลายเป็นที่นิยมในฐานะเสื้อตัวนอกแทนชุดสวมด้านใน และกิโมโนที่มีรูปร่างและสีต่าง ๆ ก็ถูกผลิตขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อวัฒนธรรมของประเทศอื่น ๆ แพร่เข้าสู่ญี่ปุ่น วิถีชีวิตและรูปแบบเสื้อผ้าก็เปลี่ยนตามสมัยนิยมตามแบบตะวันตก เสื้อผ้าแบบตะวันตกได้กลายเป็นเสื้อผ้ากระแสหลักในยุคปัจจุบัน ทำให้โอกาสในการสวมชุดกิโมโนน้อยลงแม้แต่ในหมู่คนญี่ปุ่นเองก็ตาม

บทความเกี่ยวกับประเภทกิโมโนแบบดั้งเดิม อ่านได้ทางนี้ค่ะ: กิโมโนแบบดั้งเดิม: คำแนะนำเกี่ยวกับมารยาทในการแต่งกายอย่างเป็นทางการ


กิโมโน เป็นคำที่หมายถึง "เครื่องสวมใส่" ในยุคปัจจุบันยังมีความหมายว่า 'เสื้อผ้าแบบญี่ปุ่น' ดังนั้นยูกาตะจึงถือเป็นชุดกิโมโนชนิดหนึ่ง ประเภทของกิโมโนที่คุณสวมใส่ขึ้นอยู่กับโอกาส จากนี้ไป เรามาดูความแตกต่างระหว่างทั้งสองผ่าน 4 แง่มุม อันได้แก่ โอกาสสวมใส่ ผ้าที่ใช้ เครื่องประดับเครื่องใช้ และวิธีการสวมใส่ค่ะ

① ยูกาตะ vs. กิโมโน การใช้งานและโอกาสสวมใส่

ยูกาตะ vs. กิโมโน การใช้งานและโอกาสสวมใส่
ซ้าย: ยูกาตะ ขวา: กิโมโน

ในญี่ปุ่นยุคใหม่ กิโมโนจะสวมใส่ในโอกาสที่เป็นทางการ และยูกาตะจะสวมใส่ในโอกาสที่ไม่เป็นทางการค่ะ

ชุดยูกาตะที่ได้กลายมาเป็นชุดกิโมโนในฤดูร้อนนั้นเริ่มต้นขึ้นในสมัยเมจิ (พ.ศ. 2411 - 2455) ชุดยูกาตะไม่เหมาะสำหรับโอกาสที่เป็นทางการ แต่มักจะสวมใส่ในงานฤดูร้อน เช่น งานเทศกาล การแสดงดอกไม้ไฟ ยูกาตะยังเป็นเสื้อผ้าที่ทางโรงแรมบ่อน้ำพุร้อน (เรียวกังออนเซ็น) จัดไว้ให้แขกค่ะ

ในทางกลับกัน กิโมโนจะสวมใส่ในโอกาสเฉลิมฉลอง เช่น งานแต่งงานและงานเลี้ยง เช่นเดียวกับโอกาสที่เป็นทางการ เช่น ฮัตสึโมเดะ (การไปวัด/ศาลเจ้าครั้งแรกของปี) พิธีบรรลุนิติภาวะ และพิธีสำเร็จการศึกษา ตัวอย่างเช่น "ชิโระมุคุ" (白無垢 / shiromuku ชุดขาวไร้มลทิน) และอิโระอุจิคาเกะ (色打掛 / irouchikake ชุดคลุมแบบมีสี) ที่เจ้าสาวสวมใส่ในพิธีหรืองานแต่งงาน และ "ฟุริโซเดะ" (振袖 / furisode ชุดแขนเสื้อห้อยยาว) ที่ผู้บรรลุนิติภาวะหมาด ๆ นิยมสวมใส่ในพิธีบรรลุนิติภาวะ นอกจากนี้ บางคนสวมชุดกิโมโนเป็นเครื่องแต่งกายอย่างเป็นทางการสำหรับศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมต่าง ๆ เช่น คาบุกิ การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ไปจนถึงการเรียนวัฒนธรรมโบราณอย่างพิธีชงชาและการร่ายรำแบบญี่ปุ่น ค่ะ

② ยูกาตะ vs. กิโมโน เนื้อผ้าวัตถุดิบ

ยูกาตะ vs. กิโมโน เนื้อผ้าวัตถุดิบ
ซ้าย: ยูกาตะ ขวา: กิโมโน

ต่อไปเราจะขอมาแนะนำความแตกต่างระหว่างวัสดุของชุดยูกาตะและชุดกิโมโนกันค่ะ คุณรู้จักผ้าที่ใช้ทำกิโมโนและยูกาตะมากแค่ไหน?

ชุดยูกาตะได้รับการออกแบบมาเพื่อให้คุณรู้สึกสบายตัวในช่วงฤดูร้อนของญี่ปุ่น โดยธรรมชาติแล้ว ควรเลือกวัสดุที่สัมผัสนุ่มและสามารถซับเหงื่อได้ ในอดีต ชุดยูกาตะที่ทำจากผ้าป่านเป็นที่นิยมจนเป็นกระแสหลัก แต่ตอนนี้ชุดผ้าฝ้ายได้รับความนิยมอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีชุดยูกาตะที่ทำจากผ้าฝ้ายและป่านผสมกัน ในขณะที่ชุดยูกาตะผ้าโพลีเอสเตอร์ก็มักขายได้ดีเพราะดูแลรักษาง่ายค่ะ

ในบรรดาเนื้อผ้าต่าง ๆ ของชุดกิโมโน ผ้าไหมถือเป็นผ้าที่ดีมีความหรูหราที่สุด มีช่วงราคาและประเภทของกิโมโนที่หลากหลาย และผ้าต่าง ๆ เช่น ผ้าป่าน ผ้าขนแกะ และโพลีเอสเตอร์ก็ถูกนำมาใช้ด้วยตามสถานการณ์และความต้องการเช่นกัน

ชุดยูกาตะ

  • ผ้าฝ้าย: วัสดุมาตรฐานสำหรับชุดยูกาตะเนื่องจากดูดซับเหงื่อและความชื้นได้ดีและสามารถซักได้
  • ผ้าป่าน: วัสดุเนื้อหยาบที่ยับง่ายกว่าผ้าชนิดอื่น แต่สัมผัสนุ่มกว่า และมีความสามารถในการดูดซับและซับน้ำได้ดีกว่า
  • ผ้าโพลีเอสเตอร์: อ่อนโยนต่อผิวและดูดซับเหงื่อ แห้งเร็ว สวมใส่สบาย

ชุดกิโมโน

  • ผ้าไหม: มีความมันวาวและอ่อนนุ่ม ใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับโทเมะโซเดะ (留袖 / tomesode - กิโมโนแขนเสื้อตัด แบบมาตรฐาน) และฟุริโซดะ (振袖 / furisode - กิโมโนแขนเสื้อห้อยยาว)
  • ผ้าป่าน: บางและยืดหยุ่น ส่วนใหญ่ใช้สำหรับกิโมโนฤดูร้อน
  • ผ้าโพลีเอสเตอร์: เส้นใยสังเคราะห์ทางเคมีที่ออกแบบมาให้มีความต้านทานแรงดึง เนื่องจากสามารถซักได้ จึงใช้กับชุดกิโมโนประเภทต่างๆ
  • ผ้าขนแกะ: หนา ยับยาก และทนต่อการเกิดรอยเปื้อน มักใช้กับชุดกิโมโนฤดูหนาว

③ ยูกาตะ vs. กิโมโน เครื่องประดับเครื่องใช้

ยูกาตะ vs. กิโมโน เครื่องประดับเครื่องใช้

อาจเป็นเรื่องยากที่จะบอกความแตกต่างระหว่างชุดยูกาตะและชุดกิโมโนภายในการมองแวบแรก แต่ในความเป็นจริงแล้ว เครื่องประดับอื่น ๆ นอกเหนือจากตัวผ้า ไปจนถึงสิ่งของต่างที่คุณสวมใส่บนร่างกายก็แตกต่างกันไปด้วยเช่นกันค่ะ ในส่วนนี้เรามาเรียนรู้เกี่ยวกับความแตกต่างที่ว่ากันค่ะ!

โอบิ (สายคาดเอว)

ในกรณีของชุดยูกาตะ โดยทั่วไปจะใช้ฮันฮาบะโอบิ (半幅帯 / han-haba obi - สายคาดเอวแบบความกว้างครึ่งนึง) เนื่องจากโอบิแบบอื่นจะหนากว่าซึ่งอาจให้ความรู้สึกร้อนอบอ้าว จึงเป็นเรื่องปกติที่จะจัดและมัด "ฮันฮาบะโอบิ" ซึ่งมีความกว้างครึ่งหนึ่งของฟุคุโระโอบิ (袋帯 / Fukuro obi) หรือนาโกย่าโอบิ (名古屋帯 / Nagoya obi) โดยพื้นฐานแล้ว เครื่องประดับโอบิ เช่น โอบิอาเกะ (帯揚げ / Obi-age - สำหรับสอดไว้ให้โผล่เหนือโอบิ) และโอบิจิเมะ (帯締め / Obi-jime - เชือกที่ไว้คาดทับกลางโอบิเพื่อมัดซ้ำ) มักไม่ค่อยนำมาใช้กัน (แต่อาจติดเป็นส่วนหนึ่งของชุดยูกาตะก็ได้)

สำหรับกิโมโน จะใช้โอบิที่กว้างกว่าที่ใช้กันทั่วไปสำหรับยูกาตะ เช่น ฟุคุโระโอบิที่เป็นทางการและนาโกยะโอบิที่มักสวมใส่เพื่อออกไปข้างนอก นอกจากนี้ คุณสามารถเปลี่ยนรูปแบบและสีของโอบิให้เข้ากับสถานที่ที่จะไปเยี่ยมชมหรือฤดูกาล และเลือกโอบิให้เข้ากับชุดกิโมโนก็ได้ ลายและสีของโอบิแต่ละแบบมีความหมายในตัวเอง ดังนั้นอย่าลืมตรวจสอบความหมายและจัดชุดให้ตรงกับรสนิยมดูนะคะ!

เครื่องประดับผม

ยูกาตะ vs. กิโมโน เครื่องประดับเครื่องใช้
ซ้าย: ยูกาตะ ขวา: กิโมโน

สำหรับทั้งชุดยูกาตะและชุดกิโมโนก็นิยมทรงผมแบบมัดขึ้นเพื่อเปิดต้นคอเป็นหลักค่ะ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของการสวมชุดยูกาตะ เครื่องประดับผมที่โดดเด่นมากเกินไปอาจทำให้คุณดูไม่สมดุลและดูเป็นเด็กที่ยังไม่รู้วิธีสวมเอาได้

ในทางกลับกัน กิโมโนนั้นก็มักจะสวมใส่เพื่อเฉลิมฉลอง เช่น งานแต่งงานและโอกาสที่เป็นทางการ ดังนั้นอาจใช้เครื่องประดับผมสีฉูดฉาดอลังการเพื่อให้เข้ากับลายและสีของกิโมโนด้วยค่ะ

รองเท้า

ยูกาตะ vs. กิโมโน เครื่องประดับเครื่องใช้
ซ้าย: ยูกาตะ ขวา: กิโมโน

ชุดยูกาตะมักจะสวมคู่กับเกตะ (下駄 / geta - รองเท้าไม้หรือเกี๊ยะแบบญี่ปุ่น) โดยปกติจะสวมเกตะด้วยเท้าเปล่า ในทางกลับกัน กิโมโนจะสวมคู่กับโซริ (草履 / zouri - รองเท้าแตะที่ทำจากฟางมัด) เป็นเรื่องปกติที่จะสวมทาบิ (足袋 / tabi - ถุงเท้าแบบแยกนิ้วเท้า) เหมือนการสวมถุงเท้าและสวมกับโซริค่ะ

④ ยูกาตะ vs. กิโมโน วิธีสวมใส่

ยูกาตะ vs. กิโมโน วิธีสวมใส่
ซ้าย: ยูกาตะ ขวา: กิโมโน

สุดท้ายนี้ก็มาดูความแตกต่างในแง่มุมของการสวมใส่ระวห่างชุดยูกาตะและชุดกิโมโนกันค่ะ

เมื่อสวมใส่ทั้งชุดกิโมโนและชุดยูกาตะ ปกด้านขวาควรสัมผัสกับผิวหนังก่อน และปกด้านซ้ายควรอยู่ด้านหน้าของชุดค่ะ

ชุดยูกาตะนิยมสวมบนผิวหนังเปล่า ๆ เนื่องจากเดิมทีจะสวมใส่หลังอาบน้ำ จึงเป็นเรื่องปกติที่จะไม่ใส่อะไรไว้ใต้ชุดยูกาตะ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน เมื่อคุณสวมชุดยูกาตะสำหรับเป็นชุดไปเข้าชมการแสดงดอกไม้ไฟหรือเทศกาลฤดูร้อน ก็เป็นเรื่องปกติที่จะสวมชุดชั้นในหรือ 'ฮาดะจุบัง' (肌襦袢 / hadajuban - ชุดสวมภายในแบบแนบชิดผิวหนัง) เหมือนการสวมชุดกิโมโน ชุดยูกาตะใช้เวลาในการสวมใส่น้อยกว่าชุดกิโมโน ดังนั้นหากคุณจะสวมชุดญี่ปุ่นที่บ้านด้วยตัวเอง เราขอแนะนำให้สวมชุดยูกาตะค่ะ

สำหรับชุดกิโมโนไม่ค่อยสวมบนผิวหนังเปล่า ๆ ค่ะ ชาวญี่ปุ่นจะสวมชุดสำหรับสวมซ้อนภายใน เช่น ฮาดะจุบัง และ นากะจุบัง (長襦袢 / nagajuban - ชุดยาวเกือบเท่ากิโมโนสำหรับสวมภายใน) โดยฮาดะจุบังจะสวมคล้าย ๆ การสวมชุดชั้นใน ส่วนนากะจุบังคือชุดกิโมโนที่สวมใต้ชุดกิโมโนเพื่อให้ดูเหมือนว่าคุณสวมชุดกิโมโนหลายชั้น จึงมีขั้นตอนการแต่งกายที่ยุ่งยากมากกว่าชุดยูกาตะค่ะ

เห็นความแตกต่างกันได้ในปราดเดียว! ตารางเปรียบเทียบ ยูกาตะ vs. กิโมโน


ยูกาตะ
กิโมโน
โอกาส
โอกาสที่ไม่เป็นทางการ
โอกาสที่เป็นทางการ
สถานการณ์ในการสวมใส่ (ตัวอย่าง)
งานเทศกาล งานประกวดพลุดอกไม้ไฟ งานฤดูร้อน เป็นต้น
งานเฉลิมฉลองเช่นพิธีแต่งงานและงานเลี้ยงสังสรรค์ ไปจนถึง ฮัตสึโมเดะ พิธีบรรลุนิติภาวะ พิธีจบการศึกษา เป็นต้น
เนื้อผ้า
ผ้าฝ้าย ผ้าป่าน ผ้าโพลีเอสเตอร์
ผ้าไหม ผ้าป่าน ผ้าโพลีเอสเตอร์ ผ้าขนแกะ
โอบิ
ใช้โอบิความกว้างครึ่งเดียวที่เรียกว่าฮันฮาบะโอบิ
ปกติจะใช้ฟุคุโระโอบิหรือนาโกย่าโอบิ
ให้ความสำคัญกับลายและสีของโอบิ
รองเท้า
สวนเกตะด้วยเท่าเปล่า
สวมโซริพร้อมด้วยทาบิ
วิธีสวม
ในกรณีที่สวมยูกาตะเป็นชุดออกบ้านโฮมงงิจะสวมชุดข้างใน (ฮาดะจุบัง) เป็นปกติ (ไม่สวมนากะจุบัง)
สวมฮาดะจุบังและ/หรือนากะจุบังไว้ข้างในเสมอ

หัวข้อเรื่อง

Survey[แบบสอบถาม] กรุณาบอกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น







Recommend